2 ธ.ค. 2023 เวลา 23:10 • ประวัติศาสตร์

‎بِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمَـٰنِ الرَّحِيمِ

วันศุกร์ ที่ 26 เดือนเซาวาล ฮ.ศ. 1443 : อ้างอิงวันที่จากเพจประวัติศาสตร์อิสลามต
ท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยา อัลลัยซี นักวิชาการและนักกฎหมายชาวเบอร์เบอร์ในสมัยราชวงศ์อุมัยยะห์แห่งอันดาลูเซีย
ท่านอาบู มูฮัมหมัด ยะห์ยา บิน ยะห์ยา บิน กาซีร อัลลัยซี : أبو محمد يحيى بن يحيى بن كثير الليثي หรือที่รู้จักกันในชื่อ ท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยา อัลลัยซี : يحيى بن يحيى الليثي
ท่านยะห์ยา อัลลัยซี มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ฮ.ศ. 152 เกิดในเมืองอัลเจกีราส ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดกาดิส ประเทศสเปนในปัจจุบัน
ในประวัติศาสตร์อิสลามในแต่ละยุคแต่ละสมัยซึ่งจะมีนักวิชาการของสุลต่านเป็นจำนวนมากมาย
แต่เรื่องราวของผู้ที่กล้ากล่าวว่า “ไม่” ต่อหน้าผู้ที่มีอำนาจที่สามารถตัดสินชะตาชีวิตผู้คนได้ยังคงมีอยู่ในประวัติศาสตร์นักวิชาการอาหรับและมุสลิม
ในการพยายามกระทำในสิ่งที่หักล้างความอยุติธรรมด้วยความยุติธรรม และเป็นผู้ที่หลีกห่างจากความฟุ่งซ่านในการการแสวงหาความรู้และการใช้สติปัญญา
และท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยาเป็นบุคคลผู้นึงในจำนวนนั้น และจะมาเล่าประวัติของท่านในวันนี้
ในช่วงอายุ 28 ปี ท่านยะห์ยา อัลลัยซีนั้นมีความชื่นชอบในวิชาด้านชารีอะห์อิสลามและได้ชักนำเขาไปสู่การเดินทางไปยังเมืองมะดีนะฮ์เพื่อแสวงหาและค้นคว้าหาความรู้กับท่านมาลิก อิบน์ อะนัส (مالك بن أنس)
จนกระทั่งได้มีเหตุการณ์นึงในขณะที่ชาวเมืองกำลังนั่งฟังการบรรยายของท่านมาลิก อิบน์ อะนัสอยู่นั้น
ได้เกิดความวุ่นวายครั้งใหญ่จากการที่ผู้คนที่มาฟังการบรรยายได้ลุกขึ้นจากที่นั่งอย่างกระตือรือร้นเพื่อจะไปดูช้าง
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่หาดูช้างได้ยากมากที่เมืองมะดีนะฮ์ในยุคสมัยนั้น แต่ยกเว้นเพียงบุคคลเดียวคือ ท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยา ที่เป็นเพียงผู้เดียวที่ไม่ได้ลุกขึ้นไปดูช้าง
ทำให้ท่านมาลิก อิบน์ อะนัส ได้กล่าวถามขึ้นว่า
“ทำไม ถึงไม่ลุกไปดูช้าง ?”
ท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยา ได้กล่าวตอบว่า
“ฉันมาจากเมืองของฉันเพื่อมาเรียนรู้และรับฟังคำแนะนะจากท่าน ไม่ได้มาเพื่อดูช้าง”
ท่านมาลิก อิบน์ อะนัส ได้ฟังคำตอบแล้วรู้สึกประทับใจกับความจริงจังของบุคคลผู้นี้ และได้ถามชื่อเขาและเมืองของเขา นับจากนั้นทั้งสองท่านจึงได้สนิทสนมกันมากขึ้นนับตั้งแต่นั้นมา
จนต่อมาเมื่อท่านมาลิก อิบน์ อะนัส ได้สอนจนท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยา รู้สึกว่าเพียงพอแล้ว
ท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยาได้ออกเดินทางไปแสวงหาความรู้จากบรรดาผู้รู้หลายต่อหลายท่านในแคว้นฮิญาซ ,ในอียิปต์ และกลับไปเมืองมะดีนะฮ์อีกครั้งนึงและอยู่ที่นั้นจนกระทั่งท่านมาลิก อิบน์ อะนัสเสียชีวิตแล้วจึงกลับอันดาลูเซีย
ถึงแม้ว่า ท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยาจะกลับอันดาลูเซียด้วยวัยที่เป็นชายหนุ่ม แต่เขาก็ถูกเติมเต็มและอัดแน่นไปด้วยวิชาความรู้ที่เปี่ยมไปด้วยวิทยปัญญา
ผู้ใหญ่และเยาวชนที่ได้เห็นความตั้งใจและได้รับรู้ถึงความรู้ของเขา ได้ทำให้ท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยามีผู้ติดตามจำนวนหลายแสนคนและยังทำให้หลักคำสอนของท่านมาลิก อิบน์ อะนัสได้แผ่ขยายในอันดาลูเซีย
ท่านสุลต่านฮิชาม บิน อับดุลเราะห์มาน (ปกครองอันดาลูเซียปี ฮ.ศ. 172 - 180) ท่านมีความชื่นชมต่อท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยาเป็นอย่างมาก ซึ่งบางคนเล่าว่า ทั้งสองท่านต่างชื่นชมยินดีซึ่งกันและกันในเรื่องศีลธรรมอันดีงาม
และท่านสุลต่านฮิชาม บิน อับดุลเราะห์มาน ได้สนับสนุนความพยายามของเขาทั้งด้านการเงินและรับฟังทุกคำแนะนำต่างๆของเขาที่ได้นำมาใช้เป็นหลักชะรีอะห์ในการปกครองบ้านเมือง
และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากชาวเมืองอันดาลูเซียในยุคสมัยนั้นด้วย
และถึงแม้ท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยา จะปฏิเสธทุกตำแหน่งที่ท่านสุลต่านฮิชาม บิน อับดุลเราะห์มานได้เสนอให้เขารับ
แต่ท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยา ก็ยังมีอิทธิพลพอที่จะกำหนดว่าควรให้บุคคลใดดำรงตำแหน่งตุลาการตัดสินคดีความต่างๆซึ่งเป็นอีกหนึ่งตำแหน่งที่โดดเด่นที่สุดในอันดาลูเซียสมัยนั้น
และต่อมา ท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยา ยังได้รับความเคารพเป็นพิเศษจากท่านสุลต่านอับดุลเราะห์มาน บิน ฮะกัม บิน ฮิชาม (ปกครองอันดาลูเซียปี ฮ.ศ. 206 - 238)
: การเป็นผู้นำการปฏิวัติ และการลี้ภัยไปอยู่โทเลโด :
ในปี ฮ.ศ. 172 ท่านสุลต่านฮิชาม บิน อับดุลเราะห์มาน ได้ขึ้นสู้อำนาจในอันดาลูเซียและในขณะที่ท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยา มีอายุครบ 20 ปีตามฮิจเราะห์ศักราช
ซึ่งท่านสุลต่านฮิชาม บิน อับดุลเราะห์มาน นั้นมีระยะเวลาการปกครองค่อนข้างสั้นเพียงแค่ 8 ปีเท่านั้น แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเต็มไปด้วยความยุติธรรมและความเสมอภาค
ซึ่งบางคนของบรรดานักวิชาการอันดาลูเซียในยุคสมัยนั้นได้กล่าวยกย่องและเปรียบเทียบท่านสุลต่านฮิชาม บิน อับดุลเราะห์มานว่ามียุคสมัยที่ใกล้เคียงกับยุคสมัยของท่านสุลต่านอุมัร บิน อับดุลอาซิซ แห่งราชวงศ์อุมัยยะห์แห่งดามัสกัสที่มีแต่ศีลธรรมอันดีงาม
แต่ความโกลาหลวุ่นวายครั้งใหญ่ที่สุดครั้งนึงในประวัติศาสตร์ของอันดาลูเซียกำลังจะประทุขึ้นหลังจากท่านสุลต่านฮิชาม บิน อับดุลเราะห์มานเสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 180 และท่านฮะกัม บิน ฮิชาม ได้ขึ้นมาปกครองอันดาลูเซียต่อจากท่านสุลต่านฮิชาม บิน อับดุลเราะห์มาน และในขณะนั้นท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยาอายุเพียง 28 ปีตามฮิจเราะห์ศักราช
รูปแบบการปกครองอาณาจักรอันดาลูเซียของท่านสุลต่านฮะกัม บิน ฮิชามนั้นแทบจะตรงข้ามกับการปกครองของท่านสุลต่านฮิชาม บิน อับดุลเราะห์ ซึ่งเป็นบิดาของท่านเกือบจะทุกด้าน
เช่น การที่ท่านสุลต่านฮะกัม บิน ฮิชาม ท่านจะปกครองโดยใช้อำนาจการลงโทษที่เด็ดขาดและแทบจะไม่อภัยโทษหรือให้ผู้ทำผิดกลับเนื้อกลับตัวเลย ทำให้ท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยา ได้มองว่าเป็นการปกครองที่กดขี่ข่มเหงเกินไป
ท่านสุลต่านฮะกัม บิน ฮิชาม ยังมีการฟุ่มเฟือยในการใช้จ่ายเงินของรัฐ และท่านสุลต่านฮะกัม บิน ฮิชามยังไม่ชอบใจบรรดานักวิชาการและคณะที่ปรึกษาเก่าของท่านสุลต่านฮิชาม บิน อับดุลเราะห์มานที่มีอิทธิพลมากเกินไปและยังออกมาขัดแย้งในการตัดสินใจของท่านสุลต่านฮะกัม บิน ฮิชามในการทำเรื่องต่างๆอีกด้วย
ซึ่งตรงข้ามกับสมัยของท่านสุลต่านฮิชาม บิน อับดุลเราะห์มานที่ให้ความเคารพและชื่นชมในบรรดานักวิชาการและบรรดาที่ปรึกษาในสมัยของท่าน
การที่ท่านสุลต่านฮะกัม บิน ฮิชาม ได้ขัดแย้งกับฟัตวาในเรื่องการปกครองหรือนักวิชาการทำให้เกิดความคับข้องใจที่เพิ่มมากขึ้นจนนำไปสู่การระดมในทุกภาคส่วนของสังคมในอันดาลูเซียในการออกมาต่อต้านท่านสุลต่านฮะกัม บิน ฮิชาม โดยมีท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยา เป็นแกนนำ
ท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยา และนักวิชาการท่านอื่นๆได้วิพากษ์วิจารณ์การปกครองของท่านสุลต่านฮะกัม บิน ฮิชามอย่างเปิดเผยและได้จุดไฟความรู้สึกของชาวเมืองทั่วอันดาลูเซียที่มีต่อความฟุ่มเฟือยและความเด็ดขาดของการปกครองของท่านสุลต่านฮะกัม บิน ฮิชาม จึงทำให้ชาวเมืองอันดาลูเซียจำนวนมากออกมาต่อต้านท่านสุลต่านฮะกัม บิน ฮิชาม
ในปี ฮ.ศ. 189 มีความพยายามอย่างจริงจังของชาวเมืองอันดาลูเซียที่จะโค่นล้มการปกครองของท่านสุลต่านฮะกัม บิน ฮิชาม และแต่งตั้งบุคคลท่านอื่นที่มีความสามารถขึ้นมาเป็นสุลต่านแทน
บุคคลที่มีชื่อเสียงรวมทั้งนักวิชาการหลายท่านได้เข้าร่วมโดยมีท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยาเป็นแกนนำ แต่ท่านอัลมารอวานี (المراوني) กลัวการลงโทษ และได้นำเรื่องการก่อการปฏิวัติและรายชื่อผู้เข้าร่วมแจ้งต่อท่านสุลต่านฮะกัม บิน ฮิชาม จนทำให้แกนนำกลุ่มปฏิวัติต้องโดนจับขังหลายคนและที่โดนประหารไม่ต่ำกว่า 70 คน
ขณะที่ท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยา ซึ่งในตอนนั้นมีอายุ 37 ปีตามฮิจเราะห์ศักราช ได้หลบหนีไปยังเมืองโทเลโดที่อยู่ทางภาคกลางในประเทศสเปนปัจจุบัน รวมถึงแกนนำกลุ่มปฏิวัติที่ได้หลบซ่อนตัวเงียบๆตามสถานที่ต่างๆในอันดาลูเซีย
ในปี ฮ.ศ. 190 ชาวเมืองคอร์โดบาได้ลุกขึ้นต่อต้านการปกครอง แต่ก็ถูกท่านสุลต่านฮะกัม บิน ฮิชามได้ปราบปรามจนสำเร็จ
และในวันที่ 13 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ. 202 ได้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งนึงในประวัติศาสตร์ของอันดาลูเซียที่เรียกว่า “การปฏิวัติอัรรอบด์ : ثورة الربض” ซึ่งเป็นการปฏิวัติที่เกือบจะทำให้สิ้นสุดการปกครองของท่านสุลต่านฮะกัม บิน ฮิชามต้องจบสิ้นลง แต่ก็ต้องเจอกับการปราบปรามการปฏิวัติที่เด็ดขาดจนต้องพ่ายแพ้ไปอีกเช่นเดิม
ชาวเมืองหลายพันคนต้องอพยพหนีภัยไปยังเมืองอเล็กซานเดรีย และเกาะครีตและได้ก่อตั้งอาณาจักรอิสลามที่เกาะครีตซึ่งกินเวลานานนับร้อยปี
: ท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยา ผู้เที่ยงตรง :
จนเวลาล่วงเลยไป จนถึงยุคสมัยที่ท่านอับดุลเราะห์มาน บิน ฮะกัม ขึ้นมาเป็นสุลต่านปกครองอันดาลูเซียแทนท่านสุลต่านฮะกัม บิน ฮิชาม ที่ได้เชิญท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยามารับตำแหน่งผู้พิพากษาแห่งอันดาลูเซีย
แต่กระนั้น ท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยา ได้ตอบปฏิเสธ และพอใจกับตำแหน่งที่สามารถคัดเลือกแต่งตั้งและถอดถอนผู้พิพากษาได้มากกว่า
แต่จากความใกล้ชิดกับท่านสุลต่านอับดุลเราะห์มาน บิน ฮะกัมนั้นไม่ได้ทำให้เขาโอนอ่อนผ่อนปรนตอนที่ท่านสุลต่านหรือขุนนางได้ทำผิดหลักชะรีอะฮ์เลย
ซึ่งมีเหตุการณ์นึงที่ท่านสุลต่านอับดุลเราะห์มาน บิน ฮะกัม ได้มีเพศสัมพันธ์กับทาสสาวของท่านสุลต่านเองในช่วงระหว่างการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
ทำให้ท่านสุลต่านอับดุลเราะห์ บิน ฮะกัม ได้ขอคำปรึกษาจากนักวิชาการและนักกฎหมายว่า “สมควรทำอย่างไร?”
ท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยา จึงได้ให้คำปรึกษาว่า “จำเป็นต้องให้ท่านสุลต่านถือศีลอดเป็นการชดเชยเป็นเวลา 2 เดือน”
ซึ่งผู้ที่อยู่ ณ ที่แห่งนั้นทุกคนไม่มีผู้ใดได้โต้แย้งกับท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยาเลย และถึงแม้ว่าท่านยะห์ยาจะรู้ว่ามีการผ่อนปรนได้ เช่น การให้ทานแก่ผู้ยากจน หรือการปล่อยทาสให้เป็นอิสระ
ซึ่งต่อมา ก็ได้มีบุคคลผู้นึงได้เข้าไปถามเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ต่อท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยา ว่า
“ทำไม ถึงให้ท่านสุลต่านทำในสิ่งยากลำบาก?”
ท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยาได้กล่าวตอบว่า
“ถ้าเราเปิดทางง่ายดายให้เขา มันจะง่ายสำหรับเขาที่จะกระทำซ้ำแบบเดิมในทุกๆวัน”
“ดังนั้น ฉันจึงเสนอทางที่ลำบากที่สุดให้แก่เขา เพื่อที่ว่าเขาจะได้ไม่กลับมาทำผิดซ้ำเดิมได้อีก”
และในปี ฮ.ศ. 234 ท่านยะห์ยา บิน ยะห์ยาได้เสียชีวิตด้วยวัย 82 ปีตามฮิจเราะห์ศักราช ในเมืองคอร์โดบา ประเทศสเปนในปัจจุบัน
ขอยกอัลกุรอานมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ ความว่า :
‎هُوَ ٱلَّذِي خَلَقَكُمۡ فَمِنكُمۡ كَافِرٞ وَمِنكُم مُّؤۡمِنٞۚ وَٱللَّهُ بِمَا تَعۡمَلُونَ بَصِيرٌ
พระองค์คือผู้ทรงสร้างพวกเจ้า ดังนั้นในหมู่พวกเจ้ามีผู้ปฏิเสธศรัทธา และในหมู่พวกเจ้ามีผู้ศรัทธา และอัลลอฮฺทรงรู้เห็นในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ
ซูเราะห์อัต-ตะฆอบุน อายะห์ที่ 02
โฆษณา