5 พ.ย. 2023 เวลา 02:30 • ท่องเที่ยว

พิพิธภัณฑ์สุดรักที่เดนมาร์ก Louisiana Museum of Modern Art แหล่งรวมผลงานศิลปะจากศิลปินทั่วโลก

เพราะอะไรพิพิธภัณฑ์ Louisiana ที่เดนมาร์กถึงได้เป็นที่รักของชาวเดนมาร์กและชาวต่างชาติ คำตอบสำหรับคำถามนี้ อธิบายได้ดีจากวันที่เราไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ Humlebæk ขนาดออกจากบ้านค่อนข้างเช้าแล้ว ไปถึงลานจอดรถก็เห็นรถจอดกันอยู่ไม่น้อย และแถวรอเข้าพิพิธภัณฑ์ก็ยาวออกมานอกประตูรั้ว ขนาดวันนั้นฝนจะตก อากาศเย็นกว่าปกติ ลมพัดตึง ด้วยความที่ Louisiana Museum of Modern Art อยู่ติดทะเล
แถวรอเข้าพิพิธภัณฑ์
ทุกคนที่อยู่ในแถวไม่มีใครหนีกลับหรือบ่นกันเลย ทั้งที่ส่วนใหญ่ใส่เสื้อผ้าสบาย ๆ กันมาตามสภาพอากาศช่วงมิดซัมเมอร์ ผู้คนที่เข้าแถวรอซึ่งมีทั้งจากเดนมาร์กเอง นักท่องเที่ยวต่างชาติต่างก็คุยกันไประหว่างรอ ฟีลประมาณว่า ทนหนาวอีกนิสนึง เดี๋ยวก็จะได้ไปจอยข้างในแล้ว
บริเวณด้านหน้าของทางเข้าพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ Louisiana เป็นพิพิธภัณฑ์โมเดิร์นอาร์ตที่เปิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 มีส่วนจัดแสดงทั้งภายในและกลางแจ้ง พอได้เข้าไปข้างในแล้วก็ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมคุณอาถึงป้ายยาและการันตีถึงความ “ต้องไป” เยือนของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ระหว่างทานอาหารเย็นและคุยกันที่ร้านซึ่งอยู่ติดทะเลและไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์ Louisiana คุณอาบอกว่า จากร้านอาหารที่เรานั่งทานกันอยู่เนี่ย ถ้าขับรถขึ้นไปอีกนิดนึง จะถึงพิพิธภัณฑ์ศิลปะชื่อดังแห่งนี้ ถ้าเรากับลูกสาวได้ไปจะต้องชอบแน่นอน นี่ล่ะคือ ที่มาของทริปพิพิธภัณฑ์สุดที่รัก
ด้านหน้าของบ้านที่ปัจจุบันได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ Louisiana Museum of Modern Art เปิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ คือ Knud W. Jensen ซึ่งได้อุทิศบ้านหลังใหญ่ที่ตนเองซื้อมาให้เป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้ชาวเดนิชได้เพลิดเพลินและเรียนรู้ไปกับงานศิลปะแขนงต่าง ๆ
โดยหลังจากที่เปิดพิพิธภัณฑ์มาได้ไม่กี่ปี Knud W. Jensen ก็ได้เปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอผลงานจากที่เน้นของศิลปินชาวเดนมาร์กแต่เพียงอย่างเดียวมาเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความเป็นสากล ด้วยการนำเสนอผลงานศิลปะจากศิลปินที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลก ค่าตั๋วสำหรับผู้ใหญ่ 145 โครนเนอร์ คูณ 5 ก็จะได้เงินไทย แนะนำให้ซื้อตั๋วออนไลน์ไปล่วงหน้านะ
ผลงานของ NIKO PIROSMANI ศิลปินชื่อดังชาวจอร์เจีย
ช่วงที่เราไปนั้น เป็นช่วงที่มีการจัดแสดงผลงานหลักของศิลปินชาวจอร์เจียที่มีชื่อว่า NIKO PIROSMANI (ค.ศ.1862-1918) ซึ่งภาพเขียนหลักที่ถูกนำมาโปรโมท คือ รูปยีราฟตาโตโทนสีดำบนพื้นสีฟ้าและดำ ผลงานศิลปะของนิโก้มีความเป็นเอกลักษณ์ที่มีจุดเด่นตรงที่ภาพในผลงานจะเป็นภาพของผู้คน สิงสาราสัตว์ ชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งอาจจะดูไม่แปลก แต่ด้วยความที่ทุกภาพจะปรากฎบนแบ็คกราวด์สีดำหรือสีเข้มจึงขับให้ตัวละครในภาพให้ดูโดดเด่นออกมาและบอกเล่าเรื่องราวหรือความหมายให้ผู้ชมได้นึกคิดและตีความได้ไม่ยาก
รูปสิงโต กวาง และหมีของนิโก้ เป็นอีกชุดภาพที่เราชอบ
นิโก้ เป็นศิลปินชาวจอร์เจีย ผู้ซึ่งหัดวาดภาพและระบายสีด้วยตนเองที่อาศัยและทำงานอยู่ในกรุงทบีลิซี จากที่อ่านข้อมูลในโบรชัวร์และที่สัมผัสได้ด้วยตัวเองก็คือ ฝีแปรงที่โบกสะบัดภายใต้ฝีมือของนิโก้ทำให้ภาพของคนหรือสัตว์กลายเป็นภาพที่มีความรู้สึก เวลาจ้องไปที่ภาพสัตว์ของนิโก้แต่ละตัวแล้วส่วนตัวเรารู้สึกเหมือนกับว่า ยีราฟ กวาง นก หมาจิ้งจอกนั้น จ้องเรากลับมาหรือจะเป็นภาพคนที่สามารถเล่าเรื่องราวที่อยู่ในภาพนั้นออกมาได้ แม้ว่ากาลเวลาจะล่วงเลยมานานแล้วก็ตาม
เหยี่ยวในรูปนี้ถูกตีความว่าเปรียบเสมือนสหภาพโซเวียตในอดีต
นอกจากผลงานของนิโก้แล้ว อีกผลงานแห่งความประทับใจที่เราปักหมุดไว้ล่วงหน้าว่า “ห้ามพลาด”และ “เกือบจะพลาด” เพราะหาห้องจัดแสดงผลงานของเธอไม่เจอ ก็คือ ผลงานของ Yayoi Kusuma ศิลปินหญิงชาวญี่ปุ่นที่คนไทยน่าจะชื่นชอบกันอยู่ไม่น้อย ตอนนั้นเริ่มจะเหนื่อยกันนิดนึงด้วย พื้นที่จัดแสดงก็กว้างใหญ่และไม่ได้ตั้งอยู่ติดกัน
ส่องโบรชัวร์หาห้องแสดงผลงาน Yayoi Kusama
ด้วยความที่ไปกัน 3 คน เรา ลูกสาว และคุณอา ผู้หญิงล้วน เก่งด้วยเรื่องดูแผนที่เนี่ย 5555 เรา 3 คนเกือบจะถอดใจกันแล้ว เกรงใจคุณอาด้วย อุตส่าห์ขับรถพามา ดีว่า หลังจากที่ชมวิวพาโนราม่าจากห้องที่จัดแสดงผลงานที่เป็นกระจกเห็นวิวทะเลเสร็จ เราเดินลงไปข้างล่างเพื่อดูว่าจัดแสดงผลงานอะไร นั่นแหละถึงได้เห็นแถวเข้าคิวรอดูผลงานของศิลปินหญิงคนเก่งจากแดนซากุระ
Gleaming Lights of the Souls by Yayoi Kusuma
เรารีบเดินขึ้นไปตามลูกสาวกับคุณอาที่นั่งดูแผนที่กันอีกรอบ ทุกคนดีใจกันใหญ่ แต่พอเห็นแถวก็แทบจะถอดใจ เนื่องจากเป็นผลงานของศิลปินที่โด่งดังจากผลงานลายจุดอันเป็นเอกลักษณ์ แม้ว่า ห้องแสดงผลงานจะเปิดให้ผู้ชมเข้าไปชมแสงสีได้ครั้งละไม่เกิน 4 คน ครั้งละไม่เกิน 1 นาที แต่ความยาวของแถวก็สั้นลงทีละนิด ๆ เราเห็นว่า แต่ละคนที่เข้าไปดูงานส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาทีก็ออกมา เพื่อเปิดโอกาสให้คนถัดไปได้เข้าชมผลงานบ้าง
แถวรอชมผลงานของศิลปินหญิงชื่อดังของญี่ปุ่น
พอถึงคิวเรากับลูกสาวและคุณอาก็เลยลนลานกันนิดนึง เข้าไปแล้วก็รีบดื่มด่ำกับความสวยงามของแสงสีที่สลับโทนร้อนและเย็นไปมาประหนึ่งยืนอยู่ในมวลหมู่ดาวอันไกลโพ้น แล้วก็ถ่ายรูปกันรัว ๆ ไม่ถึง 1 นาทีก็ออกมา ทั้งที่ใจเราอยากจะดื่มด่ำกับความเวิ้งว้างที่สวยงามนี้ให้นานกว่านั้นก็ตาม
ถัดจากผลงานของคุณยาโยอิแล้ว อีกคอลเลคชั่นผลงานที่โดนมาก ๆ คือ ผลงานศิลปินชาวไอซ์แลนด์สุดติ๊ด อย่าง Ragnar Kjartansson ซึ่งผลงานถูกนำเสนอออกมาในชื่อว่า 'Epic Waste of Love and Understanding' ออกมาในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นภาพวาด การแสดง วิดีโอ ซึ่งจุดเด่นของผลงาน คือ การนำเสนอผ่านความซ้ำซ้อน มีผลงานหลากหลายชิ้นที่จะคล้าย ๆ กันแต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียวแต่เล่าถึงเรื่องราวเดียวกัน
งานภาพชุดของ Ragnar Kjartansson ในระหว่างที่อยู่อิตาลีซึ่งมีกว่า 100 ภาพ
ผลงานที่ดูจะซ้ำ ๆ กันเหล่านี้ส่งเสียงบอกเราถึงสิ่งที่ศิลปินต้องการจะสื่อทั้งแบบที่เราเข้าใจบ้างและไม่เข้าใจบ้าง แต่ชุดไหนที่เข้าใจก็เจ็บจี๊ด และนี่คือ “เสน่ห์” ของพิพิธภัณฑ์ Louisiana Museum of Modern Art ที่เข้าใจ ใส่ใจ และมีใจคัดเลือก ประสานงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานจากใจของศิลปินในแต่ละมุมโลก
นี่ไงผลงานที่มีความซ้ำ ๆ แต่เจ็บจี๊ด
เมื่อเดินดูผลงานภายในอาคารแล้ว เดินออกมาก็จะพบกับส่วนจัดแสดงกลางแจ้งที่วิวทิวทัศน์ดีงามกับท้องทะเลอันกว้างใหญ่ ในวันที่ฟ้าเปิดจะมองเห็นไกลถึงประเทศสวีเดน รวมทั้งสนามหญ้าสีเขียวสะอาดตา พร้อมกับต้นสนและต้นไม้ขนาดใหญ่ร่มรื่นมีประติมากรรมตั้งเรียงตามมุมต่าง ๆ คือ มาที่นี่ต้องเผื่อเวลาไว้ 1 วันเลยน่าจะดีที่สุด จะได้เดินเอ้อระเหยลอยชายและอ้อยอิ่งได้อย่างทั่วถึง
ผลงานประติมากรรมกลางแจ้งด้านหน้าคาเฟ่ภายในพิพิธภัณฑ์
อย่างที่ได้อ่านกันไปแล้วในบางส่วนจัดแสดง พื้นที่ Louisiana Museum of Modern Art จะแบ่งออกเป็นส่วนของสถาปัตยกรรม สวนที่แสดงผลงานประติมากรรมกลางแจ้งเห็นวิวทะเล สนามหญ้า และต้นสนสวยงาม พื้นที่ของเด็ก ๆ ทำเวิร์คช็อปศิลปะ ซึ่ง Children’s Wing นี้ บอกตามตรงว่า มันจี๊ดมาก เก้าอี้ โต๊ะ อุปกรณ์ระบายสี โดนมาก ถ้าไม่เกรงใจคุณอากับเจ้าหน้าที่ คงจะขอนั่งวาดรูประบายสีสักพัก
เก้าอี้ 2 ตัวน้อยในพื้นที่สำหรับเด็ก ๆ Children's Wing
อ้อ สำหรับใครที่สงสัยเหมือนเราว่า ทำไมพิพิธภัณฑ์ถึงตั้งชื่อว่า Louisiana ทั้งที่ตัวพิพิธภัณฑ์อยู่ในเดนมาร์ก เรื่องนี้มีที่มา เนื่องจากเจ้าของบ้านเดิมก่อนที่คุณ Knud W. Jensen จะซื้อต่อมานั้น มีภรรยา 3 คน ซึ่งภรรยาทั้ง 3 คนนี้ต่างมีชื่อเหมือนกันคือ Louise ด้วยเหตุนี้ Knud W. Jensen จึงตั้งชื่อพิพิธภัณฑ์ด้วยชื่อนี้แล
ต้นไม้ที่ Sculpture Park ต้นใหญ่และร่มรื่น
นอกจากนี้ ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีการแบ่งพื้นที่แสดงผลงานรวมแบบคอลเลคชั่นต่าง ๆ คาเฟ่สำหรับจิบกาแฟหรือทานอาหารจริงจัง และที่สำคัญ Louisiana Shop ที่มัดรวมผลงานการออกแบบสุดกรี๊ดจากแบรนด์ประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นถ้วยชามรามไห พรม สินค้าแฟชั่นอย่างกระเป๋าเสื้อผ้าเครื่องประดับ แต่สนนราคาเอาเรื่องอยู่ จับแล้วต้องวางอยู่หลายชิ้นเลยทีเดียว
ลานสนามหญ้ามักจะถูกใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การอ่านวรรณกรรม
ก่อนกลับบ้าน แต่ละคนก็ได้ของที่ระลึกติดไม้ติดมือกันไปทุกคน ซึ่งนอกจากของที่ระลึกแล้ว ความประทับใจที่ได้กลับมาด้วยสำหรับเราและลูกสาวนั้น เรียกได้ว่า แม่ลูกคู่นี้ Move on จากพิพิธภัณฑ์ Louisiana กันไม่เป็นเลยล่ะ
โฆษณา