16 ธ.ค. 2023 เวลา 19:46 • ประวัติศาสตร์

สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก กษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ขวัญใจของชาวภูฏานและชาวไทย

นับแต่ที่สมเด็จพระราชาธิบดีอุกเยน วังชุก เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและสถาปนาราชอาณาจักรภูฏาน เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2450 ราชวงศ์วังชุกและราชอาณาจักรภูฏานมีพระมหากษัตริย์ทั้งหมด 5 พระองค์
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 5 ของราชอาณาจักรภูฏานและราชวงศ์วังชุก และทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในระบอบประชาธิปไตยแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ พระองค์ทรงมีพระราชจริยาวัตรที่งดงาม เป็นที่เคารพยกย่องของชาวภูฏานและชาวไทย
พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 ที่โรงพยาบาลสูติกรรมและสตรีปโรปการ กาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล พระองค์เป็นพระราชโอรสใน สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก และ สมเด็จพระราชินีเชอริง ยางดน วังชุก พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเป็นพระมเหสีองค์ที่สามในบรรดาพระมเหสีทั้งสี่พระองค์
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก มีพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดา ซึ่งมีพระนามว่า เจ้าหญิงอาชิ เดเชน ยังซัม และพระอนุชามีพระนามว่า เจ้าชาย ดาโช จิกมี ดอร์จิ วังชุก
หลายร้อยปีที่ผ่านมา ภูฏานปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีพรรคการเมือง หวังหลง นักเขียนและนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ “ราชสำนักจีนหันซ้าย โลกหันขวา” บรรยายว่า ประชาชนภูฏานไม่ได้เรียกร้องให้ใช้ระบอบประชาธิปไตย คนส่วนใหญ่เชื่อมั่นในกษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง ครั้งที่พระองค์ (สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก) ประกาศสละพระราชอำนาจ และประกาศใช้ระบอบการปกครองประชาธิปไตย ประชาชนจำนวนหนึ่งยังเสียใจและกังวลอยู่ลึกๆ
อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงตรัสโน้มน้าวประชาชนด้วยพระองค์เองอย่างจริงใจว่า การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่อาจรับประกันว่าจะได้กษัตริย์ที่ดีตลอดกาล แต่ระบอบประชาธิปไตยสามารถรับประกันได้ว่าประชาชนจะมีสิทธิ์ปลดกษัตริย์ไม่ดี และรักษาสิทธิประโยชน์ของทุกคนเอาไว้
ดังนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย นัมชุก ทรงสละราชสมบัติพระราชทานให้แก่เจ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก รัชทายาท พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2549 โดยมีพระราชดำริในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย และได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอย่างแรกด้วยการพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันชาติของภูฎาน
หลังจากนั้นประมาณสองปี ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 พระองค์ได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการ ณ พระราชวังในกรุงทิมพู
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงเข้าพระราชพิธีราชาภิเษกภายในพระราชวังทาชิโชซอง ในเมืองทิมพู โดยสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงเป็นผู้ประกอบพระราชพิธี โดย พระราชทานมงกุฎไหมสีแดงดำแด่พระองค์ นอกจากนี้ยังมีนางซอนยา คานธี ประธานรัฐสภาของอินเดียเข้าร่วมในพิธีด้วย ทั้งนี้พระองค์ได้สืบบัลลังก์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์วังชุกด้วยพระชนมพรรษาเพียง 28 พรรษา และทรงปกครองประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตย
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงฉลองพระองค์สีแดงทองที่เป็นชุดคลุมยาวปิดเข่าอันเรียกกันว่า "โฆ" ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติของชายชาวภูฏาน ประทับบนบัลลังก์ทองคำ พระพักตร์เคร่งขรึม แต่ก็ทรงแย้มพระสรวลเล็กน้อยขณะทรงรับเครื่องถวายแด่สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ใหม่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และยังมีพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่พสกนิกรหลายพันคนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในตอนบ่ายของวันเดียวกันว่า
"ข้าพเจ้าไม่ต้องการสิ่งใด" "สิ่งที่สำคัญสำหรับข้าพเจ้าคือความหวังและความมุ่งมาดปรารถนาของ ประชาชน และพระชนมายุอันยืนยาวและพระพลานามัยอันแข็งแรงสำหรับสมเด็จพระราชบิดา จิกมี ซิงเย วังชุก ของข้าพเจ้า" "ในโอกาสอันพิเศษยิ่งนี้ ขอให้ร่วมกันสวดมนต์และขออธิษฐานขอให้แสงตะวันเฉิดฉันแห่งความสุขจะสาดส่องลงมาที่ประเทศชาติของเราเสมอไป"
นอกจากประชาชนหลายพันคนที่มารวมตัวกันถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ซึ่งประกอบพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ยังมีแขกสำคัญที่ร่วมในพิธีดังกล่าวคือ ประธานาธิบดีประติภา ปาติลแห่งอินเดีย และนางโซเนีย คานธี นักการเมืองคนสำคัญของอินเดียพร้อมด้วยบุตรธิดา เนื่องจากครอบครัวคานธีนั้นมีความสนิทชิดเชื้อกับราชวงศ์ภูฏาน
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ได้ทรงประกาศหมั้นกับ เจตซุน เพมา ซึ่งเป็นหญิงสาวสามัญชน โดยทั้งสองอภิเษกสมรสในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งภูฏาน จัดขึ้น ณ มณฑลพูนาคา ประเทศภูฏาน ทรงมีพระราชโอรส 2 พระองค์คือ เจ้าชายจิกมี นัมเกล วังชุก และ เจ้าชายจิกมี อุกเยน วังชุก และทรงมีพระราชธิดาพระองค์แรกคือ เจ้าหญิงโซนัม ยังเดน วังชุก
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงเคารพยกย่องพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และประเทศไทยเป็นอย่างมาก พระองค์ได้มีโอกาสเสด็จเยือนประเทศไทยอยู่หลายครั้ง ครั้งแรกคือ เมื่อครั้งงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พ.ศ. 2549 พระราชจริยาวัตรของพระองค์เป็นที่เคารพและให้ความสนใจของชาวไทยเป็นอย่างมาก
นับตั้งแต่วันแรกของการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ได้ทรงนำพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ข้าราชการระดับสูง ร่วมสวดมนต์และจุดเทียนหนึ่งพันเล่ม ณ พระมหาวิหารเกนราแห่งทาชิโชซอง ในกรุงทิมพู เมืองหลวงของประเทศภูฏาน และ 7 วันต่อเนื่อง ที่วัดทั่วประเทศในภูฏาน จัดพิธีสวดมนต์ บำเพ็ญพระราชกุศล และจุดเทียน ตามขนบธรรมเนียมเพื่อร่วมถวายความอาลัย
พีธีนี้นอกจากจะเปิดโอกาสให้ชาวภูฏานได้ร่วมแสดงความอาลัย ยังกลายเป็นพิธีที่มีความหมายอย่างยิ่ง สำหรับชาวไทยในภูฏาน บรรยากาศและผู้คนในพิธี เต็มไปด้วยความอบอุ่น เสมือนการปลอบประโลม โอบกอดหัวใจของชาวไทยในภูฏาน ในห่วงเวลาแห่งความสูญเสีย คนไทยในภูฏานบางคนได้มีโอกาสเข้าเฝ้า สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินไปร่วมสวดมนต์และบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระมหาวิหารเกนราแห่งทาชิโชซอง
นอกจากภาพคุ้นตาของชาวไทยที่ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ยังเคยเสด็จพระราชดำเนินเยือน ณ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาแนวทางพระราชดำริ การพัฒนาบนยอดดอยอินทนนท์และยอดดอยอ่างขาง ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำกลับไปปรับใช้บนพื้นที่ภูเขาสูง และทำการเกษตรของชาวภูฏานนี้จึงเป็นคำตอบที่พระมหากษัตริย์แห่งภูฏาน ตลอดพสกนิกรของพระองค์มีความรักความผูกพัน และอยู่เคียงข้างปวงชนชาวไทยทั้งในยามสุขและยามทุกข์ตลอดมา
โฆษณา