9 ธ.ค. 2023 เวลา 08:26 • ประวัติศาสตร์

จอร์จและราชวงศ์ฮันโนเวอร์ กษัตริย์อังกฤษจากเยอรมัน

ราชวงศ์อังกฤษเป็นหนึ่งในราชวงศ์ที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป ประกอบด้วยสมาชิกเชื้อพระวงศ์มากมายทั้งในและนอกอาณาจักร แต่ในบางครั้งก็ประสบปัญหาการหาทายาทสืบราชบัลลังก์ ด้วยเหตุผลด้านศาสนา
ในอังกฤษเกิดการปฏิรูปศาสนาตั้งแต่สมัยของกษัตริย์
เฮนรี่ที่ 8 แห่งราชวงศ์ทิวดอร์ ซึ่งแต่งตั้งตัวเองเป็นประมุขของฝ่ายศาสนาและสถาปนานิกายอังกฤษ(Church of England) ขึ้นเป็นศาสนาประจำประเทศ แต่ในบางครั้งที่กษัตริย์หรือราชินีองค์ต่อๆมายังคงศรัทธากับนิกายโรมันคาธอลิค และพยายามเปลี่ยนประเทศให้นับถือศาสนาแบบเดิม
อย่างในกรณีของกษัตริย์เจมส์ที่ 2 ซึ่งทำให้ประเทศเกิดความวุ่นวายอย่างหนักและจบลงด้วยกันที่รัฐสภาทูลเชิญพระเจ้าวิลเลี่ยมและพระนางแมรี่จากฮอลันดามาปกครองอังกฤษ ทําให้กษัตริย์เจมส์ที่ 2 ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ
หลังจากที่กษัตริย์วิลเลี่ยมและราชินีนาถแมรี่ขึ้นครองราชย์ มีความพยายามทางกฎหมายในการจำกัดสิทธิให้เฉพาะเชื้อพระวงศ์ที่นับถือนิกายโปรเเตสแตนต์เท่านั้นที่มีสิทธิขึ้นครองราชย์
พระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ (Act of Settlement)ในค.ศ.1701 ออกมาเพื่อป้องกันมิให้ทายาทคนอื่นที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกสามารถขึ้นครองราชย์ได้ โดยในขณะนั้น ทายาทลำดับ 1 ได้แก่ เจ้าหญิงแอนน์ น้องสาวของราชินีนาถแมรี่และทายาทลำดับ 2 คือเจ้าหญิงโซเฟียแห่งพาลาทิเนต (Sophia of the Palatinate) ทายาทจากฝั่งเยอรมัน ซึ่งเป็นหลานตาของกษัตริย์เจมส์ที่ 1
ราชินีนาถแอนน์ แห่งราชวงศ์สจ๊วต
เจ้าหญิงแอนน์ขึ้นครองราชย์เป็นราชินีนาถแอนน์ในปี 1702 ซึ่งพระองค์ไม่สามารถมีทายาทเพื่อสืบสันตติวงศ์ได้ เจ้าหญิงโซเฟียแห่งพาลทิเนต จึงเป็นทายาทลำดับ 1 แต่เธอสิ้นพระชนม์ก่อน ทำให้ตำแหน่งทายาทของราชบัลลังก์อังกฤษตกอยู่กับลูกชายคนโตของเธอ จอร์จ ลุควิค(George Ludwig of Brunswick-Luneburg)
จอร์จเกิดและเติบโตที่ฮันโนเวอร์ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเยอรมนี เขาดำรงตำแหน่ง elector of Hanover ต่อจากบิดาของเขาในปีค.ศ.1698 และรับตำแหน่งเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษในปีค.ศ.1714 ขณะที่อายุ 54 ปี ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์ฮันโนเวอร์ สถานะกษัตริย์ของจอร์จถือเป็นสิ่งที่ท้าทายเขาอย่างมาก เนื่องจากเค้าพูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้ จึงสื่อสารกับสมาชิกรัฐสภาโดยใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก และการบริหารประเทศที่กษัตริย์ต้องทำงานร่วมกับรัฐสภา อาจทำให้เขาไม่สามารถใช้อำนาจได้อย่างสมบูรณ์เหมือนสมัยที่ปกครองฮันโนเวอร์
กษัตริย์จอร์จที่1 แห่งราชวงศ์ฮันโนเวอร์
ในช่วงต้นรัชกาล กษัตริย์จอร์จประสบปัญหากบฏ จากกลุ่มผู้สนับสนุนเจมส์ เอ็ดเวิร์ด สจ๊วต(James Edward Stuart) ลูกชายของกษัตริย์เจมส์ที่ 2 ที่พยายามอ้างสิทธิ์เหนือบัลลังก์"กบฎจาโคไบท์"ซ่องสุมกำลังในสกอตแลนด์เป็นหลัก และมีกองทหารสเปนร่วมสนับสนุน ซึ่งเกิดจลาจลครั้งสำคัญในปีค.ศ.1715 แต่ถูกปราบปรามลงเพราะมีผู้เข้าร่วมน้อย
ในฐานะกษัตริย์ของอังกฤษ จอร์จไม่เป็นที่นิยมมากนัก เขาถูกดูแคลนว่าเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งเขาเองก็ไม่ชอบอยู่ที่อังกฤษและเดินทางกลับฮันโนเวอร์บ่อยๆ แถมยังมีเรื่องอื้อฉาวของเขากับภรรยาก็ถูกเผยแพร่ออกไปเป็นวงกว้าง เขากล่าวหาโซเฟีย โดโรเธีย (Sophia Dorothea of Celle) ว่าเธอมีชู้และจับขังในปราสาทอาร์เดน
อย่างไรก็ตาม เขาก็พยายามปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ เขาทำงานร่วมกับฝ่ายวิก(Whig) ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาฝ่ายที่สนับสนุนกษัตริย์จากโปรเเตสแตนต์ เขามีส่วนสำคัญในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับฝรั่งเศส และร่วมกันต่อต้านสเปนในช่วงค.ศ. 1717-1718
ด้วยข้อจำกัดทางภาษาและอำนาจการบริหาร ทำให้เขาไม่ค่อยเข้าร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรีและพึ่งพาสภาเป็นหลัก ถึงแม้จะดูเหมือนว่าเขาเป็นกษัตริย์ที่ไม่สนใจบ้านเมือง แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการถ่ายโอนอำนาจจากสถาบันกษัตริย์ไปยังรัฐสภา ซึ่งทำให้ระบอบรัฐสภาของอังกฤษมีความเข้มแข็งในเวลาต่อมา
ในค.ศ.1720 The South Sea Company ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสิทธิพิเศษในการค้าขายกับอาณานิคมสเปนที่อเมริกาใต้ ประสบปัญหาล้มละลายจากภาวะฟองสบู่แตก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอังกฤษครั้งใหญ่เพราะว่าบริษัทนี้มีทั้งรัฐบาล ราชวงศ์และชนชั้นสูงร่วมลงทุน เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ความนิยมในตัวกษัตริย์จอร์จลดลงไปอีก ซึ่งเซอร์โรเบิร์ต วาลโพล(Sir Robert Walpole) สมาชิกรัฐสภาฝ่ายวิกเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมคลังคนแรก และมีผลเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปีค.ศ.1721-1742
Sir Robert Walpole นายกรัฐมนตรีคนแรกของอังกฤษ
จอร์จอาจเป็นกษัตริย์ที่ไม่ได้เป็นชื่นชอบเท่าใดนัก แต่ก็เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าเจมส์ เอ็ดเวิร์ด สจ๊วตหรือเชื้อพระวงศ์ฝ่ายคาธอลิคคนอื่นๆ ซึ่งอังกฤษเองเคยมีบทเรียนอันเลวร้ายกับกษัตริย์คาทอลิคที่พยายามเปลี่ยนประเทศแบบตามใจตัวเองจนทําให้ประเทศเกิดความวุ่นวายหรือการสูญเสียชีวิต จึงไม่เสี่ยงที่จะให้เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งตัวของกษัตริย์จอร์จ รวมถึงกษัตริย์คนต่อๆมาของราชวงศ์ฮันโนเวอร์ ถือว่าสามารถปรับตัวกับประเทศอังกฤษได้ดี ความนิยมของแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์และเหตุการณ์ในแต่ละรัชกาล
กษัตริย์จอร์จสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ.1727 รวมอายุ 67 ปี ลูกชายของเขาขึ้นครองบัลลังก์ต่อในนามกษัตริย์จอร์จที่ 2 ซึ่งราชวงศ์ฮันโนเวอร์ยังคงปกครองอังกฤษจนถึงปี 1901 โดยกษัตริย์คนสุดท้ายได้แก่พระราชินีนาถวิคตอเรีย
ในภาพรวมของราชวงศ์ฮันโนเวอร์ถือว่าเป็นช่วงที่มีเสถียรภาพทางการเมือง ระบอบรัฐสภามีความเข้มเเข็ง มีความก้าวหน้าในหลายๆด้านทั้งอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และศิลปะที่ได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ สิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานและสิทธิการเลือกตั้งถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น และที่สําคัญคือการแผ่ขยายอํานาจในยุคล่าอาณานิคม ทําให้อังกฤษกลายเป็นมหาอํานาจซึ่งครอบครองดินแดนถึง1ใน 3 ของโลก
ข้อมูลอ้างอิง
หนังสือ “อารยธรรมตะวันตก” ศ.เพ็ชรี สุมิตร,
บรรณาธิการ สนพ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2527
โฆษณา