22 พ.ย. 2023 เวลา 10:22 • ธุรกิจ

สรุปอินไซต์ การบริโภคสื่อของคนไทย ในปี 2023 จาก Nielsen ที่นักการตลาดควรรู้

ในวันนี้ Nielsen ประเทศไทย ได้จัดงาน Future of Media 2024
หนึ่งในไฮไลต์สำคัญ ก็คือข้อมูลอินไซต์ พฤติกรรมการบริโภคสื่อ ของคนไทย ในยุคที่สื่อมีความหลากหลาย ทั้งสื่อทีวี สื่อออนไลน์ และสตรีมมิงต่าง ๆ จนแทบจะไม่สามารถแยกสื่อชนิดต่าง ๆ ออกจากกัน ได้อย่างชัดเจน
โดย MarketThink จะสรุปเทรนด์การบริโภคสื่อ ของคนไทย ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ให้อ่านกันในโพสต์เดียว..
1. เม็ดเงินโฆษณา และการตลาด (Media Spending) ของประเทศไทย
ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม (10 เดือนแรก) เม็ดเงินโฆษณา และการตลาด (Media Spending) ของประเทศไทย อยู่ที่ 95,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
โดยทีวี ยังคงเป็น “สื่อหลัก” ที่ครองเม็ดเงินโฆษณา ได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 50,415 ล้านบาท
ในขณะที่สื่อดิจิทัล ครองเม็ดเงินโฆษณา ที่ 23,736 ล้านบาท
แต่สิ่งที่น่าจับตามองมากที่สุด คือ สื่อโฆษณานอกบ้าน และโรงภาพยนตร์ เป็นสื่อที่มีอัตราการเติบโต ในแง่ของเม็ดเงินโฆษณามากที่สุด โดยเติบโตขึ้นถึง 20% ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา..
เทียบกับสื่อทีวี ที่เติบโตขึ้นเพียง 2% ในช่วงเวลาเดียวกัน
และหากแยกเป็นภาคอุตสาหกรรม ที่ใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณา และการตลาด มายังสื่อชนิดต่าง ๆ มากที่สุด ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม จะแบ่งเป็น
- Food & Beverage มูลค่า 15,238 ล้านบาท
- Personal Care & Cosmetic มูลค่า 12,647 ล้านบาท
- Retail Shop & Food Outlet มูลค่า 9,552 ล้านบาท
- Media & Marketing มูลค่า 4,702 ล้านบาท
- Pharmaceutical มูลค่า 4,427 ล้านบาท
- Finance มูลค่า 3,811 ล้านบาท
- Automotive มูลค่า 3,441 ล้านบาท
- Household Products มูลค่า 2,918 ล้านบาท
- Government มูลค่า 2,236 ล้านบาท
- Travel มูลค่า 2,098 ล้านบาท
2. คนไทยบริโภคสื่อ จากหลายแพลตฟอร์ม ในเวลาเดียวกัน
ในปัจจุบัน คนไทยมีอัตราการเข้าถึงสื่อ จากช่องทางต่าง ๆ ดังนี้..
- สมาร์ตโฟน อัตราการเข้าถึง 90%
- ทีวี อัตราการเข้าถึง 84%
- คอมพิวเตอร์ อัตราการเข้าถึง 19%
- แท็บเล็ต อัตราการเข้าถึง 10%
แต่ในปัจจุบัน การบริโภคสื่อผ่านทีวีแบบดั้งเดิมนั้น เริ่มถูกแทนที่ด้วย สมาร์ตทีวี (Connected TV) มากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยอัตราการเข้าถึงสมาร์ตทีวีของคนไทย ในปัจจุบัน อยู่ที่ 41% แม้ว่ายังไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ของจำนวนคนไทยที่เข้าถึงทีวีทั้งหมด แต่ก็นับว่าคนไทยเข้าถึงสมาร์ตทีวีเพิ่มขึ้นกว่า 64% เมื่อเทียบกับปี 2021
นอกจากนี้ Nielsen ยังพบอินไซต์ด้วยว่า คนไทยนิยมทำกิจกรรมอื่น ๆ ไปพร้อมกับการรับชมทีวี ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์ วิดีโอคอล แช็ต ใช้โซเชียลมีเดีย ดูคลิปวิดีโอออนไลน์ เล่นเกม หรือแม้แต่ช็อปปิง ไปพร้อมกัน
ซึ่งพฤติกรรมที่เกิดขึ้นนี้ กลายเป็นความท้าทาย ของผู้ผลิตสื่อ และนักการตลาด ที่จะต้องหาวิธีดึงดูดความสนใจ จากผู้บริโภคให้ได้มากขึ้น..
ทำให้ผู้ผลิตสื่อทีวีหลาย ๆ ราย เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการดึงดูดผู้บริโภค ให้รับสื่อจากช่องทางอื่น นอกเหนือจากหน้าจอทีวี ด้วยการเพิ่มช่องทางการรับชมคอนเทนต์ บนเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน ของตัวเอง
จนในขณะนี้ คนไทยจำนวน 34% รับชมคอนเทนต์ต่าง ๆ ผ่านบนเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน ของผู้ผลิตสื่อทีวี
3. ทีวี ยังคงเป็น “สื่อหลัก” แม้สื่อดิจิทัล จะมาแรง
โดยหากเทียบเป็น “เรตติง” จะพบว่า ทีวี ยังคงเป็นสื่อที่ครองเรตติงได้มากที่สุด ในสัดส่วน 64% ตามมาด้วย สตรีมมิง ในสัดส่วน 36%
หากเจาะลึกไปที่ สื่อสตรีมมิงโดยเฉพาะ จะพบว่า แพลตฟอร์มที่ครองเรตติงได้สูงที่สุด คือ
- YouTube สัดส่วนเรตติง 14%
- TikTok สัดส่วนเรตติง 7%
- Facebook สัดส่วนเรตติง 6%
- AIS Play สัดส่วนเรตติง 2%
- TrueID สัดส่วนเรตติง 2%
- Netflix สัดส่วนเรตติง 1%
ส่วนในด้านของประเภทของคอนเทนต์ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของคนไทย ในช่วงเดือนมกราคม - พฤศจิกายน ปีนี้ ก็คือคอนเทนต์ประเภท “กีฬา” และ “ละคร”
โดยคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยม มีเรตติงสูงที่สุดประจำปีนี้ ก็คือ คอนเทนต์การแข่งขัน วอลเลย์บอลหญิงรอบคัดเลือกโอลิมปิก ระหว่างทีมชาติไทย กับโคลอมเบีย โดยได้รับเรตติงไปมากถึง 9.518 ในทุก ๆ แพลตฟอร์ม
โฆษณา