Gen Z มองหางาน 'Remote work' บางคนเลือก 'ลาออก' หากต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน
#ทำงานทางไกล จากที่ไหนก็ได้ คืองานในฝันของชาว Gen Z บางคนถึงขั้น “ลาออก” หากบริษัทให้เข้าออฟฟิศทุกวัน เหตุเพราะอึดอัดกับวัฒนธรรมองค์กรดังกล่าวที่เพิ่มความเครียดให้ชีวิต
3
โลกของ “งานประจำ” ที่ต้องเข้าทำงานในออฟฟิศแบบ “9 to 5” (เข้างาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็น) กลายเป็นหนึ่งในประสบการณ์ชีวิตการทำงานที่ชาว Gen Z ในต่างประเทศรู้สึกอึดอัดใจ พวกเขาส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม First jobber ที่เพิ่งเข้าสู่โลกการทำงานได้ไม่นานหลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย
สำนักข่าว Business Insider รายงานว่า ในหมู่คนรุ่น Gen Z มีการถกเถียงและแชร์ประสบการณ์ในหัวข้อ “Remote work” หรือคำค้นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานระยะไกล (เช่น Work From Home, Work From anywhere) ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากบน TikTok โดยพบว่ามียอดดูคลิปในหัวข้อเหล่านั้น (หลายคลิปรวมๆ กัน) บน TikTok มากกว่า 2,900 พันล้านครั้ง
โดยเนื้อหาในคลิปมีตั้งแต่การให้คำแนะนำในการหางานแบบระยะไกล (How to find remote jobs?) ไปจนถึงคลิปตลกเกี่ยวกับการล้อเลียนชีวิตการทำงานของชาวเจนซี
ที่น่าสนใจคือ ไม่ใช่เฉพาะคนรุ่น Gen Z เท่านั้นที่มองหางานลักษณะดังกล่าว แต่คนรุ่น Gen Y (Millennials) หลายคนก็กำลังชั่งน้ำหนักในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน โดยพวกเขาออกมาร่วมแชร์ความเห็นระหว่างข้อดี-ข้อเสีย ของการทำงานในออฟฟิศ ในฐานะเป็นคนรุ่นที่เคยผ่านการทำงานทั้ง 2 รูปแบบมาแล้ว (ทั้งช่วงก่อนโควิดและช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19)
*หมายเหตุ: Gen Z คือคนที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1997-2012 หรือมีอายุระหว่าง 11-26 ปี (ณ ปี 2023) ส่วนคนรุ่น Millennials คนที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1981-1996 หรือมีอายุระหว่าง 27-42 ปี (ณ ปี 2023); อ้างอิงจาก Beresford Research
ยกตัวอย่างเช่น TikToker วัย 27 ปี คนหนึ่งออกมาแชร์ว่า ตัวเขาทำงานในบริษัท Tech และมองว่าการทำงานในออฟฟิศก็มีข้อดีไม่น้อย มันจะช่วยเพิ่มความมั่นใจ ทักษะทางสังคม และการสื่อสารให้ชาว Gen Z ได้มากขึ้น รวมถึงจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาทักษะงานจากเพื่อนร่วมงาน มีส่วนร่วมในโปรเจกต์สำคัญที่ต้องสื่อสารแบบต่อหน้า สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับหัวหน้างานระดับสูง ส่งผลให้มีศักยภาพในการเลื่อนตำแหน่ง-การขึ้นเงินเดือน ดังนั้นคนที่ไม่อยากเข้าออฟฟิศควรคิดใหม่อีกทีเกี่ยวกับจุดยืนของการทำงานบริษัท
ขณะที่ TikToker ชาวมิลเลนเนียลอีกคนสะท้อนความคิดเห็นว่า มุมมองที่ว่าชาว Gen Z ที่ไม่เข้าออฟฟิศแล้วจะพลาดโอกาสดีๆ ในชีวิตการทำงานนั้น ไม่จริงไปเสียทั้งหมด เพราะวัฒนธรรมองค์กรแบบเข้าออฟฟิศทุกวัน มันอาจเป็นอุปสรรคทางสังคมที่น่าอึดอัดใจ และเป็นบ่อเกิดความสัมพันธ์ที่เลวร้ายระหว่างบุคคลกับเพื่อนร่วมงาน เช่น ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์และการนินทา เขาสรุปด้วยว่า ประโยชน์อย่างเดียวของ “การทำงานในออฟฟิศ” ก็คือ การทำให้คุณรู้สึกซาบซึ้งเมื่อคุณได้ทำงานจากที่บ้าน
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้คนรุ่นเจน X และเจน Y เริ่มเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงานของคนรุ่น Gen Z มากขึ้น โดยวัยทำงานรุ่นใหญ่บางส่วนเชื่อว่า บริษัทต่างๆ ควรปรับสู่การทำงานแบบ Hybrid คือให้มีวันที่เข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ3-4วันต่อสัปดาห์ และมีบางวันที่ให้ทำงานที่บ้านได้ เพื่อให้คนทุกรุ่นในองค์กรสามารถทำงานในวัฒนธรรมผสมผสานแบบเดียวกัน นำไปสู่การทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น