4 ธ.ค. 2023 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เปิดสถิติ เทศกาลกองทุน TAX Saving Fund

ตลอดระยะเวลามากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐพยายามส่งเสริมให้คนไทยรู้จักการลงทุนเพื่อเป็นเงินไว้ใช้ยามเกษียณ โดยสนับสนุนให้ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF)
ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับผลตอบรับที่ดีจากภาคประชาชน ดังจะเห็นได้จากเม็ดเงินลงทุนที่เข้ามาลงทุนยังคงมีมาต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยภาพรวมย้อนหลัง3-4 ปีที่ผ่านมาจะมีผู้ลงทุนในกลุ่มกองทุนนี้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นกลุ่มกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพประมาณ 3.4 – 3.78 หมื่นล้านบาท ต่อปี ส่วนกลุ่มกองทุนเพ่อการออม SSF มียอดเงินลงทุนรวม 1.5 - 1.9 หมื่นล้านบาท ต่อปี
จะเห็นได้ว่ายอดสะสมถึงสิ้นเดือนกันยายน ในปี 2023 มียอดลงทุนเข้าเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของยอดเฉลี่ยสะสมในแต่ละปีย้อนหลัง 3 ปี เท่านั้น โดยยอดเงินลงทุนจะถูกกระจายไปใน RMF มากกว่า SSF โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% : 30% ตามลำดับ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ อาจจะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาได้อีกพอสมควร
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า พฤติกรรมคนไทยยังไม่เปลี่ยน นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงนิยมลงทุนในช่วงโค้งสุดท้ายของปี โดยในตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ณ เดือนสุดท้ายของแต่ละปี จะคิดเป็นเงินลงทุนหรือยอดสะสมในแต่ละปีมากกว่า 50% ของยอดเงินลงทุนทั้งปีของกองทุน RMF และ SSF โดยเฉพาะกลุ่ม RMF ในกองทุนตราสารหนี้ในประเทศ จะเป็นที่นิยมลงทุนในช่วงเดือนสุดท้ายมากที่สุด
เม็ดเงินที่เหลือ 2 ใน 3 เหล่านั้นจะเข้ามาตลาดหุ้นไทยหรือไม่?
จากสถิติพฤติกรรมของนักลงทุนที่จะเลือกลงทุนเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีผ่านกองทุน RMF - SSF ที่ผ่านมา มีความนิยมในการเลือกลงทุนในตราสารทุนในประเทศ ค่อย ๆ ลดลง
1
หากพิจารณายอดเงินลงทุนเทียบกับในอดีต พบว่ายอดสะสม 9 เดือนแรกของปี 2566 นี้ มียอดเงินลงทุนใน RMF ของกลุ่มตราสารทุนในประเทศ มียอดเงินลงทุนประมาณ 2.8 พันล้านบาท และใน SSF มียอดเงินลงทุนประมาณ 1.7 พันล้านบาท เรียกได้ว่ามีการทยอยลงทุนในกลุ่มตราสารทุนในประเทศของกลุ่มกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีไปแล้วมากกว่า 60%
อย่างไรก็ตาม พระเอกตัวใหม่อย่างกองทุน ThaiESG อาจจะเป็นทางเลือกใหม่เพิ่มให้นักลงทุน โดยนักลงทุนสามารถนำกองทุนนี้ไปลดหย่อนภาษีได้เพิ่มอีกสูงสุด 100,000 บาทต่อคน เพิ่มเติมจากวงเงินเดิม 500,000 บาท ซึ่งเชื่อได้ว่าน่าจะได้รับความนิยมกลับมาอีกครั้ง และเป็นตัวกระตุ้นตลาดหุ้นไทยได้บ้างไม่มากก็น้อยในระยะยาว
ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นโจทย์สำคัญ ที่จะต้องประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งส่งเสริมให้นักลงทุนจัดเงินการลงทุน และทยอยการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้นในระหว่างปี รวมถึงต้องติดตามจุดดึงดูดนักลงทุนสำหรับกองภาษีกองใหม่อย่าง ThaiESG ว่าจะสามารถดึงดูดได้มากน้อยเพียงใดในปีนี้ รวมถึงในปีถัด ๆ ไปจากนี้อีก 10 ปี ว่าจะระดมเงินและวงเงินที่จะให้สิทธิ์นำไปลดหย่อนจะเพิ่มเติมจาก 100,000 บาทหรือไม่ เพื่อที่จะเข้ามากระตุ้นตลาดหุ้นไทยในอนาคต
  • คอลัมน์: Investment-Focus by KTAM
  • โดย : ชัชพล สีวลีพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ บลจ. กรุงไทย
โฆษณา