21 ต.ค. 2023 เวลา 15:55 • หนังสือ

ศิ ข ริ น -​ เ ท วิ น ต า

ภาคสมบูรณ์ของ ​"สิคีริยา"
เรื่อง "ศิขริน-เทวินตา" เป็นนิยายภาคสองต่อจาก "สิคีรียา" ซึ่งเป็นเรื่องในอดีตชาติของตัวละครหลักทั้งชายและหญิงในชื่อ ราเชนธรา และทิศยา
.
.
โสภาค สุวรรณ เขียนไว้ว่าท่านมีความศรัทธาในพุทธศาสนา และเชื่อในเรื่องกรรม และกฎแห่งกรรม นวนิยายเรื่อง "ศิขริน-เทวินตา" จึงเกิดขึ้นด้วยความเชื่อดังกล่าว โดยสร้างให้ตัวละครหลักที่เป็นหญิงคือ เทวินตา ไม่มีความสนใจศึกษาพุทธศาสนา แต่ก็ไม่ได้ดูถูกและยังคงกราบไหว้พระ ขณะที่ตัวละครหลักชายคือศิขริน เป็นชาวศรีลังกา และปฏิบัติธรรมสม่ำเสมอในชีวิตประจำวัน
.
ทั้งสองต่างก็มีกรรมผูกพันกันในชาติภพเดิมตั้งแต่ในนวนิยายเรื่อง "สิคีรียา" ผู้อ่านคลิกเข้าไปอ่านย้อนหลังได้ที่
.
เรื่องนี้ตีพิมพ์ในนิตยสารสตรีสารเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ แม้จะผ่านมานานแต่เนื้อหายังคงทันสมัย และเป็นเรื่องหนึ่งที่แอดขอแนะนำในประเด็นของนักเขียนหญิงที่สอดแทรกเรื่องของพุทธศาสนาในวรรณกรรมค่ะ
.
เทวินตา เป็นดอกเตอร์สาว ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานปรมาณูเพื่อการเกษตรกรรมของสหประชาชาติ เธอต้องไปประจำที่ประเทศศรีลังกาพร้อมกับเพื่อนผู้แทนชาวไทยอีกสองคนคือ ดร.ชนน และ ดร.ดรัล ซึ่งทั้งสามคนต่างรู้จักกันดีตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา ดรัลกับเทวินตาเคยเป็นคู่รัก แต่ภายหลังดรัลไปแต่งงานกับคนอื่น ทำให้เทวินตาเสียใจมาก ต่อมาดรัลกลายเป็นพ่อหม้ายจึงหาทางขอคืนดีกับเทวินตาอีกครั้ง
.
งานประจำทำให้เทวินตาต้องไปอยู่ต่างประเทศเสมอ ครั้งหลังเธอต้องห่างบ้านไปนานสองถึงปี และเมื่อกลับมาไทยก็ต้องไปศรีลังกาต่อทันที เทวินตาอยู่กับครอบครัวของพี่ชายและแม่ แม่นั้นค่อนข้างเป็นห่วงเธอเพราะแม้เทวินตาจะกราบไหว้พระ แต่ไม่ได้สนใจในเรื่องพุทธศาสนาสักเท่าไร
.
ก่อนจากกันครั้งนี้ แม่คุยกับเทวินตาว่า “ศรีลังกาเป็นเมืองพระ อย่าลืมที่แม่พูดนะแม่วิน มีปัญญาค้นคว้าทางโลกแล้ว ลองค้นคว้าทางธรรมบ้าง ค้นคว้าเพื่อตัว เพื่อจิตของแม่วินเองแหละลูก อย่าได้โง่เง่า ตามืดมัวอย่างคนทั้งหลายที่จะต้องคลำทางไปอย่างคนตาบอดเมื่อเวลานั้นมาถึง เชื่อแม่นะลูก...”
.
เมื่อไปถึงศรีลังกา ก่อนเริ่มงานเทวินตาได้ไปเที่ยวที่สิคีริยาและอยู่ดี ๆ ก็สามารถอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ให้ชาวศรีลังกาและชนนฟังได้อย่างถูกต้อง ทั้งๆ ที่เธอไม่เคยมาเที่ยวที่นี่หรือรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของสิคีริยาเลย แต่พอกลับมาขึ้นรถ เธอกลับไม่รู้ตัวว่าทำอะไรไปบ้าง
.
เทวินตาเดินทางผ่านไปที่เจดีย์ฐูปรามา ซึ่งนานมาแล้วที่นี่เคยเป็นสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องข้ามภพข้ามชาติระหว่างเทวินตา และคนอื่น ๆ ซึ่งเธอก็บังเอิญมาเจอ ดร.ศิขริน วิกรมานัยเก ซึ่งยังไม่รู้จักกัน แต่เขาจะมาเป็นเพื่อนร่วมงานขอเธอ ศิขรินลาพักร้อนเพื่อไปปฏิบัติธรรมกับพระโกติกวัติ สัทธติสะเถโร ซึ่งเป็นหลวงลุงของเขา
.
ชนน เป็นเพื่อนรุ่นน้องเทวินตาและเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจศึกษาและปฏิบัติธรรม เขานับถือและชอบสนทนากับศิขรินและหลวงลุงเสมอ ชนนจึงพอรู้ว่า เหตุการณ์ที่เจดีย์ฐูปรามามีความเกี่ยวพันกับชาติภพก่อนของเทวินตา แต่เธอไม่เชื่อเรื่องกรรมข้ามภพข้ามชาติ เมื่อเริ่มปฏิบัติงานจริง ดรัล และศิขรินได้เจอกัน ดรัลรู้สึกเกลียดชังศิขรินตั้งแต่แรกเจอ
.
ภายหลังมีเหตุให้เทวินตาต้องกลับเมืองไทย เธอก็ยังคงฝันร้ายอยู่เสมอ และก็ป่วยด้วย ความสัมพันธ์ของเธอและดรัลก็ยังคงมีปัญหาตามมา ชนนเชื่อว่าอาการฝันร้ายของเทวินตาเป็นเหตุจากกรรมเก่า และแนะนำให้เธอหาโอกาสไปเจอศิขรินให้ได้ ชนนเป็นคนหนึ่งที่พยายามอธิบายให้เทวินตาเข้าใจเรื่องบุญและกรรม
"...ความตายในพุทธศาสนาไม่ใช่จุดจบของชีวิต ช่วงหนึ่งของวงจรจบลงต่างหาก แต่พลังไม่สูญ ... พลังงานแห่งกรรม...เหมือนไฟฟ้า มองไม่เห็น คนเราก็เหมือนกัน ดำเนินชีวิตไปด้วยพลังงานแห่งกรรมที่มองไม่เห็น หลอดไฟฟ้าอาจจะขาด แสงสว่างขาดหายไป แต่พลังไฟฟ้ายังอยู่ และดำเนินต่อไปถ้าได้เปลี่ยนหลอดไฟดวงใหม่ เช่นเดียวกับพลังแห่งกรรม ยังคงอยู่แม้ร่างกายจะสูญ"
.
เมื่อกลับไปที่ศรีลังกาครั้งนี้ เทวินตามีโอกาสรู้จักศิขรินมากขึ้นและได้ไปพักกับครอบครัวของเขาในเมืองแคนดี เธอจึงได้แวะที่เจดีย์ฐูปรามาอีกครั้ง... ทั้งสองได้พูดคุยเรื่องธรรมะมากขึ้น ศิขรินพูดว่า
"คำสั่งสอนของพระพุทธองค์นอกจากจะให้เราศึกษาแล้ว ยังต้องปฏิบัติด้วยนะคุณ เหนือสิ่งอื่นใด บุคคลย่อมต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง และถึงจะเรียนรู้ แต่ไม่ปฏิบัติธรรม พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า บุคคลชนิดนั้นเปรียบดังดอกไม้หลากสีอันปราศจากกลิ่นหอมทวนลม ผู้ไม่ศึกษาธรรมะเปรียบได้ดังคนตาบอด หากผู้ไม่ปฏิบัติยิ่งร้ายกว่านั้น"
.
ศิขรินเองตั้งใจจะบวช แต่ก็ด้วยบุญกรรมที่ยังคงผูกพันทำให้ยังตัดใจไม่ได้ เขาจึงเต็มใจจะช่วยให้เทวินตาซึ่งไม่เคยสนใจปฏิบัติธรรม เข้าใจและเชื่อเรื่องบุญกรรมให้ได้ ศิขรินจะช่วยเทวินตาให้หายจากอาการผิดปกติและความเจ็บป่วยนี้ได้อย่างไร
.
ขณะอ่านเรื่องนี้ ผู้อ่านจะไม่รู้สึกเบื่อกับสาระคำสอนเรื่องธรรมะ ผู้เขียนสร้างโครงเรื่องและคลี่คลายปมปัญหาในชีวิตตัวละครได้อย่างนุ่มนวล และทำให้ผู้อ่านรู้สึกอิ่มเอมใจและซาบซึ้งในพุทธศาสนาร่วมไปด้วย
 
.
นอกจากสาระเชิงธรรมะบันเทิงแล้ว นวนิยายเรื่องนี้ยังทำให้เราได้ความรู้เกี่ยวกับศรีลังกา และชาวศรีลังกาด้วย เช่น ไทยและศรีลังกามีความสัมพันธ์อันดีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเมื่อเราส่งพระอุปาลีและคณะไปช่วยเหลือด้านพุทธศาสนาในกรุงลังกา และ
ผู้ที่มาจากเมืองแคนดีจะมีนามสกุลลงท้ายด้วยคำว่า 'นัยเก' ตัวอย่างคือ นางสิริมาโว บันดารานัยเก อดีตนายกฯ สตรีคนแรกของศรีลังกา
 
.
เรื่อง "ศิขริน-เทวินตา' จึงมีคุณค่าทั้งทางวรรณศิลป์ พุทธศาสนาและประวัติศาสตร์ ผู้อ่านที่ชอบงานเขียนของโสภาค สุวรรณ ควรต้องหามาอ่านค่ะ
.
ผู้สนใจหนังสือนิยายชุดนี้ สามารถคลิกดูรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ
หมายเหตุ
- บทความวิจารณ์หนังสือเล่มนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของทีมแอดมินเพจ
- หนังสือนี้มิได้รับแจกเป็นบรรณาการจากสำนักพิมพ์ และเพจมิได้รับค่าตอบแทนในบทวิจารณ์แต่อย่างใด
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ #สิคีรียา #ศิขรินเทวินตา #โสภาคสุวรรณ #สตรีสาร #สำนักพิมพ์คลังวิทยา #จินตนิยาย #ศรีลังกา #สิงหล #ทมิฬ #พุทธศาสนา #กฎแห่งกรรม
โฆษณา