10 ธ.ค. 2023 เวลา 06:00 • การเมือง

บทวิจารณ์เบื้องต้นต่อแนวคิด Network Monarchy: ปฏิบัติการผ่านตัวแทนพระมหากษัตริย์?

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงมีความสำคัญยิ่งต่อทั้งสังคมไทยและการเมืองไทย ด้วยเวลาการครองราชย์ที่ยาวนานที่สุดกว่าที่พระมหากษัตริย์พระองค์ใดของสยาม/ไทย และเกือบจะยาวนานที่สุดในโลกด้วยระยะการครองราชย์กว่า 70 ปี เป็นรองเพียงพระมหากษัตริย์ผู้ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศสซึ่งครองราชย์ 72 ปี
แน่นอนว่าการครองราชย์ที่ยาวนานเช่นนี้ย่อมมีนัยสำคัญและมีพื้นที่อีกมากมายให้เข้าไปศึกษา ตั้งแต่มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และนิติศาสตร์ รัชสมัยของรัชกาลที่ 9 โดยเปรียบแล้วจึงเป็นเสมือนห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดห้องหนึ่งของไทย และอาจจะของโลก
เมื่อพื้นที่แห่งการศึกษา หรือหากจะพูดให้ชัดเจนมากขึ้นคือการทำความเข้าใจพระองค์มีมากมาย ภาระที่หนักหน่วงอย่างหนึ่งคือการสรุปใจความและแสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องและความเปลี่ยนแปลงอย่างครบถ้วน ดังนั้นจึงมิใช่สิ่งที่เกินเลยไปนักว่าเรื่องราวที่เรารู้ ทราบ และเข้าใจเกี่ยวกับรัชสมัยรัชกาลที่ 9 เป็นเพียงเศษเสี้ยวของความจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด และความจริงในส่วนที่เหลือนั้นก็รอให้เราไปค้นพบ ซึ่งเราอาจจะพบ
หรืออาจจะมิอาจเอื้อมถึงความจริงทั้งปวงที่พระองค์ต้องแบกรับหรือซ่อนมันไว้เลยก็ได้ ดังนั้นความพยายามในการสรุปหรือเข้าใจรัชสมัยพระองค์เราจึงเห็นการสรุปอย่างสั้นๆ แต่ได้ใจความใหญ่ (แต่รายละเอียดที่ประกอบขึ้นมาเป็นการสรุปนั้นเป็นอีกประเด็น) เช่น พระองค์มีบทบาทต่อการอยู่รอดของรัฐไทยในช่วงสงครามเย็น หรือพระองค์ทรงเป็นผู้คอยประสานให้ประเทศไทยไม่แตกออกเป็นเสี่ยงในช่วงวิกฤต
อย่างไรก็ดี เมื่อมาถึงวิกฤตการเมือง พ.ศ. 2549 ที่บริบทของการเมืองไทยนั้นขยับออกมาจากบริบทเดิมอย่างมากก็ได้เกิดกระแสความพยายามทำความเข้าใจพระองค์ขึ้นมาอีกกระแส ซึ่งเราสามารถเรียกกลุ่มนี้ได้ว่าเป็นกระแสวิพากษ์ที่มีทีท่าอย่างจริงจังในการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์กับบทบาททางการเมืองที่มากเกินไป นักวิชาการในกลุ่มนี้เราย่อมเห็นโดดเด่นหลายคน ไล่ตั้งแต่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ธงชัย วินิจจะกูล ฯลฯ
แต่ทั้งนี้นักวิชาการผู้หนึ่งที่ได้จุดกระแสการวิพากษ์ครั้งใหญ่คงหนีไม่พ้น Paul Handley ซึ่งแม้ตัวเขาเองจะเป็นเพียงนักข่าว แต่ด้วยเหตุผลบางประการเขากลับพิมพ์หนังสือตีพิมพ์กับ Yale University Press อันเป็นสำนักพิมพ์วิชาการได้ ด้วยหนังสือของเขาอย่าง The King Never Smiles และต่อมาได้มีผู้ต่อยอดสิ่งที่เขาเสนอออกไปอีกคือ Duncan McCargo ซึ่งได้เขียนลงในบทความชื่อ Network monarchy and legitimacy crises in Thailand
ที่ได้เสนอขึ้นไปอีกขั้นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ปฏิบัติการเมืองผ่านเครือข่ายของสถาบัน! สิ่งที่เราจะสังเกตได้ก็คือความพยายามในการทำความเข้าใจนี้เราอาจเปรียบภาพเสมือนลูกตุ้ม ที่เมื่อฝั่งหนึ่งเหวี่ยงไปสุดทาง อีกฝั่งหนึ่งก็ย่อมเหวี่ยงกลับมาแรง การนำเสนอภาพรัชสมัยของพระองค์จึงมีความเป็นการเมืองอยู่มากแม้กระทั่งในวงวิชาการเอง
แนวคิดของ McCargo เป็นอย่างไร และมีจุดใดที่อาจผิดพลาดบ้าง ติดตามใน https://www.luehistory.com/?p=22395
เลือกติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Lue History ได้ที่นี่
#LueHistory #สถาบันพระมหากษัตริย์
โฆษณา