13 พ.ย. 2023 เวลา 12:08 • สุขภาพ

“Fried Rice Syndrome” พิษจากอาหารเหลือเก่าเก็บ แม้อุ่นร้อนเชื้อโรคก็อาจไม่ตาย

รู้จัก “Fried Rice Syndrome” #อาหารเป็นพิษ จากการกินของเหลือที่เก็บรักษาผิดวิธี โดยเฉพาะอาหารกลุ่มแป้ง (ข้าว, พาสต้า) แม้จะอุ่นร้อนก่อนกินแต่ก็ยังวางใจไม่ได้!
ไม่กี่วันก่อน Theconversation และ Dailymail ต่างก็รายงานถึงกระแสความตื่นตระหนกเกี่ยวกับ Fried Rice Syndrome บนสังคมผู้ใช้งาน Tiktok ในวงกว้าง โดยต้นเรื่องมาจากผู้ใช้งานบางคนนำกรณีของชายอายุ 20 ปีที่เสียชีวิตจาก Fried Rice Syndrome ในปี 2551 มาพูดถึงบนโลกออนไลน์อีกครั้ง
1
โดยสาเหตุการเสียชีวิตมาจากการที่เขากินพาสต้าที่เหลือค้างไว้ถึง 5 วันโดยวางไว้นอกตู้เย็น แม้ว่าเจ้าตัวจะนำมาอุ่นร้อนก่อนกิน แต่เชื้อโรคเหล่านั้นก็ยังทำให้เกิดอาหารเป็นพิษอย่างรุนแรง แม้ว่าการเสียชีวิตลักษณะดังกล่าวจะพบได้น้อย แต่กรณีนี้ก็ทำให้หลายคนหันมาสนใจวิธีเก็บรักษาอาหารที่ถูกต้อง และวิธีป้องกันตนเองจาก Fried Rice Syndrome
โดยหลังจากนั้นไม่นานก็มีทั้งแพทย์ นักโภชนาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในอาหาร ฯลฯ ต่างก็ออกมาให้คำแนะนำกับชาวเน็ตมากมาย ยกตัวอย่างเช่น Dr.Joe แพทย์จากแผนกฉุกเฉินซึ่งมีผู้ติดตาม 1.7 ล้านคนบน Tiktok ได้ออกมาให้ความรู้ว่า Fried Rice Syndrome คือกลุ่มอาการอาหารเป็นพิษที่เกิดจากการกินอาหารปรุงสุกบางชนิดที่จัดเก็บผิดวิธี (เก็บนอกตู้เย็น) จนทำให้เชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Bacillus cereus หรือ B.cereus เจริญเติบโตในอาหารเหล่านั้น
โดยเฉพาะอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าวและพาสต้า มักเป็นสาเหตุของอาการดังกล่าว แต่บางครั้งก็พบเชื้อโรคชนิดนี้ในผักปรุงสุกและอาหารประเภทเนื้อสัตว์ปรุงสุกที่เก็บรักษาไม่ถูกวิธีเช่นกัน โดยแบคทีเรีย B.cereus สามารถผลิตสารพิษได้ ยิ่งเก็บอาหารปรุงสุกเหล่านั้นไว้ที่อุณหภูมิห้องนานเท่าไร เชื้อแบคทีเรียและสารพิษเหล่านี้ก็จะมีโอกาสเติบโตมากขึ้นเท่านั้น
1
พูดได้ว่าเชื้อ B.cereus เป็นสาเหตุหลักของอาการ Fried Rice Syndrome เนื่องจากมีส่วนที่เป็นแบคทีเรียชนิดอื่นไม่มี กล่าวคือมันสร้างเซลล์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าสปอร์ ซึ่งทนทานต่อความร้อนได้ดีมาก ดังนั้นแม้ว่าผู้บริโภคจะอุ่นอาหารที่เหลือด้วยอุณหภูมิสูงก็อาจจะไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคชนิดนี้ได้ (เชื้อโรคอื่นๆ ส่วนใหญ่เมื่อโดนความร้อนสูงก็จะตายไป)
1
สปอร์ของเชื้อ B.cereus เหล่านี้ตามปกติมันจะอยู่ในสภาวะสงบเงียบ แต่หากได้รับอุณหภูมิและสภาวะที่เหมาะสม พวกมันก็สามารถเติบโตและจะเริ่มผลิตสารพิษที่มีความอันตรายต่อร่างกายคนเรา หากเรากินอาหารที่มีเชื้อโรคชนิดนี้เข้าไป ก็จะเกิดอาการท้องเสียและอาเจียน โดยการติดเชื้อ B.cereus มี 2 ประเภท ประเภทหนึ่งมักเกี่ยวข้องกับอาการท้องเสีย และอีกประเภทหนึ่งเกี่ยวข้องกับอาการอาเจียน
5
โดยทั่วไปอาการเจ็บป่วยดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะหายไปเองได้ภายใน 2-3 วัน แต่ในผู้ที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจมีแนวโน้มที่จะต้องไปพบแพทย์
2
อย่างไรก็ตาม ภาวะอาหารเป็นพิษจากเชื้อ B.cereus ไม่ใช่กรณีที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร แต่อาการป่วยจากการติดเชื้อ อี.โคไล, ซัลโมเนลลา และแคมไพโลแบคเตอร์ อาจพบได้บ่อยกว่า รวมถึงอาการป่วยจากสาเหตุของไวรัสในกระเพาะ เช่น โนโรไวรัส ก็พบได้บ่อยมากกว่าเช่นกัน
ทั้งนี้ ผู้บริโภคก็ควรปลอดภัยไว้ก่อน โดยผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำวิธีการเก็บอาหารเหลือให้ถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยง Fried Rice Syndrome ดังนี้
📌อาหารปรุงสุกที่กินเหลือและอยากเก็บไว้กินต่อ ต้องเก็บรักษาในตู้เย็นทันที
📌หากเผลอวางอาหารไว้ในอุณหภูมิห้อง (ต่ำกว่า 60°C) นานกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป ควรทำให้อาหารร้อนอีกครั้ง จากนั้นค่อยนำไปเก็บในตู้เย็น
📌อาหารปรุงสุกที่คุณอยากเก็บบางส่วนไว้รับประทานในวันต่อๆ ไป ให้แบ่งส่วนนั้นเก็บแช่เย็นทันที โดยไม่ต้องรอให้เย็นสนิท
📌ปฏิบัติตามกฎ 2 ชม./4 ชม. คือ หากอาหารวางอยู่นอกตู้เย็นนาน 1-2 ชั่วโมง ก็สามารถใส่กลับคืนในตู้เย็นได้อย่างปลอดภัย แต่หากปล่อยไว้นานเกิน 4 ชั่วโมงขึ้นไปไม่ควรเก็บใส่ตู้เย็นและไม่ควรกิน
📌หากทำได้ให้แบ่งอาหารชุดใหญ่ออกเป็นส่วนเล็กๆ เพื่อที่ความเย็นจะได้เข้าถึงอาหารได้เร็วขึ้น อีกทั้งเมื่อจะนำมาออกมากินมื้อถัดไป ก็จะช่วยให้คลายความเย็นได้เร็วขึ้นเช่นกัน
อ้างอิง : TheConversation https://shorturl.asia/u752M
โฆษณา