8 ธ.ค. 2023 เวลา 06:00 • ประวัติศาสตร์

‘อยุธยา ยุทธการ’ เกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ตอนที่ 10

ในปี ค.ศ. 1680 (พ.ศ. 2223) สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งคณะทูตชุดแรก เดินทางไปเชื่อมสัมพันธไมตรีที่ฝรั่งเศส ประกอบด้วย ออกพระพิพัฒน์ราชไมตรี เป็นราชทูต , ออกหลวงศรีวิศาลสุนทร เป็นอุปทูต และออกขุนนครศรีวิชัย เป็นตรีทูต พร้อมเจ้าพนักงานกว่า 20 คน
โดยได้นำเอาเครื่องบรรณาการหลายอย่างไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 - อาทิ โต๊ะ ตู้ หีบแปลก ๆ ที่สยามได้มาจากญี่ปุ่น โถเงิน โถทอง ผ้าไหม และที่สำคัญคือ ได้ส่งช้างไปด้วย 2 เชือก
แต่คณะทูตชุดแรกของอยุธยา ประสบเหตุทางทะเลในบริเวณเกาะมาดากัสการ์ โดนพายุใหญ่โถมกระหน่ำจนเรืออับปาง ลูกเรือและสิ่งของบรรณาการทั้งหมด จมหายอยู่ใต้ท้องสมุทร
สามปีผ่านไป จากคณะทูตชุดแรกของสยามเงียบหาย (ที่เรือล่มจมทะเล) ไม่มีข่าวอันใดส่งกลับมา ครั้นในปี พ.ศ. 2226 สมเด็จพระนารายณ์ทรงได้แต่งคณะทูตชุดที่ 2 ประกอบด้วย ขุนพิชัยวาทิตและออกขุนพิชิตไมตรีไปฝรั่งเศสอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น
ในช่วงระยะเวลาการเดินทางของคณะทูตชุดที่ 2 ไปสร้างความสัมพันธ์ไมตรีกับฝรั่งเศส ภายในกรุงศรีอยุธยาได้เกิดเหตุการณ์ 2 เรื่องขึ้น
เรื่องแรกคือ - กลุ่มกองอาสาทหารเปอร์เซีย ไม่พอใจในตัวออกพระศรีเนาวรัตน์ (อกา มะหะหมัด) ต่างพากันฟ้องร้องกับสมเด็จพระนารายณ์ ว่าออกพระศรีเนาวรัตน์โกงเบี้ยหวัดของพวกเขา อีกทั้งประชาคมชาวอิหร่านก็แสดงความไม่พอใจกล่าวหา ออกพระศรีเนาวรัตน์เล่นพรรคเล่นพวก ส่งเสริมเฉพาะคนของตนเองเท่านั้น
ดูเหมือน ออกพระศรีเนาวรัตน์ ที่สมเด็จพระนารายณ์หวังให้เป็นหัวหน้าประชาคมชาวเปอร์เซีย เพื่อควบคุมดูแลกลุ่มมุสลิมที่มีอยู่มากมายในกรุงศรีอยุธยา บารมีความนับถือเสื่อมถอยลง จนไม่สามารถควบคุมการเกิดกลุ่มอันธพาลและขโมยขึ้นภายในกรุงศรีอยุธยา รวมถึงเกิดการฆ่าฟันกันเองวุ่นวาย เป็นเหตุให้สมเด็จพระนารายณ์ตัดสินใจปลด อกา มะหะหมัด ออกจากตำแหน่งออกพระศรีเนาวรัตน์
ไม่นาน อกา มะหะหมัด ก็เสียชีวิตลง และสมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งตั้งให้ คอนสแตนติน ฟอลคอน เข้ามาดูแลการค้าและการจัดการต่าง ๆ แทน
เรื่องที่สองคือ - ออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) ได้ออกความเห็นยับยั้งการสร้างป้อมปราการซึ่งจะสร้างขึ้นมา ออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) ให้เหตุผลว่า ป้อมปราการมันไม่ใช่รูปแบบการป้องกันของสยามมาตั้งแต่อดีต อย่างเช่นป้อมที่มีอยู่ในทวีปยุโรป มันไม่เหมาะสมกับพื้นที่ราบของดินแดนแถบนี้
และถ้าทหารสยามถูกล้อม ติดอยู่แต่ในป้อม ทหารสยามก็ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร - ในทางตรงกันข้าม ถ้าศัตรูยึดเอาป้อมปราการไว้ได้ ศัตรูก็สามารถใช้มันเป็นประโยชน์เหนือกว่าเรา
แนวคิดการสร้างป้อมปราการนี้ถูกนำเสนอโดย คอนสแตนติน ฟอลคอน โดยอาศัยรูปแบบที่พบเห็นในยุโรป เสนอต่อสมเด็จพระนารายณ์ และพระองค์ทรงเห็นชอบด้วย
การคัดค้านการสร้างป้อมของออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) กลับถูกพบว่า มีพวกไพร่จำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องการถูกเกณฑ์แรงงานไปก่อสร้างป้อมปราการ ได้นำเงินมาเป็นสินบนมอบให้กับออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก)
จากแนวคิดไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการป้องกันประเทศของยุโรป จึงถูกพลิกให้กลายเป็นเรื่องการรับสินบนจากไพร่ ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ที่ทรงเห็นออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) เป็นเสมือนญาติมิตรพี่น้องและคนโปรด พลันทรงโกรธขึ้นมาอย่างมาก ได้สั่งลงอาญาด้วยไม้โบยตี
การโบยตีลงโทษในความผิดฐานรับสินบนครั้งนี้ ทำให้ออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) ถึงกับล้มป่วย และเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา สร้างความรู้สึกเสียใจกับสมเด็จพระนารายณ์เป็นอย่างมาก เพราะนายเหล็กเป็นหนึ่งในจำนวนน้อยคน ที่พระองค์ทรงไว้วางใจ
ออกพระศรีเนาวรัตน์ (อกา มะหะหมัด) จากไป , ออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) ก็จากไป .. คอนสแตนติน ฟอลคอน จึงขึ้นมามีบทบาทโดดเด่นเพียงลำพัง โดยได้รับบรรดาศักดิ์ตำแหน่งเป็น “ออกญาวิไชเยนทร์” หรือ พระยาวิไชเยนทร์ เข้าควบคุมอำนาจกรมพระคลังการค้าของกรุงศรีอยุธยาทั้งหมด ภายใต้ความเชื่อถือจากสมเด็จพระนารายณ์ที่พระองค์พยายามเดินทรงตัวอยู่บนเส้นลวดของอำนาจ ให้ผ่านได้ตลอดรอดฝั่ง
เรื่องราวในช่วงนี้มีความเข้มข้นอย่างไร และสถานการณ์ของอยุธยาในช่วงนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ติดตามทั้งหมดได้ที่นี่ https://www.luehistory.com/?p=22404
เลือกติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Lue History ได้ที่นี่
#LueHistory #กรุงศรีอยุธยา #อยุธยายุทธการ
โฆษณา