5 ธ.ค. 2023 เวลา 04:29 • ความคิดเห็น

Sexual harassment ปัญหาอ่อนไหวในที่ทำงาน

ขอเอาบทความเก่าๆ มาเล่าใหม่ตามสถานการณ์ครับ
ตอนผมทำงานอยู่ที่ต่างประเทศ หนึ่งในสิ่งที่ดูน่าเบื่อก็คือ การอบรมพนักงาน ที่ต้องทำทั้งพนักงานเข้าใหม่ และพนักงานเก่า และหนึ่งในหัวข้อการอบรมก็คือ เรื่องของการคุกคามทางเพศ
ถึงแม้กฎหมายส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีเอาผิดเรื่องการคุกคามทางเพศมากนัก แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเป็นปัญหาจริงจังในที่ทำงาน ในอดีตมักเกิดเป็นเรื่องใหญ่โตตั้งแต่การลวนลาม การข่มขู่ การนำเสนอสิทธิประโยชน์ เช่น เงินเดือน โบนัส การเลื่อนขั้น และสวัสดิการต่างๆ เป็นต้น เพื่อแลกกับการให้ยินยอมทำอะไรบางอย่าง ไปจนถึงการหลับนอน ข่มขืน หรือนอกใจคู่สมรส
ปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้ถูกนิยามอย่างจริงจัง จนกระทั่ง Cornell University ในปี 1974 ได้บัญญัติศัพท์ sexual harassment หรือการคุกคามทางเพศขึ้น และในปี 1991 Anita Hill ได้กล่าวหา Clarence Thomas ผู้สมัครผู้พิพากษาศาลฎีกา (supreme court justice candidate) ว่าคุกคามทางเพศกับเธอในช่วงที่เธอกับเขาทำงานด้วยกันมาหลายปี และหัวข้อดังกล่าวได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในการคัดเลือกผู้พิพากษาคนใหม่ในที่ประชุมวุฒิสภา
และเรื่องดังกล่าวก็ได้ถูกหยิบยกมาอีกครั้งเมื่อ Paula Jones กล่าวหาว่า Bill Clinton ได้คุกคามทางเพศต่อเธอในปี 1991 จนต่อมา Monica Lewinsky ทำให้เรื่องนี้ดังเป็นพลุแตกกับการอมของหลวง
ส่วน Harvey Weinstein นักกำกับหนังชื่อดังก็ถูกกล่าวหาโดยผู้หญิงจำนวนมาก รวมทั้งดาราดังหลายคน ในปี 2017 จนเกิดเป็นกระแส Me too movement ทำให้มีผู้หญิง และผู้เสียหายจำนวนมากออกมาเปิดตัวพร้อมๆ กัน จนนำไปสู่การดำเนินคดีในปี 2018 ก่อนที่จะถูกตัดสินให้จำคุกในปี 2020
สำหรับในที่ทำงานปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยกว่าที่เรารับรู้กันมาก ในสหรัฐอเมริกา มีการสำรวจหนึ่งพบว่า อาจจะมีผู้หญิงมากถึง 80% ที่ระบุว่าเคยถูกคุกคามทางเพศอย่างน้อย 1 ครั้ง และ 50% ถูกคุกคามทางเพศในปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว
แต่สาเหตุที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ถึงปัญหาดังกล่าวเป็นเพราะผู้เสียหายมักจะอับอาย และไม่ได้เล่าให้ผู้อื่นฟัง และต่อให้เล่า ก็มักจะถูกละเลย และไม่มีการดำเนินการใดๆ จากที่ทำงาน มิหนำซ้ำ ยังมักถูกกดดัน หรือใช้อิทธิพลจนไม่สามารถทำงานต่อที่เดิมได้
ในอีกมุมหนึ่ง การคุกคามทางเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่นิยามเป็นความผิดที่ชัดเจนได้ยาก เนื่องจากไม่สามารถนิยามได้อย่างชัดเจน เหมือนการข่มขืน หรือการลวนลามได้ แต่คร่าวๆ คือ การกระทำบางอย่างที่มีวัตถุประสงค์ในทางเพศ ซึ่งอาจจะรวมถึงการแซว การจีบ การชวนไปทานอาหาร การสัมผัส การหลับนอน การข่มขืน หรือแม้กระทั่งการทำร้ายร่างกาย
ดังนั้น ในมุมของบริษัท บริษัทจึงมักจะมีนโยบายดังกล่าวอย่างชัดเจนให้พนักงาน และกรรมการบริษัทได้รับทราบว่า สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ ส่วนผู้เสียหาย หากเห็น หรือประสบกับพฤติกรรมที่รู้สึกว่าเป็นการคุกคามทางเพศ ก็ควรจะบอกให้ผู้คุกคามทางเพศได้รับทราบ
และถ้าเป็นไปได้ควรมีพยาน หรือเก็บหลักฐานทางกระดาษ หรืออิเล็กทรอนิกส์ว่าได้แจ้งเรื่องดังกล่าวแล้ว หากผู้คุกคามมีพฤติกรรมซ้ำซาก ก็สามารถแจ้งให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลดำเนินการไล่ออก หรือมีมาตรการทางวินัยได้
แต่หากผู้ถูกคุกคาม กลับยินยอม หรือไม่ต่อต้านกับเรื่องดังกล่าว ก็อาจจะถูกมองยินยอม หรือสมยอมกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งหากดูจากมุมนอก อาจจะไม่แตกต่างกับความสัมพันธ์เชิงชู้สาวโดยทั่วไป
ส่วนถ้าหากพนักงานต้องการมีความสัมพันธ์กันจริงจัง ทุกคนที่เกี่ยวข้องก็ควรจะแจ้งให้ทางบริษัททราบ เพื่อเป็นการจำกัดความเสี่ยงจากการถูกร้องเรียนในภายหลังได้ หากความสัมพันธ์จบลงแบบไม่ดี
การมีนโยบายเหล่านี้สำคัญมากๆ เพื่อระวังไม่ให้ปัญหาดังกล่าวลุกลาม จนเป็นอันตรายกับวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในองค์กร และเป็นการรักษาชื่อเสียงของบริษัท ก่อนที่ปัญหาดังกล่าวจะลุกลามจนออกไปยังสื่อ และสาธารณะ
โฆษณา