8 พ.ย. 2023 เวลา 09:14 • สุขภาพ

สติปัฏฐาน 4 โดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า

(ประสบการณ์ที่ได้รับ)
ขอกล่าวถึงสติปัฏฐาน 4 กันก่อน ประกอบด้วยกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธัมมานุปัสสนา
ขอยกคำสอนขึ้นมาก่อนล่ะกัน เพื่อความเข้าใจมากขึ้น
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ 1
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็น กายในกายภายใน บ้าง
พิจารณาเห็น กายในกายภายนอก บ้าง
พิจารณาเห็น กายในกายทั้งภายในทั้งภายนอก บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกาย บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือความเสื่อมในกาย บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกาย บ้าง
สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ 1
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็น เวทนาในเวทนาภายใน บ้าง
พิจารณาเห็น เวทนาในเวทนาภายนอก บ้าง
พิจารณาเห็น เวทนาในเวทนาทั้งภายในทั้งภายนอก บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในเวทนา บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือความเสื่อมในเวทนา บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในเวทนา บ้าง
สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า เวทนามีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ 1
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็น จิตในจิตภายใน บ้าง
พิจารณาเห็น จิตในจิตภายนอก บ้าง
พิจารณาเห็น จิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอก บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในจิต บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือความเสื่อมในจิต บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในจิต บ้าง
สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า จิตมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ 1
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็น ธรรมในธรรมภายใน บ้าง
พิจารณาเห็น ธรรมในธรรมภายนอก บ้าง
พิจารณาเห็น ธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอก บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรม บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรม บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรม บ้าง
สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก
ก็ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐานทั้ง 4นี้อย่างนี้ ตลอด 7 ปี เขาพึงหวังผล 2 ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน 1 หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี 1
7 ปี ยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐาน 4 นี้ อย่างนี้ตลอด 6 ปี... 5 ปี... 4 ปี... 3 ปี ... 2 ปี... 1 ปี... ครึ่งเดือน... เขาพึงหวังผล 2 ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน 1 หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี 1
ครึ่งเดือนยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ตลอด 7 วัน เขาพึงหวังผล 2 ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน 1 หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี 1
ครั้งนี้สิ่งที่เราได้รับ ได้ศึกษาภาษาบาลีเพิ่มเติมสำหรับพระสูตรในธรรมบรรยายช่วงค่ำ ปกติบาลีไม่เยอะถ้าเปรียบเทียบกับ 10 วัน และที่สำคัญธรรมะที่สอนในที่นี้เป็นธรรมะที่ลึกซึ้งขึ้น แล้วแต่พื้นฐานความรู้ และพื้นฐานการปฏิบัติ สำหรับการทำความเข้าใจ
ในส่วนการปฏิบัติ มีวินัยมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ตึงเกินไป และหย่อนเกินไป ส่วนใหญ่รับรู้ได้ว่านอกเวลาการปฏิบัติมีสติระลึกรู้ รู้ตัวมากกว่าทุกครั้งที่ผ่าน การมองต่ำนี่ช่วยได้จริงๆน่ะ ทำให้จิตไม่ฟุ้ง ช่วยในการเจริญสมาธิทางอ้อม
ส่วนใหญ่เราจะตกผลึกในสิ่งเล็กๆสิ่งน้อยเสียมากกว่า เช่น ความเมตตาต่อตัวเอง เราเป็นคนหนึ่งที่กล้าบอกว่ารักตัวเองมาก แต่บางที่ก็ขาดความเมตตาตัวเองอย่างน่าขัน ทำให้เราเข้าใจว่าจงรักษาสิ่งที่เหลือ ไม่ใช่คร่ำครวญกับสิ่งที่จากไป หรือแม้แต่กองขันธ์ 5 ทำให้เป็นทุกข์ คนปกติเข้าใจแบบนี้ แต่จริงๆแล้วอุปทานในขันธ์ 5 ต่างหากที่ทำให้เกิดทุกข์
และสุดท้ายความรักทางโลก เป็นกองทุกข์กองใหญ่ เป็นไตรลักษณ์ ถ้าหลีกได้ควรหลีกให้ไกลเลย อันดับแรกมันเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนแปลงไป เหมือนเดิมไม่ได้ เพราะเราไม่เข้าใจ เราจึงทุกข์ นั่นคือทุกขัง ตรงนี้คือจุดเริ่มต้นของโลภะ ความทะยานยาก เมื่อไม่ได้ก็เกิดโทสะต่อ
เมื่อเราหลงมัวเมา เพราะความไม่รู้(อวิชชา) ซึ่งตรงข้ามกับปัญญา หลงมัวเมาก็โมหะต่อ และสุดท้ายก็อนัตตา ไม่มีตัวตน ที่เป็นของตัวมันเองจริง แม้แต่ตัวเรา ที่ประกอบด้วยขันธ์ 5 เมื่อย่อยไปเรื่อยๆก็เป็นเพียงกลาปะ และจะไปหวังอะไรกับผู้อื่นจริงสำหรับความเข้าใจของเราก็เป็นลำดับเชาวน์ปัญญาเท่านั้นแหละ ยังไม่ลึกดวงตาเห็นธรรมหรอก
นอกจากนี้เราจะได้เรียนพระสูตร เกี่ยวกับ พละ5 นิวรณ์ 5 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 โพชฌงค์ 7 อริยสัจ 4 ไตรลักษณ์ ณาณ 4 เพิ่มเติมด้วย
ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากความโกรธ ความเกลียด ความไม่สบายใจ ความมุ่งร้ายใดๆ ขอให้ข้าพเจ้า จงมีแต่ความรัก ความปรารถนาดี ความสงบสุขและมิตรไมตรี ความรัก ความปรารถนาดี ความสงบสุข และมิตรไมตรี
ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย จงมีส่วนในสันติสุขของข้าพเจ้า มีส่วนในมิตรไมตรีของข้าพเจ้า มีส่วนใน บุญกุศลของข้าพเจ้า มีส่วนในธรรมะของข้าพเจ้า ธรรมะ ธรรมะของข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นบ่อเกิด แห่งความรัก ความรักอันบริสุทธิ์ ความเมตตาปรานี
ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุข จงมีสันติ ได้พบกับความหลุดพ้น จงหลุดพ้นเถิด จงหลุดพ้น เถิด จงหลุดพ้นเถิด
"ขอให้ทุกท่านจงได้พบกับความสุขอันแท้จริง"
โฆษณา