18 ธ.ค. 2023 เวลา 06:00 • ประวัติศาสตร์

‘อยุธยา ยุทธการ’ เกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ตอนที่ 11

ช่วงที่ฝรั่งเศสเข้ามาในสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เวลานั้นทางยุโรปกำลังวุ่นวาย ระหว่างสเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส - พระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 กำลังคิดจะเตรียมเปิดสงครามกับฮอลันดา ด้วยทางฮอลันดาไม่ได้มีอำนาจอะไรในทวีปยุโรป เพราะกำลังส่วนใหญ่ไปอยู่ในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นฐานการค้าของบริษัท VOC
ขณะเดียวกันเมื่อพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ได้รับข้อมูลจากคณะทูตชุดที่ 2 ของสยามที่เดินทางมาถึงฝรั่งเศส เพื่อตามหาคณะทูตชุดแรก (เรือล่ม) ว่าสยามยินดีจะยกเมืองยะโฮร์ อันเป็นเมืองท่าสำคัญในการเดินเรือให้เป็นสถานีทางการค้า
พระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ทรงมีความสนใจ เพราะการค้าในระยะนั้นฮอลันดาเป็นประเทศที่ทำการค้าได้มากที่สุดในยุโรป แม้ว่าการไปตั้งสถานีการค้าที่เมืองยะโฮร์ อาจจะต้องเผชิญหน้ากับกองเรือฮอลันดาที่ปักหลักอยู่แถวหมู่เกาะชวา ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับฝรั่งเศส ด้วยที่มีประชากรมากกว่าฮอลันดา 10 เท่า ศักยภาพในการรบไม่ได้ยิ่งหย่่อนไปกว่า
อีกทั้งข้อมูลจากคณะบาทหลวง รายงานว่าทางสยามเปิดกว้างแก่ทุกศาสนาเข้าไปเผยแพร่ได้ ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอริกของฝรั่งเศส ไปสร้างโบสถ์เริ่มต้นปักหลักแล้ว และคาดว่าบาทหลวงจะสามารถชักจูงให้สมเด็จพระนารายณ์หันมาเขารีตได้
พระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 จึงยอมจัดส่งคณะราชทูต พร้อมพระราชสาสน์แสดงไมตรีอย่างเป็นทางการมายังสยาม โดยมี เชอรวาเลียร์ เดอ โชมองต์ (Chevalier de Chaumont) เป็นราชทูต เดินทางมาสยาม โดยนำเอาคณะทูตชุดที่ 2 ของสยามกลับมาพร้อมกันด้วย
เรือของคณะราชทูตฝรั่งเศส ถึงสันดอนแม่น้ำเจ้าพระยาในวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1685 (พ.ศ. 2228) สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงส่งเสนาบดีสยามท่านหนึ่ง ซึ่งชื่อว่า โกษาธิบดี (ปาน) มาต้อนรับ
การต้อนรับของสยาม มีขบวนพิธีอันยิ่งใหญ่สร้างความประทับใจให้กับคณะทูตชาวฝรั่งเศสมากมาย มีเจ้าพนักงานเชิญพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ขึ้นประดิษฐานบนราชรถ , ราชทูต เชอรวาเลียร์ เดอ โชมองต์ ถูกเชิญให้ขึ้นนั่งบนเก้าอี้ปิดทอง มีคนหาม 10 คน ระหว่างทางแห่พระราชสาส์น มีการบรรเลงเพลงด้วยเครื่องเป่าปี่พาทย์ มีกลอง มีระฆัง
จนมาถึงการถวายพระราชสาส์นให้กับสมเด็จพระนารายณ์ในท้องพระโรง ซึ่งพระองค์ประทับอยู่บนบัลลังก์สูง - ทำให้ เชอรวาเลียร์ เดอ โชมองต์ ตกใจ เพราะได้ตกลงกับคอนสแตนติน ฟอลคอนแล้วว่า จะไม่คลานเข่าแบบชาวสยาม หรือคุกเข่าถวายสิ่งของ
แต่เมื่อมองดูความสูงของบัลลังก์ที่ประทับแล้วมันสูงเลยพ้นศีรษะของตนเองมาก - เชอรวาเลียร์ เดอ โชมองต์ จึงเดินตรงไปและยกพานพระราชสาส์นขึ้นเพียงหน้าอก , ฟอลคอน ได้ร่วมเข้าเฝ้าด้วย คลานเข่าเข้าไปใกล้ราชทูตฝรั่งเศสแล้วพูดว่า ชูให้สูงขึ้น สูงขึ้นไปอีก แต่ราชทูตฝรั่งเศสไม่ยอมทำตาม
สมเด็จพระนารายณ์ ทรงเห็นดังนั้นก็ทรงพระสรวล (หัวเราะ) พระองค์จึงทรงยืนขึ้นแล้วโน้มตัวมาหยิบพระราชสาส์นบนพานทอง – นั้นคือภาพประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ อันเป็นภาพเขียนขึ้นของชาวฝรั่งเศส จนกลายเป็นภาพติดตาของคนไทยและรู้จักกันทั่วโลก
โชมองต์ ราชทูตฝรั่งเศสได้ใช้โอกาสในครั้งนี้ชักชวนทูลให้สมเด็จพระนารายณ์ ทรงเปลี่ยนศาสนามาเข้ารีตเป็นคริสต์ ขณะที่ทางสมเด็จพระนารายณ์ ทรงได้พูดแต่เรื่องความกังวลในอิทธิพลของฮอลันดาที่อาจจะคุกคามสยาม และทรงพูดถึงการค้าของฝรั่งเศสในดินแดนสยาม
เชอรราเลียร์ เดอ โชมองต์ ราชทูต ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์หลายครั้ง ที่พระราชวังลพบุรี ระยะหลังมานี้สมเด็จพระนารายณ์มักจะประทับอยู่ที่ลพบุรีตลอดเวลา – โชมองต์ ราชทูต ผู้ได้ให้คำมั่นสัญญากับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของตนว่า จะทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงหันมานับถือคริสต์ศาสนา ก็พยายามชักจูงให้กษัตริย์แห่งอยุธยาหันมานับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอริก โดยไม่ยอมคุยเรื่องการค้าอื่น ๆ
สมเด็จพระนารายณ์ จึงทรงได้ตอบแบบ “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” แต่ชัดเจนในความหมายไปว่า
“พระองค์ไม่สามารถที่จะสละศาสนาที่มีมา กว่า 2,200 ปีนี้ได้ การจะเปลี่ยนศาสนาจะส่งผลกระทบกับสังคมอย่างมาก
และ ..
การที่พระเจ้าสร้างมนุษย์ให้มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และศาสนานั้น ย่อมแสดงว่าพระองค์ไม่ได้ต้องการให้โลกนี้มีเพียงศาสนาเดียว”
คณะราชทูตฝรั่งเศส อยู่ในกรุงศรีอยุธยา 3 เดือน หลังจากเจรจาทางการทูตไม่ประสบความสำเร็จ สมเด็จพระนารายณ์ไม่ได้มีความคิดที่จะเปลี่ยนศาสนา คณะราชทูตฝรั่งเศสจึงวางแผนเดินทางกลับในวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1685 (พ.ศ. 2228)
สมเด็จพระนารายณ์ ทรงทราบดีถึงความผิดหวังของคณะทูตฝรั่งเศส และพระองค์ก็ทรงไม่ได้รับการยืนยันที่ฝรั่งเศสจะเข้ามาค้าขายอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงช่วยต่อต้านการรุกรานของฮอลันดาที่มีอิทธิพลมากขึ้นในบริเวณเมืองท่าทางตอนใต้ของสยาม
สมเด็จพระนารายณ์ จึงทรงมอบหมายให้ โกษาธิบดี (ปาน) เป็นราชทูตของสยาม เดินทางอัญเชิญพระราชสาส์นของสมเด็จพระนารายณ์ ไปถวายให้พระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 พร้อมด้วยเครื่องบรรณาการต่าง ๆ จุดประสงค์เพื่ออธิบายเหตุผลของความไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนศาสนา แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธศาสนาคริสต์ให้มีเผยแพร่ในสยาม และทำความเข้าใจในเรื่องการค้า ความเกเรของฮอลันดา
การเดินทางของ โกษาธิบดี (ปาน) ในครั้งนั้น มีเรื่องราวบันทึกไว้ว่าอย่างไรบ้าง และการตอบรับของฝรั่งเศสในเวลาต่อมา เป็นอย่างไร ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.luehistory.com/?p=22458
เลือกติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Lue History ได้ที่นี่
#LueHistory #กรุงศรีอยุธยา #อยุธยายุทธการ
โฆษณา