14 ธ.ค. 2023 เวลา 23:10 • ประวัติศาสตร์

‎بِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمَـٰنِ الرَّحِيمِ

วันศุกร์ ที่ 12 เดือนเซาวาล ฮ.ศ. 1443 : อ้างอิงวันที่โพสต์จากเพจประวัติศาสตร์อิสลาม
ท่านหลิวจิ ปราชญ์อิสลามและนักปฏิรูปด้านความคิดสมัยราชวงศ์ชิง
ท่านหลิว จิ : ليو جي หรืออีกชื่อคือ หลิว จือ : ليو تشي
ท่านหลิวจิมีชีวิตช่วง ฮ.ศ. 1071 - ฮ.ศ. 1178 ที่เมืองหนานจิง ในสมัยราชวงศ์ชิงทางตอนใต้ของประเทศจีนปัจจุบัน
ท่านเป็นบุตรชายของท่านหลิวซ่านเจี๋ย (劉三杰) อิหม่ามมัสยิดในเมืองหนานจิง ครอบครัวของท่านเป็นหนึ่งในครอบครัวมุสลิมที่มีชื่อเสียงที่สุดในหนานจิง ที่ชำนาญด้านกฎหมายและด้านวิชาการ
ท่านมีส่วนช่วยประเทศจีนในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนอารยธรรมจีนกับอารยธรรมอาหรับ - อิสลาม
ท่านยังได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมืองมักกะฮ์ และท่านเป็นผู้เขียนอัตชีวประวัติของท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. (เทียนฟาง จื้อเฉิง ซื่อหลัว : تيانفانغ تشيشنغ شيلو) ไว้เพื่อให้ผู้สนใจและมุสลิมในประเทศจีนยุคสมัยนั้นได้ศึกษา
ท่านหลิวจิได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้านชารีอะห์อิสลามตามแนวทางของท่านอะบูฮะนีฟะห์ (أبي حنيفة) และหนังสือเกี่ยวกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลามในเรื่องต่างๆ ทั้งยังได้ศึกษาเรียนรู้ภาษาอาหรับและเปอร์เซียอีกด้วย
และยังได้ศึกษาเพิ่มเติมในด้านปรัชญาจากหนังสือเกี่ยวกับลัทธิขงจื๊อ และลัทธิเต๋า
กล่าวกันว่า ท่านหลิวจิได้อ่านหนังสือปรัชญาจีนโบราณหลายร้อยเล่ม ,หนังสือวิชาการภาษาอาหรับ ,เปอร์เซีย และตะวันตกอีกหลายร้อยเล่ม
และท่านหลิวจิยังได้ใช้เวลามากกว่า 40 ปีในการเขียนหนังสือที่พยายามผสมผสานกันระหว่างอารยธรรมอิสลามที่เน้นในด้านส่งเสริมศีลธรรมและคุณธรรม กับอารยธรรมจีนที่เน้นในด้านส่งเสริมการใช้สติและปัญญาให้กลมกลืนกัน
ท่านได้อรรถาธิบายหลักคำสอนของศาสนาอิสลามให้มันเป็นเรื่องง่ายดายและเหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนจีนในยุคสมัยนั้น
โดยใช้ตรรกะเหตุผลและความคิดที่ถูกต้องให้อยู่เหนือสมมติฐานที่ไร้เหตุผล ซึ่งทำให้ท่านหลิวจิได้รับความรักและความเคารพนับถือจากชาวมุสลิมจีน
ท่านหลิวจิได้ศึกษาหาความรู้จากปรัชญาจีนโบราณตลอดชีวิตของท่าน โดยที่ท่านหลิวฉีได้กล่าวว่า
“ปรัชญาจีนเป็นอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ ที่แทบจะไม่ได้ขัดแย้งกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลามเลย
ซึ่งทั้งสองอารยธรรมนั้น สามารถเดินร่วมเส้นทางไปด้วยกันได้
ซ้ำยังใช้ประโยชน์จากปรัชญาจีนในการอรรถาธิบายเกี่ยวกับหลักคำสอนศาสนาอิสลามให้แก่ชาวจีนให้เข้าใจได้ง่าย
และอารยธรรมจีนยังสามารถช่วยเสริมสร้างอารยธรรมอิสลามได้อีกด้วย”
ประเทศจีนรู้ดีว่าตั้งแต่ “อิสลาม” เข้ามานั้น ได้สร้างกลุ่มบุคคลที่มีบุคลิกที่โดดเด่นในศาสตร์ด้านต่างๆ
แต่ลึกๆแล้วสังคมจีนนั้นไม่ได้เข้าใจศาสนาอิสลามอย่างถูกต้องเลย บ้างครั้งถูกมองว่าผิดแปลก บางครั้งก็ถูกต่อต้านจากสังคมจีน
ทำให้ท่านหลิวจิตัดสินใจที่จะอธิบายชี้แจงเกี่ยวกับศาสนาอิสลามให้สังคมจีนได้รับรู้และเข้าใจในศาสนาอิสลามมากยิ่งขึ้นด้วยการถ่ายทอดวัฒนธรรมและหลักคำสอนอิสลามเป็นศัพท์ภาษาจีน
โดยการตีความหลักคำสอนอิสลามให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาจีนโบราณและให้สามารถเข้ากับสังคมจีนในยุคสมัยนั้นได้ (พื้นฐานการตีความของท่านหลิวฉีไม่ขัดกับบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม)
ท่านหลิวจิไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ประดิษฐ์สิ่งแปลกใหม่ แต่ท่านแตกต่างจากคนยุคเดียวกัน คือการผสมผสานสองอารยธรรมให้กลมกลืนกันโดยไม่ขัดกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นบุคคลที่หายากมากในช่วงยุคสมัยของเขาและไม่ใช่ช่วงยุคสมัยของเขาที่มีความล้ำสมัยของภูมิปัญญาที่เกิดจากจิตใจที่หนักแน่นต่อเอกองค์อัลลอฮ์ ซบ.
ทั้งยังมีคำอธิบายและคำชี้แจงที่ชัดเจนเกี่ยวกับหลักคำสอนอิสลามและอารยธรรมจีนอีกด้วย ซึ่งคำอธิบายและคำชี้แจงของท่านนั้นทำให้เขาอยู่ในระดับนักปรัชญาชั้นสูง
หนังสือที่มีชื่อเสียงที่สุดที่ท่านหลิวจิได้เขียนเอาไว้คือ :
หนังสือเกี่ยวกับอัตชีวประวัติของท่านนบีมูฮัมหมัด ซล. (السيرة النبوية)
หลักนิติศาสตร์อิสลาม (فقه الإسلام) ที่อธิบายเกี่ยวกับการจัดการหลักคำสอนของศาสนาอิสลามในรูปแบบที่ถูกต้อง เหมาะสม และสังคมจีนสามารถเข้าใจและนำไปปฏิบัติได้ง่าย
ทฤษฎีเกี่ยวกับวิญญาณในทัศนะอิสลาม (نظرية الأرواح في الإسلام) ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับการแปลจากภาษาจีนเป็นภาษาอาหรับโดยอิหม่ามหม่าเต๋อเซิน (الإمام ما ده شين) เป็นผู้แปลในช่วงเวลาประกอบพิธีฮัจย์ที่เมืองมักกะฮ์ โดยได้รับการร้องขอจากนักวิชาการจากเมืองมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ที่รู้สึกประทับใจกับเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้
คำสอนของท่านหลิวจินั้นจะคล้ายกับคำสอนของนักปราชญ์ชาวอาหรับในสมัยเดียวกันและรุ่นก่อนของเขา
ในการอธิบาย ท่านหลิวจิได้นำแนวคิดจากอารยธรรมจีนโบราณมาอธิบายหลักคำสอนของศาสนาอิสลามเพื่อให้เข้าถึงจิตใจของคนจีน
ส่งผลให้ความคิดของชาวอาหรับผสมผสานกับความคิดของคนจีน
ซึ่งทำให้ท่านหลิวจิสามารถแสดงความหมาย ความคิดและอารมณ์ที่ลึกซึ้งได้อย่างแม่นยำที่สุด
รวมไปถึงความนุ่มนวลของภาษาและความครบถ้วนของเนื้อหาอีกด้วย
ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่าปรัชญาอิสลามของจีนเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทางปัญญาในประเทศจีน
กล่าวได้ว่า ท่านหลิวจิเป็นผู้ถ่ายทอดอารยธรรมทั้งสองและทำให้อารยธรรมทั้งสองมีความครบถ้วนสมบูรณ์
ขอยกอัลกุรอานมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ ความว่า :
هُوَ ٱلَّذِي يُنَزِّلُ عَلَىٰ عَبۡدِهِۦٓ ءَايَٰتِۭ بَيِّنَٰتٖ لِّيُخۡرِجَكُم مِّنَ ٱلظُّلُمَٰتِ إِلَى ٱلنُّورِۚ وَإِنَّ ٱللَّهَ بِكُمۡ لَرَءُوفٞ رَّحِيمٞ
พระองค์เป็นผู้ทรงประทานบรรดาอัลอายาตอันชัดแจ้งลงมาแก่บ่าวของพระองค์ เพื่อทรงนำพวกเจ้าออกจากความมืดทั้งหลายสู่ความสว่าง และแท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเอ็นดู ผู้ทรงเมตตาเสมอต่อพวกเจ้า
ซูเราะห์อัลฮะดีด อายะห์ที่ 09
โฆษณา