13 ธ.ค. 2023 เวลา 06:00 • ประวัติศาสตร์

เปิดกว้างและเท่าเทียม เลือดเจ้ามลายาในรั้ว ‘จตุรมิตร’ บุตรเจ้าแขกกับการศึกษาในโรงเรียนชั้นนำสยาม

ในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ชื่อของเครือโรงเรียนจตุรมิตร คงเป็นกระแสที่อยู่ในความสนใจของคนไทยไม่มากก็น้อย บางคนอาจรู้จักและรับรู้ในมุมของกลุ่มโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและเกียรติประวัติของโรงเรียนที่ก่อตั้งมาอย่างยาวนาน และก็อีกบางคนที่อาจเคยได้ยินชื่อทั้ง 4 โรงเรียนมาแบบผ่าน ๆ ที่อาจไม่ได้รู้ปูมหลังเรื่องราวโรงเรียนทั้งสี่มาก่อนเท่าไหร่นัก
แต่หลังจากกระแสจตุรมิตรในปีนี้ที่มาพร้อมบทความบางชิ้นที่เขียนทำนองค่อนแคะ ก็เพียงพอที่จะพากันปักใจเชื่อในสิ่งที่บทความเหล่านั้นเขียนซะแล้ว โดยเฉพาะการพยายามชี้นำผู้อ่านว่า เครือจตุรมิตรเป็นโรงเรียนของ ‘อีลิต’ เพราะการที่มีศิษย์เก่าเข้าสู่วงการเมืองมากมาย และโดยที่ไม่พยายามนำเสนอที่มาและที่ไปอย่างตรงไปตรงมา จนเห็นได้ชัดถึงเจตนาอำพรางและบิดเบี้ยว
ผู้เขียนจึงอยากสื่อสารความเห็นในอีกด้านที่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ว่าเพราะโรงเรียนเหล่านี้ ‘มีคุณภาพ’ ใช่หรือไม่ ? จึงทำให้ศิษย์ได้รับการยอมรับและมีความสามารถมากในทุกแวดวง และเพราะโรงเรียนทั้งสี่นี้ ‘มีความเก่าแก่’ ใช่หรือไม่ ? จึงทำให้บรรดาคนกรุงเทพเมื่อร้อยปีก่อนเป็นต้นมาเลือกที่จะส่งบุตรหลานเพศชายเข้าเรียน
หากจะว่ากันตามจริงแล้วเครือจตุรมิตรคือโรงเรียนราษฎร์-หลวง ที่ล้วนก่อตั้งขึ้นในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชทั้งสิ้น เริ่มจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย (2395) ที่เป็นโรงเรียนราษฎร์ที่เก่าแก่ที่สุดในไทย ตามมาด้วยโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (2424) และในปี 2428 ก็เป็นการก่อตั้งของโรงเรียนเทพศิรินทร์ ที่ได้ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5
โดยทางราชสำนักของในหลวงรัชกาลที่ 5 และโรงเรียนอัสสัมชัญ ตามลำดับ จึงไม่แปลกที่ระยะเวลาร้อยกว่าปี ทั้งสี่โรงเรียนจะได้ผลิตบุคลากรคุณภาพออกไปสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และไม่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมาเลเซียอีกด้วย
ศิษย์เก่าเทพศิรินทร์ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย
ตนกูอับดุล เราะห์มาน บุตรของสุลต่านอับดุลฮามิดแห่งรัฐไทรบุรีกับหม่อมชาวไทยที่ต่อมาได้กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียคนแรก ผู้ที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษเรื่อยมาจนกระทั่งสหพันธรัฐมลายาได้รับเอกราชในปี 2500 เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนเทพศิรินทร์ แรกเข้าปี 2456 ขณะอายุได้ 10 ขวบ และเรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้เป็นเวลา 2 ปีก่อนย้ายกลับไปเรียนที่เกาะปีนัง แต่กระนั้นสายสัมพันธ์ของท่านกับประเทศไทยก็เป็นไปอย่างแนบแน่นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี
ศิษย์เก่าอัสสัมชัญผู้ได้รับฉายา ‘เสือแห่งมลายา’
เต็งกูมะหมูด มะไฮยิดดิน ที่แม้ลงท้ายจะไม่ได้รับตำแหน่งการเมืองอันสำคัญใด ๆ และมีข้อครหาว่าเขาคือต้นเหตุอีกแห่งหนึ่งของขบวนการแบ่งแยกดินแดนทางใต้ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทว่าชาวมาเลเซียในรัฐกลันตันยังนับถือเขาอยู่ในฐานะเสือแห่งมลายา
ผู้มีบทบาทใต้ดินร่วมกับอังกฤษในช่วงญี่ปุ่นยึดครองมลายาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่างกับตนกูอับดุล เราะห์มาน เพราะเต็งกูมะไฮยิดดินจัดได้ว่าเป็นคนไทยเต็มขั้น เพราะเกิดและเติบโตในช่วงหนึ่งในประเทศไทย โดยเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรักในปี 2463-2466 ก่อนจะลี้ภัยไปมลายาหลังจากที่อับดุลกาเกร์ผู้เป็นบิดาได้ก่อกบฏต่อรัฐบาลสยามในสมัย ร. 6 (อีกครั้ง)
เพราะ ‘คุณภาพ’ ใช่ ‘ขู่เข็ญหรือบังคับ’
เพราะแม้เจ้าแขกเหล่านี้จะมีศาสนาและธรรมเนียมบางประการต่างไปจากชาวสยาม แต่ก็ยังตัดสินใจส่งบุตรหลานมาเรียนโรงเรียนไทยที่ใช้ระบบภาษาไทยในการสั่งสอนวิชา และโดยไม่มีหลักฐานว่าการตัดสินใจเหล่านี้มาจากการ ‘บังคับ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของตนกูอับดุล เราะห์มานที่ในเวลาที่เข้าเรียน ไทรบุรีหาใช่ส่วนหนึ่งของไทยแล้ว ซึ่งถ้าไม่ใช่ด้วยคุณภาพของสถาบันการศึกษาแล้ว ก็นึกไม่ออกว่าเจ้าแขกเหล่านี้จะเห็นประโยชน์อันใดถึงกับส่งลูกหลานมาเรียนไกลบ้านถึงนี่ ทั้ง ๆ ที่เกาะปีนังนั้นอยู่แค่เพียงแค่เอื้อมเท่านั้นเอง
อ่านเรื่องราว จตุรมิตรในแดนมลายา : บุตรเจ้าแขกกับการศึกษาในโรงเรียนชั้นนำของสยาม เพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.luehistory.com/?p=22418
เลือกติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Lue History ได้ที่นี่
#LueHistory
#จตุรมิตร #การเมือง #ประวัติศาสตร์
โฆษณา