27 ต.ค. 2023 เวลา 06:00 • ไลฟ์สไตล์

ทำงานหนัก ผลงานดี ก็อาจย่ำอยู่กับที่ได้ รู้จัก กับดัก 'Tiara Syndrome'

“Tiara Effect Trap” หรือ “Tiara Syndrome” เป็นคำใช้เรียกคนที่หลงคิดว่า ถ้าทำงานหนัก มีผลงาน สักวันจะมีคนเห็น และมอบตำแหน่งให้ เหมือนกับมีคนมามอบมงกุฎ แต่ความจริงแล้วไม่มีใครเห็น ผู้เชี่ยวชาญแนะถ้าอยาก “เลื่อนตำแหน่ง” ต้องแสดงให้คนรู้ว่าได้ทำอะไรไปบ้าง
1
เราต่างคุ้นเคยกับสุภาษิต “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” หลายคนจึงก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างขะมักเขม้น เพื่อหวังว่าสักวันจะมีคนมองเห็นในความพยายาม และจะได้มาซึ่งความสำเร็จแต่ในโลกการทำงานบางครั้งความพยายามทำงานอย่างหนัก ทุ่มเทแรงกายแรงใจขนาดไหนกลับไม่มีใครเห็น หน้าที่การงานไม่ก้าวหน้า ทำงานหนักไม่ได้การันตีว่าจะได้เลื่อนตำแหน่ง
📌มงไม่ลง ก็ได้แต่งงต่อไป
แครอล โฟรลิงเกอร์ ประธานบริษัท Negotiating Women, Inc. บริษัทที่ปรึกษากล่าวว่าการทำงานหนักยังคงมีความสำคัญมาก แต่ถ้ามัวรอให้คนมาเห็นความพยายามของเราเองอาจจะสายเกินไป
โฟรลิงเกอร์ เรียกคนที่ติดกับดักทางความคิดว่า ถ้าเราตั้งใจทำงาน พยายามทำงานไปเรื่อย ๆ สักวันคงจะมีคนเห็นคุณค่าและได้เลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น เรียกว่า “Tiara Effect Trap” หรือ “Tiara Syndrome” เปรียบเสมือนมีคนมอบมงกุฎ (Tiara) ให้ มั่นใจว่าจะต้องได้แน่นอน เพราะคิดว่าตัวเองทำผลงานดีมาตลอด “สมมง” แบบนี้ ยังไง “มงต้องลงแล้ว”
นอกจากนี้ โฟรลิงเกอร์ ยังกล่าวเพิ่มว่า คนที่มีประสิทธิภาพแต่ไม่ถูกมองเห็น ก็แทบไม่ต่างกับคนไม่มีอะไรโดดเด่นเลย เพราะจะกลายเป็น “คนที่ถูกลืม” ไม่มีใครนึกถึง เวลาที่เจ้านายหาคนที่ควรได้เลื่อนตำแหน่ง
เหมือนกับความเห็นของ เจฟฟ์ แชนนอน โค้ชผู้บริหาร กล่าวว่า “ต่อให้คุณทำงานหนักจนตาย ก็ไม่มีความหมายเลย ถ้าไม่มีใครเห็นว่าคุณลงแรงไปตั้งเท่าไหร่ คุณต้องโชว์ให้คนอื่นเห็นว่าคุณทำอะไรไปบ้าง ถึงจะมีโอกาสได้เลื่อนตำแหน่ง”
นี่จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความเชื่อของคนไทยอย่างมาก เพราะเรามักจะถูกสอนมาแต่เด็กว่า “ทำดีได้ แต่อย่าเด่น จะเป็นภัย” เพื่อเป็นการป้องกันตนเองไม่ให้โดนคนอื่นหมั่นไส้ หรืออาจจะ “ขัดแข้งขัดขา” ใครเข้า จนกลายเป็นเป้าโจมตี ไปในที่สุด แถมดีไม่ดีจะถูกมองว่าเป็นพวก “ชอบเอาหน้า” หรือ “โชว์พาว” ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงพยายามทำงานของตนเองให้ดีที่สุด เพื่อสักวันผลงานจะไป “เข้าตา” ผู้หลักผู้ใหญ่จนได้เลื่อนขั้น
​​​​แต่ในมุมมองของหัวหน้าไม่ได้เป็นเช่นนั้น แชนนอนตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ลำพังแค่ขยันทำงานอย่างเดียว ไม่ได้ช่วยให้ใครสังเกตเห็น เนื่องจากคนอื่น ๆ ในทีมก็ตั้งใจทำงานไม่แพ้กัน หากคุณไม่ดึง “สปอตไลต์” มาไว้ที่ตัวเองบ้าง ในอีกไม่นานคุณอาจจะกลายเป็นแค่ตัวประกอบให้คนอื่น และถูกกลืนกลายเป็นแบ็กกราวด์ไปในที่สุด
1
แม้ว่าทั้งทุกคนจะเจ็บปวดจากการถูกมองข้าม ทั้งที่พวกเขาทำงานหนักก็ตาม แต่โฟรลิงเกอร์ระบุว่า ผู้หญิงมักจะพบ Tiara Syndrome ได้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากสังคมมักจะเปิดโอกาสให้ผู้ชายพูดถึงความสำเร็จได้มากกว่าผู้หญิงและมีค่านิยมว่าผู้ชายประสบความสำเร็จเพื่อเป็นผู้นำที่ดี ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถแสดงความทะเยอทะยานในหน้าที่การงานออกมาได้มากเท่า
📌ทำงานเก่ง ต้องอยู่ให้เป็นด้วย
โดยพื้นฐานแล้ว การเจริญในหน้าที่การงาน ไม่ใช่เพียงแค่จะทำงานเก่งเท่านั้น แต่จำเป็นต้อง “อยู่ให้เป็น” ด้วย โฟรลิงเกอร์กล่าวว่า คุณจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง และเป็นที่ชื่นชอบของคนในออฟฟิศ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้อง เพราะคนเราย่อมมีอคติ เลือกที่รักมักที่ชังอยู่เสมอ
ผลวิจัยในปี 2021 ระบุว่า คนที่เป็นที่รักในออฟฟิศ จะได้รับผลประเมินงานได้ดีกว่าคนอื่น ๆ
แม้ว่าหากวัดกันตามเนื้องานของพวกเขาจะเหมือนกันก็ตาม แน่นอนว่ามันไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย แต่หัวหน้าก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งตามสัญชาตญาณแล้วเขาย่อมทำดีกับคนที่เขาชอบ หรือรู้สึกว่าเป็น “พวกเดียวกัน” อยู่แล้ว
ดังนั้นแม้ว่าคุณและเพื่อนร่วมงานอาจมีทักษะและการทำงานเหมือนกันทุกประการ แต่ถ้าหากเขาเป็นคนอัธยาศัยดี หรือรู้จักผูกมิตรกับคนอื่น ๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของทีม (ซึ่งไม่ใช่การประจบสอพลอ) เขาก็มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน ได้มากกว่าคนที่ไม่สุงสิงกับใครและรออย่างมีความหวังว่าสักวันจะมีคนจะมองเห็นความดี
1
โฟรลิงเกอร์แนะนำกลยุทธ์ที่จะเพิ่มคะแนนให้กับตัวเองได้ด้วยการสร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานสร้างเครือข่ายของตนเอง ลองชวนเพื่อนร่วมงานคุยนอกจากเรื่องงาน เช่น ความสนใจ กิจกรรม งานอดิเรกที่ชอบทำ หาความเชื่อมโยงสิ่งที่ชอบร่วมกัน เพื่อจะได้รู้สึกเป็นทีมเดียวกัน ไม่ถูกกันเป็นคนอื่น และไม่กลายเป็นคนที่ถูกลืม
ขณะที่ ศรุติ ธูปิยา ที่ปรึกษาด้านภาวะผู้นำ ให้คำแนะนำว่า คุณควรสร้างตัวตนให้คนในองค์กรมองเห็นคุณด้วยการแสดงความทะเยอทะยานในการทำงานของคุณผ่านการแสดงความเห็น แชร์ไอเดียและประสบการณ์ในการประชุมต่าง ๆ รวมถึงขอฟีดแบ็กในการทำงานจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ
นอกจากนี้ พยายามเข้าร่วมกิจกรรมขององค์กร เช่น การอบรม เอาท์ติ้ง จะช่วยให้คุณรู้จักกับคนในองค์กรมากยิ่งขึ้น และเป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายอีกด้วย ยิ่งมีคนรู้จักต่างสายงานมากเท่าไหร่ ยิ่งมีผลดีต่อคุณมากเท่านั้น
แม้ว่ามันอาจจะดูเป็นเรื่องยากสำหรับชาวอินโทรเวิร์ตที่จะเริ่มบทสนทนา แต่การทำให้รู้ว่าคุณยังมีตัวตนอยู่ และได้พูดคุยกับคนในออฟฟิศ สามารถสร้างความสุขได้อย่างง่ายดาย และไม่ใช่เรื่องที่ทำร้ายใครแถมยังเป็นแต้มต่อการเติบโตทางหน้าที่การงาน ในระยะแรกอาจจะรู้สึกฝืนตัวเองเสียหน่อยที่จะต้องเข้าสังคม แต่ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นการรักษาความสัมพันธ์และหน้าที่การงาน ซึ่งโฟรลิงเกอร์ระบุว่านี่เป็นหน้าที่ของพนักงานทุกคน เพราะถ้า คุณไม่รักษาตำแหน่งของคุณให้ดี แล้วใครช่วยคุณได้
โฆษณา