6 ธ.ค. 2023 เวลา 23:01 • ข่าว

จากหมอกฤตไท สู่ปัญหามลพิษภาคเหนือ

จากข่าวการเสียชีวิตของหมอกฤตไท หมอหนุ่มอนาคตไกลที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด
ทำให้ประเด็นเรื่องมลพิษและกฎหมายอากาศสะอาดถูกพูดถึงอีกครั้ง
2
พื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอนลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน พะเยา และตาก ประสบปัญหาหมอกควันเป็นประจำทุกปี โดยมีปัจจัยสำคัญคือ
1. การเผาในที่โล่งแจ้ง เช่น การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่ราบและที่ดอน การเผาขยะ การเผาพื้นที่ไร่หมุนเวียนในที่สูงเพื่อเตรียมการเพาะปลูก การเผาป่า
1
2. สภาพภูมิประเทศ เช่น ตัวเมืองเชียงใหม่ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ฯลฯ
3. สภาพภูมิอากาศและอุตุนิยมวิทยา
4. หมอกควันข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะมีการเผาป่าและเตรียมการเกษตร
ล่าสุดมีการศึกษาอัตราส่วนการตายมาตรฐานของ 12 ภัยคุกคามสุขภาพในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยระหว่างปี 2544-2557 พบว่าประชาชนในภาคเหนือของไทยเกือบทุกจังหวัดมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหอบหืด มะเร็งปอด และปอดอุดกั้นเรื้อรังสูงกว่าประชาชนในพื้นที่อื่นๆอย่างชัดเจน
1
ขณะที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยสถิติปลายปี 2565 ว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดวันละกว่า 40 คน โดยสาเหตุเกิดจากการสร้างมลพิษในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเผาขยะ มลพิษจากยานพาหนะ และบุหรี่ นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ภาคเหนือมีอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปอดสูงกว่าภาคอื่นๆ โดยพบว่ามีอุบัติการณ์เท่ากับ 33.1 รายต่อแสนประชากรในผู้ชาย และ 19.9 รายต่อแสนประชากรในผู้หญิง ส่วนภาคที่มีอุบัติการณ์ต่ำสุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เท่ากับ 16.9 รายต่อแสนประชากรในผู้ชาย และ 8.4 รายต่อแสนประชากรในผู้หญิง
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยของโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง วิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งในผู้สูงอายุใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน พบว่า โรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 1 ทั้งผู้ชายและผู้หญิงคือ มะเร็งปอด รองลงมาคือ มะเร็งตับและท่อทางเดินน้ำดี ซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่พบมากในฝั่งเอเชีย
ผลการศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่พบว่า ทุก ๆ 10 มคก./ลบม. ของค่าฝุ่นควัน PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ป่วยที่กำลังเจ็บป่วยนอนรับการรักษาในโรงพยาบาลเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 และทำให้ประชาชนทั่วไปเสียชีวิตรายวันจากการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 0.4 ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยขนาดใหญ่ทั่วโลก (อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4-0.8)
นอกจากนี้ยังพบว่าถ้าค่าฝุ่นควัน PM2.5 เฉลี่ยต่อวันสูงเกินค่ามาตรฐาน 25 มคก./ลบ.ม. ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด จะทำให้อัตราการเจ็บป่วยจากโรคร้ายแรงเฉียบพลันที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินหรือนอนรับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 30-40 ได้แก่ โรคอุบัติเหตุเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ปอดอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกำเริบ โรคหอบหืดกำเริบ
1
ส่วนผลกระทบในระยะยาว พบว่าทุก ๆ 10 มคก./ลบม. ที่เพิ่มขึ้นของค่าฝุ่นควัน PM2.5 เฉลี่ยต่อปี ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีอายุขัยเฉลี่ยสั้นลง 1.03 ปี มีอัตราการเสียชีวิตรายปีสูงขึ้นร้อยละ 4-6 เจ็บป่วยเป็นมะเร็งปอดสูงขึ้นร้อยละ 8-14
และในปี ค.ศ. 2015 องค์การอนามัยโลกระบุว่า คนไทยเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศสูงถึงร้อยละ 6.8-7.3 ของการเสียชีวิตทั้งหมด หรือราวกว่า 30,000 ราย ซึ่งภัยจากมลพิษทางอากาศนอกอาคารถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและความทุพพลภาพของมวลมนุษยชาติลำดับที่ 5 รองจากความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ น้ำตาลในเลือดสูง และไขมันในเลือดสูง
นอกจากนี้ ผลการศึกษาล่าสุดพบว่าหากประเทศไทยสามารถลดค่าฝุ่นควัน PM2.5 ลงได้ร้อยละ 20 จะทำให้อัตราการเสียชีวิตของประชาชนลดลงได้ถึงร้อยละ 22
1
จากทุกข้อมูลและการศึกษาทั้งหมด ชี้ไปในทางเดียวกันว่า ปัญหามลพิษเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าที่เราส่วนใหญ่คาดคิด และมีความจำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างถูกต้องและเหมาะสม การเพิกเฉยต่อปัญหามีแต่จะยิ่งทำให้ผลกระทบที่รุนแรงอยู่แล้วลุกลาม กลายเป็นปัญหาต่อคนทุกกลุ่มในสังคมโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เด็ก ผู้สูงอายุ จะต้องมีอีกสักกี่คนที่ต้องประสบชะตากรรมเหมือนกับหมอกฤตไท หากเราไม่เริ่มต้นด้วยกันตั้งแต่วันนี้
2
อ้างอิง
โฆษณา