30 พ.ย. 2023 เวลา 04:08 • ปรัชญา

เทสดี...เทสคืออะไร

รสนิยมหรือเทส (Taste) คืออะไร ใช่เสื้อผ้าที่เราใส่ สีที่เราชอบ เพลงที่เราฟัง หนังสือที่เราอ่านมั้ย หรือมันมีอะไรมากกว่านั้น แล้วใครเป็นผู้นิยามคำคำนี้ แล้วเทสนั้นสำคัญอย่างไร มันช่วยให้เราดูดีขึ้นในสายตาคนอื่นรึเปล่า เราจะมาให้คำตอบกับทุกคนกันในบทความนี้ค่ะ
นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสบูดิเยอร์ (Bourdieu) ได้กล่าวถึง “Taste”หรือรสนิยมมีความหมายว่า คือการที่ปฏิเสธรสนิยมที่ไม่ดีกับตัวเองออกไป และรสนิยมเราไม่สามารถเป็นอิสระได้ เหตุผลก็เพราะว่าเขาเชื่อว่ามนุษย์มีรูปแบบทางสังคมที่ฝังอยู่ในสิ่งที่เขาเรียกว่า Habitus ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างมนุษย์กับสังคม เช่น ทักษะ แนวโน้มต่างๆที่เรามีจากประสบการณ์ในชีวิต ถูกล่อหลอมมาจากผู้คนรอบตัว สังคม ค่านิยมต่างๆ ดังนั้นเราเลยไม่มีอิสระที่จะชอบสิ่งต่างๆเลย
เพราะมันถูกกำหนดมาจาก Habitus นั่นเอง เราจึงไม่มีอิสระในรสนิยมของตัวเองอย่างแท้จริง แต่รู้สึกราวกับว่าเรามีอิสระในการเลือกสรรมัน
นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสบูดิเยอร์ (Bourdieu)
การมีรสนิยมแบบนึงนั้นทำให้เราเข้าไปในพื้นที่ของสังคมนั้นได้ด้วย สังเกตุได้จากหากเรามีรสนิยมการฟังเพลงเกาหลีมาเพราะคุณแม่เปิดให้ฟังตอนเด็กๆ เมื่อเราโตขึ้นเปลี่ยนผ่านสังคมจากมัธยมมาศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ส่วนใหญ่เราจึงเลือกคบเพื่อนที่มีรสนิยมฟังเพลงเหมือนหรือคล้ายกับเราให้ได้มากที่สุดนั่นเอง นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ สิ่งนี้เอง Bourdieu ได้บอกว่านี่คือการแสดงออกถึงความมั่งคั่งก็คือเราสามารถมีทุนทางวัฒนธรรมหรือทุนเชิงสัญลักษณ์(Cultural capitol / Symbolic capitol) ร่วมกับผู้อื่นได้
ซึ่งสิ่งนี้ก็คือการชื่นชอบการฟังพลงเกาหลีเหมือนกันนั่นเอง อีกประเด็นหนึ่งคือการแต่งตัวนั้นก็นำมาสู่ความไม่เท่าเทียมกันได้ด้วย เหตุเพราะสังคมมนุษย์มีความหลากหลาย และหากเรามีทุนทางวัฒนธรรมที่ต่างจากคนอื่นเมื่อหลักของทุนนึงถูกให้ความสำคัญ ถูกให้ค่ากว่าอีกทุนนึง ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนฐานะทางสังคมได้เช่นเดียวกัน เช่น ผู้ที่ชอบแต่งตัวแบรนด์ Gucci และมีความสามารถในการซื้อสูงกว่า ก็จะถูกเชิญให้เข้าร่วมงานเดินแฟชั่นโชว์ของ Gucci เมื่อมีคอลเล็คชั่นใหม่ออกมาพวกเขาก็ดีใจ ตื่นเต้น
ต่างจากพวกที่ชื่นชอบแต่ไม่ได้มีกำลังซื้อมากขนาดนั้นก็ไม่ได้รับเชิญให้ไปเข้าร่วมงาน ก็แอบเสียใจอยู่ลึกๆแน่นอน ไม่มีทางที่ทางแบรนด์ดังกล่าวจะเชิญชวนทุกคนเข้างานได้ มันมีราคาที่ต้องจ่าย สรุปแล้วความไม่เทียมขึ้นกับปัจจัยด้านทุนทรัพย์มากที่สุด ยิ่งทุนต่างกันมากระยะห่างระหว่างชนชั้นก็จะยิ่งห่างตามไปด้วย
ในโซเชียลมีการพูดถึงคำว่า "พ่อหนุ่มเทสดี" กันอย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเเเดียอย่าง Tiktok หมู่วัยรุ่น ซึ่งทำให้เกิดเป็นเทรนด์การแต่งกายชุดสีดำ แมสสีดำ ดัดฟัน หรือฟังเพลง Die for you ของศิลปิน The Weekend ตามๆกันพักหนึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา มองมุมหนึ่งอาจเป็นการเสียดสีสังคมวัยรุ่น หรือแซวๆ หยอกล้อกันว่าเธอเทสดีนะเนี่ย แต่อีกมุมหนึ่งจริงๆแล้วเทสดีมันไม่จำเป็นต้องเป็นแพทเทิร์นเช่นนั้นเสมอไป
สังคมแวดล้อม ผู้คนที่เราคบเลยสำคัญมากๆต่อ Habitus ของเรา เมื่อเราเลือกที่จะอยู่ในสังคมแบบใด ให้ค่ากับสิ่งไหน เราก็จะถูกหล่อหลอม และกลมกลืนไปกับสังคมนั้น ถ้าสังคมนั้นแต่งตัวดี มีภูมิฐาน เราก็จะไม่แต่งตัวเฉิ่มเพราะมันแปลกอยู่คนเดียวและหันมาเปลี่ยนแปลงการแต่งกายของตัวเอง ถ้าเราอยากเป็นคนที่แต่งตัวดี “
เราเปลี่ยนคนรอบตัวเราไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนคนรอบตัวเราได้” เปลี่ยนคนรอบตัวอย่างแรกหมายถึงเปลี่ยนให้เขาเป็นในแบบที่เราอยากให้เขาเป็น ส่วนเปลี่ยนอย่างหลังหมายถึงเราเปลี่ยนกลุ่มคนที่เราแวดล้อมได้ โดยการเปลี่ยนสังคมนั่นเอง
ประเด็นนี้ผู้เขียนมองว่าภาพลักษณ์ภายนอก หรือรสนิยมการฟังเพลงก็ไม่ต่างกัน หากเราจะทำความรู้จักคนคนหนึ่ง เขาอาจอยากเข้าหาเราจากความชอบด้านการแต่งกายที่คล้ายกันก็ได้ หรือเข้าหาจากรสนิยมการฟังเพลงที่ตรงกันผู้เขียนมองว่าก็เป็นไปได้เช่นกัน
แต่การแต่งกายเป็นความประทับใจแรก ที่เราสามารถสร้างขึ้นได้อย่างง่ายที่สุดอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะหากเราแต่งตัวดูดีแต่งตัวเป็น ผู้คนก็พลอยอยากเข้าหามากกว่าคนที่แต่งตัวไม่เป็น หรือเรียกได้ว่าเทสไม่ดีนั่นเอง อีกทั้ง Bourdieu ยังนิยามคำว่า เทสดี (Good Taste) ไว้อีกว่า ต้องมีส่วนทำให้เรามีลักษณะและนิสัยที่ดี ทำให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและทำเงินได้ในอนาคตด้วย
ดังนั้นหากเราฝังตัวในสภาพแวดล้อมสังคมใดก็ตาม เราจะค่อยซึมซับและคุ้นเคยกับเทสของสังคมนั้นและอยู่ในสังคมนั้นได้อย่างสำเร็จในจุดที่เราสามารถนำเทสการแต่งกายไปต่อยอดในหน้าที่การงาน พัฒนาบุคคลิกภาพภายในและภายนอก แต่งตัวและปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับกาลเทศะ รวมทั้งสุดท้ายทำให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนเห็นด้วยกับ Bourdieu อย่างมาก
แล้วทุกคนมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้างคะ ถ้าจะบอกว่าตัวเราเทสดี หรือมองว่าคนคนนี้เทสดีเหมือนกัน นิยามคำว่าเทสดีสำหรับเราเองคืออะไร เห็นด้วยกับ Bourdieu หรือไม่มาพูดคุยกันในคอมเมนต์ได้ค่ะ
อ้างอิง
หนังสือ Fashion: A Philosophy Lars Svendsen Translated by John Irons
โฆษณา