3 ธ.ค. 2023 เวลา 08:49 • หนังสือ

ถ่ า น เ ก่ า... ไ ฟ ใ ห ม่

นวนิยาย​เรื่องหนึ่งที่ถ่ายทอดเรื่องราวความรัก​ ความผูกพัน​ และความสัมพันธ์ของครอบครัวที่มีผู้สูงวัย​ได้อย่างน่าประทับใจ​ที่ค้องหยิบมาอ่านอีกครั้ง คือ​ "ถ่านเก่า... ไฟใหม่" ของกฤษณา​ อโศกสิน
.
เรื่องนี้ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔​ แม้ว่า ชื่อสถานที่​ ตัวบุ​คค​ล​ และสภาพแวดล้อมบางแห่งอาจจะเปลี่ยนแปลง​ไป​ ผู้อ่านรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จักหรือคุ้นหู แต่นวนิยายเรื่องนี้ยังมีเนื่อหา​และบทสนทนาที่เรารู้สึกได้ว่าไม่ล้าสมัย​เลยค่ะ
.
เมื่อเปิดฉากแรกของเรื่อง​ ผู้เขียนก็พาผู้อ่านไปรู้จักตัวเอกทั้งคู่ที่ต่างก็มีความรัก​ ความสนใจและนิยมอนุรักษ์ของเก่า​เหมือนกัน​คือ​ รถออสติน​ คำบรรยายสีฟ้าของรถที่ทั้ง​คู่เป็นเจ้าของคือ 'ฟ้าพยับหมอก'​ และ 'ฟ้าพีระ'​ ซึ่งบ่งบอกความเก่าแก่ที่คนรุุ่นใหม่น้อยคนในยุคปัจจุบันจะเคยได้ยินหรือรู้จักคำเหล่านี้มาก่อน​
.
ผู้เขียนสร้างตัวเอกทั้งหญิงและชายคือ​ มาคี และ​ อุณากรรณ​ ให้มีความเกี่ยวโยงอย่างลึกซึ้งต่อกันและกันโดยมีครอบครัวที่มีคนรุ่นเก่าผู้มีประสบการณ์ชีวิตคอยบ่มเพาะ อบรมนิสัยและความคิด ความผูกพันและสายสัมพันธ์ในครอบครัวนี้เองเป็นสิ่งเชื่อมโยงทั้งคู่
.
มาคีสาววัย​ ๒๕​ เป็นหลานสาวกำพร้า​ มารดาเสียชีวิตตั้งแต่เด็กๆ​ บิดา​ (ลูกเขย)​ ก็แต่งงานใหม่มีลูกสาวอีกคนซึ่งถูกเลี้ยงเป็นคุณหนูเล็กๆ​ ก้าวร้าว​กับพ่อแม่​ แต่เมื่อมีปัญหาชีวิตครอบครัวก็จะวิ่งมาให้มาคีต้องช่วยแก้ไขเสมอ
.
มาคีเติบโตมาในครอบครัวอบอุ่นแม้จะขาดพ่อและแม่ เธอมีคุณทวดวัย​ ​๙๑​ คุณตาวัย​ ๗๒​ และน้าสาวโสดวัย​ ๔๖​ ทุกๆ คน​โดยเฉพาะคุณตา ผู้ใกล้ชิดจนเกือบจะเหมือนพ่อจริง ๆ รัก เอ็นดู และห่วงใยมาคี​มาก
.
อุณากรรณ​ หนุ่มโสดวัย​ ๓๒​ เป็นลูกคนโต เขามีน้องสาวอีกสองคน​ซึ่งไม่ได้ผูกพันกับผู้สูงวัยเฉกเช่นพี่ชาย แม้ว่าจะเติบโตมาในครอบครัวใหญ่​เช่นเดียวกับพี่ชาย และอยู่ในบริเวณเดียวกับบ้านญาติ ๆ คนอื่นในที่ดินเดียวกัน
.
บิดาของอุณากรรณเสียชีวิตก่อนวัยอันควร​ เขาจึงกลายเป็นที่พึ่งของ​สตรีม่ายทั้งสามวัยในครอบครัว คือทวดวัย​ ๙๐​ ย่าวัย​ ๗๐​ และมารดาวัย​๕๐​ เศษ​ แม้จะเพิ่งวัยหนุ่ม แต่อุณากรรณก็ไม่ค่อยได้ใช้ชีวิตอิสระเช่นหนุ่ม ๆ วัยเดียวกัน​
.
อุณากรรณมีใจผูกพันอยู่กับสาวใหญ่ที่มีปัญหาครอบครัวและกำลังจะแยกทางกับสามี ขณะเดียวกันเขาก็ดูแลครอบครัวทุกคน​อย่างดี เขามักพาทวดและย่าไปวัด​ หรือทำบุญวันสำคัญทางศาสนาต่าง ๆ บ้าง​ พามารดาไปโรงพยาบาลบ้าง​ ชีวิตเขาจึงผูกพันกับคนรุ่นเก่า​มากกว่า​
.
ผู้เขียนตั้งชื่อเรื่องโดยใช้สัญลักษณ์ที่อ้างถึงสำนวนเก่าของไทยคือคำว่า 'ถ่านไฟเก่า'​ เนื่องจากตัวละครทั้งสองต่างก็มีความสัมพันธ์เดิมอยู่ และไม่ได้สนใจใครอื่น แต่ครอบครัวทั้งสองเห็นว่ามีแนวโน้มที่ลูกหลานจะประสบปัญหาชีวิตคู่ตามมาด้วยอย่าแน่นอน เพราะคนที่คบไม่ดีพอ จึงคัดค้านและพยายามชี้ให้เห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้น
.
ทั้งสองคนจะตัดสินใจอย่างไร คุณตา คุณย่า และญาติผู้ใหญ่จะช่วยชี้แนวทางให้มาคีและอุณากรรณเห็นปัญหา และแก้ปมนี้อย่างไร และสองครอบครัวนี้เชื่อมสัมพันธ์กันก่อนที่ทั้งคู่จะลงเอยกันได้อย่างไร
.
แอดชอบที่ผู้เขียนตั้งชื่อนวนิยายนี้ว่า "ถ่านเก่า..... ไฟใหม่" โดยมีสัญลักษณ์ให้ผู้อ่านติดตามว่า มาคีและอุณากรรณโคจรมาเจอกัน​และรู้จักกันได้อย่างไร จนเกิดความผูกพันต่อกันในที่สุด อะไรคือถ่านเก่า และไฟใหม่ เช่นที่ผู้เขียนบรรยายผ่านตัวละครว่า
"...เตากับถ่าน และไม้ขีด มีความสัมพันธ์แนบแน่นจนยากจะบอกได้ว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร ผมจะพยายามรักษาเตาเก่าอันนี้ไว้ และหาถ่านใหม่มาเติม...ถ่านที่ผสมกับถ่านเก่าได้...เพื่อสืบทอดกองไฟที่ไม่มีการแยกเก่าแยกใหม่นี้ไว้...และขณะนี้ ...ผมหาถ่านใหม่ที่อยากได้พบแล้ว ...มีคุณสมบัติดีมาก ทำจากไม้เนื่้อดี ไม่แตกปะทุเลย เมื่อติดไฟแล้ว ไฟแรงสุด..แล้วก็...ผมรักไฟนั่น!
.
ผู้จัดละครช่อง ๓ เคยนำนวนิยาย​เรื่อง "ถ่านเก่า..... ไฟใหม่" ไปสร้างเป็นละคร​ โดยมีคุณส.อาสนจินดา​ แสดงเป็นคุณทวด​ คุณกำธร​ สุวรรณปิยะศิริ เป็นคุณตาที่สง่า​ มีความคิดเฉียบคม​ และคุณทัศวรรณ​ เสนีย์วงศ์​ เป็น​น้ามณฑา​ ฯลฯ
.
เป็นละครก็สนุกไม่แพ้หนังสือ แอดชื่นชอบการใช้ภาษา​ การสนทนา​ของผู้เขียน ซึ่งสร้างตัวละครผู้สูงวัยที่ใช้สำนวนการพูด มีอารมณ์ขัน มีมุมมองชีวิตอย่างผู้มีประสบการณ์ในการอบรมทั้งมาคี อุณากรรณ และหลาน ๆ ในครอบครัว​ อ่านแล้วไม่น่าเบื่อ​ เพราะคุณกฤษณาเลือกใช้คำที่คมคาย​ สื่อสารเรื่องเครียด ๆ ให้อ่านได้อย่างสนุก​
.
บางคราก็รู้สึกขบขันไปกับการต่อล้อต่อเถียงของคนต่างวัย​ด้วยเช่นเมื่อสองครอบครัวไปเที่ยวทะเลด้วยกัน เมื่ออุณากรรณชวนคุณทวดไปนั่งรถเที่ยว ผู้เฒ่ากระตือรือร้น หันไปพยักเพยิดกับหลานสาวๆ เกรงใจ สีหน้าคุณทวดจึงม่อยลง แต่ก็บ่่นว่า "เค้าไม่ให้ไป"
"พ่อก็...แขกนั่งก้นยังไม่ทันร้อนเลย ชวนออกอีกแล้ว"
"ใครว่า...อ้าว..เอ็งพูดดีๆ นะ ไอ้ไม้" บางทียามเคืองขุ่น คุณทวดจะเรียกคุณตาหรือไมตรีว่า ไม้ตรี และถ้าขัดใจยิ่งนัก ก็จะเรียกไอ้ไม้...
.
"ถ่านเก่า..... ไฟใหม่" ของกฤษณา อโศกสิน ยังคงคุณค่า​ทั้งเชิงวรรณศิลป์และการใช้ภาษาไทยด้วย เรื่องนี้ยังสะท้อนประวัติศาสตร์​สังคมไทยเมื่อเกือบ ๓๐ ปีมาแล้ว เสมือนบันทึกเหตุการณ์​ สภาพแวดล้อม​ ชีวิตในบริบทของสังคมไทย​ยุคก่อน​เช่น​ มาคีและคุณทวดยังนั่งรถเมล์ในกทม.​ การใช้เทปตลับเพื่อบันทึกเสียงคุณทวด​ การอบแป้งร่ำและทำน้ำพริกของน้ามณฑา​ การส่งโทรเลขเรื่องเร่งด่วน​ เพลงไทยของคุณชรินทร์​ นันทนาคร​ ฯลฯ
.
เนื้อหาโดยรวมมีความทันสมัยสำหรับผู้อ่านรุ่นใหม่​ แอดขอแนะนำนวนินายเรื่องนี้สำหรับผู้ที่ชื่นชอบผลงานของคุณกฤษณา อโศสิน และยังไม่เคยอ่าน หรือถ้าอ่านแล้วก็อ่านอีกครั้งสักได้ค่ะ
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ #กฤษณาอโศกสิน #ถ่านเก่าไฟใหม่ #วันผู้สูงอายุ #สถาบันครอบครั #นวนิยาย
โฆษณา