5 ธ.ค. 2023 เวลา 06:31 • การเมือง

“เอสเซกิโบ” ยูเครนแห่งละตินอเมริกา ข้อพิพาทครั้งใหม่ “เวเนซุเอลา-กายอานา”

ภาพจำที่ยังไม่เลือนหาย “รัสเซีย-ยูเครน” ในการผนวกดินแดนผ่านการลงประชามติ
3 ธันวาคม 2023: ทางการเวเนซุเอลาจัดให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับการผนวกดินแดน “เอสเซกิโบ” ซึ่งอุดมด้วยน้ำมันโดยปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ “กายอานา” ประเทศเพื่อนบ้านติดกันที่มีเอกราชทางทิศตะวันออก ประชาชนชาวเวเนซุเอลาถูกขอให้ตอบคำถามห้าข้อ เช่น ต้องการหรือไม่ที่จะสถาปนารัฐกายอานา-เอสเซกิโบใหม่ โดยให้สิทธิการเป็นพลเมืองแก่คนในพื้นที่นั้น รวมถึงการผนวกดินแดนนี้ไว้บนแผนที่ของเวเนซุเอลาหรือไม่
1
“การลงประชามติเพื่อผนวกเอสเซกิโบ” เป็นการตอบโต้ของรัฐบาลเวเนซุเอลาต่อคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา สั่งห้ามมิให้เวเนซุเอลาดำเนินการใดๆ ที่เป็นการละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดนของกายอานา ทว่าการประชุมเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างเวเนซุเอลาและกายอานาจะไม่จัดขึ้นจนกว่าจะถึงฤดูใบไม้ผลิที่จะถึง และการตัดสินของศาลอาจมีขึ้นในอีกหลายปีต่อมา อย่างไรก็ตาม “ศาลระหว่างประเทศไม่ได้ห้ามการลงประชามติ”
อ้างอิงเอกสารคำสั่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ตามลิงก์ด้านล่างนี้
“เอลวิส อาโมโรโซ” ประธาน กกต. เวเนซุเอลา ระบุว่าผลประชามติมากกว่า 95% เห็นด้วยกับคำถามในแบบสอบถามประชามติทั้ง 5 ข้อ และมีคนเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อย 10.5 ล้านเสียง - อ้างอิง: Reuters
เขาไม่ได้อธิบายถึงวิธีการนับจำนวนคะแนนเสียงว่าเท่ากับจำนวนผู้มีสิทธิหรือนับเป็นผลรวมของคำตอบของแต่ละคำถาม อาโมโรโซไม่ได้ระบุว่ามีผู้ลงคะแนนเสียงมาลงประชามติกี่คน - อ้างอิง: AP
อย่างไรก็ตามจริงแล้วมีผู้ออกมาลงประชามติครั้งนี้น้อยมากตามรายงานของ NYT “ต่ำกว่าที่ทางการคาดไว้” แม้ว่าพนักงานภาครัฐจะถูกบังคับให้มาลงคะแนนเสียงก็ตาม บางหน่วยแทบไม่มีคนออกมาลงประชามติ – อ้างอิง: New York Times, Reuters
การลงประชามติในเวเนซุเอลาเกี่ยวกับ “การผนวกดินแดนเอสเซกิโบ” เครดิตภาพ: Pedro Rances Mattey / AFP
หลังจากการลงประชามติ ประธานาธิบดี “นิโคลัส มาดูโร” ของเวเนซุเอลากล่าวว่าชาวเวเนซุเอลาได้เปล่งเสียงดังและชัดเจนว่าต้องการอะไรให้กับประเทศ
ในทางกลับกันประธานาธิบดี “อิรฟาน อาลี” ของกายอานากล่าวว่า “เอสเซกิโบเป็นของชาวกายอานา” และรับรองว่ารัฐบาลของเขาจะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่าเขตแดนของประเทศ “ยังคงสภาพเดิม” และประชาชนจะ “ไม่มีอะไรต้องกลัวเกี่ยวกับเรื่องดินแดนประเทศ ในอีกไม่กี่ชั่วโมง วัน และเดือนข้างหน้า” - อ้างอิง: New York Times
ประธานาธิบดี “อิรฟาน อาลี” ของกายอานา (ซ้าย) ประธานาธิบดี “นิโคลัส มาดูโร” ของเวเนซุเอลา (ขวา) เครดิตภาพ: LaRepublica
ข้อพิพาทระหว่างเวเนซุเอลาและกายอานาเกี่ยวกับ “เอสเซกิโบ” มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เวเนซุเอลาถือว่าดินแดนนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศของตนระหว่างยุคอาณานิคมสเปน และไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในปี 1899 ที่ตัดสินว่าเอสเซกิโบเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่เคยเป็นบริติชกิอานาในขณะนั้น (กายอานา ซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของอังกฤษ ประกาศเอกราชในปี 1966)
“เอสเซกิโบ” เป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ ฉะนั้นแล้วแหล่งทรัพยากรที่มีมูลค่ามหาศาลเหล่านี้จึงถูกเข้าครอบงำและส่งมอบให้กับบริษัทน้ำมันของชาติตะวันตก
1
เครดิตภาพ: BNN
หลังการเลือกตั้งของเวเนซุเอลาในปี 2019 ซึ่งตามข้อมูลของทางการ “นิโคลัส มาดูโร” ชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งที่สอง ความไม่สงบจึงเริ่มขึ้นในประเทศ และมีการสถาปนาระบอบ “อำนาจทวิภาคี” โดยมีหลายสิบประเทศที่นำโดยสหรัฐฯ กลับยอมรับผู้นำฝ่ายค้าน “ฮวน กวยโด” ในฐานะประธานาธิบดีชั่วคราวของเวเนซุเอลา ซึ่งพวกเขากล่าวหาว่ามาดูโรแย่งชิงอำนาจมา
1
เมื่อช่วงสิ้นปี 2022 คณะฝ่ายค้านของกวยโดถูกยุบ ต่อมาตุลาคม 2023 ฝ่ายค้าน (โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากสภาการเลือกตั้งแห่งชาติของเวเนซุเอลา) ได้จัดการเลือกตั้งขั้นต้นในหมู่ผู้สมัครเพื่อที่จะลงสมัครชิงตำแหน่งกับประธานาธิบดีมาดูโรในการเลือกตั้งของประเทศในปี 2024 ชาวเวเนซุเอลามากกว่า 2.4 ล้านคนมีส่วนร่วมในการลงคะแนนเสียงของฝ่ายค้าน - อ้างอิง: The Guardian
1
นิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา (ซ้าย) ฮวน กวยโด ผู้นำฝ่ายค้านเวเนซุเอลาที่ได้รับการหนุนหลังจากอเมริกา (ขวา) เครดิตภาพ: Getty Images
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแห่งหนึ่งในการากัสของเวเนซุเอลาออกมาแสดงความเห็นว่า การที่ผู้ออกมาใช้สิทธิ์ในการลงประชามติมีจำนวนน้อยถือเป็น “ความล้มเหลวครั้งใหญ่” ของรัฐบาลมาดูโร เขาเรียกจุดประสงค์หลักของการจัดลงประชามติว่ารัฐบาลมีความตั้งใจที่จะทดสอบ “กลไกการเลือกตั้ง” ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมาถึงปีหน้า และตั้งข้อสงสัยถึง “ความโปร่งใสในการเลือกตั้ง” - อ้างอิง: Reuters
2
นักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งออกมาแสดงความเห็นว่า เนื่องจากที่นั่งของมาดูโรถูกสั่นคลอน เขาเลยจัดประชามติครั้งนี้เพื่อหันเหความสนใจจากเรื่องเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า และการสร้างกระแสเรื่องข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้เป็นข้อแก้ตัวในการนั่งตำแหน่งประธานาธิบดีเวเนซุเอลาต่อไปหรือไม่ - อ้างอิง: New York Times
ตามที่นักวิเคราะห์ทางทหารคนหนึ่งกล่าวว่า การอนุมัติให้มีการลงประชามติทำให้ “มาดูโร” มีโอกาสที่จะเริ่มการปะทะบริเวณชายแดนโดยให้กองทัพเวเนซุเอลาเข้ามามีส่วนร่วมได้ตลอดเวลา หากมาดูโรรู้สึกว่าเขากำลังพ่ายแพ้ทางการเมือง เขาสามารถกดปุ่ม “เริ่มสงคราม” และระงับการเลือกตั้งในปีหน้าได้ทันที โดยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศ - อ้างอิง: New York Times
3
เครดิตภาพ: Reuters
ความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ที่ปรากฏต่อโลกหลังกุมภาพันธ์ 2022 (สงครามรัสเซีย-ยูเครน) เป็นแบบอย่างที่คนจ้องมองถึงอำนาจเหนือดินแดนได้เรียนรู้ และตอนนี้ “มาดูโร” กำลังพยายามเข้าสู่หน้าต่างที่เปิดกว้างนี้เพื่อแก้ไขข้อพิพาทที่มีมายาวนานในภูมิภาค ยิ่งกว่านั้นข้อพิพาทครั้งนี้ไม่ได้อยู่เหนืออาณาเขต แต่จริงแล้วเป็น “การแย่งชิงเหนือทรัพยากรเป็นหลัก”
ในขณะที่มาดูโรเฉลิมฉลองชัยชนะของเขาในการลงประชามติ และชาวเวเนซุเอลาบางส่วนเดินไปตามถนนในเมืองการากัส ประธานาธิบดีกายอานาพูดถึงการสนับสนุนจากนานาชาติและเตือนเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของกองทัพของเขาที่จะเข้าปกป้องดินแดนเอสเซกิโบไม่ให้ตกเป็นของเวเนซุเอลา
ค่อนข้างแน่ชัดว่าบริษัทน้ำมันของชาติตะวันตกและรวมถึงอเมริกาที่อยู่เบื้องหลังประธานาธิบดีกายอานา “ให้ลุกขึ้นมาสู้” เพื่อที่จะไม่ยอมแพ้ในการเสียดินแดนที่มีทรัพยากรน้ำมันหากปราศจากการสู้รบ โดยเฉพาะอเมริกาภายใต้การบริหารของไบเดนที่มองว่าเวเนซุเอลามีทายาททางการเมืองของฮูโก ชาเวซ ในฐานะ “สหายของปูติน” ปกครองอยู่ (โรคกลัวความเป็นรัสเซีย)
2
“ละตินอเมริกา” ซึ่งถือว่าไม่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศด้วยการสู้รบทางอาวุธมาเป็นเวลานาน กำลังกลายเป็นประเด็นตึงเครียดขึ้นมาครั้งใหม่จากเหตุการณ์ผนวกดินแดนในครั้งนี้
เครดิตภาพ: Correo del Caroni
เรียบเรียงโดย Right SaRa
5th Dec 2023
  • แหล่งข่าวและข้อมูลอ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: (บน) – Medium / European Geopolitical Journal (ล่าง) - Pedro Rances Mattey / AFP / Getty Images>
โฆษณา