1 ธ.ค. 2023 เวลา 17:00 • ประวัติศาสตร์

สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา สิ้นสุดราชวงศ์ล้านช้างร่มขาว และวาระสุดท้ายของพระองค์ที่เป็นปริศนาดำมืด

สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา มีพระนามเต็มว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าเชษฐาขัติยวงศา พระมหาศรีสว่างวัฒนา หรือ เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา
เป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรลาว ก่อนที่จะถูกฝ่ายปะเทดลาวยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวใน วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518 เป็นการสิ้นสุดราชวงศ์ล้านช้างร่มขาวและระบอบราชาธิปไตยที่ปกครองประเทศลาวมากว่า 700 ปี นับแต่สมเด็จพระเจ้าฟ้างุ้มทรงสถาปนาอาณาจักรล้านช้าง
ก่อนที่เราจะเล่าถึงสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา เราจะขอเล่าถึงปูมหลังของการเปลี่ยนผ่านของลาวตั้งแต่เป็นเมืองประเทศราชของสยาม ลาวในอาณานิคมของฝรั่งเศส และการสถาปนาพระราชอาณาจักรลาวกันก่อน
เมื่อ พ.ศ. 2337 ภายหลังสิ้นสุดรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวงศา ซึ่งถือเป็นยุคทองของอาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรล้านช้างก็ได้เข้าสู่ยุคเสื่อมโทรม ราชสำนักลาวช่วงชิงอำนาจกันเองจนทำให้ล้านช้างแตกออกเป็นสามอาณาจักรอันประกอบด้วยอาณาจักรหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์
ทั้งสามอาณาจักรตกเป็นประเทศราชของสยามในสมัยธนบุรี (พ.ศ. 2319 และ พ.ศ. 2321) ต่อมาใน พ.ศ.2371 (สมัยรัชกาลที่ 3 ของรัตนโกสินทร์) สยามมีชัยชนะในสงครามเจ้าอนุวงศ์และล้มเลิกราชวงศ์เวียงจันทน์เสีย เหลือเพียงราชวงศ์หลวงพระบางและจำปาศักดิ์ และเจ้านายหัวเมืองและชนชาติพันธุ์บางกลุ่ม เช่น เจ้าเมืองพวนเชียงขวาง เจ้าฟ้าไทลื้อเมืองสิงห์
ต่อมาการแข่งขันขยายจักรวรรดิระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เป็นผลให้ฝรั่งเศสยึดล้านช้างเป็นอาณานิคมใน พ.ศ. 2436 และ พ.ศ. 2447 เรียกว่า “ลาวในอารักขาฝรั่งเศส” โดยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพอินโดจีนหรืออินโดจีนฝรั่งเศส เจ้ามหาชีวิตหลวงพระบางได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากฝรั่งเศส เนื่องจากว่าพระเจ้ามหินทรเทพเป็นผู้ช่วยเหลือให้ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองลาวแทนสยามได้ ส่วนเจ้ามหาชีวิตจำปาศักดิ์ซึ่งมีความใกล้ชิดกับราชสำนักสยามถูกลดบทบาทเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ แต่ก็ยังมีอิทธิพลในเขตพื้นที่ภาคใต้ลาวอยู่
จนกระทั่งปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเข้ายึดลาวในเดือนเมษายน พ.ศ. 2488 และบังคับให้พระเจ้าศรีสว่างวงศ์เจ้ามหาชีวิตหลวงพระบางประกาศเอกราชและเป็นประมุขของลาว แต่เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามในเดือนสิงหาคม พระเจ้าศรีสว่างวงศ์ตกลงที่จะกลับเป็นอาณานิคมฝรั่งเศสตามเดิม
กลุ่มนักชาตินิยมลาวที่ใกล้ชิดกับขบวนการเสรีไทยสายอีสาน รวมตัวกันจัดตั้ง “คณะลาวอิสระ” โดยมีจุดยืนต่อต้านการกลับมาของฝรั่งเศสและต้องการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยเชิญเจ้าเพชรราช เจ้ามหาอุปราชหลวงพระบางอีกทั้งเป็นข้าราชการลาวชั้นสูงสุดในเวียงจันทน์เป็นหัวหน้า พร้อมทั้งชักชวนเชื้อพระวงศ์ ข้าราชการ และปัญญาชนจำนวนหนึ่งเข้าร่วม รวมไปถึงเจ้าสุวรรณภูมาและเจ้าสุภานุวงศ์ ซึ่งทั้งสองคนนี้เป็นน้องชายของเจ้าเพชรราช และจะมีบทบาทสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองลาวในภายหน้าด้วย
คณะลาวอิสระประกาศเอกราชและจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2488 รัฐบาลลาวอิสระขอร้องพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ให้เป็นกษัตริย์ของรัฐบาลลาวอิสระแต่พระองค์ไม่ยอมรับ ในช่วงเวลาเดียวกัน ฝรั่งเศสส่งกองทหารมาในภาคใต้ของลาวเพื่อรื้อฟื้นอำนาจขึ้นใหม่โดยความร่วมมือของเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์ แล้วเคลื่อนทัพขึ้นสู่เวียงจันทน์และหลวงพระบาง
พระเจ้าศรีสว่างวงศ์ฉวยโอกาสรับเป็นกษัตริย์ของรัฐบาลลาวอิสระเพื่อสั่งให้กำลังลาวอิสระยอมจำนนต่อฝรั่งเศสในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2489 คณะลาวอิสระจึงต้องลี้ภัยมาไทยและจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นโดยมีเจ้าเพชรราชเป็นประมุขชั่วคราว
การเสื่อมอำนาจของฝรั่งเศสหลังสงครามโลกครั้งที่สองและการกำเนิดขึ้นของขบวนการชาตินิยมเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ส่งผลให้ฝรั่งเศสต้องปรับรูปแบบการปกครองเสียใหม่โดยมอบอำนาจในการปกครองตนเองในระดับหนึ่งให้แก่สามประเทศอินโดจีนเป็นสหพันธรัฐภายใต้ “สหภาพฝรั่งเศส” ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสบรรลุข้อตกลงกับเจ้าสว่างวัฒนา มกุฎราชกุมารหลวงพระบางในฐานะผู้แทนเจ้ามหาชีวิตหลวงพระบางที่จะให้พระเจ้าศรีสว่างวงศ์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระราชอาณาจักรลาว
ในที่สุด รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรลาวซึ่งร่างโดยกลุ่มกษัตริย์นิยมหลวงพระบางได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ให้ลาวปกครองตามระบอบประชาธิปไตยและมี “ระบอบพระมหากษัตริย์” โดยให้การสืบทอดราชบัลลังก์ลาวมาจากพระราชวงศ์ชายที่เป็นเชื้อสายของพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ และให้ใช้ธงประจำอาณาจักรหลวงพระบางกับตราพระราชวงศ์หลวงพระบางเป็นธงชาติและตราแผ่นดินของพระราชอาณาจักรลาว รัฐบาลตั้งอยู่ที่นครเวียงจันทน์ แต่พระมหากษัตริย์ยังคงประทับอยู่ที่หลวงพระบาง
1
จากนั้นในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 พระเจ้าศรีสว่างวงศ์กับแว็งซ็อง โอรียอล ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ลงนามในอนุสัญญาทั่วไปฝรั่งเศส-ลาว ซึ่งกำหนดให้ลาวปกครองตนเองภายใต้สหภาพฝรั่งเศส และในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2496 ประมุขทั้งสองชาติพบกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อลงนามในความตกลงฝรั่งเศส-ลาว อันเป็นการมอบเอกราชสมบูรณ์ให้แก่ลาว
นับแต่การสถาปนาพระราชอาณาจักรลาวอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2490 สถาบันพระมหากษัตริย์ลาวถือว่ายังเป็นสถาบันที่เปี่ยมไปด้วยอำนาจบารมีอย่างยิ่ง เนื่องจากพระเจ้าศรีสว่างวงศ์เป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์มายาวนาน อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับฝรั่งเศส ซึ่งทำให้ลาวได้รับเอกราชอย่างสันติ สถาบันพระมหากษัตริย์ลาวจึงค่อนข้างมีอิทธิพลทางการเมืองมาก และพระเจ้าศรีสว่างวงศ์จึงได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งเอกราชของชาติลาว
กลับมาที่เรื่องของเจ้าสว่างวัฒนา
เจ้าสว่างวัฒนา เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 โดยเป็นพระราชโอรสองค์ที่สองในสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ กับสมเด็จพระราชินีอัครมเหสีคำอุ่น มีพระราชอนุชาและพระราชขนิษฐาคือ เจ้าฟ้าหญิงสัมมาธิ, เจ้าฟ้าชัยศักดิ์, เจ้าฟ้าสุพันธรังสี และมีพระเชษฐภคินีคือ เจ้าฟ้าหญิงคำแพง และยังถือเป็นพระญาติกับ เจ้าสุวรรณภูมา และ เจ้าสุภานุวงศ์ ด้วย
เมื่อพระชนมายุได้ 8 พรรษา พระราชชนนีก็สิ้นพระชนม์ลงด้วยพระอาการประชวร เมื่อพระองค์พระชนมายุได้ 10 พรรษา ได้ทรงศึกษาเรียนต่อ ณ มหาวิทยาในเมืองมงเปอลีเย และทรงจบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาทางการเมืองปารีส ซึ่งนักการทูตฝรั่งเศสได้ฝึกสอนพระองค์ไว้
หลังจากจบการศึกษาแล้ว พระองค์ยังทรงได้ศึกษาอยู่ที่ฝรั่งเศสต่อไป หลังจากนั้น พระองค์ได้ตัดสินใจกลับมายังประเทศลาว แต่พระองค์ตรัสเป็นภาษาลาวไม่ได้และต้องได้รับการถวายคำแนะนำจากข้าราชบริพารนานเป็นปี พระองค์อภิเษกสมรสกับพระนางคำผุยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2473
ปี พ.ศ. 2494 พระองค์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเมื่อพระราชชนกทรงพระประชวร ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2502 จนกระทั่งเมื่อพระราชชนกเสด็จสวรรคตในวันที่ 29 ตุลาคม พระองค์ก็ได้รับราชสมบัติสืบต่อจากพระราชชนก แต่พระองค์ไม่ได้ผ่านพระราชพิธีราชาภิเษกเลย เพราะพระองค์ได้ทรงชะลอพระราชพิธีราชาภิเษกไปเนื่องจากสงครามกลางเมืองลาวในเวลานั้น
ในรัชสมัยของพระองค์ พระองค์ได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีไปหลายๆปรเทศ ในเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2506 พระองค์ได้เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาและได้พบกับประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี เพื่อทำความตกลงตาม การประชุมเจนีวา ที่รับประกัน "ความเป็นกลาง" ของลาว โดยจุดเริ่มที่พระองค์เสด็จเยือนคือ สหภาพโซเวียต โดยพระองค์ได้เสด็จเยือนร่วมกับ เจ้าสุวรรณภูมา
พระองค์มีบทบาทในทางการเมืองลาวเป็นอย่างมากและมีความพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพของลาวไว้หลังจากที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองลาวอันสืบเนื่องมาจากการประชุมเจนีวา
ในปี พ.ศ. 2497 ซึ่งได้รับรองความเป็นเอกราชของลาวอย่างสมบูรณ์ แต่ไม่ได้ตั้งเงื่อนไขว่าผู้ใดจะได้ปกครองลาว โดยมี "3 ฝ่ายเจ้า" นั้นคือ เจ้าสุวรรณภูมา ผู้ซึ่งประทับในกรุงเวียงจันทน์ ที่ประกาศพระองค์เป็นกลางและได้รับการสนับสนุนโดย สหภาพโซเวียต, เจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ ซึ่งมีอิทธิพลและอำนาจในลาวใต้และเป็นฝ่ายขวาหนุนสหรัฐอเมริกา และ เจ้าสุภานุวงศ์ ผู้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายคอมมิวนิสต์และอยู่ในเขตลาวเหนือ
เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งไปมากกว่านี้ ทั้งเจ้าสุวรรณภูมาและเจ้าบุญอุ้มนี้ ได้ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรี "ที่ถูกต้อง" และทั้งสองฝ่ายได้จัดการเรื่องนี้ผ่านทางพระเจ้ามหาชีวิต
ปี พ.ศ. 2504 เสียงส่วนใหญ่ของสภาแห่งชาติ ได้เลือกเจ้าบุญอุ้มขึ้นครองอำนาจ และเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาทรงเสด็จมาจากหลวงพระบางมายังกรุงเวียงจันทน์เพื่อทรงอวยพรให้รัฐบาลชุดใหม่นี้ แต่พระองค์ยังต้องการให้เจ้า 3 องค์ ได้เข้าร่วมเป็นพรรครัฐบาลผสมซึ่งได้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2505 แต่ก็มีอันล่มไปในเวลาต่อมา
วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2518 กองกำลังขบวนการปะเทดลาว ได้เข้ายึดกรุงเวียงจันทน์ นับเป็นเมืองสุดท้ายที่ได้ยึดครอง และส่งผลให้รัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมาได้กลายเป็นรัฐบาลที่ไร้อำนาจและเสถียรภาพ ในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518 มติสภาชั่วคราวได้ลงความเห็นให้ยกเลิกระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของลาวและสถาปนา "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" ขึ้นมาแทนที่ ส่งผลให้พระองค์ต้องสละราชบัลลังก์และพระราชอำนาจไปยังสภาชั่วคราว
ทางสภาได้มีมติแต่งตั้งพระองค์ให้เป็น "ที่ปรึกษาสูงสุดของประธานประเทศ" พระองค์ได้ปฏิเสธการหลบหนีอพยพออกจากประเทศด้วยเหตุผลว่า "พวกเราเป็นคนลาวเหมือนกันก็ต้องคุยกันได้" พระองค์ยังประทับอยู่ในพระราชวงศ์หลวงพระบางต่อไปจนกระทั่งปี พ.ศ. 2519 พูมี วงวิจิด ได้สั่งการให้พระราชวังหลวงพระบางและทรัพย์สินในพระราชวังเป็นสมบัติของประเทศ และมีผลให้พระองค์กับพระญาติวงศ์ออกจากวังไปในทันที
เดือนมีนาคม พ.ศ. 2520 ด้วยความที่รัฐบาลลาวหวั่นเกรงพระองค์ที่ถูกมองเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์อันเนื่องมาจากการที่มีทหารม้งและมีชาวลาวนอกต่อต้านรัฐบาล สปป.ลาว บวกกับการหวั่นเกรงที่พระราชวงศ์จะหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศได้ ทหาร สปป.ลาว ได้นำพระองค์, พระมเหสี, เจ้าฟ้าชายมกุฏราชกุมาร, เจ้าฟ้าศรีสว่าง, และพระอนุชาของพระองค์คือ เจ้าฟ้าสุพันธรังสี และ เจ้าฟ้าทองสุก ไปอยู่ที่เมือง เวียงไซ
พระองค์ได้ทรงประทับในค่ายกักกันในเวียงไซที่ชื่อว่า "ค่ายเลข 1" ที่นักโทษทางการเมืองหลายๆคนได้อยู่ ระหว่างที่อยู่ในค่าย พระราชวงศ์ได้รับอนุญาตให้ได้ออกมาอยู่บริเวณรอบๆค่ายได้ ซึ่งบางครั้งแล้ว สมาชิกพรรคและเจ้าสุภานุวงศ์เองก็เคยเดินทางมาเยี่ยมพระเจ้ามหาชีวิตอยู่บ้าง พระองค์ถือว่าเป็นนักโทษที่ทรงชราภาพที่สุดในคุกนั้น โดยก่อนหน้านั้นแล้วในคุกนั้นจะมีนักโทษอายุประมาณ 55 ปีที่เคยแก่ที่สุด
ปี พ.ศ. 2521 มีรายงานว่าพระองค์, พระมเหสีและพระราชโอรส สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคมาลาเรีย และต่อมาได้มีการยืนยันว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ในช่วงกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2523 อันนำมาซึ่งความโศกเศร้าของพระราชวงศ์ล้านช้างที่อยู่ต่างประเทศในเวลานั้น โดย เจ้าฟ้าสูรยะวงศ์สว่างได้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการในราชวงศ์
จนกระทั่งเจ้าสุริวงศ์ สว่าง ทรงเติบใหญ่จึงได้ให้ตำแหน่งนี้ให้พระองค์ อย่างไรก็ตาม อ้างอิงจากคำพูดของไกสอน พมวิหานแล้ว พระองค์ได้เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2527 ขณะที่มีพระชนมายุ 77 พรรษา และศพของทั้ง 3 พระองค์ยังฝังไว้อยู่ที่แขวงหัวพันจนถึงทุกวันนี้
การสวรรคตของทั้งสามพระองค์ถือเป็นประเด็นที่ลึกลับพอสมควร เนื่องจากว่าไม่มีการบ่งบอกเรื่องราวสวรรคตทั้งสาเหตุการสวรรคตและเวลาสวรรคต โดยถือกันว่าพระองค์ทั้งสาม อาจจะสิ้นพระชนม์จากการถูกทรมานทางกายและใจมากกว่า อย่างไรก็ตาม รัฐบาล สปป.ลาว ไม่เคยกล่าวออกมาเป็นทางการและมีท่าทีที่ปกปิดเรื่องราวนี้อยู่พอสมควรและถือว่าเป็นความลับ
โฆษณา