24 ต.ค. 2023 เวลา 09:43 • หุ้น & เศรษฐกิจ

จีนกับ Balance Sheet Recession - Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Richard Koo ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ เป็นผู้คิดค้นทฤษฎีเรื่อง Balance Sheet Recession ซึ่งอธิบายสาเหตุของทศวรรษที่สูญหายของญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990 (และที่กำลังจะเกิดขึ้นกับจีนในวันนี้?)
2
ปรากฎการณ์ Balance Sheet Recession เกิดขึ้นเมื่อภาคเอกชนของญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990 เผชิญปัญหาสภาพคล่องและปัญหาหนี้สูง อันเนื่องมาจากราคาสินทรัพย์ตกลงอย่างรวดเร็วจากฟองสบู่แตก (วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ และวิกฤตตลาดหุ้น) อย่างอสังหาริมทรัพย์ในกรุงโตเกียว ราคาตกถึงร้อยละ 70 ในยุคนั้น
3
ส่งผลให้บริษัทเอกชนและครัวเรือนต่างพยายามลดหนี้ เมื่อได้รายได้มาก็นำมาใช้หนี้ แทนที่จะนำไปลงทุนหรือบริโภค ก้อนเงินของภาคเอกชนและครัวเรือนที่ใช้จ่ายหนี้ก็สะสมอยู่ในระบบธนาคาร โดยที่ไม่ได้นำไปหมุนเวียนด้วยการลงทุนหรือบริโภคในระบบเศรษฐกิจ
9
ภาคเอกชนยังหลีกเลี่ยงที่จะกู้หนี้ก้อนใหม่เพื่อเอาไปลงทุนหรือบริโภค ทำให้ก้อนทุนมโหฬารที่เก็บในระบบการเงินไม่ได้เอามาใช้ให้ประโยชน์หรือประสิทธิภาพใดๆ จนนำไปสู่ดีมานด์ในตลาดที่ตกต่ำ และภาวะเงินฝืด
1
ทั้งหมดนี้ทำให้การเติบโตของ GDP ของญี่ปุ่นอยู่ในอัตราต่ำเตี้ยเพลียดินต่อเนื่องเป็นสิบปี แผลเป็นในทางจิตวิทยาจากปัญหาหนี้ส่งผลให้ภาคเอกชนของญี่ปุ่นต่างระมัดระวังในการกู้หนี้หรือลงทุนโครงการใหม่ๆ กลายเป็นวงจรขาลงทางเศรษฐกิจระยะยาว
1
ภาวะติดหล่มทางเศรษฐกิจเช่นนี้ มีหลายคนถามว่ากำลังจะเกิดขึ้นกับจีนในวันนี้หรือไม่ รัฐบาลจีนพยายามส่งเสริมให้ภาคเอกชนลดหนี้ หลายคนมองว่าปรากฎการณ์เศรษฐกิจจีนซึมยาวในตอนนี้มาจากการตัดสินใจทางการเมืองของสีจิ้นผิงที่อยากให้ทุกคนทนเจ็บ ลดหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ แล้วค่อยกลับมาฟื้นอย่างสุขภาพดีอีกครั้งหลังวิกฤต
นักเศรษฐศาสตร์จีนบางคนไม่แน่ใจว่าการทนเจ็บแบบนี้ สุดท้ายจะเกิดแผลเป็นทางจิตวิทยาแบบญี่ปุ่นหรือไม่ คือจะนำไปสู่ปรากฎการณ์ Balance Sheet Recession ที่ภาคเอกชนและครัวเรือนเอารายได้มาจ่ายหนี้ แต่เข็ดขยาดไม่กล้าลงทุนและบริโภค จะกลายเป็นไม่ใช่ทนเจ็บสั้น เพื่อฟื้นยาว แต่เท่ากับเจ็บหนักจนเข็ดแล้วไม่ฟื้นจากเตียงอีกเลย
1
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ไม่น้อยก็พยายามชี้ว่าสถานการณ์ของจีนมีหลายอย่างที่แตกต่างจากญี่ปุ่น เริ่มจากตัว Richard Koo เองที่บอกว่าจีนแตกต่างจากญี่ปุ่นอย่างน้อย 2 ข้อ
ข้อแรกคือ ในจีนนั้น ปัญหาเรื่อง Balance Sheet Recession เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในวงการนักเศรษฐศาสตร์จีน เพราะจีนสนใจปัญหาว่าจะหลีกเลี่ยงการซ้ำรอยญี่ปุ่นได้อย่างไร แตกต่างจากตอนที่เกิดปัญหานี้ในญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไรกันแน่ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ฟื้นเสียที
1
ข้อสอง คือ ทางออกจากวงจรขาลงทางเศรษฐกิจ ต้องอาศัยการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการการคลัง ซึ่ง Richard Koo มองว่ารัฐบาลพรรคเดียวสามารถทำได้ง่ายและตัดสินใจกระตุ้นเชิงรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยของญี่ปุ่น ซึ่งต้องเผชิญความขัดแย้งและข้อโต้เถียงทางการเมืองหากจะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่
เรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจในจีนนั้น เรายังไม่เห็นแรงกระตุ้นขนานใหญ่จากรัฐบาล บางคนมองว่ารัฐบาลจีนยังเก็บกระสุนไว้ เพราะมองว่าปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้เกิดจากแรงกดดันระยะสั้นจากแผลเก่าในการปิดเมืองตอนโควิดที่ยังไม่สมานแผลดี สักพักสถานการณ์เศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นกว่านี้
แต่หากยังไม่ฟื้นและไข้ซมยาวแบบที่ฝรั่งบางคนเริ่มเปรียบเทียบว่าเศรษฐกิจจีนเข้าสู่ภาวะ “ลองโควิด” รัฐบาลจีนคงจำเป็นต้องกระตุ้นปั๊มหัวใจให้เศรษฐกิจให้ออกจาวงจรขาลงให้ได้
1
ข้อแตกต่างอย่างอื่นระหว่างจีนกับญี่ปุ่นที่มีการอภิปรายกันในจีน ได้แก่ การปรับโครงสร้างหนี้ของภาคเอกชนจีนนั้นมีมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี แล้วในยุคสีจิ้นผิง ทำให้จริงๆ แล้ว สัดส่วนหนี้ของเอกชนจีนไม่ได้น่าวิตกหรือเป็นปัญหาใหญ่แบบตอนที่ญี่ปุ่นเกิดปัญหาวิกฤตซ้อนวิกฤต
1
ทั้งราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนในตอนนี้ก็ยังทรงตัว ไม่ได้พังพินาศตกรวดเดียวร้อยละ 70 แบบที่เกิดในญี่ปุ่น เพราะการควบคุมและแทรกแซงราคาของรัฐบาลจีน ซึ่งไม่ได้ปล่อยไปตามกลไกตลาดและกลไกจิตวิทยาที่จะเกิดแพนิคเทขายกันอย่างในญี่ปุ่นตอนที่เกิดวิกฤต
2
นอกจากนั้น ราคาที่ดินของโรงงานในจีนจริงๆ ไม่ได้มีปัญหาฟองสบู่ เพราะที่มีปัญหาฟองสบู่คือราคาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยในเขตเมือง ดังนั้น ผลกระทบของวิกฤตอสังหาริมทรัพย์จึงกระทบครัวเรือนจีน แต่ไม่ได้กระทบภาคการผลิต ดังนั้นจึงไม่ได้มีผลกระทบต่อการลงทุนในภาคการผลิตอย่างในญี่ปุ่น
ตอนนี้ตัวเลขการลงทุนในภาคการผลิตของจีนก็เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง (ตัวเลขการลงทุนที่ไม่ฟื้นคือในภาคอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น)
ภาคครัวเรือนของจีนนั้นกระทบแน่จากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในตอนนี้ แต่สัดส่วนการบริโภคของภาคครัวเรือนจีนอยู่ที่ร้อยละ 38 ของ GDP จีน ซึ่งแตกต่างจากญี่ปุ่นที่พึ่งพาพลังการบริโภคเป็นสัดส่วนที่สูงกว่ามาก
ปัญหาของจีนวันนี้กับญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่สูญหาย จะว่าคล้ายก็มีส่วนคล้าย แต่จะมองให้ต่างและมองให้จีนมีโอกาสไปต่อ ก็ยังพอมองเห็น แต่ทั้งหมดย่อมอยู่ที่นโยบายของรัฐบาลจีนด้วยว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึงพริกถึงขิงไหมเมื่อถึงคราวจำเป็น และจะสามารถควบคุมให้วิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ทรงตัว
รวมทั้งปลุกความเชื่อมั่นและพลังการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนจีนอีกครั้งได้หรือไม่
แต่หากรัฐบาลจีนเกิดมีความเชื่อจริงๆ แบบที่หลายคนเริ่มสงสัย กล่าวคือ ทุกคนต้องยอมเจ็บยอมทน จะไม่มีการกระตุ้นขนานใหญ่เด็ดขาด และจะปล่อยให้อสังหาล้มเพื่อรีเซ็ท ระวังว่าเศรษฐกิจเมื่อล้มจะล้มตามกันเป็นโดมิโน และเมื่อวงจรลงทุนและบริโภคหยุดชะงักก็จะวนเป็นวงจรขาลงเข้าสู่ทศวรรษซึมยาวแบบที่เกิดในญี่ปุ่นได้จริงๆ
1
สัญญาณทางนโยบายของรัฐบาลจีนต่อจากนี้จึงสำคัญมากครับ
โฆษณา