Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
28 พ.ย. 2023 เวลา 06:53 • ประวัติศาสตร์
ความรุ่งโรจน์และจุดจบของ “มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette)” ราชินีองค์สุดท้ายแห่งฝรั่งเศส
ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนซีรีส์เรื่องราวของ “มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette)” ราชินีองค์สุดท้ายของฝรั่งเศสมาแล้ว แต่ผมคิดว่าเรื่องราวของพระองค์นั้นน่าสนใจ และเป็นบทเรียนสำคัญในประวัติศาสตร์ที่สะท้อนอะไรหลายๆ อย่างได้ดี
ดังนั้นสำหรับบทความนี้ ผมจะเขียนถึงเรื่องราวของพระองค์อีกครั้ง รวมทั้งอาจจะกระตุ้นให้เกิดคำถามที่น่าคิดก็คือ
“พระองค์นั้นเป็นราชินีที่ไม่ได้เรื่องดังเช่นที่กลุ่มปฏิวัติประณาม หรือเป็นแพะรับบาปกันแน่?”
เราลองมาดูเรื่องราวจุดเริ่มต้นและจุดจบของพระองค์ซึ่งจบลงไปพร้อมกับระบอบกษัตริย์ในฝรั่งเศสกันครับ
มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette)
พระนางมารี อ็องตัวแน็ต หรือพระนามเดิมคือ “อาร์ชดัชเชสมาเรีย แอนโทเนียแห่งออสเตรีย (Archduchess Maria Antonia of Austria)”พระราชสมภพในราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค (Hapsburg) เมื่อปีค.ศ.1755 (พ.ศ.2298) โดยราชวงศ์ฮาพส์บวร์คที่พระองค์เป็นสมาชิกนั้น เป็นราชวงศ์ที่ปกครองออสเตรียและสเปน และเป็นศัตรูกลุ่มสำคัญของ “ราชวงศ์บูร์บง (House of Bourbon)” ซึ่งปกครองฝรั่งเศส
ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เข้าหญิงมาเรีย แอนโทเนียได้ถูกหมั้นหมายกับ “เจ้าชายหลุยส์ ออกัสต์ (Louis-Auguste)” หรือในภายหลังคือ “พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส (LouisXVI)” ซึ่งผู้ที่จัดการเรื่องนี้ก็คือ “จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา (Maria Theresa)” พระราชชนนีในเจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนีย
จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซาทรงตั้งพระทัยจะให้การอภิเษกสมรสนี้เป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและออสเตรีย หลังจากที่ทั้งสองดินแดนนี้ไม่ถูกกันมานาน อีกทั้งการจับมือกับฝรั่งเศสยังเป็นการป้องกันการขยายอำนาจของปรัสเซียและสหราชอาณาจักรอีกด้วย
จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา (Maria Theresa)
จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซานั้นทรงเป็นผู้ปกครองที่เข้มงวด ทั้งต่อผู้คนและเหล่าพระราชบุตร 16 องค์ แม้แต่เมื่อเจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนียขึ้นเป็นราชินีแห่งฝรั่งเศส พระองค์ก็ยังทรงพูดแรงๆ โดยพระองค์เคยทรงเขียนจดหมายถึงเจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนีย หรือในเวลานั้นคือพระนางมารี อ็องตัวแน็ตแล้ว โดยพระองค์ทรงเขียนว่า
“ความสวยของลูก พูดตรงๆ ว่าก็ไม่ได้สวยมาก ความสามารถและความเฉลียวฉลาดก็ไม่ได้ต่างกัน ลูกรู้อยู่แก่ใจว่าลูกไม่มีทั้งสองสิ่งนี้เลย”
เจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนียได้ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายหลุยส์ ออกัสต์ในวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ.1770 (พ.ศ.2313) ขณะมีพระชนมายุ 14 พรรษา โดยงานอภิเษกสมรสถูกจัดขึ้นที่พระราชวังแวร์ซายส์ (Palace of Versailles) และพระองค์ก็ทรงมีพระนามเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette)”
อีกสี่ปีต่อมา เจ้าชายหลุยส์ ออกัสต์ ผู้เป็นพระราชสวามี ได้ขึ้นเป็น “พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส (Louis XVI)” ด้วยพระชนมายุ 19 พรรษา ส่วนพระนางมารี อ็องตัวแน็ตนั้นมีพระชนมายุเพียง 18 พรรษาเท่านั้นและได้ขึ้นเป็นราชินีแห่งฝรั่งเศส
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส (Louis XVI)
แต่ชีวิตคู่ของทั้งสองพระองค์นี้ก็ไม่ได้ราบรื่นหวานแหววเท่าไรนัก มีข่าวลือหนาหูว่าคืนเข้าหอคืนแรกของทั้งสองพระองค์นั้นคือหายนะ และก็ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าทั้งสองพระองค์จะสามารถหลับนอนด้วยกันอย่างสมบูรณ์เหมือนคู่สามีภรรยาทั่วๆ ไป
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงมีภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ (Phimosis) ทำให้ส่งผลต่อชีวิตรักบนเตียง และทำให้พระนางมารี อ็องตัวแน็ตหันไปหาความบันเทิงอย่างอื่นเพื่อคลายความเหงา นั่นคือการออกปาร์ตี้ เล่นสนุกต่างๆ และยังมีข่าวลือว่าพระองค์ทรงมีสัมพันธ์กับชายอื่นอีกด้วย
“จักรพรรดิโจเซฟที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Joseph II, Holy Roman Emperor)” พระเชษฐาของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ทรงได้รับคำสั่งจากพระราชชนนีให้เสด็จมาเยี่ยมพระนางมารี อ็องตัวแน็ตและพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เพื่อให้ความสัมพันธ์ของคู่สามีภรรยานี้ดีขึ้น โดยจักรพรรดิโจเซฟที่ 2 เสด็จมาโดยใช้พระนามปลอมว่า “เคานท์แห่งฟอลเคนสไตน์ (Count of Falkenstein)” เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากระหว่างทาง
1
จักรพรรดิโจเซฟที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Joseph II, Holy Roman Emperor)
ก่อนจะเสด็จกลับออสเตรีย จักรพรรดิโจเซฟที่ 2 ได้พระราชทานคำแนะนำแก่พระนางมารี อ็องตัวแน็ต โดยตรัสสอนว่าพระนางมารี อ็องตัวแน็ตต้องทรงใส่พระทัยในพระราชสวามีมากกว่านี้ ส่วนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ควรจะเข้ารับการผ่าตัดเพื่อที่พระวรกายจะได้กลับเป็นปกติและใช้ชีวิตคู่กับพระขนิษฐาของพระองค์ได้อย่างปกติสุข
1
ดูเหมือนคำแนะนำของจักรพรรดิโจเซฟที่ 2 จะได้ผล ปีต่อมา พระนางมารี อ็องตัวแน็ตทรงให้พระประสูติกาลพระราชธิดาองค์แรก ตามมาด้วยพระราชบุตรอีกสี่พระองค์ แต่ที่รอดชีวิตจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่นั้นมีเพียงพระองค์เดียว
แต่ถึงอย่างนั้น พระนางมารี อ็องตัวแน็ตและพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็เหมือนจะเป็นเพื่อนกันมากกว่าคู่สามีภรรยา โดยพระนางมารี อ็องตัวแน็ตทรงโปรดที่จะใช้เวลาอยู่กับเหล่าคนสนิทมากกว่าพระราชสวามี
ที่เป็นเช่นนั้นอาจจะเพราะว่าทั้งสองพระองค์นั้นทรงมีพระอุปนิสัยที่แตกต่างกันด้วย พระนางมารี อ็องตัวแน็ตนั้นทรงมีพระอุปนิสัยร่าเริงสนุกสนาน ส่วนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นั้นทรงมีพระอุปนิสัยจริงจังและสุขุม
พระนางมารี อ็องตัวแน็ตทรงโปรดออกงานต่างๆ มักจะพระราชทานจัดเลี้ยงจนดึกดื่นเป็นประจำ และยังทรงเล่นการพนันเพื่อความสนุกสนาน ผลาญเงินราชวงศ์ไปเป็นจำนวนมาก
ส่วนทางด้านพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระองค์ทรงรอบรู้เรื่องวิทยาศาสตร์และภาษาต่างประเทศ และทรงโปรดที่จะใช้เวลาทอดพระเนตรหนังสืออยู่เงียบๆ พระองค์เดียว
ความต่างกันทางด้านพระอุปนิสัยนี้ทำให้ชีวิตครอบครัวระหว่างสองพระองค์นั้นไม่ราบรื่นนัก โดยพระนางมารี อ็องตัวแน็ตได้ตรัสกับผู้ใกล้ชิดหลายคนว่าพระองค์ทรงเบื่อหน่ายจนแทบบ้า
พระนางมารี อ็องตัวแน็ตนั้นทรงมีรสนิยมที่เลิศหรู และถึงแม้เงินในท้องพระคลังจะร่อยหรอ ค่าครองชีพของผู้คนมีแต่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่นั่นก็ไม่อาจจะหยุดยั้งการใช้จ่ายเงินอย่างบ้าคลั่งขององค์ราชินี
พระนางมารี อ็องตัวแน็ตทรงใช้จ่ายเงินไปกับฉลองพระองค์ที่หรูหรา ฉลองพระบาท วิกพระเกศา และเครื่องเพชรอีกนับไม่ถ้วน
นอกจากสิ่งของเหล่านี้ พระองค์ยังทรงใช้จ่ายเงินไปกับอสังหาริมทรัพย์อีกมากมาย ทรงตกแต่งอาคารและตึกต่างๆ ที่เป็นของพระองค์หรือพระราชสวามีโดยใช้เงินจ่ายอย่างไม่อั้น และยังตกแต่งปรับปรุงพระราชวังแวร์ซายส์ขนานใหญ่
นอกจากพระอุปนิสัยการใช้จ่ายเงินมือเติบแล้วนั้น พระนางมารี อ็องตัวแน็ตยังทรงต่อต้านประเพณีในราชสำนักฝรั่งเศสที่พระองค์ทรงมองว่าล้าหลัง มักจะมีความดื้อดึง ไม่โอนอ่อนผ่อนตามง่ายๆ
1
แต่นอกเหนือจากพระอุปนิสัยเหล่านี้ พระองค์ก็คือเด็กสาวคนหนึ่ง และผู้คนรอบข้างพระองค์มักจะกล่าวว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีจิตใจดี พระองค์เคยพระราชทานเนื้อชั้นดีให้ชาวนาที่ยากจน และยังทรงอุปการะเด็กอีกหลายคน
แต่ดูเหมือนข้อดีเพียงเท่านี้จะไม่สามารถลบล้างข้อเสียที่หลายคนมองเห็น พระอุปนิสัยไม่ดีต่างๆ ของพระองค์ถูกซุบซิบนินทาไปทั่วอาณาจักร ทำให้จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซาผู้เป็นพระราชชนนี ต้องทรงพระอักษรจดหมายมาเตือนพระราชธิดาในปีค.ศ.1775 (พ.ศ.2318) ความว่า
“ลูกใช้ชีวิตสำมะเลเทเมา แม่หวังว่าแม่จะไม่อยู่นานพอที่จะเห็นหายนะที่กำลังจะตามมาแน่ๆ”
ดูเหมือนถ้อยคำของจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซาจะเป็นจริงในเวลาต่อมา
อันที่จริง ก่อนที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จะขึ้นครองราชย์ ฝรั่งเศสก็ประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาก่อนแล้ว และถึงแม้การใช้จ่ายอย่างบ้าคลั่งของพระนางมารี อ็องตัวแน็ตจะไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้เศรษฐกิจฝรั่งเศสติดลบ แต่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้คนจำนวนมากมองราชวงศ์ในแง่ลบและเริ่มจะต่อต้านอย่างเปิดเผย
1
พระนางมารึ อ็องตัวแน็ตยังไม่ประสีประสาทางการเมือง และมักจะถูกควบคุมโดยพระราชชนนีและพระเชษฐา ทำให้บรรยากาศภายในราชสำนักนั้นยิ่งไม่ดีหนักเข้าไปอีก
ประชาชนชาวฝรั่งเศสก็ไม่ได้วางใจหรือชื่นชอบพระองค์ตั้งแต่แรก พระองค์เป็นชาวต่างชาติ เป็นเจ้าหญิงออสเตรีย ซึ่งออสเตรียกับฝรั่งเศสก็ไม่ถูกกันมานานแล้ว และตอนนี้ทุกคนก็ยิ่งมีเหตุผลที่จะยิ่งไม่ชอบพระองค์มากกว่าเดิม
บุคคลสำคัญในราชสำนักหลายคนก็ไม่ได้ชอบหรือวางใจในพระนางมารี อ็องตัวแน็ต มักจะพูดลับหลังพระองค์ในทางเสียหาย บางคนก็ถึงกับจัดประชุมลับๆ เพื่อร่วมกันก่นด่าพระนางมารี อ็องตัวแน็ต
พระนางมารี อ็องตัวแน็ตก็ทรงทราบดีว่ามีบุคคลหลายคนไม่ชอบพระองค์ พระองค์จึงมักจะทรงใช้เวลาอยู่กับเหล่าคนสนิทอย่างเงียบๆ และด้วยพระอุปนิสัยของพระองค์ ประกอบกับหลายๆ เหตุผลที่กล่าวมา ทำให้พระองค์ตกเป็นเป้าของกลุ่มปฏิวัติได้โดยง่าย
สำหรับเรื่องราวที่โด่งดังที่มักจะถูกนำมาพูดถึงบ่อยๆ ก็คือเรื่องราวที่ว่าเมื่อพระองค์ทรงทราบว่าประชาชนนั้นยากจนเกินกว่าจะซื้อขนมปังได้ พระองค์จึงทรงตรัสประโยคที่โด่งดังอย่าง
“ก็ให้พวกเขากินเค้กสิ”
แต่จากการตรวจสอบนั้น ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าพระองค์ทรงตรัสประโยคนี้เลย และเป็นไปได้ว่าประโยคนี้เป็นประโยคที่คนอื่นพูด และพูดไว้นานแล้วก่อนสมัยพระนางมารี อ็องตัวแน็ตซะอีก หากแต่ที่กล่าวว่าพระองค์เป็นผู้ตรัส ก็เนื่องจากเป็นการใส่ร้ายให้ประชาชนเกลียดชังพระองค์มากกว่าเดิมและจุดประกายให้คณะปฏิวัติโค่นล้มพระองค์
อันที่จริง ความจริงอาจจะเป็นตรงกันข้าม โดยในช่วงเวลาที่ฝรั่งเศสกำลังขาดแคลนขนมปัง พระนางมารี อ็องตัวแน็ตได้ทรงพระอักษรจดหมายถึงพระราชชนนี ความว่า
“เมื่อเห็นผู้คนที่ดูแลเราอย่างดีถึงแม้ตนจะลำบาก ทำให้เราเป็นหนี้บุญคุณและต้องทำงานหนักเพื่อความสุขของพวกเขา”
ภายในปีค.ศ.1786 (พ.ศ.2329) ความนิยมในองค์พระนางมารี อ็องตัวแน็ตนั้นตกต่ำอย่างมาก เสียงก่นด่าพระองค์นั้นดังก้องไปทั่วในหมู่ผู้คนทั้งในและนอกราชสำนัก ซึ่งหลายเรื่องก็ไม่มีหลักฐานว่าพระองค์ทรงเป็นเช่นนั้นจริง
ข่าวซุบซิบนินทาที่กระทบกับชื่อเสียงของพระนางมารี อ็องตัวแน็ตมากที่สุด ก็คือข่าวลือที่ว่าพระราชบุตรในพระนางมารี อ็องตัวแน็ตนั้นไม่ใช่พระราชบุตรในพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แต่เป็นบุตรที่เกิดจากชายอื่น โดยเชื่อกันว่าพระราชบุตรอย่างน้อยสองพระองค์ไม่ใช่พระราชบุตรในพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และผู้ที่เป็นบิดาที่แท้จริงก็คือหนึ่งในผู้ที่ใกล้ชิดพระองค์อย่าง “ฮันส์แอ็กเซิลฟอนเฟอร์เซ็น (Hans Axel von Fersen)” ท่านเคานท์ชาวสวีเดน
ฮันส์แอ็กเซิลฟอนเฟอร์เซ็น (Hans Axel von Fersen)
แม้จะไม่เป็นที่แน่ชัดว่าพระนางมารี อ็องตัวแน็ตทรงมีบุตรกับท่านเคานท์จริงหรือไม่ แต่ก็มีหลักฐานเป็นจดหมายรักที่พระนางมารี อ็องตัวแน็ตทรงเขียนถึงท่านเคานท์ และที่ท่านเคานท์เขียนถวาย โดยท่านเคานท์ได้เขียนว่า “กระหม่อมรักพระองค์และจะรักพระองค์อย่างบ้าคลั่งไปชั่วชีวิต” ในขณะที่พระนางมารี อ็องตัวแน็ตก็ทรงเขียนว่าท่านเคานท์นั้นเป็นคนที่พระองค์ทรงรักที่สุด และหัวใจของพระองค์เป็นของท่านเคานท์
เหล่านี้ก็แสดงให้เห็นว่าทั้งคู่นั้นน่าจะมีสัมพันธ์ที่ไม่ธรรมดาจริงๆ
กลับมาที่สถานการณ์ตอนนั้น ความไม่พอใจของประชาชนนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากปัญหาความอดอยากและเงินในท้องพระคลังที่ถูกผลาญจนแทบไม่เหลือ ทำให้ประชาชนเรียกร้องให้ราชวงศ์ฝรั่งเศสทำอะไรซักอย่าง
14 กรกฎาคม ค.ศ.1789 (พ.ศ.2332) คนงานและชาวนาชาวไร่จำนวน 900 คนได้บุกเข้าไปยังเรือนจำบัสตีย์ (Bastille) เพื่อยึดอาวุธต่างๆ และพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ไม่ยอมส่งกำลังไปปราบปรามกลุ่มผู้ก่อจลาจล ทำให้การปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) เริ่มต้นขึ้นในที่สุด
การบุกเรือนจำบัสตีย์
ตุลาคม ค.ศ.1789 (พ.ศ.2332) ม๊อบกลุ่มใหม่ซึ่งประกอบด้วยคนนับพัน และส่วนใหญ่เป็นสตรี ได้เดินเท้าเป็นระยะทางเกือบ 20 กิโลเมตรจากศาลากลางเมืองปารีสไปยังพระราชวังแวร์ซายส์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำองค์พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และครอบครัวไปยังปารีสและเรียกร้องให้พระราชวงศ์รับผิดชอบในความหายนะของชาวฝรั่งเศส
เมื่อฝูงชนมาถึงพระราชวังแวร์ซายส์ ปรากฎว่าจำนวนผู้เข้าชุมนุมนั้นก็พุ่งไปสูงถึง 10,000 คน และเมื่อมีคนตะโกนเรียกให้พระนางมารี อ็องตัวแน็ตออกมาพบฝูงชน พระนางมารี อ็องตัวแน็ตก็เสด็จออกมายังระเบียง และก้มพระเศียรคำนับฝูงชน
ปรากฎว่าความอ่อนน้อมของพระนางมารี อ็องตัวแน็ตได้ผลในระยะเวลาสั้นๆ ฝูงชนเริ่มสงบลงได้ ได้เปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้อง
แต่ถึงสถานการณ์เหมือนจะดีขึ้น แต่พระนางมารี อ็องตัวแน็ตก็ทรงทราบดีว่าสถานการณ์คงจะดีได้อีกไม่นานเป็นแน่
เมื่อเสด็จกลับเข้ามาในพระราชวัง พระนางมารี อ็องตัวแน็ตก็ตรัสว่า
“พวกเขาจะบังคับให้พวกเราไปปารีส พระเจ้าอยู่หัวและฉัน นำหน้าด้วยหัวขององครักษ์ของเราที่เสียบอยู่บนหลาว”
ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งได้ถือหลาวเสียบหัวองครักษ์หลวง ก็ได้เข้าควบคุมพระราชวงศ์และบังคับให้เสด็จไปยังพระราชวังตุยเลอรี (Tuileries Palace) ที่ปารีส
ในช่วงที่ถูกควบคุมองค์อยู่ที่พระราชวังตุยเลอรี พระนางมารี อ็องตัวแน็ตก็ได้พบและพูดคุยกับรัฐมนตรีและคณะทูต และได้พยายามที่จะโน้มน้าวให้ชาติอื่นในยุโรปบุกฝรั่งเศสเพื่อปราบปรามกลุ่มกบฏ
เพียงเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส สมัชชาแห่งชาติก็ได้ยกเลิกบัญญัติสิทธิของขุนนางและพระราชวงศ์ และจัดตั้งบัญญัติสิทธิของประชาชนและเสรีภาพสื่อ
เมื่อเห็นว่าความพยายามทุกอย่างนั้นล้วนล้มเหลวและไม่เป็นผล พระราชวงศ์ฝรั่งเศสก็ได้พยายามเฮือกสุดท้าย นั่นคือการหนีออกจากปารีส
ด้วยความช่วยเหลือของท่านเคานท์ซึ่งเป็นชู้รักของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อ็องตัวแน็ตและเหล่าพระราชบุตรก็ได้ขึ้นประทับบนรถม้าพระที่นั่งไปยังเมืองมงต์เมอดี (Montmédy) ซึ่งอยู่ใกล้กับเนเธอร์แลนด์
แต่รถม้าพระที่นั่งก็ถูกจับได้ระหว่างทาง และเหล่าทหารใต้การบังคับบัญชาของสมัชชาแห่งชาติก็ได้ส่งพระราชวงศ์กลับมาคุมขังยังปารีส
ปีต่อมา พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยังคงเป็นกษัตริย์อยู่ต่อไป เพื่อที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งแบ่งอำนาจระหว่างกษัตริย์กับสภานิติบัญญัติจะได้จัดตั้งสำเร็จ
พระนางมารี อ็องตัวแน็ตก็ไม่ทรงยอมแพ้ พระองค์ทรงพระอักษรจดหมายไปถึงเหล่าอนุรักษ์นิยมในสมัชชาแห่งชาติ ขอให้สนับสนุนพระราชวงศ์ และกล่าวประณามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ในที่สุด 21 กันยายน ค.ศ.1792 (พ.ศ.2335) “สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 (French First Republic)” ก็ได้รับการสถาปนา และในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ.1793 (พ.ศ.2336) พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ถูกประหารด้วยกิโยติน หลังจากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานกบฏ
การประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16
การสวรรคตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นับเป็นจุดสิ้นสุดระบอบราชาธิปไตยในฝรั่งเศส
ทางด้านพระนางมารี อ็องตัวแน็ตก็ต้องประสบชะตากรรมเดียวกันกับพระราชสวามี โดยพระองค์ก็ถูกตัดสินให้ประหารด้วยกิโยตินเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ.1793 (พ.ศ.2336)
การประหารพระนางมารี อ็องตัวแน็ต
และนี่ก็คือเรื่องราวจุดสูงสุดและจุดจบของพระนางมารี อ็องตัวแน็ตและพระราชวงศ์ฝรั่งเศส ซึ่งก็เป็นบทเรียนสำคัญในประวัติศาสตร์โลกและให้แง่คิดในด้านต่างๆ มากมาย
References:
https://allthatsinteresting.com/marie-antoinette
https://www.britannica.com/biography/Marie-Antoinette-queen-of-France
https://en.chateauversailles.fr/discover/history/great-characters/marie-antoinette
https://www.smithsonianmag.com/history/marie-antoinette-134629573/
ประวัติศาสตร์
9 บันทึก
21
2
9
21
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย