22 พ.ย. 2023 เวลา 05:30 • ไลฟ์สไตล์

Post-traumatic Growth เมื่อมนุษย์ถูกออกแบบให้ “มีความสุขหลังความเจ็บปวด”

“เมื่อไหร่เราถึงจะมีความสุขสักที”
หากลองนึกย้อนกลับไปในตอนที่เรายังเป็นเด็ก ไม่มีภาระ ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีปัญหาที่หนักอึ้งให้ต้องรับรู้ ความทุกข์ดูเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้แต่ก็หายไปในช่วงเวลาสั้นๆ และความสุขก็เป็นสิ่งที่หาง่ายจนเราไม่เคยคิดจะไขว่คว้า แต่เมื่อเราเติบโตมาจนอยู่ในช่วงอายุที่โตขึ้น ปัญหาต่างๆ ก็เริ่มเข้ามาทดสอบชีวิต โลกที่ไม่เคยปรานีใครก็ดูเหมือนจะใจร้ายกับเราจนบางครั้งเราก็อยู่ในจุดที่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เรามีความสุขครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่กันแน่”
1
เชื่อว่าใครก็ตามที่พบเจอกับปัญหาและมรสุมในชีวิตที่ผ่านเข้ามา ต้องเคยถามคำถามนี้กับตัวเองว่าทำไมเราถึงเจอกับเรื่องร้ายๆ ตลอด เพราะอะไร “ความสุข” คำที่แสนเรียบง่ายในวัยเด็กนี้ กลับกลายเป็นเรื่องที่หนีไกลออกจากชีวิตไปเรื่อยๆ เราที่ถูกทำร้ายด้วยความผิดหวังจะสามารถกลับมาคู่ควรกับการมีความสุขได้อีกครั้งหรือไม่?
จริงๆ แล้วไม่ว่าเราจะพบกับมรสุมชีวิตหรือต้องจมอยู่กับความทุกข์ แต่สุดท้ายมนุษย์ก็ถูกออกแบบมาให้พบกับความสุขที่มาหลังความเจ็บปวดได้เสมอ ภาวะแบบนี้เรียกว่า “Post-traumatic Growth” นี่อาจจะเป็นข้อดีหนึ่งของการเป็นมนุษย์ที่สามารถเยียวยาตัวเองได้ และพาเราก้าวข้ามไปฟื้นฟูตัวเองจากความเจ็บปวดได้ดีขึ้น
“Post-traumatic Growth” ความสวยงามหลังความเจ็บปวด
หากพูดถึงการค้นหาความสุขหลังเจอเรื่องร้ายๆ นั้น “Post-traumatic Growth” เป็นภาวะที่จิตใจฟื้นฟูภายหลังจากที่เราพบเจออุปสรรคในชีวิต เมื่อเราเผชิญกับเรื่องราวร้ายๆ เราจะมีคำถามชุดแรกว่าทำไมเราถึงต้องเจอกับเรื่องแบบนี้ ทำไมเราถึงไม่มีความสุข โลกจะดูมืดมนขึ้นทันทีจนเราไม่อาจนึกถึงความสุขในชีวิตได้
2
หลังจากนั้นเราจะเริ่มแสวงหาคำตอบของชุดคำถามนั้น จนเมื่อเราได้คำตอบก็จะเริ่มมีกระบวนการยอมรับเกิดขึ้น ส่วน “Post-traumatic Growth” นั้นจะเกิดขึ้นหลังจากที่เราเกิดกระบวนการยอมรับไปแล้ว โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยาเชิงบวกที่ทำให้เรากลับมามีความสุขง่ายๆ ได้อีกครั้ง
ให้ลองนึกถึงความรู้สึกตอนที่เรานั่งรถไฟเหาะ ระหว่างที่นั่งนั้นเราจะเกิดทั้งความหวาดกลัว การเผชิญกับสิ่งที่กลัว การยอมรับ และสุดท้ายเมื่อรถไฟเหาะขบวนนั้นจบลง เราจะรู้สึกสดชื่นเหมือนกับได้เกิดใหม่อีกครั้ง และเริ่มมีความกล้าที่จะทำสิ่งที่ท้าทายมากขึ้น นี่คือการเกิดขึ้นของภาวะ “Post-traumatic Growth”
ซึ่งการเติบโตที่เกิดขึ้นนั้นสามารถเกิดได้ในหลายรูปแบบเช่น การรู้ซึ้งถึงคุณค่าของชีวิต, การรักคนรอบข้าง รักครอบครัวมากขึ้น, การยอมรับความสามารถของตัวเองมากขึ้น, การตื่นรู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญของชีวิต
4
สิ่งที่พาเราไปสู่ความสวยงามหลังความเจ็บปวดคืออะไร?
แน่นอนว่าเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนที่จะเริ่มเกิดคำถามขึ้นว่าเราจะมีวิธีลัดในการก้าวข้ามจากความเจ็บปวดไปสู่ความสุขในช่วง Post-traumatic ได้ทันทีที่พบกับปัญหาหรือไม่ คำตอบคือเราไม่สามารถบังคับสมองของเราให้ก้าวผ่านความเจ็บปวดและมีความสุขได้ เพราะการยอมรับความเจ็บปวดนั้นเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นแตกต่างกันในแต่ละคน
โดยการที่จะเข้าสู่ภาวะ Post-traumatic Growth ได้นั้น เราต้องเข้าใจว่ามีตัวแปรสำคัญอยู่ 2 ตัวแปรด้วยกัน
ตัวแปรแรกคือ เวลา การก้าวผ่านความเจ็บปวดไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน โดยอาจจะเกิดขึ้นภายในไม่กี่วันหรือนานจนถึงหลายเดือน เราจึงจำเป็นต้องให้เวลากับตัวเองเพื่อให้กลไกของสมองสามารถจัดการกับความเจ็บปวดนั้นได้
ตัวแปรที่สองคือ การมองโลก ซึ่งมีการวิจัยเกี่ยวกับ Post-trauma Adaptation ที่นักวิจัยค้นพบว่าการมองโลกในแง่ดีจะช่วยให้เราฟื้นฟูจากความเจ็บปวดได้ง่ายมากขึ้น เพราะฉะนั้นหากเราเป็นคนที่มีพื้นฐานในการมองโลกในแง่ดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การก้าวผ่านความเจ็บปวดก็จะเกิดขึ้นได้เร็วกว่าคนทั่วไป
1
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่ากลไกของสมองหลังจากที่เกิดความเจ็บปวดนั้น จะสามารถเยียวยาตัวเองได้อยู่แล้ว หากเรารู้สึกเหนื่อยล้า ไม่อยากที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรมากมาย การให้เวลากับตัวเองอย่างเพียงพอและมองโลกในแง่ดีเข้าไว้ เราจะสามารถกลับมามีความสุขได้อย่างแน่นอน
5 วิธีพาตัวเองไปสู่ความสุขหลังความเจ็บปวด
หลังจากที่เราก้าวข้ามความเจ็บปวด ค้นพบคำตอบของปัญหา เกิดการยอมรับความจริง และสมองพาเราไปสู่ภาวะ Post-traumatic Growth แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น แต่คำถามคือแล้วเราจะพาความสุขกลับมาให้ตัวเองในช่วง Post-traumatic นี้อย่างไร เพื่อไม่ให้ช่วงเวลาทองของเราผ่านไปอย่างไร้ความหมาย
1. อยู่กับปัจจุบันให้ได้
1
อย่าเพิ่งกลับไปโทษตัวเองเกี่ยวกับความผิดพลาดที่ผ่านมาและอย่าเพิ่งกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เพราะสิ่งที่เราควรทำคือการใช้ชีวิตในปัจจุบันอย่างมีความสุข เพราะอย่าลืมว่าช่วงที่เราเพิ่งผ่านความเจ็บปวดมาได้นั้น เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเรา
ปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามธรรมชาติ ยอมรับความบังเอิญของสิ่งรอบตัวโดยไม่คิดกังวลหรือหวาดกลัวกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น
2. ปล่อยวางความคิดเชิงลบ
ความโกรธแค้นเป็นอารมณ์ไม่คุ้มเสีย เพราะต้องใช้พลังงานสูงมาก ทำให้เราไม่สามารถมีความสุขได้อย่างเต็มที่ เราจึงควรเรียนรู้ที่จะให้อภัยทั้งตัวเองและทุกอย่างที่เข้ามาทำร้ายเราเพื่อให้ชีวิตสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ยิ่งเราปลดปล่อยอารมณ์โกรธแค้นได้นั่นแปลว่าเราได้ปลดปล่อยตัวเองออกมาจากความทุกข์แล้ว
นอกจากนี้การปล่อยคนที่เป็นพิษออกไปจากชีวิตก็เป็นวิธีที่ทำให้เรากลับมามีความสุขได้ พยายามกลับมาคบกับเพื่อนที่มีความคิดในเชิงบวกและลดการใช้เวลาเพื่อเอาใจผู้อื่น
3. ทำดีกับคนอื่นให้มาก
วลีที่สอนต่อๆ กันมาว่า “ควรปฏิบัติกับคนอื่น ให้เหมือนกับที่อยากให้คนอื่นปฏิบัติกับเรา” ยังสามารถใช้ได้ดีในยุคนี้เสมอ การปฏิบัติกับคนอื่นให้ดีก็เป็นวิธีที่ทำให้เรามีความสุขได้ง่ายๆ
นอกจากการทำความดีแล้ว การเคารพในความคิดเห็นของคนอื่นก็เป็นวิธีที่ดีเช่นกัน บางครั้งการปล่อยให้อีกฝ่ายพูดแม้จะเป็นเรื่องที่เราไม่เห็นด้วย ก็ทำให้เราลดความเครียดได้มากกว่าที่คิด และเมื่อเรารับรู้ถึงความสุขของคนรอบข้างผ่านการกระทำง่ายๆ แล้ว เราจะรู้สึกมีความสุขมากขึ้นเช่นกัน
4. รักษาสุขภาพที่ดีและใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง
บางครั้งปัญหาของชีวิตก็มักจะมาในรูปแบบของอาการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ การรักษาสุขภาพที่ดีและใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังจึงเป็นเหมือนการรักษาความสุขให้อยู่กับเราไปอีกนาน ไม่ใช่แค่ในช่วง Post-traumatic เท่านั้น
วิธีที่ง่ายแต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยทำกันก็คือ “การออกกำลังกาย” เมื่อเราออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอ็นโดรฟินทำให้คลายความเครียด ลดอาการซึมเศร้าและทำให้อารมณ์ดีขึ้น เราจึงมักรู้สึกกระปรี้กระเปร่าหลังจากที่ออกกำลังกายเสร็จ
ที่สำคัญคือไม่ควรเสพติดโซเชียลมากเกินไป เพราะมันจะทำให้เรารู้สึกฟุ้งซ่านมากกว่าที่จะได้อยู่กับตัวเอง
1
5. หัวเราะและยิ้มให้มาก
เคยสังเกตหรือไม่ว่าเวลาที่เราแกล้งหัวเราะ สุดท้ายเราก็จะรู้สึกขำขึ้นมาจริงๆ หรือเวลาที่เราดูคลิปที่เป็นคนหัวเราะอยู่นั้น เราก็อดไม่ได้ที่จะหัวเราะตามคนนั้น
“การหัวเราะเป็นยาที่ดีที่สุด” ไม่ว่าเราจะเปล่งเสียงหัวเราะออกมาด้วยความสนุก ตลก หรือแกล้งหัวเราะก็ตาม ร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนเอ็นโดรฟินที่เป็นสารแห่งความสุขออกมาจริงๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่มีการหัวเราะบำบัดหรือ Laughing Therapy เกิดขึ้นเพื่อบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกว่าการก้าวผ่านความเจ็บปวดเป็นเรื่องที่ยาก เราอาจจะไม่เก่งพอที่จะจัดการกับตัวเองได้ แต่ก็อย่าลืมว่าในท้ายที่สุดแล้ว ร่างกายเราถูกออกแบบมาให้มีความสุขหลังความเจ็บปวดเสมอ เราไม่ได้เผชิญกับความเจ็บปวดเพียงคนเดียว อย่างน้อยก็ยังมีสมองที่พยายามอยู่ข้างเรา คอยช่วย “เก็บชิ้นส่วนที่ได้แตกสลายไปแล้วกลับมา” และทำให้เราใจดีกับตัวเองมากขึ้นอย่างไม่รู้ตัว
แม้ว่าความเจ็บปวดจะก่อให้เกิดบาดแผลลึกที่ทำให้เรารู้สึกสิ้นหวังและแตกสลาย สมองก็ยังมีกระบวนการ Post-traumatic Growth ที่เป็นเหมือนกับการเย็บปิดแผลนั้น และทำให้เราค่อยๆ ฟื้นตัวจนกลับมามีความสุขอย่างสมบูรณ์แบบ
ใครที่เคยเกิดคำถามว่า “เมื่อไหร่เราถึงจะมีความสุขสักที” ก็คงจะได้คำตอบแล้วว่า อีกไม่นานเท่านั้น ขอแค่เวลาผ่านไป เราจะต้องมีความสุขอย่างแน่นอน
อ้างอิง
- “I Just Want To Be Happy Again!” : Beth Elkassih, Madeyousmileback - https://bit.ly/3tZ2hTS 
- How Long Can Emotional Trauma Last? : Rohini Radhakrishnan, ENT, Head and Neck Surgeon, MedicineNet - https://bit.ly/3SmKNuI 
- Post-Traumatic Growth: A Guide to Enjoying Life Again : Alexander Draghici, Happier Human - https://bit.ly/45UvRas
#selfdevelopment
#inspiration
#posttraumaticgrowth 
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา