7 ธ.ค. 2023 เวลา 13:41 • การเกษตร

สวยเหนือจินตนาการ "ศิลปะบนนาข้าว" โดยคนไทย ที่งานไทยแลนด์เบียนนาเล่เชียงราย 2023

หนุ่มเมืองเทิง ร่วมกับกลุ่มศิลปินขัวศิลปะ ร่วมสร้างสรรค์งาน "ศิลปะบนนาข้าว (Tanbo Art)" อีกหนึ่งผลงานศิลป์บนนาข้าว 7 เฉดสี ในงานไทยแลนด์เบียนนาเล่เชียงราย 2023 เปิดให้ชม 30 ธ.ค. 66-30 เม.ย. 67 ที่บ้านขอนซุง อ.เทิง จ.เชียงราย
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านขอนซุง ม.4 ต.งิ้ว อ.เทิง จ.เชียงราย ได้มีการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะบนนาข้าว เป็นรูปแมวสุดน่ารัก จำนวน 3 รูป บนเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เป็นอีกหนึ่งผลงานที่จะร่วมโชว์ในงาน Thailand Biennale Chiangrai 2023 ซึ่งจะจัดงานขึ้นใน จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 9 ธ.ค. 66 ไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 67
โดยงานศิลปะบนนาข้าวจะเปิดให้ชมเป็นทางการในวันที่ 30 ธ.ค. 66 ถึงประมาณ 15 มี.ค. 67 เป็นอีกหนึ่งผลงานที่น่าจะใช้เนื้อที่ในการรังสรรค์ผลงานมากที่สุดในงานครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชมผลงานศิลปะไม่ควรพลาด เพราะหาชมได้ยาก
นายธันย์พงค์ ใจคำ หรือ ดิว ผู้จัดการหนุ่มในโรงงานผลิตรถยนต์ ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานศิลปะบนนาข้าว กล่าวว่า ตัวเองเกิดและเติบโตที่บ้านขอนซุง ต.งิ้ว อ.เทิง ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ทำนา ตนมีความผูกพันกับท้องไร่ท้องนามาตั้งแต่เด็ก รู้ซึ้งถึงคุณค่าของเม็ดข้าว และสนใจการปลูกข้าวมาโดยตลอด
และในช่วงประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านก็มีโอกาสได้ศึกษาว่าที่ประเทศญี่ปุ่นมีการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะบนนาข้าว หรือ "Tanbo Art" ตนเห็นแล้วก็คิดว่ามันแปลกดี และหากมีโอกาสก็อยากจะลองทำบ้าง แต่ที่ญี่ปุ่นทำมานานนับ 10 ปี จนสามารถพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่มีความหลากหลายของเฉดสี และมีชื่อเสียงจนสามารถจัดเป็นงานเทศกาลประจำปี มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจไปเที่ยวปีละหลายแสนคน
ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานศิลปะบนนาข้าว กล่าวต่อว่า แต่งานของไทยเรายังไม่สามารถพัฒนาไปถึงขั้นนั้น แต่จากการตระเวนศึกษาในหลายไปที่ของประเทศไทย ก็พบมีหลายจังหวัดที่มีการปลูกข้าวกันแบบนี้ แต่ยังมีสีของต้นข้าวน้อย อย่างมากไม่เกิน 3 สี
แต่ในปีนี้ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้พัฒนาสายพันธุ์ข้าวเจ้า โดยนำเอาข้าวเจ้าหอมนิลพันธุ์กลายใบขาว มาผสมกับข้าวก่ำหอมนิล จนได้มาเป็นข้าวสรรพสี สายพันธ์ุ RB01, RB02, RB03, RB04, และ RB05 ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะมีเฉดสีแตกต่างกันออกไป และได้ริเริ่มรับสมัครเกษตรกรให้เข้าร่วมสร้างสรรค์ศิลปะบนนาข้าว โดยใช้ข้าวที่ทางมหาวิทยาลัยจัดสรรมาให้
ด้วยตนมีความสนใจในด้านนี้อยู่แล้ว จึงขอยื่นสมัครไปในนามบุคคล ซึ่งจากการพิจารณาอย่างเข้มงวดของมหาวิทยาลัย สุดท้ายมีผู้ผ่านการคัดเลือกมาทั้งหมดประมาณ 15-16 ทีมทั่วประเทศ
โดยส่วนใหญ่จะสมัครเป็นกลุ่มหรือองค์การการเกษตร รวมไปถึงนายกิตติ สิงหาปัด พิธีกรรายการข่าวชื่อดัง ก็มีชื่อผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการในนามของ จ.ขอนแก่น สำหรับตนถือเป็นหนึ่งใน 3 ของพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ และตนเข้าร่วมโครงการในนามตัวแทน จ.เชียงราย
นายธันย์พงค์ กล่าวอีกว่า แต่หลังจากได้เมล็ดพันธุ์มาแล้ว ก็มีอีกหลายปัญหาต้องมาขบคิด เพราะยังไม่เคยทำมาก่อน ประกอบกับเมล็ดพันธุ์ที่มหาวิทยาลัยให้มามีจำนวนจำกัด ตนจึงเข้าไปขอคำปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเกษตรอำเภอ ธนาคาร หรือหน่วยงานในระดับจังหวัด เพื่อขอความรู้และต้องการให้หน่วยงานมาร่วมสนับสนุนโครงการ แต่ปรากฏว่าไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วยสนับสนุน อาจจะเป็นเพราะเป็นเรื่องใหม่ และยังไม่เห็นรูปร่างโครงการ จึงตัดสินใจลงมือทำด้วยตนเอง
โดยเรื่องเมล็ดพันธุ์ได้ปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แนะนำว่าควรเพาะพันธุ์ทีละเมล็ด จากนั้นในเรื่องการออกแบบรูปภาพบนนาข้าว
"ด้วยความที่ตนไม่มีความรู้เรื่องศิลปะเลย แต่คิดว่าใน จ.เชียงราย เป็นเมืองศิลปะ มีศิลปินดังๆ อยู่มากมาย ตนจึงเดินทางไปที่วัดร่องขุ่น เพื่อตั้งใจจะไปขอคำปรึกษาจาก อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เพราะตอนนั้นไม่รู้จักใครเลย แต่เจ้าหน้าที่ของวัดแนะนำว่าควรจะไปที่สมาคมขัวศิลปะ ตนก็ไปตามคำแนะนำ
I ซึ่งทางสมาคมขัวศิลปะได้ฟังแนวคิดแล้วเกิดสนใจ โดยเสนอว่าควรจะเข้าร่วมโชว์ในงานไทยแลนด์เบียนนาเล่ 2023 ที่กำลังจะจัดขึ้นอีกด้วย และได้ส่งศิลปินเข้ามาหาในภายหลัง เพื่อเสนอแนวคิดการออกแบบรูปภาพร่วมกัน ซึ่งศิลปินที่มาออกแบบให้เขาชอบเลี้ยงแมว ก็เลยอยากออกแบบเป็นภาพแมว ตนก็เห็นดีด้วย ก็เลยออกแบบเป็นภาพแมว 3 รูป" ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานศิลปะบนนาข้าว กล่าว
นายธันย์พงค์ กล่าวถึงขั้นตอนการร่างลายและปลูกข้าวว่า พอได้ภาพมาแล้ว ในส่วนขั้นตอนการนำภาพที่ออกแบบไปอยู่บนแปลงนาก็เป็นอีกหนึ่งงานยาก ขั้นตอนนี้ ต้องไปขอความร่วมมือจากฝ่ายช่างของกรมชลประทานที่ จ.พิษณุโลก ให้เขามาช่วยจับพิกัด GPS เพื่อวางหลักและขึงเชือกเป็นจุดๆ รวมมากกว่า 3,000 จุด เพื่อสร้างเป็นรูปภาพ
โดยเครื่องมือก็ต้องขอยืมมาจากกรมที่ดิน และในขั้นตอนการปลูกก็ได้ภรรยา ลูกๆ ญาติพี่น้อง คนจากวัฒนธรรมจังหวัด ตลอดจนศิลปินขัวศิลปะมาช่วยกัน เริ่มปลูกตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา ใช้เวลาปลูกประมาณ 10 วัน โดยจะไล่ลำดับการปลูกไปตามความเหมาะสมของอายุข้าวแต่ละพันธุ์ เพื่อให้ตั้งท้องในช่วงเดียวกันทั้งหมด
และมีการใช้ข้าวพันธุ์ IRRI และข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง 1 มาปลูกเพิ่มพื้นที่ ทำให้ในนาข้าวของตนจะมีข้าวมากถึง 7 เฉดสี คาดว่าข้าวจะเริ่มเปลี่ยนสีในอีกประมาณ 2 อาทิตย์ และจะเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ธ.ค. 66 และในวันที่ 31 ธ.ค. 66 ก็จะมีกิจกรรมเคาต์ดาวน์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ภายในบริเวณดังกล่าวด้วย
"สิ่งที่ตนมุ่งหวังจากโครงการปลูกข้าวสรรพสีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ก็คืออยากติดเป็น 1 ใน 5 อันดับแรก เพราะจะได้ร่วมทำ MOU กับทางมหาวิทยาลัย
ซึ่งตนมีความมั่นใจว่าจะสามารถติดอันดับอย่างแน่นอน ซึ่งหลังจากได้รับเลือก ในพื้นที่ตรงจุดนี้ตนก็อยากจะให้เป็นศูนย์เรียนรู้ในเรื่องการปลูกข้าวสรรพสี หรือการสร้างสรรค์ศิลปะบนนาข้าว และผลพวงนอกจากนั้นก็จะเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ ผู้ที่สนใจอยากมาเที่ยวชมสามารถเข้ามาที่บ้านขอนซุง ม.4 ต.งิ้ว อ.เทิง จ.เชียงราย" นายธันยพงค์ กล่าว
"Tanbo Art" หรือที่เรียกว่า “ศิลปะบนนาข้าว” คือ การวาดภาพโดยการใช้นาข้าวแทนผืนผ้าหรือกระดาษ ใช้พันธุ์ข้าวแต่ละชนิดแทนสีต่างๆ และมีชาวนาจากแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ เป็นพู่กัน ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวเพื่อสรรค์สร้างผลงาน
จุดเริ่มต้นของ Tanbo Art เริ่มมาจากหมู่บ้านอินาคะดาเตะ ใน จ.อาโอโมริ โดยเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นหมู่บ้านแห่งการเกษตรกรรมที่สามารถผลิตข้าวที่มีคุณภาพสูงแห่งหนึ่งของประเทศ โดยการจัดงานนั้นมีมาตั้งแต่ปี 1993 นับเป็นงานเทศกาลที่เก่าแก่อีกงานหนึ่ง
ความเป็นมาของเทศกาล Tanbo Art สืบเนื่องจากเมื่อปี ค.ศ. 1993 ช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอย ชาวนาของ จ.อาโอโมริ ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำเช่นกัน ดังนั้นเหล่าชาวนาจึงได้พยายามคิดหาวิธีที่จะฟื้นฟูวิกฤติดังกล่าวขึ้นมา
จนได้ข้อสรุปว่าควรจะมีการทำกิจกรรมที่จะช่วยสร้างขวัญกำลังใจ ความมีชีวิตชีวาและสีสันให้กับชุมชน ประจวบเหมาะกับที่มีนักโบราณคดีได้สำรวจพบว่าพื้นที่หมู่บ้านอินาคะดาเตะนั้นเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวมายาวนานกว่า 2,000 ปีแล้ว ดังนั้นชาวนาในหมู่บ้านจึงมีความคิดที่จะสร้างศิลปะบนนาข้าวขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติแก่ประวัติศาสตร์เก่าแก่นี้
ชาวนาหมู่บ้านอินาคะดาเตะ ได้นำข้าวสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีทั้งสีเขียว เหลือง ม่วง แดง ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่อดีตมาริเริ่มสร้างเป็นศิลปะประเภทจิตรกรรมบนผืนนากว้างใหญ่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
และเพื่อให้สามารถรับชมรูปภาพขนาดใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์จึงได้มีการสร้างป้อมจำลองที่มีลักษณะเป็นหอสูง 22 เมตรขึ้นที่สำนักงานหมู่บ้าน และในปี 2006 ได้มีการบันทึกสถิติผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้านมากถึง 200,000 คน
ปัจจุบันได้มีการขยายการจัดงานไปอีกในหลายพื้นที่ ได้แก่ หมู่บ้านอินาคะดาเตะ จ.อาโอโมริ, เมืองอาซาฮิคาวะ จ.ฮอกไกโด, และเมืองโยเนะซะวะ จ.ยามากาตะ.
โฆษณา