3 ธ.ค. 2023 เวลา 10:14 • ประวัติศาสตร์

ต้นคริสต์มาส : ตํานาน เรื่องเล่าและที่มา

หากพูดถึงเทศกาลคริสต์มาส หลายๆคนคงนึกถึงซานตาคลอส ของขวัญ มารายห์ แครี่ แต่อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเทศกาลที่ขาดไม่ได้คือ“ต้นคริสต์มาส” ต้นสนต้นใหญ่ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยไฟระยิบระยับที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในเดือนธันวาคม
ตํานานหรือเรื่องราวเกี่ยวกับต้นคริสต์มาสมีมานานหลายร้อยปี โดยส่วนมากมีต้นกําเนิดจากยุโรปเหนือ ซึ่งบางเรื่องต้นคริสต์มาสอาจดูต่างออกไปจากปัจจุบัน
เริ่มจากในประเทศเอสโตเนียและลัตเวีย ที่มีบันทึกเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองในฤดูหนาว ในเมืองทาลลินน์ของเอสโตเนียเมื่อปีค.ศ.1441 มีการเฉลิมฉลองที่จัดโดยกลุ่มภราดรภาพแห่งแบล็คเฮด(The brotherhood of blackheads) ซึ่งเป็นกลุ่มพ่อค้าที่ยังไม่ได้แต่งงานในท้องถิ่น โดยพวกเขานำต้นไม้มาตั้งไว้ที่จัตุรัสกลางเมือง เต้นรำไปรอบๆ ก่อนจะจุดไฟเผาต้นไม้ ซึ่งในเมืองริกาประเทศลัตเวียเองก็มีบันทึกเหตุการณ์แบบเดียวกันในปีค.ศ.1510
ในอดีตทั้งเอสโตเนียและลัตเวียนั้นเป็นดินแดนเดียวกัน คืออาณาจักรลิโวเนีย(Livonia) จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีประเพณีแบบเดียวกัน แม้ในปัจจุบัน มีการวิเคราะห์ว่าต้นไม้ที่พูดถึงนี้อาจเป็นเสากระโดงเรือมากกว่า นักประวัติศาสตร์ชาวลัตเวีย Gustavs Strenga ได้ออกความเห็นว่า การเฉลิมฉลองนี้ไม่น่าเกี่ยวข้องกับเทศกาลคริสต์มาส แต่ทั้งสองประเทศยังคงอ้างว่าต้นเป็นต้นกำเนิดของต้นคริสต์มาส ถึงขนาดว่ามีแผ่นจารึกสลักที่จตุรัสกลางเมืองริกา ระบุข้อความว่า “ต้นไม้ปีใหม่ต้นแรกในริกาปี1510”
แผ่นจารึกที่จัตุรัสเมืองริกา ระบุข้อความ "ต้นไม้ปีใหม่ต้นแรกในริกาปี1510" ทั้งหมด 8 ภาษา
ในปี ค.ศ.1419 สมาคมพ่อค้าในเมืองไฟรบูร์ก เยอรมนี(สมัยนั้นคือจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) ได้จัดแสดงละครสวรรค์เพื่อเฉลิมฉลองในวันของอดัมและเอวา ซึ่งตรงกับวันคริสต์มาสต์อีฟ โดย“ต้นไม้แห่งความรู้”สร้างขึ้นมาจากต้นสน มีแอปเปิ้ลผูกติดที่กิ่งก้าน และตกแต่งด้วยขนมอื่นๆเช่นเวเฟอร์ ขนมปังขิง
บันทึกเกี่ยวกับต้นคริสมาสต์ ณ เมืองสตราสบูร์กแคว้นอาลซัส ในปีค.ศ.1539 พูดถึงต้นไม้ที่ตกแต่งด้วยกุหลาบ แอปเปิ้ล เวเฟอร์ ซึ่งระบุอีกว่าต้นคริสต์มาสในเมืองนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก ถึงกับต้องมีกฎหมายจำกัดให้แต่ละบ้านในแคว้นอาลซัส มีต้นคริสต์มาสได้เพียงหนึ่งต้นเท่านั้น
มาร์ติน ลูเธอร์ นักปฏิรูปศาสนาชาวเยอรมัน ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นคริสต์มาสเช่นกัน ในปี ค.ศ.1539 เขาเดินผ่านป่าและเงยหน้าขึ้นมองดวงดาวที่ส่องประกายผ่านกิ่งก้านของต้นไม้ มันสวยงามและทำให้เขานึกถึงพระเยซูที่ทิ้งดวงดาวบนสวรรค์เพื่อมายังโลกในวันคริสต์มาส เมื่อเขากลับบ้านจึงบอกเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับลูกๆ และนำต้นไม้เข้ามาในบ้านประดับด้วยเทียนแทนดวงดาว
มาร์ติน ลูเธอร์และต้นคริสต์มาสที่ประดับด้วยเทียน
ย้อนกลับไปในสมัยโบราณ ต้นไม้ไม่ผลัดใบอย่างต้นสน ถูกนำมาใช้ในการเฉลิมฉลองวันเหมายัน (Winter Solstice) โดยต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ของฤดูไม้ใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึง และเป็นตัวแทนของชัยชนะเหนือความตาย เพราะต้นไม้ยังคงเขียวชอุ่มแม้จะผ่านช่วงฤดูใบไม้ร่วงมาแล้ว ทั้งนี้การเฉลิมฉลองดังกล่าว ถูกโยงว่าเป็นหนึ่งในต้นกำเนิดของต้นคริสต์มาสเนื่องจากใช้ต้นสนเหมือนกัน หรือบางทีก็เป็นเพียงเรื่องบังเอิญ เพราะว่าต้นสนสามารถพบได้มากในแถบยุโรปเหนือ
อย่างไรก็ตามในศตวรรษที่16 มีบันทึกเกี่ยวกับต้นไม้ที่ตกแต่งด้วยแอปเปิ้ลและขนมในวันคริสต์มาสแพร่หลายไปทั่วเยอรมนี อย่างที่เมืองเบรมาน ในปีค.ศ.1570 พูดถึงต้นไม้ที่ตั้งอยู่ในที่ทําการของสมาคมพ่อค้า ซึ่งตกแต่งด้วยแอปเปิ้ล ถั่ว อินทผาลัม เพรทเซล และดอกไม้กระดาษ ต้นไม้ลักษณะนี้ ถูกเรียกใหม่ว่า "christbaum" หรือต้นคริสต์มาส
ต้นคริสต์มาสอาจมีลักษณะที่เหมือนกัน แต่ก็หลากหลาย ส่วนใหญ่ใช้ต้นสน บางทีใช้ต้นเชอร์รี่หรือต้นฮอร์ธอร์น บางแห่งใส่ต้นไม้ในกระถางหรือการห้อยต้นไม้ลงมาจากเพดานก็มีเหมือนกัน เริ่มมีของตกแต่งชนิดอื่นเช่น ดวงดาวสีทอง ระฆัง รูปเทวดาและนางฟ้าซึ่งอิงตามตำนานในพระคัมภีร์ และการประดับด้วยเทียนไขตามเรื่องเล่าของลูเธอร์ก็พบเห็นได้เช่นกัน
การตกแต่งต้นคริสต์มาสในช่วงแรกได้รับความนิยมเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงและกระจายวงกว้างไปยังส่วนอื่นๆของยุโรป ในประเทศอังกฤษ เริ่มมีการตกแต่งต้นคริสต์มาสต์ครั้งแรกในสมัยของกษัตริย์จอร์จที่ 3 โดยพระราชินีชาวเยอรมันของพระองค์ พระราชินีชาร์ล็อตต์แห่งแมคเลนบูร์ก-สเตรลิทซ์ (Charlotte of Mecklenburg-Strelitz) เป็นผู้ริเริ่มการตกแต่งต้นคริสต์มาสไว้ที่พระราชวัง สำหรับการเฉลิมฉลองส่วนพระองค์ โดยถือเป็นกิจกรรมยอดนิยมในราชสํานักและตัวพระองค์ก็ลงมือตกแต่งต้นคริสต์มาสด้วยตัวเอง
ในค.ศ.1800 พระราชินีชาร์ล็อตต์ทำให้ต้นคริสต์มาสเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางด้วยการจัดปาร์ตี้วันคริสต์มาสให้กับเด็กๆจากครอบครัวชนชั้นสูงที่พระราชวังวินด์เซอร์ ต้นไม้สว่างด้วยเทียนขนาดเล็ก มีขนมหวานแขวนอยู่ตามกิ่งก้านของต้น รวมถึงอัลมอนด์ ลูกเกดและผลไม้อื่นๆ มีการแจกขนมและของเล่นให้แก่เด็กๆ ต้นคริสต์มาสที่พระราชวังวินด์เซอร์ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชนชั้นสูงของอังกฤษ
ความนิยมในต้นคริสต์มาสยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสมัยของพระราชินีนาถวิคตอเรีย ในปีค.ศ.1848 มีการตีพิมพ์ภาพ “Queen’s Christmas trees at Windsor Castle” ลงใน Illustrated London news โดยเป็นภาพของพระราชินีนาถวิคตอเรีย เจ้าชายอัลเบิร์ตสวามีและลูกๆของพวกเขา รวมตัวกันรอบๆต้นคริสต์มาสและมองกองของขวัญด้านล่าง โดยภาพนี้เป็นที่พูดถึงอย่างมากและทำให้ต้นคริสต์มาสได้รับความนิยมทั้งในหมู่ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง รวมไปถึงประเทศอาณานิคมด้วย
ภาพ “Queen’s Christmas trees at Windsor Castle”ในปีค.ศ.1848
กระแสต้นคริสต์มาสจากอังกฤษเดินทางมายังอเมริกาเมื่อ Godey’s Lady’s Book ตีพิมพ์ภาพต้นคริสต์มาสของพระราชินีนาถวิคตอเรียอีกครั้งในปีค.ศ.1850 ทำให้เกิดความนิยมในต้นคริสต์มาสเป็นวงกว้าง
ในช่วงปลายศตวรรษที่19 เริ่มมีของตกแต่งที่ทำด้วยตะกั่วและแก้ว อย่างเช่น ลูกบอลกลมสีแดงที่สื่อถึงแอปเปิ้ล และเทียนก็ถูกเปลี่ยนเป็นการใช้หลอดไฟขนาดเล็กเพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย
ต้นคริสต์มาสในยุคปัจจุบันก็มีเรื่องราวและที่มาไม่ต่างจากในสมัยก่อน อย่างในอเมริกา ต้นคริสต์มาสแห่งชาติบนสนามหญ้าทำเนียบขาวเริ่มต้นในปีค.ศ.1923 ในสมัยของประธานาธิบดีคาลวิน คูลิดจ์(Calvin Coolidge) ซึ่งใช้ต้นสนบัลซัมสูงเกือบ 60 ฟุตประดับด้วยหลอดไฟกว่า 2,500ดวง ซึ่งในขณะนั้น ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความรุ่งโรจน์ของไฟฟ้าอีกด้วย
ต้นคริสต์มาสที่ร็อคกี้เฟลเลอร์เซ็นเตอร์ในนิวยอร์ก เริ่มขึ้นในปีค.ศ.1931 โดยคนงานที่กําลังก่อสร้างตึกร็อคกี้ฯนําต้นสนสูง 20 ฟุตมาตั้งไว้และตกแต่งด้วยมาลัยและสายรุ้งที่ทําง่ายๆ การเฉลิมฉลองเล็กๆจุดประกายไปสู่ความหวังให้ชาวอเมริกันในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ และเริ่มมีการประดับไฟต้นคริสต์มาสอย่างเป็นทางการในปีค.ศ.1933 ซึ่งจัดงานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยถือเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กสําคัญของการฉลองเทศกาลคริสต์มาสของอเมริกา
พิธีเปิดไฟต้นคริสต์มาสที่ร็อคกี้เฟลเลอร์เซ็นเตอร์เมื่อวันพุธที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา ใช้ต้นสนสูง80ฟุต ประดับไฟมากกว่า 50,000ดวง
ต้นคริสต์มาสที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของอังกฤษอยู่ที่จัตุรัสทราฟัลการ์ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นของขวัญที่ประเทศนอร์เวย์มอบให้อังกฤษทุกๆปีตั้งแต่ปีค.ศ.1947 แทนคำขอบคุณที่อังกฤษเคยช่วยเหลือนอร์เวย์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่2 โดยในปีนี้ จะทําพิธีเปิดไฟต้นคริสต์มาสในวันที่ 7 ธันวาคม และเปิดจนถึงวันที่ 6 มกราคม เป็นระยะเวลา 1 เดือน
ต้นคริสต์มาสที่จัตุรัสทราฟัลการ์ กรุงลอนดอน ปี 2022
ข้อมูลอ้างอิง
Why do we have Christmas trees? The surprising history behind this holiday tradition
How Christmas Trees Became a Holiday Tradition
โฆษณา