29 พ.ย. 2023 เวลา 05:30

วิกฤตจ้างงาน Gen Z เมื่อเด็กรุ่นใหม่ถูกมอง เป็น “ตัวปัญหา”

เด็กรุ่นใหม่มักได้รับการขนานนามว่าเป็นแสงแห่งความหวัง ความหวังที่จะนำพาความพัฒนาและเจริญก้าวหน้ามาสู่สังคม ความหวังที่จะช่วยยกระดับสังคมให้ก้าวหน้า มุ่งไปสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม ทว่าความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เมื่อเด็กเจเนอเรชันใหม่กำลังเผชิญหน้ากับความสิ้นหวังอย่างร้ายแรง
Generation Z หรือเด็กรุ่นใหม่ยุคนี้เกิดมาพร้อมกับความสะดวกสบายมากมาย ทว่าก็เป็นรุ่นที่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก สงคราม ความรุนแรง หรือการแบ่งแยก ทั้งหมดล้วนเป็นสาเหตุของความสิ้นหวังและปัญหาสุขภาพจิตที่ปะทุขึ้นอย่างกว้างขวาง
1
ความหวังหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่คือการเติบโตและเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อเก็บเงินและหาทางยกระดับคุณภาพชีวิต แต่แล้วความหวังนั้นก็พังทลายด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เด็กจบใหม่และนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนมากหมดโอกาสได้ฝึกงาน และยังต้องเผชิญหน้ากับอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจากเหตุการณ์ลดพนักงานจำนวนมากในยุคโควิด
ช่วงปลายปี 2022 เป็นต้นมา หลายบริษัทมีนโยบายลดการจ้างงาน และมองหาพนักงานที่มีประสบการณ์เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากไม่มีเวลาและทรัพยากรที่เพียงพอในการฝึกสอนพนักงานใหม่ให้ทำงานเป็น จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ ‘รับเด็กจบใหม่ประสบการณ์ 3 ปี’ ขึ้นมาอย่างน่าเศร้า
2
นอกจากจะต้องพบกับปัญหา ‘ไม่มีใครให้โอกาส’ แล้ว ความยากลำบากในตลาดแรงงานที่เด็กรุ่นใหม่ได้รับยังคงไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะต่อให้ได้รับโอกาสเข้าไปทำงานจริงก็ต้องเผชิญหน้ากับการตีตราว่าเป็น “ตัวปัญหา” “ความยากลำบาก” หรือ “อุปสรรค” ในที่ทำงานจากทั้งหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานของตนเอง
1
จากผลสำรวจของ ResumeBuilder.com พบว่า 74% ของระดับผู้จัดการและผู้นำทางธุรกิจรู้สึกว่า Generation Z เป็นเจเนอเรชันที่ทำงานด้วยยากมากกว่าเจเนอเรชันอื่นๆ และอีกกว่าครึ่งหรือ 49% ของกลุ่มเดียวกันกล่าวว่า ทำงานกับเจเนอเรชันนี้ยากทุกครั้งหรือเกือบทุกครั้ง
4
กว่า 20% ของกลุ่มผู้จัดการที่กล่าวว่าทำงานกับ Generation Z ยาก เผยว่า เคยไล่เด็กเจเนอเรชันนี้ออกภายในสัปดาห์แรกหลังจากเริ่มงาน และ 27% ไล่ออกภายในเดือนแรกหลังจากเริ่มงาน โดยกว่า 65% ของผู้จัดการกลุ่มนี้มองว่าการปล่อยเด็กรุ่นใหม่ไปกลายเป็นเรื่องปกติเลยทีเดียว
ทำไมเด็กรุ่นใหม่ถึงถูกมองเป็น “ตัวปัญหา”?
สาเหตุที่ ‘แสงแห่งความหวัง’ แปรเปลี่ยนกลายเป็น ‘ความยากลำบาก’ ในที่ทำงานคือพฤติกรรมและทัศนคติที่แตกต่างกันระหว่างพนักงานเจเนอเรชันเก่าและเด็กรุ่นใหม่ โดยจากผลสำรวจพบว่า 39% ของผู้จัดการที่มองว่า Generation Z ทำงานด้วยลำบากคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ขาดทักษะด้านเทคโนโลยี
เป็นความคิดเห็นที่น่าประหลาดใจ เพราะหากเราพูดถึงเด็กรุ่นใหม่ที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘Digital Native Generation’ หรือรุ่นที่เกิดมาพร้อมเทคโนโลยีดิจิทัลและใช้พวกมันอย่างคุ้นเคยและเป็นธรรมชาติในชีวิตประจำวันแล้ว จะพบว่ามันช่างห่างไกลกับการขาดทักษะทางเทคโนโลยีแบบคนละทิศ
ทว่าเหตุผลข้อนี้กลับเป็นความจริงอย่างไม่น่าเชื่อ เนื่องจากความต้องการในตลาดแรงงานที่กำลังไขว่คว้าหาแรงงานที่มีทักษะเชิงลึกหรือเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ยกตัวอย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) สวนทางกับทักษะทางเทคโนโลยีโดยทั่วไปของเด็กรุ่นใหม่ ที่คุ้นเคยกับการบันทึกชีวิตลงบนแอปพลิเคชันในชีวิตประจำวันอย่าง TikTok หรือ Instagram เป็นเหตุให้ความต้องการของตลาดและทักษะที่เด็กรุ่นใหม่มีไม่บรรจบกัน
3
โดยเด็กรุ่นใหม่กว่า 55% ยอมรับว่าตนเองไม่มีความรู้เกี่ยวกับ AI เลย ยิ่งไปกว่านั้น Generation Z กว่า 37% ยังกล่าวว่าการศึกษาไม่ได้มอบทักษะเทคโนโลยีที่เพียงพอและตรงกับความต้องการของสังคมการทำงาน ขณะที่อีก 44% กล่าวว่าพวกเขาได้เรียนแค่ทักษะพื้นฐานเท่านั้น
2
นอกจากขาดทักษะทางเทคโนโลยีแล้ว ผู้จัดการที่มองว่าทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ลำบากอีกกว่า 37% พบว่าพนักงาน Generation Z ขาดความพยายาม (Effort) แรงจูงใจ (Motivation)  และผลิตภาพ (Productivity) ในการทำงาน
ทว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? แท้จริงแล้วไม่ใช่ว่าเด็กรุ่นใหม่เอื่อยเฉื่อยอย่างที่คิด แต่อาจเป็นเพราะคุณค่าของยุคสมัยแตกต่างกัน ขณะที่บริษัทยุคเดิมๆ ให้ความสำคัญกับการเติบโตในหน้าที่การงานและเงินเดือนที่เพิ่มมากขึ้น Generation Z กลับคาดหวังชีวิตการทำงานที่ยืดหยุ่นกับชีวิตส่วนตัว ความสงบสุข และความสมดุลในชีวิตมากกว่า
ดังนั้นการสร้างแรงจูงใจแบบเก่าๆ อาจไม่สามารถสร้างพลังงานขับเคลื่อนให้กับ Generation Z ได้อย่างที่เคยเป็นกับเจเนอเรชันอื่นๆ เป็นสาเหตุให้เกิดช่องว่างความเข้าใจระหว่างพนักงานเจเนอเรชันเก่ากับเจเนอเรชันใหม่ขึ้นมาได้อย่างไม่ต้องสงสัย
แต่นอกเหนือจากการขาดทักษะทางเทคโนโลยี ความพยายาม แรงจูงใจและผลิตภาพแล้ว ผู้จัดการอีก 36% ให้เหตุผลว่าเด็กรุ่นใหม่มีทักษะการสื่อสารที่ยอดแย่ 35% กล่าวว่าพวกเขารู้สึกขุ่นเคือง (Offended) ได้ง่าย ขณะที่ 24% บอกว่าพวกเขาไม่มีความจริงใจ และอีก 21% กล่าวว่าเด็กรุ่นใหม่ชอบอ้างสิทธิ์ (Entitlement)
1
เนื่องจาก Generation Z โตมากับสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและความขัดแย้ง จึงเป็นรุ่นที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม ประเด็นสังคม และการเคารพความหลากหลาย เป็นเหตุให้พวกเขาคาดหวังที่จะได้รับการเคารพให้เกียรติอย่างเท่าเทียม รวมถึงความเห็นอกเห็นใจในฐานะเพื่อนมนุษย์
ด้วยเหตุนั้นเอง ในสายตาพนักงานเจเนอเรชันเก่า เด็กรุ่นใหม่จึงค่อนข้างอ่อนไหวต่อ ‘ความอยุติธรรม’ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตนเองหรือผู้อื่น และจะไม่ยอมให้ตนเองต้องทนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ ‘ไม่สงบสุข’ เช่นนั้น คุณค่าที่แตกต่างกันนี้ทำให้ Generation Z ดูไม่มีความอดทนและอ่อนไหว
การเติบโตขึ้นมาผ่านหน้าจอในยุคโควิดก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่มีทักษะการสื่อสารซึ่งหน้าค่อนข้างน้อยกว่าเจเนอเรชันอื่น เพราะขาดการฝึกซ้อมการเข้าสังคมและต้องปรับตัวให้เข้ากับการสื่อสารวิถีใหม่ผ่านหน้าจอเพียงเท่านั้น การรับมือกับสถานการณ์ต่อหน้าในออฟฟิศจึงกลายเป็นความยากลำบากที่พวกเขาต้องเผชิญ
ต้องยอมรับว่าแม้ทุกพฤติกรรมจะมีเหตุผลและที่มาที่ไปในฉบับของ Generation Z เอง แต่ก็มีเด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ใช้ข้ออ้างเหล่านี้ในการกระทำพฤติกรรมไม่น่ารัก ผู้ให้สำรวจจำนวนหนึ่งเล่าว่าเด็กเจเนอเรชันใหม่ขาดทักษะด้านเทคโนโลยีจริง แต่ก็ชอบทำเหมือนตนเองรู้ทุกอย่างและจ้ำจี้จ้ำไชผู้อื่นอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเหล่านั้นอาจเป็นทัศนคติและลักษณะนิสัยส่วนบุคคล ไม่สามารถเหมารวมได้ว่าเด็กรุ่นใหม่จะมีพฤติกรรมเช่นนั้นทุกคน และใช่ว่าจะไม่สามารถสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเหล่านั้นได้ นับเป็นหนึ่งในความท้าทายที่มนุษย์เราต้องเจอเมื่อทำงานร่วมกันเป็นเรื่องปกติ
2
แล้ว Gen Z จะเอาชีวิตรอดในสนามนี้อย่างไร?
การปรับตัวเข้าสู่สังคมการทำงานมีแต่เรื่องท้าทาย การเผชิญหน้ากับภาพจำเหล่านี้ก็เป็นหนึ่งในกำแพงที่ต้องก้าวข้ามไปให้ได้เพื่อบรรลุชีวิตอันสงบสุขที่วาดฝันไว้ แล้วในฐานะเด็กรุ่นใหม่ควรจะปรับตัวเข้าหาและเอาชนะอุปสรรคนี้อย่างไรดี?
ประการแรกคือ พัฒนาทักษะการสื่อสาร โดยเฉพาะการสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal skills) ด้วยการทำความเข้าใจค่านิยมของคนแต่ละวัย รวมถึงเจตนาและความหมายที่แฝงอยู่ในคำพูดและการกระทำต่างๆ ของเพื่อนร่วมงานและหัวหน้า วิธีนี้จะช่วยให้เราเข้าใจและรับมือกับการสื่อสารได้หลายรูปแบบมากขึ้น
ประการที่สองคือ รับฟังความคิดเห็นและเรียนรู้จากผู้อื่น เนื่องจาก Generation Z เคยชินกับความสันโดษและการพึ่งพาตนเองมากเกินไปจากสังคมและสภาพแวดล้อมที่บีบบังคับให้เราตะเกียกตะกายด้วยตนเอง ทำให้เด็กรุ่นใหม่ปิดกั้นตนเองและถือทิฐิบางประการไว้อย่างน่าเสียดาย การรับฟังฟีดแบ็กจะช่วยให้เราเข้าใจมุมมองคนอื่นและภาพรวมของสังคมมากขึ้น
ประการที่สามคือ รับมือกับความเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ แม้ว่าเด็กรุ่นใหม่จะต้องการชีวิตสงบสุขมากเพียงใด แต่โลกธุรกิจคือโลกที่เคลื่อนไหวหมุนไปอยู่เสมอ การเดินตามความเร็วของการเปลี่ยนแปลงให้ทันจะเป็นตัวพิสูจน์ว่า Generation Z ไม่ได้เฉื่อยชาอย่างที่คิด
นอกจากเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องปรับตัวเข้าหาสังคมบ้างแล้ว บริษัทเองก็ควรปรับตัวเข้าหาค่านิยมสมัยใหม่เช่นเดียวกัน เพราะภายในปี 2025 กว่า 27% ของแรงงานจะถือครองด้วยเด็ก Generation Z ทั้งนั้น บริษัทคงไม่สามารถหนีการเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมและพฤติกรรมพนักงานพ้น
ดังนั้นการเรียนรู้และปรับตัวแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการลดอคติจากการเหมารวมว่าเด็กรุ่นนี้ต้องเป็นอย่างนี้ แย่อย่างนั้น แล้วหันมาให้ความสนใจกับการปรับเปลี่ยนสไตล์และสภาพแวดล้อมการทำงานให้รองรับการอยู่ร่วมกันของคนหลากหลายเจเนอเรชันมากขึ้น การทำเช่นนี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้บริษัทก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงและมุ่งไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง
ที่มา
- Unraveling The Gen Z Enigma In The Workplace : Rhett Power, Forbes - https://bit.ly/3G11LHI
- Gen Z has a tech skills gap at work. Here’s why : Shalene Gupta, Fast Company - https://bit.ly/3MIk1JG
1
- Is Our Digital Future At Risk Because Of The Gen Z Skills Gap? : Bernard Marr, Forbes - https://bit.ly/3MKT7ku
- Gen-Z Is Labeled As ‘Difficult’ In The Workplace, But There’s More To The Story : Jack Kelly, Forbes - https://bit.ly/40BckuD
- 3 in 4 managers find it difficult to work with GenZ : Resume Builder - https://bit.ly/40Cj4bE
#worklife
#generation
#generationgap
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา