24 พ.ย. 2023 เวลา 03:07 • สุขภาพ

นวัตกรรมคัดกรองโรคไต ตรวจง่าย รู้ไว ไตไม่วาย ตายไม่ไว

โดย ภัทรา สัปปินันทน์
องค์การอนามัยโลกหรือ WHO เผย 1 ใน 10 ของประชากรทั่วโลกมีอาการไตทำงานผิดปกติ และมีผู้ป่วยประมาณ 1 ล้านคนที่เสียชีวิตจากอาการไตวายเรื้อรังเนื่องจากไม่ได้เข้ารับการรักษา ขณะที่ในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนประชากรเป็นโรคไตเรื้อรังสูงถึงร้อยละ 17-22 ในปี พ.ศ. 2552 (ข้อมูลจาก Thai SEEK) และเพิ่มสูงถึงร้อยละ 26 ในบางพื้นที่ (ข้อมูลจาก CKDNET ในปี พ.ศ. 2565)
ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักทราบว่าตนเป็นโรคไตเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3-4 หรือระยะที่มีอาการป่วยปรากฏให้เห็นแล้ว ไม่สามารถบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และต้องเข้ารับการรักษาด้วยการฟอกไตที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึงปีละ 200,000 บาทต่อคนต่อปี
ด้วยอัตราการป่วยที่มีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานทั้งด้านการวิจัย การแพทย์ และสาธารณสุขไทย จึงได้ร่วมกันหาแนวทางพัฒนาวิธีการตรวจคัดกรองโรคที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองอย่างทั่วถึง ซึ่งจะช่วยป้องกันการลุกลามของโรคได้อย่างทันท่วงที
ล่าสุด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรพัฒนานวัตกรรมคัดกรองโรคไต ได้แก่ AL-Strip (อัล-สตริป) ชุดตรวจโรคไตเชิงคุณภาพ สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถตรวจได้ง่ายด้วยตนเอง ทราบผลความเสี่ยงได้ภายใน 5 นาที และ GO-Sensor Albumin Test (โก-เซนเซอร์ อัลบูมินเทสต์) ชุดตรวจโรคไตเชิงปริมาณ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ทราบผลตรวจได้ภายใน 10-30 นาที
2 เทคโนโลยีเพิ่มโอกาสคัดกรองโรค
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตได้ตั้งแต่ระยะต้นเกิดจากค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ค่อนข้างสูง ซึ่งมีตั้งแต่หลักร้อยถึงพันบาท ขึ้นอยู่กับความละเอียดในการตรวจ นอกจากนี้หน่วยงานด้านสาธารณสุขที่ให้บริการตรวจยังมีไม่เพียงพอ
เพราะต้องเป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือสถานพยาบาลที่พร้อมส่งต่อให้บริษัทเอกชนด้านเทคนิคการแพทย์ดำเนินการตรวจในห้องปฏิบัติการให้เท่านั้น ดังนั้นการมีชุดตรวจที่เข้าถึงง่ายจึงเป็นหนทางที่จะช่วยลดช่องโหว่ดังกล่าว และนั่นเป็นที่มาให้ทีมวิจัยจากนาโนเทค สวทช. เข้าร่วมภารกิจอันท้าทายนี้
ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซนเซอร์ระดับนาโน (RMNS) นาโนเทค สวทช. เล่าว่า ปัจจุบันทีมวิจัยได้นำความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาวัสดุระดับนาโนและการประยุกต์ใช้เป็นเซนเซอร์ทางด้านการแพทย์ มาพัฒนาชุดตรวจโรคไตสำเร็จแล้ว 2 เทคโนโลยี ประกอบด้วย ‘AL-Strip’ และ ‘GO-Sensor Albumin Test’ โดยเทคโนโลยีแรก ‘AL-Strip’ เป็นชุดตรวจโรคไตเชิงคุณภาพที่ประชาชนทั่วไปใช้ตรวจคัดกรองโรคได้ด้วยตัวเอง ทราบผลการตรวจได้ภายใน 5 นาที ที่สำคัญชุดตรวจมีราคาจับต้องได้
“AL-Strip ใช้งานง่าย เพียงผู้ตรวจหยดปัสสาวะที่เก็บใหม่ลงบนแถบตรวจ แล้วอ่านผลจากแถบสีที่ปรากฏ (คล้ายกับการใช้ชุดตรวจ ATK ในการตรวจคัดกรองโรคโควิด 19) ก็จะทราบผลการคัดกรองได้ทันที โดยหากผู้ตรวจมีปริมาณอัลบูมินซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นสารประกอบหลักของเลือดเจือปนอยู่ในปัสสาวะเกิน 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร
ชุดตรวจจะขึ้นแถบสี 1 ขีด หมายถึง มีความเสี่ยงเป็นโรคไตสูง ผู้ตรวจควรเข้ารับการตรวจโดยละเอียดที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยความผิดปกติของร่างกาย และเข้ารับการรักษาตามระยะของความผิดปกติ หากผู้ป่วยตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่อยู่ในระยะเริ่มต้น ก็จะมีโอกาสหันกลับมาดูแลตัวเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อชะลอความเสื่อมของไต ซึ่งอาจทำให้ไตกลับมาทำงานเป็นปกติได้”
ภาพจำลองผลิตภัณฑ์ต้นแบบ AL-Strip
AL-Strip ไม่เพียงตรวจง่าย แต่ยังมีจุดแข็งเรื่องราคาที่จับต้องได้ ทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. จึงมุ่งเป้าให้ชุดตรวจนี้เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญด้านการคัดกรองโรคไตแบบเชิงรุกเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในประเทศไทย
ดร.เดือนเพ็ญ เล่าต่อถึงเทคโนโลยีที่สอง GO-Sensor Albumin Test ว่าเป็นชุดตรวจโรคไตเชิงปริมาณ เพื่อการวิเคราะห์ผลทางการแพทย์ โดยทีมวิจัยได้พัฒนาใน 2 ส่วนหลัก คือ เครื่องตรวจปริมาณอัลบูมินที่เจือปนอยู่ในปัสสาวะ ที่ใช้เวลาในการประมวลผลเพียง 10-30 นาที ขึ้นอยู่กับความละเอียดของข้อมูลที่ต้องการ (ตรวจได้ครั้งละ 1 ตัวอย่าง) ภายหลังจากเครื่องประมวลผลเสร็จ ระบบจะส่งข้อมูลเข้าสู่แดชบอร์ด (dashboard) ที่ดูได้ผ่านทั้งคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน เพื่อให้แพทย์นำผลการตรวจไปใช้งานต่อได้สะดวก
ส่วนที่สองคือน้ำยาตรวจที่มีความจำเพาะกับอัลบูมินของมนุษย์ มีความไว (sensitive) ในการตรวจมากกว่าชุดตรวจทั่วไปประมาณ 100 เท่า ช่วยลดปริมาณน้ำยาที่ใช้ในการตรวจได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญทั้งเครื่องอ่านผลและน้ำยาตรวจผ่านการพัฒนาให้มีราคาที่สถานพยาบาลขนาดเล็กสามารถสั่งซื้อเพื่อใช้งานได้ นอกจากนี้อุปกรณ์ยังผ่านการออกแบบให้เหมาะแก่การใช้ตรวจทั้งในสถานพยาบาลและการออกตรวจนอกสถานที่ เพื่อช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการทำงานด้วย
ต้นแบบผลิตภัณฑ์ GO-Sensor Albumin Test
“GO-Sensor Albumin Test จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ทุกสถานพยาบาลเข้าถึงอุปกรณ์การตรวจเชิงปริมาณเพื่อการดูแลรักษาคนไข้ในพื้นที่ โดยไม่ต้องส่งตัวคนไข้หรือส่งปัสสาวะ (ภายใต้การควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมและนำเข้ากระบวนการตรวจภายใน 24 ชั่วโมง) ไปตรวจยังสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมสูง”
เตรียมผลักดันสู่ภาครัฐ มุ่งประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง
ปัจจุบันทั้ง AL-Strip และ GO-Sensor Albumin Test มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีในระดับ TRL8 หรือพร้อมแก่การผลิตเพื่อการใช้งานจริงแล้ว โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบัน นาโนเทค สวทช. ได้ผลิตอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ ‘โครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (CKDNET)’ มาโดยตลอด
โดยโครงการนี้มีผู้ดำเนินงานหลัก คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 7 และเขต 4 ทั้งนี้นาโนเทค สวทช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการผลิตอุปกรณ์จากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซนเซอร์ระดับนาโน (RMNS) นาโนเทค สวทช.
ดร.เดือนเพ็ญ เล่าว่า 2 ปีที่ผ่านมา นาโนเทค สวทช. ได้สนับสนุนอุปกรณ์ AL-Strip และ GO-Sensor สำหรับให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ตรวจคัดกรองโรคไตแก่ประชาชนในจังหวัดขอนแก่นมาโดยตลอด มีผู้เข้ารับการตรวจแล้วมากกว่า 1,000 คน ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีอัตราการเป็นโรคไตสูงได้ทราบถึงความเสี่ยงในการเป็นโรคหรือความผิดปกติของร่างกายตนเองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมรวม 7.87 ล้านบาท
“ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในระดับประเทศ ปัจจุบันนาโนเทค สวทช. กำลังสรรหาบริษัทเอกชนที่สนใจเข้ารับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อดำเนินการผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ รวมถึงมีนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดการนำผลงานทั้ง 2 เข้าสู่บัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อเป็นหนึ่งในกลไกส่งเสริมให้สถานพยาบาลจัดซื้อนวัตกรรมทางการแพทย์ที่คนไทยผลิตไปใช้ประโยชน์
อีกทั้งอาจเป็นช่องทางให้ภาครัฐสนับสนุนให้คนไทยทั้งประเทศเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคด้วยตัวเองอย่างเท่าเทียม ผ่านการติดต่อรับชุดอุปกรณ์ที่ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ ดังที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำลังขับเคลื่อนงานด้วย”
อย่างไรก็ดีหากพิจารณาถึงความพร้อมทางด้านการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไทย จะเห็นว่าปัจจุบันนอกจากนาโนเทค สวทช. ที่มีห้องปฏิบัติการที่สามารถผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์มาตรฐาน ISO13485 เป็นของตนเองแล้ว ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ได้มาตรฐาน ISO13485 ที่พร้อมรับจ้างผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ประเภทนี้เช่นกัน ดังนั้นหากผู้ประกอบการพร้อม ภาครัฐพร้อม การเดินหน้าผลิตอุปกรณ์เพื่อให้คนไทยทั่วประเทศเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตเป็นเรื่องที่ทำได้ทันที
ดร.เดือนเพ็ญกล่าวเสริมทิ้งท้ายว่า ในการพัฒนาชุดตรวจทางการแพทย์ ทีมวิจัยไม่ได้ให้ความสำคัญแต่เฉพาะเพียงเรื่องโรคไตเท่านั้น แต่ยังมองถึงภาพรวมของการสร้างระบบนิเวศในการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจโรคที่คนไทยรวมถึงคนทั่วโลกมีความเสี่ยงสูงด้วย
โดยเฉพาะโรคในกลุ่ม NCDs เช่น โรคเบาหวาน ที่ทีมวิจัยได้พัฒนาชุดตรวจแล้ว เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง และเป็นการสร้างความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของการขับเคลื่อนไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางด้านการแพทย์ (medical hub) ของเอเชียได้อย่างมั่นคง
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ นาโนเทค สวทช. โทรศัพท์ 0 2564 7100
⚛ นิตยสารสาระวิทย์ ⚛
𝗙𝗮𝗰𝗲𝗯𝗼𝗼𝗸: https://www.facebook.com/sarawitnstda
𝗪𝗲𝗯𝘀𝗶𝘁𝗲: https://www.nstda.or.th/sci2pub/sarawit
𝗧𝘄𝗶𝘁𝘁𝗲𝗿: https://twitter.com/sarawitnstda
𝗕𝗹𝗼𝗰𝗸𝗱𝗶𝘁: https://www.blockdit.com/sarawit
𝗬𝗼𝘂𝗧𝘂𝗯𝗲: https://youtube.com/@SARAWITTV
โฆษณา