17 พ.ย. 2023 เวลา 04:41 • ประวัติศาสตร์

(เมตตากดlike เพื่อเป็นกำลังใจในการเขียนข้อมูลผ้ามาเผยแพร่ด้วยนะครับ)

เป็นศรีฯ เคยนำเสนอผ้าซิ่นที่ต่อ "ตัวซิ่นสีดำ" ซึ่งเป็นผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติจากผลมะเกลือ ที่ทุกท่านได้ชมไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
ความจริงแล้ว เป็นศรีฯ ได้อ้างอิงรูปแบบมาจาก ผ้าซิ่นโบราณที่มีอยู่จริงในวัฒนธรรมการทอผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ไท กลุ่มหนึ่ง คือ
ซิ่นสีหม้อนิล ในวัฒนธรรมไทลาวเมืองอุบลราชธานี
ความโดดเด่นและแปลกตาของผ้าซิ่นผืนนี้อยู่ที่การต่อ "ตัวผ้าซิ่น" ด้วยผ้าฝ้ายเนื้อละเอียด ย้อมคราม ซึ่งการย้อมครามโดยปกตินั้นเป็นที่เข้าใจกันว่าให้ระดับสีที่เป็นสีฟ้า สีน้ำเงินเข้ม จนไปถึงสีดำ(ค่าระดับความเข้มของสี จากอ่อน-เข้ม)
ซึ่งการย้อมสีครามให้มีความเข้มเพื่อให้ได้เป็นสีดำนั้น จะนิยมย้อมกัน 2 วิธี คือ
1. ย้อมด้วยคราม ซึ่งเป็นการย้อมเย็นจากน้ำหมักต้นคราม จำนวนหลายๆ ครั้ง (ย้อมแล้วพึ่ง ตาก แล้วนำมาย้อมใหม่) การให้สีที่เข้มในขั้นตอนนี้จะขึ้นอยู่กับปริมาณเม็ดสีครามในน้ำหมัก และจำนวนครั้งในการย้อม รวมไปถึงวัสดุที่นำมาย้อม
2. ย้อมด้วยครามและย้อมทับด้วยน้ำย้อมที่สกัดออกมาจากผลมะเกลือดิบ ซึ่งผลมะเกลือดิบนี้เองเมื่อนำมาตำและผสมเข้ากับน้ำเพื่อนำมาใช้ย้อมนั้นจะให้สีเขียว สีเขียวเข้ม ไปจนถึงดำสนิทเมื่อน้ำย้อมสัมผัสกับอากาศ (ออกซิเจน)
ในส่วนของหัวซิ่นไหมนั้น ผ้าโบราณในวัฒนธรรมไทลาวอุบลราชธานี มักจะนิยมต่อหัว “ดอกดาว” ที่ทอเป็น “จกดาว” ซึ่งใช้เทคนิคการเพิ่มเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปแบบไม่ต่อเนื่อง วิธีนี้คล้ายคลึงกับเทคนิค “จก” ในตีนจกของชาวล้านนานั้นเอง (บางผืนต่อด้วยหัวขิด ซิ่นทอเป็นลวดลายขิด ที่เกิดจากเทคนิคการเพิ่มเส้นพุ่งพิเศษแบบต่อเนื่อง)
ตีนซิ่นต่อ “ตีนตำแหนะ” หรือ “ตีนแหนะ” (บ้างก็เขียน ตีนแนะ) ซึ่งทอด้วยเทคนิคการเพิ่มเส้นยืนพิเศษแบบต่อเนื่อง วิธีนี้ลวดลายที่ปรากฏจะเป็นแนวของเส้นยืนพิเศษที่ขึงเตรียมไว้บนกี่ทออีกชั้นหนึ่งนั่นเอง
การต่อตัวซิ่นที่เป็นผ้าพื้นสีดำ หรือสีเข้มนั้น จึงเป็นที่ปรากฏมาตั้งแต่ครั้งอดีตในวัฒนธรรมไทลาวอุบลราชธานี ซึ่งหาชมได้ยากมาก
ผ้าโบราณทั้งหมดในภาพนี้ เป็นผ้าสะสมของ อ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย (จันทร์โสมา) ซึ่งข้าพเจ้าได้รับความเมตตาจากท่านอาจารย์เมื่อครั้งไปถ่ายทำสารคดีผ้าไทย เมื่อปี 2560 โดยได้เป็นส่วนหนึ่งในทีมงานของ อ.เผ่าทอง ทองเจือ กราบขอบพระคุณครูบาอาจารย์ทั้งสองท่านที่เมตตา และประสิทธิ์ประสาทวิชามาด้วยครับ
อรรถพงษ์ ประดิษฐพงษ์ ข้อมูลและถ่ายภาพเมื่อ 24 ก.ย. 2560
สามารถแชร์ข้อมูลได้
แต่ขอสงวนสิทธิ์ในการคัดลอกข้อมูล เพื่อไปใช้ในงานส่วนตัว ก่อนการได้รับอนุญาตทุกกรณีครับ
.
อ้างถึงสิทธิในลิขสิทธิ์เกิดขึ้นทันที นับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาโดยไม่ต้องจดทะเบียน หรือผ่านพิธีการใดๆ
โฆษณา