5 พ.ย. 2023 เวลา 00:30 • ข่าวรอบโลก

“Operation 1027” กองทัพชาติพันธุ์ยึดฐานทัพรัฐบาลทหารเมียนมา ในรัฐฉาน คนไทยถูกจับ 189 คน

กองทัพของรัฐบาลทหารเมียนมาสูญเสียการควบคุมเมืองยุทธศาสตร์บริเวณชายแดนจีน ภายหลังการปะทะกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ได้แก่ กองทัพปลดปล่อยแห่งชนชาติตะอาง (TNLA) กองทัพอาระกัน (AA) ชนกลุ่มน้อยโกกั้งเมืองเลาไกง์ (กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมาร์ : MNDAA) ได้ร่วมมือกันเปิดปฏิบัติการรหัส “Operation 1027” สู้รบกับรัฐบาลทหารในพื้นที่มากกว่า 10 แห่งทั่วรัฐฉานตอนเหนือและรัฐคะฉิ่นที่อยู่ใกล้เคียง รวมถึงพื้นที่ตอนบนของเขตสะกาย และมัณฑะเลย์
2
พื้นที่ปฏิบัติการ 1027
เวลา 04.00 น. ของวันที่ 27 ตุลาคม 2023 กลุ่มพันธมิตรทางทหารไตรภาคีที่เรียกตนเองว่า "กลุ่มพันธมิตรภราดรภาพ" ได้เริ่ม "ปฏิบัติการ 1027" โจมตีเป้าหมายของรัฐบาลทหารในเมืองจ็อกเม กุตไก มูเซ ลาเสี้ยว น้ำคัม หนาเกียว และชินชเวฮอ ทางตอนเหนือของรัฐฉาน และพื้นที่เหมืองทับทิมในเมืองโมโกเก ในเขตมัณฑะเลย์ตอนบน พร้อม ๆ กัน และขณะนี้ได้เข้ายึดฐานทัพทหารมากกว่า 90 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ
2
กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA)
30 ตุลาคม 2566 รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ โดยกระทรวงกลาโหม ได้ออกประกาศร่วมมือกับพันธมิตรภราดรภาพ (Brotherhood Alliance) ในปฏิบัติการ 1027 เพื่อขจัดเผด็จการทหาร
กองกำลังป้องกันประชาชนในมัณฑะเลย์ (PDF-มัณฑะเลย์)
กองกำลัง TNLA ร่วมกับกองกำลังป้องกันประชาชน Mandalay PDF ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ เข้าล้อมเมือง Nawngkhio และปิดเส้นทางบนทางหลวง Mandalay-Lashio-Muse ทำให้กองทัพรัฐบาลทหารไม่สามารถส่งกำลังเสริมทางภาคพื้นดินได้ และยังเป็นการปิดเส้นทางการค้าชายแดนที่สำคัญของรัฐบาลทหาร ซึ่งสินค้าส่งออกกว่าร้อยละ 80 ของประเทศถูกขนส่งไปยังจีนผ่านเส้นทางการค้านี้
รัฐบาลทหารและกองกำลังติดอาวุธโกก้างที่เป็นพันธมิตรได้ส่งมอบชาวจีนที่อาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมายในเขตปกครองตนเองโกก้าง ในรัฐฉาน ให้กับตำรวจจีนในระหว่างการปราบปรามกลโกงทางไซเบอร์เมื่อต้นเดือนตุลาคม
นอกจากนี้ กลุ่มภราดรภาพและพันธมิตร ยังได้ปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มหลอกลวงทางไซเบอร์ในภูมิภาคโกก้าง หรือที่รู้จักในชื่อเขตพิเศษแห่งรัฐฉาน 1 ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการโดยระบอบการปกครองของรัฐบาลทหารและกลุ่มติดอาวุธพันธมิตร ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้พยายามกดดันรัฐบาลทหารและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ชายแดนให้กำจัดปฏิบัติการหลอกลวงทางไซเบอร์เหล่านี้
1
รายงานจากเว็บไซต์อิระวดีของเมียนมาระบุว่า มีคนไทย และคนต่างชาติได้แก่ เนปาล เอธิโอเปีย และลาว ประมาณ 500 คน ในจำนวนนี้มีคนไทย 189 คน ซึ่งถูกหลอกไปทำงานในเขตโกก้างและว้า ยังคงหลบซ่อนอยู่ในอาคารซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบ บางส่วนอยู่ในการดูแลของทหารพม่า โดยกลุ่มพันธมิตร 3 กองกำลังชาติพันธุ์ประกาศห้ามทุกคนออกนอกที่อยู่อาศัย เพราะต้องการกวาดล้างกลุ่มจีนเทาและทหารพม่าที่ให้การสนับสนุนจีนเทาให้หมด
ชาวไทยซึ่งถูกกองกำลังของรัฐบาลควบคุมตัวในเมืองเล่าก์ก่าย (Laukkai) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน ซึ่งการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลทหารและพันธมิตรทางชาติพันธุ์กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ขณะนี้ได้รับความช่วยเหลือแล้ว โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยผ่านทางเอ็กซ์ (X) หรือทวิตเตอร์เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2566 เกี่ยวกับคนไทยที่ติดอยู่ในเมืองเล่าก์ก่าย รัฐฉาน จากสถานการณ์สู้รบในเมียนมา โดยยืนยันว่า คนไทยจำนวน 162 คนปลอดภัยแล้ว
1
หมู่บ้านการ์ลายหลังเหตุระเบิดโดยเครื่องบินขับไล่ของรัฐบาลทหารในเมืองกุตไก
กลุ่มพันธมิตรภราดรภาพ รายงานว่า รัฐบาลทหารได้ตอบโต้ทางอากาศเนื่องจากเส้นทางบกถูกกองกำลังชาติพันธุ์ปิดล้อม โดยเครื่องบินของรัฐบาลทหารได้ทิ้งระเบิดหมู่บ้าน Maliphin และ Nyophin Kyipa ในพื้นที่ Chin Shwe Haw ของ Kokang สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนของพลเรือนเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม และพื้นที่ Mung Koe, Man Yan และ Pansai เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม
การสู้รบที่รุนแรงในตอนเหนือของรัฐฉาน ทำให้ผู้คนมากกว่า 25,000 คนต้องหนีออกจากบ้านเรือนของตน มีผู้พลัดถิ่นในท้องถิ่นอย่างน้อย 13,000 คนได้เข้าไปหลบภัยในเมืองต่างๆ รอบๆ พื้นที่สู้รบ เช่นเขตปกครองตนเองว้า และเมืองลาเสี้ยว
ผู้นำรัฐบาลทหาร มิน ออง หล่าย (กลาง) กล่าวปราศรัยต่อสมาชิกระบอบรัฐประหารเกี่ยวกับความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ในตอนเหนือของรัฐฉาน เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 (GNLM)
ขณะนี้รัฐบาลทหารเมียนมากำลังเผชิญการโจมตีครั้งใหญ่จาก กลุ่มพันธมิตรภราดรภาพ และพันธมิตรกองกำลังชาติพันธุ์ เช่น กองทัพกะฉิ่นเอกราช (KIA) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) แนวร่วมแห่งชาติ Chin (CNF) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNPP) และ แนวร่วมประชาธิปไตยนักศึกษาพม่าทั้งหมด (ABSDF) รวมถึง PDF ของกองกำลังป้องกันประชาชน ที่ผุดขึ้นมาหลังการรัฐประหาร โดยพื้นที่สู้รบอยู่ในบริเวณพรมแดนติดกับมณฑลยูนนานของจีน จึงส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนเมียนมา-จีน อย่างมาก
1
นายเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวกับผู้สื่อข่าวในงานแถลงข่าวที่มีกำหนดการเป็นประจำว่า ปักกิ่งกำลัง "ติดตาม" การต่อสู้ครั้งล่าสุดตามแนวชายแดนอย่างใกล้ชิด และเรียกร้องให้มีการเจรจาระหว่างทุกฝ่ายเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สถานการณ์บานปลาย.
โฆษณา