17 พ.ย. 2023 เวลา 06:07 • การเมือง

#เลิกบังคับแปรอักษร จากประเพณีและสปิริต สู่ประสบการณ์ชีวิตที่ "เลือกเอง"

ทันทีที่งานฟุตบอลประเพณี “จตุรมิตรสามัคคี” ครั้งที่ 30 เริ่มขึ้น แฮชแท็ก #เลิกบังคับแปรอักษร ก็สะพัดโซเชียลมีเดีย แถมยังมีป้ายประกาศติดทั้งหน้าโรงเรียนเทพศิรินทร์ และสนามศุภชลาศัย อันเป็นสถานที่แข่งขันฟุตบอลอีกด้วย ใจความสำคัญคือ ต้องการยกเลิกการบังคับนักเรียนขึ้น “แปรอักษร” บนอัฒจันทร์ระหว่างการแข่งขัน
แน่นอนว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นมีทั้งคนที่เคยประสบความลำบากบนสแตนด์ และศิษย์เก่าผู้ภาคภูมิใจในสถาบันของตัวเอง การยกเลิก “จุดขาย” ของประเพณีที่ทำมาอย่างยาวนานจึงสร้างแรงสั่นสะเทือนชัดเจน
มีคำกล่าวเปรียบเทียบว่า ศักดิ์ศรีของสถาบันการศึกษาไม่เหมือนกับอิฐหินปูนทราย แต่เกิดขึ้นและคงอยู่ได้ด้วยสายสัมพันธ์ของผู้คน แต่ในยุคคน “เท่ากัน” มูฟเมนต์นี้ได้ทำให้ศักดิ์ศรีที่สร้างขึ้นสั่นสะเทือนอย่างไร
ตามเรามาสำรวจไปด้วยกัน
กิจกรรมกระชับมิตร (?) สู่สปิริตรวมกลุ่ม
จุดเริ่มต้นของ “ฟุตบอลประเพณี” มาจากการเลียนแบบการแข่งเรือประเพณีระหว่างมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ ซึ่งคนกลุ่มแรกที่นำมาใช้คือนิสิตนักศึกษาของสองมหาวิทยาลัยแรกในประเทศอย่าง “จุฬาฯ” และ “ธรรมศาสตร์”
แง่หนึ่ง การศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นเสมือนการ “ให้โอกาส” ไม่ว่าเจ้าหรือไพร่ให้ได้เข้าถึงการศึกษาขั้นสูงสุดอย่างเสมอกัน (แม้ในความเป็นจริงจะเกิด “ความเหลื่อมล้ำ” ในรั้วมหาวิทยาลัยก็เถอะ) การกระชับมิตรเช่นนี้จึงเป็นพื้นที่ปะทะสังสรรค์ของ “ปัญญาชน” ในแผ่นดิน เพื่อปูพื้นฐานไปสู่การร่วมงานกันต่อไป
เพราะพื้นที่ในอนาคตของคนเหล่านี้คือกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ และพวกเขาไม่ได้ไปแบบเล่น ๆ เพราะพวกเขาจะเป็น “หลัก” อยู่แต่ละส่วน และกลายมาเป็น “สปิริต” ของคนเหล่านี้ เพื่อขับเคลื่อนสิ่งต่าง ๆ ในองค์กรอย่างเป็น “น้ำหนึ่งใจเดียวกัน”
สปิริตรวมกลุ่มเช่นนี้มักจะเห็นได้จากเหล่า “สิงห์” ทั้งหลายที่เข้าไปทำงานในหน่วยงานฝ่ายปกครองที่นับรุ่นกันอย่างจริงจัง หรือคณะที่ขึ้นชื่อเรื่อง “ระบบโซตัส” อย่างวิศวกรรมศาสตร์ที่มี S แรกคือ “Seniority” (ความอาวุโส)
ถ้าคุณคุ้นเคยกับซีรีส์วายแนวเด็กวิศวะล่ะก็ คุณต้องเคยได้ยินประโยคว่า “มาก่อนเป็นพี่ มาทีหลังเป็นน้อง มาพร้อมกันเป็นเพื่อน” บ้างล่ะ แถมการแข่งขันเหล่านี้ยังได้รับการรายงานในหนังสือประจำปีฝั่งจุฬาฯ อย่าง “มหาวิทยาลัย” รวมถึงได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนระดับประเทศ ปลุกสปิริตของเหล่าศิษย์เก่าทั่วหน้า
หลังจากนั้น การแข่งขันกีฬาประเพณีถูกนำมาปรับใช้ในรั้วโรงเรียนมัธยมเพื่อแก้ปัญหาเด็กนักเรียนตีกัน นำโดยโรงเรียนชายล้วนเก่าแก่อย่างกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย สวนกุหลาบวิทยาลัย เทพศิรินทร์ และอัสสัมชัญ จนกลายเป็นฟุตบอลประเพณี “จตุรมิตรสามัคคี” ซึ่งหลังจากนั้น ก็มีโมเดลอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตามมา อย่าง “กีฬา 5 พระเกี้ยว” ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬากระชับมิตรระหว่างโรงเรียนที่เชื่อมโยงกับโรงเรียน “เตรียมอุดมศึกษา” และใช้ “พระเกี้ยว” เป็นตราสัญลักษณ์ เป็นต้น
ซึ่งในปัจจุบันเลิกจัดการแข่งขันไปแล้ว โดยมีไฮไลต์สำคัญคือการ “แปรอักษร” เป็นภาพหรือข้อความต่าง ๆ เพื่อแซวกันระหว่างคู่แข่งขัน จนกลายเป็นกิมมิกแพร่หลายไปในโอกาสอื่นด้วย แถมยังได้รับสปอตไลต์จากสื่อแมสหลายสำนักด้วย ส่วนทาง The Modernist เองก็มีบทความ “ถอดรหัส” การแปรอักษร ซึ่งทำให้เห็นว่า จากกีฬาประเพณี 2 งานใหญ่นี้ได้ส่งต่อวัฒนธรรมการแปรอักษรไปทุกหนแห่ง
น่าสนใจว่า สารตั้งต้นของการเลือกโรงเรียนชายล้วนเก่าแก่ 4 แห่งนี้ เป็นต้นแบบสร้างกีฬาประเพณีนั้นเกิดจากสิ่งใด และอะไรทำให้การแข่งขันนี้ยืนระยะยาวนานจนวันนี้
(ที่มา : ชุมนุมเชียร์และแปรอักษร โรงเรียนเทพศิรินทร์)
ศิษย์เก่า-เกียรติยศ: จากความรักสถาบัน สู่คอนเนคชันที่กว้างไกล
หากสปิริตรวมกลุ่มในระดับมหาวิทยาลัยสร้างได้จากรุ่นพี่รุ่นน้อง และการออกไปเป็นหลักในแต่ละส่วนของประเทศ สปิริตในระดับโรงเรียนมัธยมศึกษาคงกว้างออกไปอีก
ต้องยอมรับว่าศิษย์เก่าจาก 4 สถาบัน “จตุรมิตร” นี้เติบโตเป็น “คนใหญ่คนโต” หลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นฟากการเมือง ทหาร (ซึ่งหาได้ง่ายกว่าที่มาจากสถาบันอุดมศึกษาแน่นอน) ธุรกิจ บันเทิง วิชาการ หรือแม้แต่พระราชวงศ์ ซึ่งเรียกว่ามหาวิทยาลัยสร้าง “หลัก” อยู่แต่ละส่วนของประเทศเท่าไร ก็ไม่เท่าโรงเรียนมัธยมที่สร้างหลักอยู่กระจายทั่วยิ่งกว่า
กลไกสำคัญที่ก่อให้เกิด “ฟุตบอลประเพณี” นี้ขึ้นมาคือ “สมาคมศิษย์เก่า” ของทั้ง 4 สถาบัน ซึ่งโดยปกติแล้ว สมาคมศิษย์เก่าของสถาบันแต่ละแห่งเกิดขึ้นโดยวัตถุประสงค์ในการเป็นศูนย์รวมของศิษย์เก่า และรวมตัวกันทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือ และ/หรือสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อโรงเรียน
ซึ่งมักประสบความสำเร็จกับโรงเรียนที่มี “เกียรติประวัติ” ยาวนานจนกลายเป็น “ชื่อ” ต่อท้ายชื่อตัว และมีสิ่งบ่งบอกอย่าง “สติ๊กเกอร์” ติดรถ ติดสิ่งของ ยันทาสีปั๊มน้ำมันที่ประกาศว่า ฉันเป็นศิษย์เก่าโรงเรียน A (หรือละเอียดถึงขั้นมีเลขรุ่น) หรือหากพูดคุยกันแล้วบอกว่า เคยเรียนที่โรงเรียน A มาก่อน บทสนทนาต่อมาอาจเป็น “อ้าวหรอ จบรุ่นไหนล่ะ” ก็ได้
ยิ่งสมาคมศิษย์เก่าของโรงเรียนที่มีศิษย์เก่าระดับ “บิ๊ก” แค่ไหน กิจกรรมที่จัดขึ้นก็ยิ่ง “ยิ่งใหญ่” มากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนที่มากขึ้นกว่าเดิม การเชิญบุคคลระดับสูงที่เป็นศิษย์เก่ามาเป็นประธานในงานต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับสถาบันหลักของบ้านเมืองด้วย รวมถึงป้ายแปรอักษรที่มักจะยึดโยงกับกลุ่มบุคคลเหล่านี้ไปโดยปริยาย
เรียกได้ว่าฟุตบอลประเพณี และแต่ละอีเวนต์ไม่ได้เกิดมาแค่เพื่อกระชับมิตรระหว่างโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึง “สถานะ” ของโรงเรียนเหล่านี้ไปด้วยว่าเป็นโรงเรียนเก่าแก่ มีเกียรติประวัติยาวนานด้วย
นอกเหนือจากนี้ ค่านิยม “รักสถาบัน” ยังถูกส่งต่อกันในโรงเรียนด้วย หากคุณยังร้องเพลงประจำโรงเรียนสมัยมัธยมได้ จะพบว่าเพลงประจำโรงเรียนที่เราเคยเรียนมานั้นมักมีส่วนที่พูดถึงความภาคภูมิใจในโรงเรียนเสมอ หรือแม้กระทั่งในกีฬาสี กิจกรรมยิ่งใหญ่วัยเยาว์ที่จะมี “เพลงบังคับ” เป็นเพลงประจำโรงเรียนเสมอ ๆ สิ่งที่ทำให้ “นักเรียนปัจจุบัน” อันเป็นตัวละครสำคัญของกีฬาประเพณี “อิน” ได้ คือความรักสถาบันที่ถูกส่งต่อมาจากทุกช่องทางของระบบโรงเรียนจนกลายเป็นแหล่ง “คอนเนคชัน” ไปด้วย
แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ค่านิยมเปลี่ยนแปลง การสร้างอีเวนต์เพื่อกระตุ้นความรักสถาบันอาจไม่ “เวิร์ก” อย่างที่เคย แล้วจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร
“แปรอักษร” ที่ถูกตั้งคำถาม สู่ความล่มสลาย (?) ของระบอบสถาบันการศึกษา
หากย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน ข่าวการรณรงค์ยกเลิกบังคับใช้แรงนิสิตในขบวนผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ สร้างกระแสฮือฮาและเป็นที่ถกเถียงในสังคม ด้านหนึ่ง ก็อยากให้รักษาความ “ร่วมแรงร่วมใจ” เพื่อให้เกิดภาพอันสวยงามในพิธี แต่อีกด้านหนึ่งเบื้องหลังก็มีการกล่าวถึง “เงื่อนไข” สารพัดที่บังคับให้นิสิตต้องมาร่วมอยู่ในขบวนดังกล่าว
เหตุการณ์ #เลิกบังคับแปรอักษร ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็น “โมเมนต์” หนึ่งในชีวิตที่ผูกโยงกับสถาบันการศึกษาและการใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อน ในขณะที่อีกฝ่ายมองว่าเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นโดย “ไร้ความสมัครใจ” จากนักเรียนที่ต้องขึ้นสแตนด์แปรอักษรด้วยซ้ำ เห็นได้จากกระแสสังคมที่พูดถึงความยากลำบากบนสแตนด์ไม่ว่าจะเป็นการทนแดดทนร้อน ลุกเดินเหินไม่สะดวก หรือแม้กระทั่งการให้ผ่าน – ไม่ผ่านกิจกรรมบนใบเกรด ซึ่งคนเหล่านี้ก็ไม่ได้เต็มใจที่จะเจอเรื่องแบบนี้
เราอาจมองได้ว่านี่คือคลื่นลูกต่อมาจากแนวคิด “คนเท่ากัน” ที่พยายามทลายระบบ “อำนาจนิยม” ไปจากสังคม ความตระหนักรู้ในสิทธิของผู้คนเพิ่มมากขึ้น และไม่ได้เป็นแค่ “กระแส” ชั่วคราว โดยมีผลการเลือกตั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์
นัยหนึ่ง นี่อาจเป็นสัญญาณว่า “ระบอบสถาบันการศึกษา” อันเริ่มต้นตั้งแต่การปลูกฝังค่านิยมรักโรงเรียนกำลังล่มสลายไป ชีวิตในวัยรุ่นไม่ได้ผูกโยงแค่อัตลักษณ์ของรั้วโรงเรียนเท่านั้น หากแต่ผูกโยงกับ “ประสบการณ์” ที่แต่ละคนเลือกเอง ใช้ชีวิตเอง
หากเราบอกว่า “ตัวตน” คือการประกอบสร้าง จริงอยู่ที่สถาบันการศึกษาเป็นสิ่งหนึ่งที่เข้ามาร่วมอยู่ในชีวิตของคนเพียงชั่วขณะ และอาจส่งผลต่อคนไปชั่วชีวิต ทว่า “ความทรงจำ” ของคนที่อยู่ในช่วงเวลานั้นไม่ได้หวานแหววจนทำให้ romanticize ชีวิตการศึกษากันทุกคน มนต์ขลังของความรักสถาบันการศึกษาอาจกำลังประสบภาวะเหมือนกับอิฐหินปูนทรายที่สลายไป หากไม่เกิดการปรับตัว เปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัย
และถึงเวลาแล้ว ที่คุณค่าในชีวิตจะเป็นเรื่องของ “ตัวเรา” อย่างแท้จริง
(ที่มา : https://twitter.com/ItsMinute/status/1723165745566425206)
เรื่อง : เกวลิน ถนอมทอง
ภาพ : นภัสชล บุญธรรม
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา