Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
HR Talk by Tamrongsak
•
ติดตาม
7 ธ.ค. 2023 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
การล่วงเกินทางเพศในที่ทำงานมีผลยังไงในทางกฎหมายแรงงาน
เห็นข่าวในหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์อยู่ในตอนนี้ก็เลยอยากจะเอามาพูดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนทำงานว่าถ้าทำความผิดในเรื่องนี้จะมีผลยังไงบ้าง
นั่นคือการล่วงเกินทางเพศในที่ทำงานครับ !!
คำ ๆ นี้ถ้าคนทั่วไปได้ยินก็อาจจะคิดถึงพฤติกรรมของการล่วงเกินทางเพศก็คือการลวนลาม จับเนื้อต้องตัวกัน หรือแม้แต่จะเลยเถิดไปถึงขั้นข่มขืน ฯลฯ
หรือพูดโดยสรุปก็คือคนทั่วไปมักจะคิดว่าต้องมีการคุกคามทางกายเป็นหลักจริงไหมครับ
ถ้าใครคิดอย่างงี้ล่ะก็..ผมอยากจะบอกว่า “คิดผิด” แล้วล่ะครับ !!
มาตรา 16 ของพรบ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับแก้ไข) ปี 2551 กันตามนี้ครับ
“มาตรา 16 ห้ามมิให้นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงานหรือผู้ตรวจงาน กระทำการล่วงเกิน คุกคาม หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง”
เมื่ออ่านสองบรรทัดข้างบนนี้แล้ว ท่านเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายแรงงานในมาตรานี้ชัดขึ้นหรือยังครับ ?
คำว่า “ลูกจ้าง” นี่หมายถึงไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างชาย ลูกจ้างหญิง หรือลูกจ้างเด็ก โดยไม่กำหนดว่าจะเป็นเพศใดนะครับ
จากมาตรานี้ไม่ได้มีคำว่า “ล่วงเกิน” เพียงเท่านั้น แต่ยังมีคำว่า “คุกคาม” และ “ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญทางเพศ” เข้ามาอีกด้วย
ซึ่งในสองคำนี้ก็จะมีครูบาอาจารย์ทางกฎหมายและท่านผู้รู้หลายท่านหยิบคำเหล่านี้ไปเทียบเคียงความหมายกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.2542 เพื่อเป็นแนวทางคือ....
“ล่วงเกิน” หมายถึง แสดงอาการเกินสมควรต่อผู้อื่นโดยล่วงจารีตประเพณีหรือจรรยามารยาทด้วยการลวนลาม เช่นการลวนลามอีกฝ่ายหนึ่งทางร่างกาย (เช่นการจับมือถือแขนหรือโอบกอด)
หรือการพูดจาลวนลามในเชิงชู้สาว (แม้ไม่ได้ถูกเนื้อต้องตัวก็มีโอกาสจะเข้าข่ายในความหมายนี้ได้แล้วนะครับ) หรือการพูดดูหมิ่น หรือสบประมาท (ในทางเพศ) อีกฝ่ายหนึ่ง เป็นต้น
“คุกคาม” หมายถึง การแสดงอำนาจด้วยกิริยาหรือวาจาให้หวาดกลัว ทำให้หวาดกลัว เช่น แสดงท่าทีทั้งสีหน้าท่าทางเหมือนจะเข้าไปปล้ำ ทำหน้าตาหื่นกระหายจนทำให้อีกฝ่ายหนึ่งจนอีกฝ่ายหนึ่งหวาดกลัว (อันนี้ถ้าใครเป็นคอละครมักจะเห็นเวลาผู้ร้ายทำท่าทำทางจะปล้ำนางเอกทำนองนั้นแหละครับ)
“รำคาญ” หมายถึง ระคายเคือง เบื่อ ทำให้เดือดร้อนเบื่อหน่าย เช่น หัวหน้าชอบพูดสองแง่สองง่ามวกลงใต้สะดือกับลูกน้องอยู่ทุกวัน วันละหลาย ๆ รอบซึ่งเรื่องเหล่านี้ลูกน้องก็ไม่ได้สนุกไปด้วย ไม่ได้อยากฟัง แต่หัวหน้าก็ยังชอบพูดซ้ำซากน่ารำคาญ เป็นต้น
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผมเชื่อว่าเราคงเข้าใจชัดเจนขึ้นแล้วนะครับว่าการล่วงเกินทางเพศในที่ทำงานนั้น ไม่จำเป็นจะต้องมีการล่วงเกินคุกคามกันทางร่างกายเท่านั้น แม้จะเป็นการแสดงกิริยาอาการ หรือการพูดจาที่ส่อไปในทางไม่ดีทางเพศก็จะอยู่ในข่ายนี้ด้วยเหมือนกัน
ลองดูแนวคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหนึ่งที่เกี่ยวกับการล่วงเกินทางเพศเพื่อให้ชัดเจนขึ้นดังนี้ครับ
ฎ.1372/2545 “ลูกจ้างเป็นผู้บังคับบัญชาอาศัยอำนาจหน้าที่ของตนชักชวนลูกจ้างหญิงซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาออกไปเที่ยวเตร่ด้วยกันในเวลากลางคืนนอกเวลางาน
หากลูกจ้างหญิงไม่ไปจะกลั่นแกล้งเสนอความเห็นไม่ให้ลูกจ้างหญิงผู้นั้นผ่านทดลองงาน การกระทำดังกล่าวมุ่งประสงค์เพื่อการล่วงเกินทางเพศลูกจ้างหญิงที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของตน ถือเป็นการล่วงเกินทางเพศ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของลูกจ้างที่เป็นผู้บังคับบัญชานอกจากจะเป็นการประพฤติผิดศีลธรรมหรือจารีตประเพณีอันดีงามของสังคม อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการบริหารงานบุคคลของนายจ้าง
ทำให้พนักงานขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน การฝ่าฝืนของลูกจ้างถือเป็นกรณีร้ายแรง
นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม”
จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น คงจะเป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับนายจ้างหรือหัวหน้าที่ทำงานตัวเป็นเกลียวหัวเป็นงูได้เป็นอย่างดีนะครับว่าอะไรควรหรือไม่ควรในการปฏิบัติกับลูกน้อง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้ลูกน้องเสื่อมศรัทธาคนที่เป็นหัวหน้าได้ทันที
อ้อ..ก่อนปิดท้ายเรื่องนี้ผมอยากจะบอกเพิ่มเติมว่ากรณีล่วงเกินทางเพศนี้ไม่ใช่เฉพาะหัวหน้าผู้ชายกับลูกน้องผู้หญิงเท่านั้นนะครับ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าผู้ชายกับลูกน้องผู้ชาย หรือหัวหน้าผู้หญิงกับลูกน้องผู้หญิงนี่ก็ผิดเหมือนกันเพราะกฎหมายให้ความเท่าเทียมทางเพศไว้ด้วยนะครับ
กฎหมาย
ข้อคิด
แรงงาน
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย