2 พ.ย. 2023 เวลา 13:46 • ประวัติศาสตร์

ฮาชิมะ เกาะร้างผีสิง อันมีบาดแผลความจริง น่ากลัวกว่าผี

เมื่อพูดถึง "เกาะฮาชิมะ" แน่นอนว่า สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึง คือเรื่องราวอาถรรพ์หลี้ลับเกาะร้างสุดหลอน ของประเทศญี่ปุ่น ที่ขึ้นชื่อเรื่องความน่ากลัวเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก จนดึงดูดนักท่องเที่ยวมาท้าทายความน่าสะพรึงนี้
แต่ก่อนจะเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวอาถรรพ์หลี้ลับบนเกาะร้างแห่งนี้ บทความนี้เราจะพาคุณย้อนอดีตหาความจริงเรื่องราวแสนเจ็บปวดที่แรงงานเชลยจากสงครามต้องเจอบนเกาะกัน เมื่อได้รู้จะพบว่ามันน่ากลัวกว่าผีเสียอีก
เกาะฮาชิมะ ตั้งอยู่กลางทะเลทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ห่างจากเมืองนางาซากิ 20 กิโลเมตร แม้จะเป็นเกาะเล็ก ๆ แต่เกาะฮาชิมะมีความสำคัญอย่างมาก ในแง่อุตสาหกรรมถ่านหิน ซึ่งก็ทำให้ภายในเกาะแห่งนี้ เกิดธุรกิจอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินขึ้น ในช่วงปี ค.ศ. 1810 โดยบริษัท มิตซูบิชิ (Mitsubishi)
บริบทโลกในช่วงศตวรรษที่ 19 นี้ เป็นช่วงที่ระบบอุตสาหกรรมเติบโต ทำให้พลังงานเหล่านี้ต้องถูกนำไปใช้เพื่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้อุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินในเกาะฮาชิมะเติบโต และมีความต้องการส่งออกถ่านหินที่สูงขึ้น ความเหนื่อยยากจึงตกมาที่แรงงานเหมืองถ่านหินเพื่อสนองต่อความต้องการถ่านหินในตลาด
ในช่วงปี ค.ศ. 1887 เรื่อยมา เกาะฮาชิมะมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ในการทำอุตสาหกรรมถ่านหิน เหล่าแรงงานและพนักงาน ต่างมาตั้งตัว มีครอบครัวอาศัยบนเกาะ มีความหนาแน่นของประชากรค่อนข้างสูง ทำให้ภายในเกาะเกิดความเป็นเมืองขึ้น มีทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ธุรกิจความบังเทิงต่าง ๆ การใช้ชีวิตจึงไม่ต่างจากแผ่นดินใหญ่ แม้จะเป็นเกาะเล็ก ๆ ก็ตาม
ภาพนักเรียนในโรงเรียนบนเกาะฮาชิมะ
ความปกติสุขบนเกาะฮาชิมะอยู่ได้ไม่นาน จนถึงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จักรวรรดิญี่ปุ่น ณ เวลานั้น ได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งนี้ และประกาศตนเป็นพี่ใหญ่แห่งเอเชีย จนนำมาสู่สงครามรุกรานในภูมิภาคเอเชียขึ้น
โดยเฉพาะการทำสงครามกับเกาหลีและจีน ซึ่งเป็นประเทศใกล้เคียง ทำให้ชาวเกาหลีและจีนตกเป็นเชลยศึกของญี่ปุ่น และกว่าหมื่นรายถูกนำพามาเป็นแรงงานเชลยศึกในการทำเหมืองถ่านหินที่เกาะฮาชิมะแห่งนี้
ช่วงบริบท ณ เวลานั้น เกาหลียังคงถูกปกครองภายใต้จักรวรรดิญี่ปุ่น การเข้ามาทำงานในประเทศญี่ปุ่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ในช่วงทศวรรษ 1930 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีแรงงานชาวเกาหลีจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาทำงานในเหมืองถ่านหินที่เกาะฮาชิมะนี้ แต่พวกเขากลับได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับแรงงานชาวญี่ปุ่น เช่น เรื่องที่อยู่อาศัย คนญี่ปุ่นอาศัยอพาร์ตเมนต์ทันสมัย แต่ทางกลับกัน แรงงานเกาหลีและจีนต้องอาศัยอยู่ที่อาคารขนาดเล็กอยู่รวมกัน 500 - 800 คนจนหนาแน่น
อาคารพักอาศัยของแรงงานชาวเกาหลี
การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาตินี้ เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงภาวะสงครามโลกครั้ง 2 ที่เรียกได้ว่าแรงงานเกาหลี รวมถึงแรงงานที่เป็นเชลยศึกสงคราม ทั้งจีน ไต้หวัน รวมถึงอเมริกา ก็ถูกใช้แรงงานอย่างหนักในการทำเหมือง เพื่อผลิตถ่านหินให้ทันต่อความต้องการของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในการเป็นวัตถุดิบในการทำสงคราม จนมีเชลยศึกอเมริกาเขาถึงกลับกล่าวว่า พวกเขายอมทำร้ายตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานในเหมืองที่หนักเพราะกลัวตายในนั้น
คุณ Choi Jang-seop ผู้รอดชีวิตจากการเป็นแรงงานในเกาะฮาชิมะนี้ เล่าว่า แรงงานต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง กับการกินข้าวปั้นแค่ก้อนเดียวใน 1 วัน ทั้งยังต้องใส่ชุดชั้นในในการทำงาน โดยที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันใด ๆ ทำให้มีร่างกายที่ผอมโซมาก จากการทำงานหนักและได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ
ภาพแรงงานในเหมืองถ่านหิน บนเกาะฮาชิมะ
เมื่อนานไปแรงงานและแรงงานเชลยศึก ก็เริ่มเจ็บป่วย บ้างก็เสียชีวิตลง จากการทำงานหนัก และการขาดสารอาหาร อีกทั้งด้วยภาวะสงครามทหารญี่ปุ่นเป็นผู้ควบคุมเหมือง จึงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น ทั้งผู้ลงโทษทางร่างกาย บางรายก็ถูกสังหารก็มี ซึ่งไม่ต่างอะไรจากคุก
โดยความโหดร้ายจากการถูกบังคับใช้แรงงานนี้ ทำให้แรงงานหลาย ๆ คน มักหลบหนีออกจากเกาะ โดยการว่ายน้ำกว่า 20 กิโลเมตร แต่หลายคนก็จมน้ำตายก่อน อย่างไรแล้วแม้รู้ว่าอันตรายแค่ไหน แรงงานเหล่านี้ก็ยอมหนีดีกว่าทนกับความโหดร้ายจากการถูกบังคับใช้แรงงานบนเกาะ แต่เมื่อหลบหนีได้ ก็มีการยึดเงินออมของแรงงานที่ฝากไว้กับบริษัท ซึ่งต่างจากชาวญี่ปุ่น ที่ฝากไว้กับธนาคารใดก็ได้
ความห่างของเกาะฮาชิมะกับแผ่นดินหลักนางาซากิ
ภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้จบลง จักรวรรดิญี่ปุ่นที่อยู่ในฝ่ายอักษะ กำลังจะพ่ายแพ้ สถานการณ์ภายในเกาะฮาชิมะเอง มาซายูกิ โคซาโกะ อดีตหัวหน้างานบนเกาะ เขากล่าวว่า ก่อนที่ญี่ปุ่นจะแพ้สงคราม เขาได้ให้แรงงานจีน เกาหลี และไต้หวัน หลบหนี เพราะกลัวว่าจะถูกการประท้วงความไม่เป็นธรรมขึ้นโดยการแก้แค้นของแรงงาน
การจบลงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นถูกอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิม่า และนางาชากิ ที่ห่างจากเกาะฮาชิมะราว ๆ 20 กิโลเมตร แม้เกาะนี้ไม่ได้ผลกระทบต่อแรงระเบิดโดยตรง แต่ก็รับรู้ถึงความเสียหายของญี่ปุ่นได้เช่นกัน ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ที่ถือเป็นการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 และสิ้นสุดการถูกบังคับใช้แรงงานเชลยศึกที่โหดร้ายนี้ด้วย
ในปี ค.ศ. 1960 อุตสาหกรรมถ่านหินก็ไม่ได้เป็นที่ต้องการในตลาดอีกต่อไป ธุรกิจอุตสาหกรรมถ่านหินของบริษัท มิตซูบิชิ จึงประกาศปิดกิจการ ทำให้ในเกาะก็ไม่มีประโยชน์อีกต่อไป ผู้คนจึงทยอยออกจากเกาะ เหลือไว้แค่ซากสถาปัตยกรรมที่ถูกทิ้งร้าง ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดลงของอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินอย่างบริบูรณ์
การแปรอักษรคำว่า ซาโยนาระ ฮาชิมะ ที่เป็นการบอกลาเกาะฮาชิมะอย่างถาวร
เกาะฮาชิมะ แม้จะถูกทิ้งร้างไปแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์บาดแผลของแรงงานเชลยศึกอันยากจะลืม ที่ต้องเผชิญกับความโหดร้ายของคนด้วยกันเอง จนนำมาสู่ความหวาดกลัวของแรงงานเชลยศึกตามที่ได้กล่าวไป และแท้จริงแล้วความน่ากลัวของผีหรือเรื่องราวหลี้ลับบนเกาะฮาชิมะซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เห็น ก็ไม่น่ากลัวเท่าสิ่งที่เห็น อย่างความจริงในประวัติศาสตร์ของเกาะฮาชิมะ ในช่วงภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2
หรือหากผีเป็นสิ่งที่เห็น แต่ผีก็ไม่สามารถทำร้ายคน เท่าที่คนด้วยกันทำร้ายคนด้วยกันเอง
ผู้เขียน
รายการอ้างอิง
jasminta (19 กันยายน 2016) หาชมยาก! ภาพชีวิตคนบนเกาะฮาชิมะ เมื่อ 50 ปีก่อน (มีคลิป). จาก https://travel.mthai.com/world-travel/142782.html
Nevin Thompson. (21 August 2021) Japan's ‘Battleship Island’ hides history of wartime forced labor จาก https://globalvoices.org/2021/08/21/japans-battleship-island-hides-history-of-wartime-forced-labor/
Yuji Hosaka. (25 June 2020) Remembering Japan’s Colonial Abuses Against Koreans on Hashima Island. จาก https://thediplomat.com/2020/06/ remembering-japans-colonial-abuses-against-koreans-on-hashima-island/
โฆษณา