25 ต.ค. 2023 เวลา 06:00 • ธุรกิจ

ส่องธุรกิจกงสีตระกูลแตก! ‘สมบัติ’ สร้างรอยร้าวครอบครัว?

ธุรกิจครอบครัว เมื่อเติบใหญ่ขยายมี "คนนอก" เข้ามาเอี่ยว มักนำมาซึ่งความสั่นคลอน ไม่เพียงสายสัมพันธ์ของพ่อแม่พี่น้อง แต่หากแตะ "ธุรกิจกงสี" เมื่อไหร่ อาจนำมาซึ่งศึกสายเลือดแย่งชิงสมบัติ สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียง กิจการอาจย่อยยับด้วย
6
เมื่อ 10 ปีก่อน ศาสตราจารย์โยอาคิม ชวาส ผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจศึกษาครอบครัวระหว่างประเทศ สถาบัน MID Global Business Center เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้มาเยือนเมืองไทย และยังเป็นบุคคลสำคัญที่ถอดรหัส “ธุรกิจครอบครัว” มานับ “พันครอบครัว”
6
การขับเคลื่อนธุรกิจกงสี หรือกิจการครอบครัวให้ประสบความสำเร็จและส่งไม้ต่อจาก “รุ่นสู่รุ่น” ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ยากเกินไปนัก
ทั้งนี้ หากผ่านรุ่นแรกยุคบุกเบิก ผู้ก่อตั้ง สามารถเติบโตได้ ความท้าทายจะมาเยือนใหญ่อีกครั้งใน “เจนเนเรชั่นที่ 4” เพราะงานวิจัยบ่งชี้ว่ามีเพียง 4% เท่านั้นที่สามารถอยู่รอดถึงรุ่นดังกล่าว
4
กรุงเทพธุรกิจ เคยสัมภาษณ์ผู้บริหารองค์กรธุรกิจชั้นนำ เช่น ภูริต ภิรมย์ภักดี ในฐานะเจนฯ 4 ของตระกูล “ภิรมย์ภักดี” และเข้ามาสานต่อธุรกิจราว 20 ปีแล้ว และปี 2566 เจ้าตัวเพิ่งทำงานในฐานะ “แม่ทัพใหญ่” ของบุญรอดบริวเวอรี่ ครบ 1 ปี หลังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการใหญ่” เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565
9
“ภูริต” เคยบอกกับกรุงเทพธุรกิจว่า “ผมจะทำเจนฯ 4 ให้เหมือนเจนฯ 1” พร้อมหยิบประเด็นเจนฯ 4 มักทำให้ธุรกิจตกต่ำ
3
หรือแม้การสัมภาษณ์ “เพชร โอสถานุเคราะห์” ทายาทองค์กรร้อยปีอย่างโอสถสภา ผู้ล่วงลับ เป็นอีกคนที่ต้องการนำทัพธุรกิจให้เติบใหญ่ผลัดใบสู่เจนเนอเรชั่นหลัง
1
ทว่า ธุรกิจครอบครัว มีความเสี่ยงมากมาย โดยเฉพาะ “สมบัติ” ของกงสีที่จากรุ่นแรก เติบใหญ่สู่รุ่นถัดไป มีการสะสมความ “มั่งคั่ง” มากมายมหาศาล และแน่นอนว่า “เงินทอง” เป็นของนอกกาย แต่ทุกคนล้วนอยากได้
4
ความเปราะบางมักเกิดขึ้นเมื่อ “คนนอก” ครอบครัว เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นฐานะ ลูกเขย สะใภ้ พ่อตา แม่ยาย ฯ ล้วนเป็น “ชนวนเหตุแห่งรอยร้าว” ได้ทั้งสิ้น
7
📌 สำรวจกงสีแตก
2
ความขัดแย้งของ “พี่น้อง-พ่อ” ของ "ตระกูลณรงค์เดช” เป็นเพียงหนึ่งกรณีที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่นำมาซึ่งคววามเสียหายใหญ่หลวง นอกจาก “ทรัพย์สิน” หรือ “สมบัติ” ของตระกูล คือเรื่องของ “ความบอบช้ำทางจิตใจ” สร้างความทุกข์ให้กับบุคคลเหล่านั้นไม่ว่าจะมากดีมีจน แม้ยุคปัจจุบันจะมีการเปรียบ ร้องไห้หรือทุกข์บนกองเงินกองทอง ย่อมดีกว่าไร้เงินทอง
5
ศึกกงสีของตระกูล “โตทับเที่ยง” แห่งอาณาจักรผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล หรือรู้จักกันดีในฐานะผู้ผลิตและทำตลาดปลากระป๋องปุ้มปุ้ย เป็นอีกเรื่องราวร้าวฉานของพี่น้อง ที่ชิงกรรมสิทธิ์ธุรกิจ โรงแรม ที่ดินในกรุงเทพฯและจังหวัดตรัง รวมถึงหุ้นอีก 19 บริษัท จนนำไปสู่กระบวนการทางศาล
6
เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นปี 2559 เมื่อนายสุธรรม โตทับเที่ยง กับพวกรวม 9 คนโจทก์ กับ นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง ที่ 1 กับพวกรวม 6 คนจำเลย ในข้อหา กรรมสิทธิ์ เรียกทรัพย์คืน ขอแบ่งทรัพย์(กงสี)
1
การต่อสู้ของ “พี่น้องสายเลือดเดียวกัน” กินเวลายาวนานถึง 6 ปีถึงขั้นฎีกา กระทั่งต้นปี 2565 คำพิพากษาศาลฎีกา ยืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้ง 6 คน ที่ถือกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัททั้ง 19 บริษัทไว้แทนกงสี โอนหุ้นในบริษัทให้ นายสุธรรม โตทับเที่ยง กับพวกรวม 9 คน
9
สุธรรม โตทับเที่ยง ในวัยขยับใกล้ 80 ปีทุกขณะ ต้องการเกษียณจากธุรกิจ แต่ปมแย่งชิงกิจการกงสี ทำให้ต้องนำทัพต่อกรกับสายเลือดเดียวกัน
4
วรรคทองที่ สุธรรม กล่าวกับสื่อมวลชนหลังศาลฎีกามีคำพิพากษาออกมาคือ “คดีธุรกิจครอบครัวหรือกงสีโตทับเที่ยงแล้ว ไม่มีใครแพ้ ไม่มีใครชนะ ทุกคนชนะหมด ด้วยความเป็นธรรมที่ได้รับมา ในสิ่งที่ตนเองควรจะได้ สิ่งไหนที่ไม่ใช่ย่อมไม่ได้ และความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย เป็นตามที่ปรากฎ”
6
“น้ำพริกเผาแม่ประณอม” อีกกิจการกงสีที่ลุกเป็นไฟ จากความขัดแย้งของ “แม่-ลูก” เมื่อนางประณอม แดงสุภา ผู้ก่อตั้งบริษัท พิบูลย์ชัยน้ำพริกเผาไทยแม่ประณอม ฟ้องร้องลูกสาวคนโต “นางศิริพร แดงสุภา” กรณีปลอมเอกสารโอนที่ดินสมรสของแม่ 9 แปลง ที่จัหวัดนครปฐม เป็นของตัวเอง การฟ้องร้องดังกล่าวยังมีจำเลยคือ “ลูกเขย” ด้วย
9
ยุค “พ่อแม่” เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจ การถือหุ้นมีสัดส่วนที่วางไว้ พร้อมทั้งแบ่งให้ “ลูกเขย” เพียงเล็กน้อย ทว่า ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นธุรกิจน้ำพริกเผาแม่ประณอม โดยลูกสาว “ลูกเขย” รวมถึง “หลานๆ 3 คน” เข้ามามีเอี่ยว ส่วนแม่ รวมถึงลูกคนอื่น ไม่มีหุ้น
4
อาณาจักรน้ำพริกเผาแม่ประณอมนั้นเติบใหญ่เป็น “พันล้านบาท” ยิ่งกว่านั้น ความสามารถในการทำ “กำไร” ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ทะลุ “ร้อยล้านบาท” แล้ว
3
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งข้างต้นมี “กาวใจ” ช่วยประสาน แต่แก้วร้าวจะลบรอยบาดหมางในใจได้หรือไม่ “คนนอก” ยากจะทราบ
1
เรื่องใหญ่ของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK กรณีการสร้างยอดขายปลอม ตกแต่งบัญชีที่มีมูลค่ามหาศาล 2.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ชื่อของ "วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” ทายาทคนโตของอาณาจักรสี “ทีโอเอ” หมื่นล้านบาท
5
ด้วยผลกระทบของ “สตาร์ค” ต่อนักลงทุนมีมากมายมหาศาล ช่วงแรกของการเกิดปัญหา สังคมตั้งคำถามไปยัง “ครอบครัวตั้งคารวคุณ” พอจะยื่นมือมาช่วยเหลือได้อย่างไร
1
แม้กิจการกงสียังไม่ได้รับผลกระทบจนถึงขั้น “แตกหัก” ทว่า ได้สร้างบาดแผลให้กับนามสกุล “ตั้งคารวคุณ” ไม่น้อย ยิ่งกว่านั้น การสาวเรื่องราวของครอบครัว กลับมีกลิ่นสายสัมพันธ์ที่ไม่ได้ราบรื่นมากนัก โดยเฉพาะบุตรชายคนโตที่อยากพิสูจน์ฝีมือ และสร้างผลงานทางธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เข้าตาที่บ้าน
4
อย่างไรก็ตาม สีทีโอเอ พี่น้องยุคบุกเบิกก่อตั้งธุรกิจ ก็มีการ "แยกตัว" ไปขับเคลื่อนกิจการตามเส้นทางของตัวเองด้วย
1
📌 สกัดศึกสายเลือดด้วยกฎเหล็ก!
ธุรกิจครอบครัวรุ่น 1 อาจมีผู้ก่อตั้ง ทีมงานร่วมหัวจมท้ายไม่มาก แต่เมื่ออาณาจักรเติบใหญ่ ลูกชาย-ลูกสาว แต่งงานมีครอบครัว มีลูกเขย ลูกสะใภ้ มีลูกมีหลาน ทำให้ครอบครัวเล็ก “ขยายใหญ่” และมีผู้คนที่คิดเห็นพ้องเห็นต่างอยู่ร่วมกัน การกำกับดูแลให้ไปในทิศทางเดียวกันไม่ง่าย
4
ดังนั้น หลายตระกูลใหญ่ จึงพากันจัดตั้ง “ธรรมนูญครอบครัว” หรือ Family Constitution เพื่อเป็นกฎ กติกาใช้ในบ้าน และการทำธุรกิจ ซึ่งหลายครอบครัวจะมีข้อปฏิบัติและ “ข้อห้าม” อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเปิดทางให้ “ลูกเขย-สะใภ้” เข้ามามีเอี่ยวในกิจการกงสีได้หรือไม่
4
บางครอบครัว จะเข้ามารับไม้ต่อยังต้องออกกฎให้ไปทำงานบริษัทข้างนอก เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และลับฝีมือ ฝึกวิทยายุทธให้แกร่งก่อนกลับเข้ามาทำงาน
2
ตัวอย่างธรรมนูญครอบครัว “จิราธิวัฒน์” เป็นหนึ่งในต้นแบบที่น่าสนใจ ในฐานะเบอร์ 1 ยักษ์ค้าปลีกของเมืองไทย และมี “ทายาท” สืบสานกิจการ “หลายแสนล้านบาท” จากรุ่น 1 ถึงปัจจุบัน 5 รุ่นแล้วตลอดระยะเวลากว่า 7 ทศวรรษ และมีเหล่าเขย สะใภ้ ลูกหลานกว่า 200 ชีวิต
2
ตระกูลจิราธิวัฒน์ “แยก” ธุรกิจ และ ครอบครัว ออกจากกันให้ชัดเจน และมี “วิโรจน์ ภู่ตระกูล” ซีอีโอคนแรกของลีเวอร์ บราเธอร์ (ประเทศไทย) หรือยูนิลีเวอร์มาช่วยจัดทำ “สภาครอบครัว” และ “ร่างธรรมนูญครอบครัว” ตั้งแต่ปี 2541 โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 4 ปี จึงแล้วเสร็จ หรือเสร็จในปี 2545 นั่นเอง
4
“ธุรกิจครอบครัวต่างจากการเป็นครอบครัวปกติ ซึ่งไม่มีเงื่อนไขความรัก ธุรกิจจะต้องนิยามว่าใครเป็นใคร เช่น ใครเป็นสมาชิกครอบครัว สมาชิกโดยสายเลือด หรือคู่สมรส และเรามีการประเมินผลตลอดเวลา ที่ยากคือ การแบ่งปันทรัพย์สิน ตลอดจนอสังหาริมทรัพย์ที่อาศัยร่วมกัน ซึ่งครอบครัวปกติจะไม่คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้” สุกุลยา เอื้อวัฒนะสกุล จากเซ็นทรัล กรุ๊ป เคยเล่าให้ฟัง
3
ที่สำคัญ “ที่นี่(ธุรกิจครอบครัวจิราธิวัฒน์)ไม่ให้เขยและสะใภ้ทำงาน เพราะเชื่อว่าการเลี้ยงดูมาไม่เหมือนกัน อาจมีอิทธิพลต่อการบอกกล่าวคนในครอบครัวให้ทำหรือไม่ให้ทำอะไร” เนื่องจากป้องกันไม่ให้เกิดการยุแหย่ให้เกิดความแตกแยกภายในครอบครัวนั่นเอง
5
สำหรับโครงสร้างการปกครองของตระกูลจิราธิวัฒน์ ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้ 1.ครอบครัว มีสภาครอบครัว(Family counsil) 2.Ownership มี CG Board หรือมาจากเซ็นทรัล กรุ๊ปดูแล รวมถึงคนนอก กลุ่มนี้จะตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนใหญ่ๆ และ3.ธุรกิจ มีกรรมการบริหาร(Executive committee:Ex-com)
3
นอกจากนี้ ได้มีแนวการปฏิบัติด้านคุณธรรม จริยธรรมต่างๆแล้ว ยังให้หลีกเลี่ยง 10 สิ่งพึงรังเกียจด้วย เช่น การสูบบุหรี่, พูดมากไร้สาระ, ไม่ตรงต่อเวลา, โลภ ,เอาแต่ได้, อวดเก่ง แต่ไม่เก่งจริง, เอาเปรียบผู้อื่น, เกียจคร้าน, โกง เป็นต้น
9
จะเห็นว่าวาจาศักดิ์สิทธิ์ หรือจะสู้กฎเหล็กของตระกูล เพราะหากใครทำผิด สามารถอัปเปหิออกจากครอบครัวได้ด้วย
4
โฆษณา