23 พ.ย. 2023 เวลา 04:06 • ข่าว

23-26 พ.ย.นี้ อากาศระบายไม่ดี อ่วม ค่า PM 2.5 เกินมาตรฐาน อยู่ระดับสีส้ม กว่า 50 พื้นที่

ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร สรุปผลการตรวจวัด PM2.5 ในวันนี้ (23 พ.ย. 66) เวลา 05.00-07.00 น. ตรวจวัดได้ 29.3-61.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ขณะที่ ค่าเฉลี่ยอยู่ 42.6 มคก./ลบ.ม. ค่า PM2.5 มีแนวโน้มลดลงแต่ยังคงเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 54 พื้นที่
จากนั้น ณ เวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ในช่วง 29.3-60.4 มคก./ลบ.ม. โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อวานนี้ในช่วงเวลาเดียวกัน และพบว่าเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (มาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.) จำนวน 50 พื้นที่
สำหรับ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่นPM2.5 โดยสภาพทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 23-26 พ.ย. 66 การระบายอากาศไม่ดี จึงคาดว่าจะทำให้ความเข้มข้นของฝุ่นละอองทรงตัว
สำหรับช่วงวันที่ 27-28 พ.ย. 66 การระบายอากาศค่อนข้างดี อาจทำให้ความเข้มข้นของฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลง และคาดการณ์วันนี้มีหมอกบางในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้นอีก 1-2 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) ผ่านดาวเทียม จากหน่วยงานนาซา (NASA) ไม่พบจุดความร้อนที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลกบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ
[สถาบันโรคทรวงอก เตือน PM 2.5 เป็นภัยร้ายต่อสุขภาพ]
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐาน เป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายต่อสุขภาพ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายผ่านระบบทางเดินหายใจ หากได้รับอย่างต่อเนื่องหรือในปริมาณที่มาก จะส่งผลกระทบสะสมต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างร้ายแรง
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหา PM 2.5 ในปัจจุบัน คือ มีแหล่งสร้างมลพิษทางอากาศที่ไม่สามารถควบคุมให้ลดลงได้ เช่น การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องยนต์ทั้งรถยนต์ใหม่เก่า การเผาป่า การเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งการก่อสร้างที่มีอยู่แทบทุกพื้นที่ ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เป็นปัญหาทำให้คุณภาพอากาศแย่ลง
นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า PM 2.5 ทำให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง ด้วยฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กมาก ทำให้ฝุ่นสามารถเข้าสู่ร่างกายจากหลอดลมไปหลอดเลือด และกระจายไปส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เมื่อได้รับเป็นระยะเวลานานจนเกิดการสะสมทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดยกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายได้หลายระบบ
สำหรับระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพองเกิดอาการกำเริบของโรค เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหอบหืดในคนปกติ รวมทั้งหอบหืดในเด็ก และในระยะยาวจะทำให้สมรรถภาพปอดลดลง จนเกิดเป็นโรคถุงลมโป่งพองในผู้ไม่สูบบุหรี่
นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งปอดอีกด้วย ระบบหัวใจและหลอดเลือด ฝุ่นละออง PM 2.5 สามารถทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ได้ทั่วร่างกาย ส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด เพิ่มอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคหัวใจ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ในหญิงตั้งครรภ์หากสูดดมฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานาน จะส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์อีกด้วย
สัญญาณที่บ่งบอกว่าร่างกายกำลังได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 คือ มักมีอาการไอเรื้อรัง ระคายเคืองตา คัดจมูก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ผิวหนังเป็นตุ่มหรือผื่นนูนแดง ดังนั้นเราควรป้องกันตนเองจากมลพิษทางอากาศ หากพบว่า ตนเองมีอาการผิดปกติของร่างกายให้รีบมาพบแพทย์ทันที
#สำนักข่าวทูเดย์
#MakeTomorrowTODAY
โฆษณา