1 ธ.ค. 2023 เวลา 09:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

พูดถึง Parasite กับ Curse of the starving class

ความจนมันเกิดมาจากอะไร ? คำถามนี้คงตอบได้ยาก ความจนไม่มีคำตอบที่แน่ชัด โดยเฉพาะเมื่อต้นตอของปัญหานั่นอยู่ลึกลงไปในระบบโครงสร้างทางสังคมมานานหลายปี ถึงแม้เราจะไม่สามารถชี้ตัวคนผิด แต่เราเห็นได้ว่าหลายคนในสังคมกำลังนำปัญหานี้มาขยายให้สาธารณชนได้เห็นและวิเคราะห์กันในหลากมุมมอง อย่างเช่นในปี 2019 ภาพยนต์อย่าง Parasite ได้ตีแพร่ปัญหานี้ออกไปและได้ทลายกำแพงด้านภาษาจนครองใจผู้ชมทั่วโลก
และหากเรามองย้อนกลับไปในช่วงยยุค 70s ชีวิตของครอบครัวคนจนก็ได้นำเสนอขึ้นเช่นกันผ่านบทละครเรื่อง Curse of the starving class ของ Sam Shepard ในจุดนี้เราจะเห็นได้ว่ายุคสมัยที่เปลี่ยนไป เรื่องราวและปัญหาความยากจนยังคงเป็นที่ถกเถียงกันเสมอมารวมถึงเป็นสิ่งทีีไม่มีวันจบสิ้นไปเสียที
ไม่มีใครอยากจนและลำบาก ครอบครัวคนจนในเรื่อง Parasite พยายามอย่างมากเพื่อหลุดพ้นจากฐานะความยากจน ถึงแม้ว่าวิธีการอาจจะไม่สอดคล้องกับความถูกต้องสักเท่าไร แต่แล้วมันกลับแสดงให้เห็นว่าเมื่อไรก็ตามที่มนุษย์เห็นหนทางพ้นจากความทุกข์และมันเป็นตัวเลือกเดียวที่เขาจะทำได้ เขาก็จะทำ แต่แล้วมันคือตัวเลือกสุดท้ายที่มีจริง ๆ ไหมนั่น เราก็เห็นได้ในท้ายเรื่อง Parasite แล้วว่าพวกเขายังสามารถเพิ่มพูนฐานะของตัวเองผ่านความพยายามและความอุตสาหะ
แต่ถามจริงเถอะ คนเราต้องสละหลายสิ่งอย่างในชีวิตแถมต้องใช้เวลาเป็นสิบปีเพียงเพื่อได้ออกจากบ้านเน่า ๆ งั้นเหรอ? ทางฝั่งครอบครัวคนรวยก็ไม่มีวันยอมลงไปคลุกคลีกับคนจนเช่นกัน ถึงแม้จะไม่ได้รับรู้ถึงความยากลำบากของคนจนแต่พวกเขาก็ไม่ได้คิดจะใส่ใจรับรู้ในเรื่องนั่น
ถ้าหากคนจนมันมีตังขึ้นมาใครกันจะมาทำงานให้คนรวย ซึ่งความจนที่ทุกคนหลีกเลี่ยงได้ถูกพูดหลายครั้งผ่านตัวละครเอลล่าในบทละคร Curse of the starving class ที่หล่อนพยายามจะบอกตัวเองเสมอว่าครอบครัวตนไม่ได้จนขนาดนั้น พวกเขายังมีกินมีใช้ได้อยู่ ทั้ง ๆ ที่ตนเองหิวมากจนต้องขโมยไก่ที่ลูกสาวจะนำไปสาธิตการผ่าไก่ในงานโรงเรียนมาต้มซุปกินรวมถึงตู้เย็นที่ตั้งอยู่ ไม่ว่าใครจะเปิดมันก็จะพบแต่ความว่างเปล่า
อำนาจเงินที่ต้องจำใจเสียของสำคัญ ใน Curse of the starving class เห็นได้ชัดเจนว่าหลังยุคสงครามเย็น ประเทศมหาอำนาจอย่างสหัรฐอเมริกาได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากและลดความสำคัญกับการเกษตรน้อยลงจนชาวเกษตรกรต้องจำใจขายที่ดินส่วนตัวและที่ดินทำมาหากินให้กับนายทุนใหญ่เพื่อเลี้ยงชีพในอนาคต รวมทั้งต้องมาใช้แรงงานให้กับนายทุนผ่านการโดนกดขี่ทั้งแรงงานและเงินค่าจ้าง ทำให้เห็นว่าอำนาจเงินนั่นมีความสำคัญมากแค่ไหน
ซึ่ง Sam Sheperd ผู้เขียน เขาเกิดและเติบตัวในยุคก็ได้ถ่ายทอดออกมาได้อย่างดีผ่านตัวละครในครอบครัวทั้งสี่คน ที่อยากจะใช้ที่ดินนี้หนีปัญหาความจนในคนละแบบ และนำไปสู่การทะเลาะและเรื่องราววุ่นวายใหญ่โตในภายหลังตามด้วยจุดจบที่ต่างฝ่ายต่างเอาตัวเองให้รอดและหนีหายไป ซึ่งก็ไม่ต่างเท่าไรนักกับช่วงเวลาในปัจจุบัน ปัญหาความจนและความเหลื่อมล้ำยังคงวนเวียนซ้ำ ๆ เรื่อยไป
เรื่องของ Parasite เองก็มีจุดที่ไม่ต่างกัน เราเห็นได้ในท้ายเรื่อง ครอบครัวคนจนต่างมีความมุ่งมานะสู่ฝันของตนแต่กลับต้องเสียคนสำคัญในครอบครัวและหนีออกมาจากเหตุร้ายเพื่อเอาตัวเองให้รอด ทั้งหมดนี้เพียงเพราะต้นตอของอำนาจเงินที่มีความสำคัญของการดำรงอยู่ต่อไปของชีวิต
คนจนต้องการเงินจากคนรวยมาเลี้ยงชีพ คนรวยต้องการแรงงานจากคนจนมาเลี้ยงชีพ ใครเกาะใครกินกันแน่ ? นี้คงเป็นคำถามสำคัญที่เจ้าของผลงานอยากที่จะส่งข้อความสำคัญไปยังคนดู ถ้าหากให้เราตอบคงต้องบอกว่าเราต่างอาศัยและพึ่งพากันและกัน หลาย ๆ สิ่งสำคัญบนโลกไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี อุตสาหกรรมสายการผลิตหรือแม้แต่ร้านอาหารเล็ก ล้วนแล้วไม่ได้ถูกสร้างและจัดการผ่านคนคนเดียว ไม่ว่าฐานะใดต่างเป็นผู้ร่วมสร้างทั้งนั้น
เพียงแต่ผู้ที่ถือทุนในมือมากกว่ากลับได้ผลประโยนชน์ตามที่ตนต้องการโดยไม่สนใจเบี้ยล่างที่ทำงานให้เลย หากมองในมุมของคนรวยก็ไม่ใช่ความผิดของเขาสักทีเดียว ก็ในเมื่อเราต่างจำเป็นต้องหาเงินให้ได้มากที่สุดเพื่อไปยืนในจุดที่สูงและสุขสบายกว่าใคร ฉะนั้นแล้วต่างฝ่ายต่างใช้โอกาสไขว้คว้าจุดยืนที่สูงกว่า แต่แล้วฝ่ายที่มีทุนน้อยกว่าต้องลำบากอยู่ร่ำไปเพียงเพราะความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากระบบทุนนิยมที่ไม่มีใครเข้ามาช่วยหรือแก้ไขได้อย่างจริงจังเสียที
โฆษณา