20 ธ.ค. 2023 เวลา 02:01 • การเมือง

ร้อยความทรงจำเหตุการณ์ “ตากใบ” เมื่อ 19 ปีผ่านไป ความยุติธรรมยังมาไม่ถึง

นับเป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว ที่คำว่า “สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” ปรากฏในความรับรู้ของคนไทย ในฐานะ “พื้นที่สีแดง” ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง การก่อการร้าย และความไม่สงบ แม้ทุกวันนี้ ภาพลักษณ์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นพื้นที่แห่งศิลปวัฒนธรรมและธรรมชาติ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธว่า ดินแดนแห่งนี้เคยถูกชะโลมด้วยเลือดและยังมีเรื่องราวมากมายที่ยังคงเป็นปริศนา ทว่าถูกทำให้หลงลืมท่ามกลางกระแสข่าวที่ท่วมท้นรายวัน
พ.ศ.2547 เป็นปีที่ “ไฟใต้” ปะทุรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่โศกนาฏกรรมที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี เหตุเผาโรงเรียน ปล้นปืนในค่ายทหาร เหตุระเบิด และการสังหาร จนกระทั่งในเดือนตุลาคมปีนั้น เกิดเหตุการณ์อันน่าสลดใจ ที่เรียกกันว่า “กรณีตากใบ” ที่เกิดขึ้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม จากการชุมนุมของประชาชนกว่าพันคน ตามมาด้วยการสลายการชุมนุม และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 85 คน
และสิ่งที่น่าสลดใจยิ่งกว่า คือผู้เสียชีวิตจำนวนมากขาดอากาศหายใจ จากการถูกบังคับให้นอนทับกันบนรถบรรทุกเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ทว่าทุกวันนี้ ยังไม่มี “บุคคล” ใดได้รับโทษจากการกระทำอันไร้มนุษยธรรมเช่นนี้
เช่นเดียวกับเหตุการณ์น้อยใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ เรื่องราวของตากใบค่อยๆ เลือนหายไปกับกาลเวลาและกระแสข่าวต่างๆ จนกระทั่งเหลือเวลาอีกเพียง 1 ปี คดีตากใบจะหมดอายุความ นั่นหมายความว่า ทั้งผู้เสียชีวิตและผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก อาจจะไม่มีวันได้รับความยุติธรรมอีกเลยในชีวิตนี้ เพราะฉะนั้น ก่อนเรื่องราวเหล่านี้จะถูกลืมเลือน The Modernist ขอย้ำเตือนทุกคนด้วยหลากความทรงจำของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกรณีตากใบ ก่อนที่เรื่องราวของผู้คนในแดนปลายสุดของด้ามขวานจะถูกลืม
เดือนรอมฎอน: 10 วันสุดท้าย ก่อนฝันร้ายจะมาถึง
หากเป็นปีอื่นๆ วันที่ 25 ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ก่อนจะเข้าสู่วันฮารีรายอ ซึ่งเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองของชาวมุสลิม ในช่วงเวลานั้น ลูกหลานที่ไปทำงานในต่างแดนจะเดินทางกลับมาบ้าน พร้อมเงินเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่คนในพื้นที่จะเตรียมจับจ่ายซื้อของ ซื้อเสื้อผ้าใหม่ไว้ใส่ในวันรายอ และมีการฟังบรรยายธรรม ตามด้วยการแจกสิ่งของ เช่น ข้าวสาร น้ำตาลทราย ซึ่งเป็นธรรมเนียมของมุสลิมในช่วงเวลานี้
แต่เช้าวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2547 ซึ่งก็เป็นเช้าวันปกติวันหนึ่ง ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดเหตุร้ายแรงถึงชีวิต
“แบดุล” (นามสมมติ) ติดรถเพื่อนจากหมู่บ้านใน ต.ไพรวัน ไปยังตลาดตากใบ เพื่อซื้อเสื้อผ้าใหม่ ส่วน “ก๊ะยะ” (นามสมมติ) ไปที่ตลาดตากใบกับลูกชาย เพื่อซื้อของสำหรับให้ลูกชายไปเกณฑ์ทหาร ขณะที่ “แบเราะห์” ชาวบ้านกาเยาะมาตี และผู้คนจากหลายอำเภอเดินทางไปยังที่เดียวกัน เพื่อรับแจกสิ่งของ ทว่าภาพที่แปลกกว่าทุกวัน คือการชุมนุมด้านหน้า สภ.อ.ตากใบ เพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คน ที่ถูกกล่าวหาว่านำปืนของรัฐไปให้ผู้ก่อความไม่สงบ
“ตอนนั้นก็จะมีสำนักข่าวไทย คือ อ.ส.ม.ท. ช่อง 9 สำนักข่าวเดียวที่ส่งรถเข้ามาประจำที่ อ.ส.ม.ท. นราธิวาส พื้นที่มันไม่ปกติ เขาก็เลยส่งรถรายงานสดเข้ามาอยู่ในพื้นที่ แล้วก็ประจวบเหมาะกับเหตุการณ์ในวันนั้น เพราะว่าตอนนั้นที่สัมภาษณ์นักข่าว เขาบอกว่าตอนประมาณ 9 โมงครึ่ง ทหารมีการรายงานข่าวผ่านวิทยุว่า มีประชาชนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก มุ่งหน้าไปที่ สภ.อ.ตากใบ แต่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น” แวนูรไอฮัน แวดอเลาะ นักข่าวในพื้นที่เล่า
ภาพผู้ชุมนุมที่มีจำนวนมากกว่าปกติ สร้างความสงสัยให้กับแบดุล ก๊ะยะ และแบเราะห์ และดึงดูดให้พวกเขาเข้าไปดูการชุมนุมครั้งนี้อย่างใกล้ชิด
“ลูกก็ชวนจะไปซื้อของ ก๊ะก็ขอดูก่อนว่าเขาจะทำอะไร ไม่เคยเห็น พออยู่ก็ได้ยินข่าวว่าเขาจะจับ ชรบ. ลูกก็บอกว่า แม่ เราไปได้แล้ว มันจะเที่ยงแล้ว ก๊ะก็บอกว่าเดี๋ยว ขอดูก่อนว่าเขาจะปล่อยจริงไหม” ก๊ะยะเล่า
ด้าน “ก๊ะดะห์” (นามสมมติ) ผู้มีบ้านอยู่ใกล้ถนน ก็สังเกตว่ามีรถผ่านหน้าบ้าน และมุ่งหน้าไปยังตากใบจำนวนมาก ซึ่งลูกชายของก๊ะก็คาดว่าจะไปด้วย ก๊ะจึงตัดสินใจออกไปตามลูกกลับบ้าน
“ก๊ะก็ให้เด็กที่อยู่ในหมู่บ้านไปส่งที่เจ๊ะเห (ตากใบ) ก็มีคนไปส่ง แล้วก็ไปเจอโต๊ะอิหม่ามเขาตันหยง เขาก็ห้าม บอกว่าอย่าเข้าไปเลย เดี๋ยวจะเกิดอันตราย ไม่ทราบว่าเขาไปทำอะไรกัน ก๊ะก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอก เพราะหลายคนเขาก็เข้าไปกัน ตอนนั้นยังเข้าได้อยู่ คิดว่าจะไปหาลูก จะเอาลูกกลับบ้าน” ก๊ะดะห์บอก
ท่ามกลางช่วงเวลาอันแปลกประหลาดนั้น แบดุลตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะมีการปลุกระดมให้ผู้คนจำนวนมากเดินทางมาที่นี่ และขณะที่มีการชุมนุม ก็มีเสียงโห่ร้องด้วยภาษาไทยกลาง ให้ปล่อยตัว ชรบ. ทั้ง 6 คน ทั้งที่โดยปกติแล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ใช้ภาษายาวีสื่อสารกัน
จนกระทั่งเวลา 10.00 น. ก็มีเสียงปืนยิงขึ้นฟ้า แล้วสถานการณ์ก็เข้าสู่ความโกลาหล เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำเพื่อสลายการชุมนุม ทำให้ประชาชนกว่าพันคนที่อยู่ตรงนั้นต้องหมอบลง และคลานไปที่ริมแม่น้ำ ตามมาด้วยการยิงปืน และแบเราะห์ถูกยิงเข้าที่ลำตัว ขณะกำลังวิ่งหาที่กำบัง
ก๊ะยะเล่าต่อว่า เธอพลัดหลงกับลูกชาย “แล้วก็มีประกาศจากตำรวจ ทหาร ให้ผู้หญิงขึ้นไปรวมตัวกันในอาคารหน้าโรงพัก ผู้ชายก็หมอบอยู่ตรงนั้น แล้วทหารก็มาบอกว่า ผู้หญิงขึ้นมา ผู้ชายถอดเสื้อ อาแบ (สามี) ก็ถอดเสื้อ เขาใส่เสื้อสองชั้น ทหารบอกว่า เสื้อตัวนี้เอาไปเก็บ เสื้อข้างในนี้เขาถอดแล้วก็มัดมือ”
หลังจากนั้น ช่วง 18.00 น. ผู้ชายทุกคนในที่ชุมนุมถูกมัดมือไพล่หลัง และลำเลียงขึ้นรถบรรทุก ส่วนผู้หญิงนั้น เจ้าหน้าที่ได้พาไปส่งที่บ้าน ซึ่งในคืนนั้น ลูกชายก๊ะดะห์ไม่ได้กลับบ้าน
“ตอนนั้นช่วงกลางคืนก็ไม่ได้หลับ เพราะว่าทราบแล้วว่าลูกไม่กลับ ก็ไปถามคนในหมู่บ้าน ก็ไม่ทราบว่าลูกไปไหน แล้วก็มีข่าวว่า ตอนนี้ก็ไม่ทราบว่าข่าวมาจากไหน ก็คือว่า คนที่เขาจับได้ ก็ลำเลียงไปที่ปัตตานีแล้ว คนที่เสียชีวิตก็ให้ไปดูที่ปัตตานีเหมือนกัน ที่ค่าย” ก๊ะดะห์เล่า ซึ่งเธอได้พบลูกชายในอีก 2 วันต่อมา ในร่างไร้วิญญาณ เช่นเดียวกับก๊ะยะ ที่สูญเสียสามีไปในเหตุการณ์นี้ ส่วนลูกชายนั้นถูกกักตัวอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหาร 2 คืน ก่อนที่จะไปเกณฑ์ทหาร
จากรายงานของไทยรัฐออนไลน์ ผู้ถูกควบคุมตัวถูกจับนอนทับกันมากกว่าสองชั้น บนรถบรรทุกทหาร 25 คัน คันละ 50 – 90 คน มุ่งหน้าไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ห่างออกไปราว 150 กม. การขนส่งในลักษณะนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 78 ราย ขณะที่ผู้รอดชีวิตส่วนหนึ่งพิการจากการถูกกดทับเป็นเวลานาน หรือป่วยเป็นโรคไต จากการขาดน้ำเป็นเวลานาน
นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ในที่ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นคนจากต่างอำเภอ ที่ถูกชักชวนให้มาที่ตากใบ โดยไม่ทราบมาก่อนว่ามาทำอะไร ขณะเดียวกัน คนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุกลับไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้น ประเด็นนี้ นิการีมะ หะยีนิเลาะ หนึ่งในชาวบ้านในตากใบเล่าว่า
“ชาวบ้านที่อยู่แถวๆ นี้ เขาไม่ทราบนะคะ เรื่องนี้น่ะ เขาไม่รู้ว่าเขามาทำไม อะไรยังไง เพราะว่าเป็นคนนอกทั้งนั้นที่เข้ามา”
“ชาวบ้านที่อยู่ตรงนั้นบอกว่า ตอนนั้นตำรวจกับทหารที่อยู่หน้าบ้านเขาก็ไม่ให้ออกมา แล้วก็มีช่วงหนึ่งที่ประชาชนไปเสียชีวิตอยู่หน้าบ้านเขา เขาจะช่วย แต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้ เขาก็เลยเข้าไปข้างใน แล้วก็ไปอยู่ชั้นสอง แล้วก็เห็นช่วงที่เขาถีบขึ้นรถ เขาบอกว่าเขาก็ได้ยินทุกอย่าง แต่ว่าช่วงที่ขนขึ้นรถ เขาก็รับไม่ได้ในส่วนของมนุษยธรรมว่าทำไมทำกันถึงขนาดนั้น”
นิการีมะ หะยีนิเลาะ
นอกจากจะมีผู้เสียชีวิตแล้ว ยังมีชาวบ้านอีก 58 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหารวมตัวกันชุมนุมโดยผิดกฎหมาย หนึ่งในนั้นคือแบดุล ซึ่งถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำนราธิวาส 6 วัน ก่อนถูกปล่อยตัว จากนั้นก็ต้องสู้คดีในศาล พร้อมยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังกระทรวงยุติธรรม ก่อนที่จะมีการถอนฟ้อง และยุติคดีในที่สุด โดยใน พ.ศ.2549 นายกรัฐมนตรี สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้กล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการต่อเหตุการณ์นี้
จากนั้น มีการอนุมัติเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ โดยผู้เสียชีวิตทั้งในที่เกิดเหตุและขณะเคลื่อนย้าย รวม 85 คน รวมถึงผู้ทุพลภาพ ได้รับเงินเยียวยารายละ 7.5 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ถูกดำเนินคดี ได้รับเงินเยียวยารายละ 30,000 บาท
“ถ้าถามว่าพอไหม ไม่พอ กับสิ่งที่เขาเยียวยาให้ ตอนนั้นผมได้ประมาณ 5 แสน แล้วก็เลี้ยงลูกอีก 4 คน เรียนทุกคน ตอนนั้นลูกยังเล็ก ช่วงนั้นก็ทำงานไม่ได้ ป่วยอยู่ ทำได้แค่รับจ้างกรีดยางแค่นั้น เพื่อใช้จ่ายในครอบครัว ตอนนี้ก็กรีดยางนิดๆ หน่อยๆ ส่งลูกเรียน ลูกก็จบแล้ว ปริญญาตรีคนหนึ่ง อนุปริญญาคนหนึ่ง แต่ไม่มีงานทำ” แบเราะห์ ผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนของเจ้าหน้าที่กล่าว
“ในส่วนของแบเราะห์ ก็คือโดนยิงจากข้างหลัง ตรงนั้นแผลมันมองไม่เห็นว่าเป็นแผลใหญ่ เพราะว่าแผลจริงๆ อยู่ข้างใน มันไม่เหมือนคนที่พิการ ที่มันเห็นชัดไงคะ หลังจากที่แบเราะห์ออกจากโรงพยาบาลมาอยู่บ้าน ก็ไปหาซื้อยาจากร้านยาเท่านั้น ที่กลับมาล้างแผล รักษาอยู่ที่บ้านเท่านั้นเอง” นิการีมะกล่าวเสริม
นอกจากความบาดเจ็บทางร่างกาย บาดแผลทางใจที่มองไม่เห็น ก็ไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่รอดชีวิตจากการถูกคุมตัวบนรถ ที่ต้องเผชิญกับความตายของคนรอบข้าง เช่นเดียวกับแบดุล ที่แม้จะได้รับเงินเยียวยาจากการถูกดำเนินคดี แต่บาดแผลในใจที่ฝังลึกกลับไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม
“หลังจากออกมาจากเรือนจำ ทรมานที่สุดเลย กลับมาอยู่บ้านตอนเย็นๆ มันกลัวอยู่ในใจ ประมาณ 6 โมง ต้องปิดประตูเลย เพราะว่ากลัวเขาจะมาหา เขาจะมาจับไป ทรมานที่สุดเลย บอกลูกๆ ว่าตอนเย็นต้องเข้าบ้านเลย” แบดุลกล่าว
ริมแม่น้ำโกลก ฝั่งตรงข้าม สภ.อ. ตากใบ จุดเกิดเหตุสลายการชุมนุมตากใบ
อย่างไรก็ตาม คำตอบเดียวที่ชาวบ้านไม่เคยได้รับ คือ “ใครคือผู้สั่งการในวันนั้น”
“เราขอต่ออีกสักระยะได้ไหม อยากให้รัฐจับตัวจริงให้ได้ ผมจะดูอันนี้ไง ว่าใครเป็นตัวการที่ทำให้เกิดกรณีตากใบ ขอต่ออายุความได้ไหม เท่านั้นเอง” แบดุลกล่าวถึงกรณีตากใบที่ใกล้จะหมดอายุความในอีก 1 ปีข้างหน้า
ด้านก๊ะคนหนึ่งที่สูญเสียน้องชายจากเหตุการณ์ที่ตากใบกล่าวว่า “สิ่งแรกที่อยากได้คือ อยากได้คนผิดมาลงโทษ เพราะน้องฉันไม่ใช่คนผิด ทำไมน้องฉันต้องตาย”
“จากใจของเรา เพราะว่าน้องเราก็เสียไปแล้ว ก็อยากให้เอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ อยากให้ดำเนินคดีตามกฎหมายของรัฐ อยากได้ตรงนั้นมาก รอมา 19 ปีแล้ว ไม่อยากให้ถึง 20 ปี เพื่อหมดอายุความไปเฉยๆ อยากให้คนผิดได้รับการลงโทษ ไม่อยากให้หมดอายุความ จะได้ไม่สูญเปล่า ไม่อยากให้มันเงียบหายไปในที่สุด แล้วคนทำก็หายไปด้วยเช่นกัน”
“ที่กลัวที่สุดก็คือการที่ไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะว่าทุกปี พูดไปก็ไม่เห็นคืบหน้าอะไรเลย เรื่องความยุติธรรมสำหรับชาวบ้านสามจังหวัด ไม่มีเลย จะเอาคนผิด เหมือนกับเหตุการณ์ตากใบ ผ่านมาได้ตั้ง 19 ปี อยู่มาได้ยังไงตั้ง 19 ปี ไม่มีคนผิด ไม่มีอะไรเลย"
"ใหม่ๆ ก็มีแหละ ชาวบ้านกลุ่มที่ไปดำเนินเรื่องที่กรุงเทพฯ ไปยื่นเรื่องที่ศาลอะไรแบบนี้ จะเอาผิดคนที่ว่าทำผิดจริงๆ ไปๆ มาๆ ศาลไหนก็ไม่รู้เหมือนกันนะ แกบอกว่า ก็รัฐเยียวยาให้แล้วไง เรื่องมันก็จบ พอเจ้าหน้าที่พูดแบบนี้ ก็ใจฝ่อกลับบ้านกันหมดแล้ว เสียความมั่นใจกันหมดแล้ว กลับเถอะ ยังไงเราก็ไม่ชนะ ก็เคยได้ยินแบบนี้” ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวกับ The Modernist
วันฮารีรายอที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
The Modernist ได้พบกับชาวบ้านที่มาพบปะกันที่หาดบลาแวร์ ใน อ.ตากใบ เนื่องในวันครบรอบ 19 ปี เหตุการณ์ตากใบ หลายคนสะท้อนภาพวันฮารีรายอใน พ.ศ.2547 ซึ่งควรจะเป็นงานรื่นเริง แต่กลับเงียบเหงา และเต็มไปด้วยความโศกเศร้า
“ความรู้สึกของคนที่สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ ณ วันนั้น ทุกครั้งที่มันถึง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน มันจะทำให้ทุกคนกลับไปนึกถึงเหตุการณ์ ณ วันนั้นทุกครั้ง แล้วมันจะมีน้ำตากับเหตุการณ์ ณ วันนั้น” เสียงจากหญิงชราคนหนึ่งเล่าถึงบรรยากาศก่อนวันฮารีรายอที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งในทางกายภาพและความรู้สึกของผู้คน
ความรุนแรงที่สะสมมาในระยะเวลาหนึ่ง บวกกับกรณีการสลายการชุมนุมที่ตากใบ ส่งผลให้รอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนชาวไทยพุทธและชาวมุสลิมยิ่งลึกขึ้นกว่าเดิม แบดุลเล่าว่า ในปีแรกๆ ที่เกิดเหตุการณ์ ชาวไทยพุทธและมุสลิมต่างก็หวาดระแวงซึ่งกันและกัน จนกระทั่งห่างเหินกันไปนานเกือบ 2 ปี ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายก็ค่อยๆ ฟื้นตัวและกลับมาดีขึ้นในปัจจุบัน
ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่างศาสนากำลังฟื้นตัว แต่ดูเหมือนว่าความสูญเสียที่ไม่อาจเยียวยาได้ คือการสูญเสียเสาหลักของครอบครัว เนื่องจากผู้ที่จากไปเมื่อ 19 ปีก่อน เป็นคนหนุ่มและคนวัยทำงาน ซึ่งเป็นความหวังของครอบครัว เป็นพ่อ และเป็นลูกเป็นหลานของใครสักคน และหากพวกเขายังมีชีวิตอยู่ ณ ตอนนี้ ก็จะเป็นปู่ เป็นตาของเด็กอีกหลายคนเช่นกัน
หญิงชราคนหนึ่งเล่าว่า ทุกวันนี้เธอยังไม่อยากนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกชายวัย 31 ปี
“แกมีลูกหลายคน แต่ว่าแกหย่ากับสามีตั้งแต่ลูกที่เสียอายุแค่ 12 เดือน แกก็อยู่กันมาจนกระทั่งลูกคนที่เสียอายุ 31 แล้วยังไม่แต่งงาน ก็เลยอยู่กับแก แกก็ผูกพันกับลูก แล้วลูกแกคนนี้ก็ช่วยดูแลน้องชายอีกคน ถ้าวันนี้เขายังอยู่ก็อายุ 51 แล้ว เขาไม่อยากแต่งงาน เพราะว่าอยากเลี้ยงดู ส่งน้องก่อน เขาก็รักน้อง เขาอาจจะคิดว่าถ้าแต่งงานต้องรับผิดชอบดูแลเมีย อาจจะไม่ได้ดูแลน้อง เขาสงสารแม่ เหมือนเป็นเสาหลักของบ้าน” แวนูรไอฮันแปลความจากแม่เฒ่าที่พูดภาษายาวี
ด้านหญิงชราวัย 81 ปีคนหนึ่งก็เล่าถึงหลานชายคนเดียวที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ เมื่ออายุเพียง 25 ปี
“หลานแกที่เสีย พ่อแม่เลิกกันตั้งแต่เด็ก ยายก็เลยรับดูแล มาตั้งแต่เล็กๆ จนอายุ 25 แล้วก็มาเสียในเหตุการณ์ตากใบ ยายก็เลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก แกก็เลยคิดถึงมาก ก็ไม่มีหลานคนอื่น หลานไม่ค่อยได้เรียนหนังสือหรอก แต่ว่าชอบทำงาน ขยันทำงาน ก็จะไปทำงานกับพ่อที่อยู่โกลก แม่ของหลาน ที่เป็นลูกของเมาะ ก็ไปทำงานที่มาเลเซีย เมาะก็เป็นคนเลี้ยงหลาน”
“เขาเป็นเด็กดี ไม่ขโมยของคน ไม่ได้ไปมีปัญหากับใคร ไม่สร้างเรื่องราวให้ครอบครัว ถ้าแกอยากได้เงิน แกก็บอกว่า แม่ๆ แล้วก็ทำมือแบบนี้” แม่เฒ่าทำท่าแบมือพร้อมยิ้ม
ก๊ะวัย 60 ปี เล่าย้อนถึงวันที่ทราบว่าสามีจะไม่มีวันได้กลับบ้านอีกแล้วว่า ขณะนั้น สามีอายุ 51 ปี วันนั้นเป็นช่วงเช้า เขาบอกว่าจะไปซื้อเครื่องยนต์รถไถนา พอออกจากบ้านไป ก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย
“พอช่วงเวลา 10 โมง ก็ได้ยินว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่แกยังอยู่ที่นา ทำนาอยู่ ตอนนั้นแกรู้สึกใจสั่นเพราะว่าตั้งท้องอยู่ ตอนนี้ลูกอายุ 18 ปี ก็คือเกิดหลังจากพ่อเสีย ตอนนั้นตั้งท้องแค่ 2 เดือนเอง แกก็รู้ว่ามีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้น แต่ไม่คิดว่าสามีจะเสีย ถัดไปอีกวันหนึ่ง แกก็เพิ่งได้รับคำยืนยันว่าสามีเสียแล้ว สองคนนี้ก็เลยเอารถไปรับ บ้านอยู่ใกล้กันเลย สองคนนี้ แกก็เลยยืมรถของน้องชายสามี พากันไปรับศพสามี ก็เลยพาก๊ะคนนี้ไปด้วย” แวรนุไอฮันแปล
พิษจากความรุนแรงในเหตุการณ์ตากใบไม่ได้ส่งผลแค่ความโศกเศร้าเสียใจ ความกลัว หรือความหวาดระแวงเท่านั้น แต่บางครั้งก็ผลิดอกออกผลเป็นความอาฆาตแค้น หลายคนหันหน้าไปร่วมก่อความรุนแรงที่ใหญ่กว่าเดิม
“รัฐน่ะลืม แต่คนที่นี่สะสม อย่าลืมว่า ถ้าพ่อตาย เขามีลูก มีพี่น้อง มันมีความเจ็บปวดสารพัด ไม่ใช่ทุกคนที่จะบอกว่า กูต้องเรียนให้เยอะ เพื่อพัฒนาตัวเอง มันมีคนสะสมอาวุธรอแก้แค้นเหมือนกัน คือมันมีหลากหลาย มีวิธีคนละแบบ นี่ต่างหากที่น่ากลัว ถ้ารัฐยังแก้ปัญหาแบบนี้ มันมีความเจ็บปวดบางอย่างที่ทำให้เขารู้สึกว่า ทนไม่ไหวแล้ว ตายเป็นตาย” รอมือละห์ แซเยะ นักการเมืองจากพรรคประชาชาติ ผู้รับหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษาให้เรากล่าว
รอมือละห์เปรียบเทียบความสูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ กับเหตุระเบิดที่โกดังเก็บพลุใน ต.มูโนะ ว่า เหตุระเบิดที่มูโนะเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิด และไม่ได้เห็นการกระทำของบุคคลที่ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากกรณีตากใบ
“เหตุการณ์ตากใบมันดูเป็นการเจาะจงที่จะทำร้ายคนเกินไป คนรับไม่ได้เพราะมีความรู้สึกว่ามันเป็นตัวบุคคล มนุษย์ทำร้ายมนุษย์ แล้วมันดูเหมือนตั้งใจให้เกิด ตั้งใจแช่ให้ตาย เรารู้สึกว่าตากใบไปค่ายอิงคยุทธมันไม่ได้ไกลขนาดนั้น อย่างเร็วอย่างช้า 3 ชม. ก็ไปถึง แล้วนี่มันข้ามวันข้ามคืน เขารู้สึกรับไม่ได้ แล้วลักษณะการลำเลียงคน มันโหดร้าย”
“คำถามของคนก็คือว่า ทำไปได้อย่างไร หัวใจคุณทำด้วยอะไร เพราะไม่ใช่ญาติคุณใช่ไหม คุณถึงทำได้ลงคอ คือคำถามพวกนี้มันจะวน มันเหมือนคนไทยกันเอง ทำไม เกลียดชังอะไรกันหนักหนา ถึงขนาดต้องทำขนาดนี้ คือมันไม่ใช่สงคราม ในขณะที่การปฏิบัติทุกอย่างมันเหมือนสงคราม แล้วหลังจากนั้น กฎต่างๆ ที่ออกมา มันยิ่งทำร้ายจิตใจ คนเจ็บแล้ว คนตายแล้ว เราสูญเสียแล้ว เรายังจะโดนคดีอีก คนก็เลยรู้สึกว่าเหตุการณ์ตากใบมันฝังใจมาก เขารู้สึกว่ารับไม่ได้ที่โดนทำร้ายแบบซ้ำซ้อน โดน และโดน และโดนอีก” รอมือละห์กล่าว
ในวงสนทนาที่หาดบลาแวร์ เราถามชาวบ้านแต่ละคนว่าผ่านพ้นความรู้สึกเป็นทุกข์จากการสูญเสียมาได้อย่างไร แทบทุกคนตอบว่า “เป็นเพราะพระเจ้าอยู่กับเราเสมอ”
แวรนุไอฮันอธิบายว่า “ในส่วนของศาสนาอิสลามเอง เขาสอนให้รู้จักการปล่อยวาง แบบว่าเป็นกำหนดการของพระเจ้าอยู่แล้ว ถ้าพระเจ้ากำหนดมาให้ชีวิตเขาสั้น ด้วยอายุเท่านั้นก็คือเท่านั้น”
นี่จึงอาจเป็นคำอธิบายถึงเรื่องราวของก๊ะคนหนึ่ง ที่ตัดสินใจปล่อยนกที่สามีเลี้ยงไว้ออกจากกรง หลังจากที่สามีเสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ และพูดกับนกว่า “ต่างคนต่างมีชีวิตหลังจากนี้ เจ้าของของเธอก็ไม่อยู่แล้ว ต่างคนก็ต่างออกไปหากิน”
เหลือก็แต่การนำผู้ก่อเหตุตัวจริงมาดำเนินคดี เป็นความยุติธรรมที่ไม่เคยมาถึงตลอดระยะเวลา 19 ปี
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
ความทรงจำของผู้ค้นหาความจริง
“ตอนนั้นอยู่องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แล้วเหตุการณ์มันก็ใหญ่พอสมควร ก็เลยถูกจัดเป็นกลุ่มสืบหาข้อเท็จจริง (fact finding) ลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อเท็จจริง มาจดบันทึก อยู่ในรถตู้คันหนึ่ง มีอยู่ 3 – 4 ทีม” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เล่าย้อนถึงการลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งแรกในชีวิต เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงในกรณีตากใบ
“จริงๆ เรื่องแรกที่ทำให้รู้จักสามจังหวัดชายแดนคือคดีทนายสมชาย แต่ไม่ได้ลงพื้นที่ มาลงตอนเหตุการณ์ตากใบ แต่ก็ตกใจตั้งแต่กรือเซะแล้ว ตายอะไรกัน วันหนึ่งร้อยกว่าศพ ไม่เคยเจอ แต่จริงๆ มันก็หลังจากฆ่าตัดตอนนะ ตอนนั้นทักษิณก็โดนหมายหัวจากองค์กรสิทธิฯ แล้วแหละ มาเจอกรือเซะ เจอตากใบอีก เกี่ยวข้องกับทนายสมชายอีก ก็เลยได้มาสนใจ”
พรเพ็ญเล่าว่า เธอและคณะได้ลงพื้นที่หลังจากเหตุการณ์คลี่คลายประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ได้เห็นภาพเหตุการณ์อันน่าสลดใจอย่างชัดแจ้ง จากแผ่นซีดีที่มีผู้บันทึกคลิปวิดีโอ และนำมาแจกจ่ายในพื้นที่
“บังเอิญรถตู้มีเครื่องฉายซีดี มีจอ ตอนนั้นก็มีทีมนักศึกษามาช่วยเป็นล่ามให้ ชื่อมะ เขาก็ดูคลิปวิดีโอร่วมกันกับเรา ตอนนั้นเราก็ตื่นเต้น เราก็เห็นภาพแล้วแหละ แต่คลิปนี้มันชัด แรง เรียลมาก เขาก็อ้างว่ามาจากมาเลเซีย ซึ่งเราก็ไม่รู้ คนที่ถ่ายก็ไม่รู้ใคร นักศึกษาที่ชื่อมะก็ร้องไห้โฮๆ แบบห้ามไม่อยู่เลยในรถ ระหว่างที่ดูคลิปวิดีโอ โหดร้ายมาก สะเทือนจิตใจผู้คนมาก”
ในมุมมองของพรเพ็ญ การปลุกระดมเพื่อสร้างสถานการณ์ก็มีความเป็นไปได้
“การประท้วงให้ปล่อยคนมันมีอยู่เรื่อยๆ นะ ไม่ใช่มีแค่เคส 6 คนนี้ หลายครั้งมันเกิดจากการจับตัวผิดคน นาวิกโยธินที่ถูกจับ หรือครูจูหลิง มันก็จะมีเรื่องของการกดดันให้ปล่อยคนที่ถูกจับ เป็นชาวบ้านที่รัฐเชื่อว่าเป็นผู้ก่อการ ไปประท้วงว่าเขาเป็นคนดีของชุมชน ก็มีแบบนี้อยู่เรื่อยๆ แต่เหตุการณ์ตากใบ สเกลมันน่าจะใหญ่กว่า เช่น การบอกว่ามีการแจกของ ซึ่งการแจกของของชาวบ้านไม่ใช่เรื่องไม่ปกติ ปกติ แต่การเรียกคนไปแล้วมีคนมาเยอะ มันผิดปกติ”
“แล้วก็เรื่องของการรวมกลุ่มของชาวบ้าน ถ้าดูในคลิปวิดีโอมันจะมีคนที่พันผ้าปิดหน้า และพี่ก็เพิ่งได้ยินว่ามีเสียงตะโกนภาษาไทย มันก็มีความน่าสงสัยว่า ถ้าเขาจะปลุกระดมกันเอง ทำไมตะโกนเป็นภาษาไทย ซึ่งเราไม่รู้เลย และปัจจุบันก็ไม่อาจรู้ได้ว่าการปลุกระดมมันเกิดจากคนภายในกันเอง คนมลายูด้วยกันปลุกระดมกันเอง หรือเป็นการสร้างพล็อตอะไรบางอย่าง"
"เพราะว่ามันมีการสั่งการบางอย่าง อย่างเช่น จริงๆ ประชาชนที่สอบข้อเท็จจริงก่อนหน้านั้น เขาอยากกลับนะ แต่เขาออกไม่ได้ มันถูกปิดล้อมหมดเลย หรือแม้กระทั่งปิดในที่ไกลๆ ด้วย ต้อนให้เข้ามาอยู่ใน สภ.อ. ด้วย ยึดมอเตอร์ไซค์ คนอยากกลับบ้านก็กลับไม่ได้ ไม่ได้อยากอยู่ต่อ แต่ก็กลับไม่ได้”
พรเพ็ญเล่าว่า เรื่องเล่าจากฝั่งเจ้าหน้าที่ระบุว่ามีการหมายหัวผู้ที่ปลุกระดมชาวบ้านไว้แล้ว ทว่าคำสั่งที่ให้ผู้ชายทุกคนถอดเสื้อ ทำให้ไม่สามารถระบุตัวบุคคลที่หมายหัวไว้ตั้งแต่แรกได้ ทำให้ต้องจับกุมตัวทุกคน แล้วนำไปคัดแยก เหลือ 58 คน ซึ่งเป็นคนจาก อ.ตากใบ และพื้นที่ใกล้เคียงที่เจ้าหน้าที่จำหน้าได้ ส่วนคนที่ปลุกระดมจริงๆ นั้นก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร
“ประเด็นที่เรารู้สึกก็คือว่า เขาเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบ จากที่เราเห็นน้องนักศึกษาที่อยู่กับเรา ดิ่งมาก เราก็คิดว่าเราต้องทำอะไรบ้าง แต่กลับไปก็ทำเหมือนเดิม คือจดบันทึก เก็บรวบรวมเอกสารที่จำเป็นต่อการค้นหาความจริง เราก็พยายามทำหน้าที่ของเราในการจดบันทึกว่าไปเจอใครบ้าง”
“ต่อมาก็มาช่วยคดีของสภาทนายความ ก็จะมีเรื่องของการพิจารณาคดีในชั้นศาล ตอนนั้นยังคิดว่าถ้าเราช่วยกัน มันจะดีขึ้นนะ ตอนนั้นยังคิดอย่างนั้น คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงพวกเราหรอกนะ เดี๋ยวเหตุการณ์นี้มันก็จะผ่านไปด้วยดี แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลย เหตุการณ์ตากใบมันก็หลอกหลอน คนนั้นก็อยู่ตากใบ คนนี้ก็อยู่ตากใบ เรื่องที่พ่อแม่เขาเล่าให้ฟัง ในชุมชนก็มีเยอะ บ้านกาเยาะมาตีมีคนเสียชีวิตหลังจากนั้นเยอะมาก” พรเพ็ญกล่าว
ในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กรณีตากใบสะท้อนให้พรเพ็ญเห็นถึงความยุติธรรมที่ล่าช้า และกัดกร่อนจิตใจชาวบ้านผ่านกาลเวลาที่หมุนไปเรื่อยๆ
“ประเด็นความสนใจของเหตุการณ์สามจังหวัดมันมาเป็นกระแส ตอนแรกๆ ข่าวก็ลงกันวุ่นไปหมด พอมีความสนใจอื่นมันก็ไป ทำให้สามจังหวัดไม่ค่อยได้รับความสนใจ ดังนั้น เวลาที่ชาวบ้านหรือการเรียกร้องสิทธิหรือกระบวนการยุติธรรมที่มันเนิ่นนานมากๆ ชาวบ้านเขาก็ท้อหมดแล้ว เขาไม่มีแรงแล้ว พวกพี่ก็ไม่มีแรง จะไปประชุมชาวบ้านเหมือนครั้งที่เราไปประชุมกันแล้วฟ้องคดีอาญากันเมื่อปี 48 – 49 พวกเราก็ไม่มีแรงแล้ว ต่างคนก็ต่างแก่”
“กระบวนการยุติธรรมมันล่าช้าก็เพราะว่า จะเรียกว่าเราไม่มีประชาธิปไตยหรือไม่มีหลักการก็ได้ อย่างเช่น จริงๆ คดีตากใบที่ทำให้คนเสียชีวิต มันเป็นคดีอาญาแผ่นดินนะ หลังจากการไต่สวนการตาย คำพิพากษาเอง มันจะต้องบอกว่าใครเป็นคนทำให้ตาย ตามหลักการของกระบวนการชันสูตรพลิกศพนะ แล้วถ้าเขาทำให้ตาย เหตุผลในคำพิพากษาก็จะบอกว่า เขาทำโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือเขาทำโดยป้องกัน เขาทำโดยในหน้าที่ ซึ่งมันจะมีชื่อบุคคล คือใครทำให้ตาย”
“แต่ด้วยความชาญฉลาดของระบบโครงสร้างที่ว่านี้ มันก็เป็นคำพิพากษาที่ไม่มีชื่อคนที่ทำให้ตาย มีแต่เพียงว่าบุคคลเหล่านั้นขาดอากาศหายใจ จากการกระทำของกลุ่ม… จำไม่ได้ว่าใช้คำว่าอะไร แต่ว่าใช้แค่คำว่าเจ้าหน้าที่ โดยเหตุฝนจะตก น้ำมันจะท่วม ก็เลยต้องเร่งรีบ อะไรอย่างนี้ แล้วเจ้าหน้าที่ที่เอามาให้การก็เป็นพลขับทุกคนเลย ไม่ได้หันไปดู ไม่รู้อะไร”
“แต่คำพูดของชาวบ้าน โดนเตะ โดนต่อย โดนถีบบนรถ โดนเอาด้ามปืนกระทุ้ง ชาวบ้านก็ไม่สามารถเอาพยานหลักฐานอะไรขึ้นมาพูด เพราะพันกว่าคน เชื่อไหมว่าไม่มีใครขึ้นมาเป็นพยานเลย ด้วยความกลัว”
แม้จะผ่านไปเกือบ 20 ปี แล้ว เหตุการณ์ตากใบยังไม่สามารถพูดถึงกันได้อย่างเปิดเผย ส่วนหนึ่งมาจากความกลัว เนื่องจากยังมีผู้กระทำความผิดที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และยังได้รับการปกป้องจากระบบโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นสถาบันมากกว่าตัวบุคคล
“โดยส่วนรวมแล้วไม่ใช่ว่าการคุกคาม การดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ เป็นเรื่องของความเป็นห่วงว่าบุคคลนั้นจะถูกดำเนินคดี หรือถูกลงโทษทางวินัยหรืออาญา ทุกคนรู้ว่าตัวเองรอดพ้นจากสิ่งนี้แน่นอน"
"แต่การคุกคาม ความกลัว ไม่กล้าพูด ถูกปิด มันมาจากสถาบัน ซึ่งมันก็กลายเป็นโครงสร้าง ไม่ใช่ว่าร้อยตำรวจเอกคนนั้นกลัว ถึงมาขู่ไม่ให้พูด ไม่ใช่สิบตรีหรือพลโทอะไร ที่กลัวแล้วมาข่มขู่คนนั้นคนนี้ เหมือนมาเฟีย มันไม่ใช่ มันคือการปกป้องสถาบันทหาร สถาบันตำรวจ หรือเรียกว่าปกป้องรัฐไทยเลยก็ได้ ทั้งองคาพยพ ที่ทำให้ความเข้าใจเรื่องสามจังหวัดมันยาก แล้วมันก็นำไปสู่ความกลัว”
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่มันยังยากอยู่ คือเรื่องความกลัวของคนไทยพุทธ ที่ในระดับชุมชนมันอาจจะคลี่คลายไป แต่ในระดับสถาบันอีกเหมือนกัน ไทยพุทธในพื้นที่ก็ยังกลัวอยู่ ยังไม่อยากให้เลิกกฎหมายพิเศษ ยังไม่อยากให้ทหารออกนอกพื้นที่ ยังอยากให้มีค่าย มีป้อม มีด่านอะไรอย่างนี้อยู่ ก็จะถูกทำให้รู้สึกปลอดภัยแบบด่าน แบบทหาร อะไรพวกนี้ แต่โดยภาพรวมนะ มันไม่ได้ทำให้เขาปลอดภัยหรอก หรือไม่ได้ทำให้เขาอันตรายขึ้นเลย ถ้ายกเลิกกฎหมายพิเศษ มันเหมือนเป็นความมั่นคง ความไม่ปลอดภัยที่ถูกสร้างขึ้นน่ะ มันก็ไม่คลี่คลาย”
เช่นเดียวกับชาวบ้านทุกคน พรเพ็ญเห็นว่า ความยุติธรรมที่คนตากใบควรได้รับ คือการที่ “ใครทำผิดก็ต้องรับผิด” ต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการช่วยเหลือเยียวยาอย่างต่อเนื่อง
“พอเราพูดถึงว่าเขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ รัฐต้องเอื้อให้เขาไง อย่างเช่นการช่วยเหลือเยียวยา ไม่ใช่ช่วยครั้งเดียวแล้วจบ ช่วยให้ต่อเนื่อง ช่วยให้เขารู้สึกว่าสามารถฟื้นมาได้ ทั้งที่หัวหน้าครอบครัวไม่อยู่แล้ว ขอโทษก็ไม่ใช่แบบสักแต่ว่าขอโทษ ไม่มีความจริงใจ” พรเพ็ญกล่าว
เปลี่ยนความทรงจำเป็นพลัง
เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ ผู้ถูกจับกุมและผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นผู้ชาย นั่นหมายความว่า ครอบครัวทั้งครอบครัวจะต้องสูญเสียเสาหลัก อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงครั้งนี้ก็ได้บีบให้ผู้หญิงต้องลุกขึ้นมาเป็นเสาหลักใหม่ที่แข็งแรงให้กับครอบครัว โดยรอมือละห์เล่าว่า ที่ผ่านมา เมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ส่วนใหญ่เหยื่ออันดับหนึ่งมักจะเป็นผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักศึกษาชายในมหาวิทยาลัย กลุ่มคนที่ทำงานในโรงเรียนสอนศาสนาหรืออยู่ในแวดวงศาสนา และอาชีพอื่นๆ
“พอกลับไปดูรากเหง้าของผู้ชายที่มักจะประสบกับเหตุการณ์คดีความมั่นคง คือมันมีที่มาที่รัฐเพ่งเล็งว่าคนเหล่านี้มันจะต้องมีเรื่องซ่องสุม เรื่องก่อการร้าย เรื่องแบ่งแยกดินแดน เราจะเห็นเหยื่อเหล่านี้ เริ่มตั้งแต่อายุ 18 ไล่มาจนกระทั่งผู้ใหญ่ ปรากฏการณ์เหล่านั้นมันเลยมีผู้หญิงเข้ามาแทนที่ในบทบาทผู้ชาย เพราะผู้ชายไปไหนมาไหนเป็นกลุ่ม เริ่มโดนจับตา”
“เหล่านั้นทั้งหมดทำให้ผู้หญิงต้องขยับมาอยู่ข้างหน้า จากกิจกรรมต่างๆ เป็นกลุ่มผู้ชายซะเยอะ เริ่มมีผู้หญิงผสมเข้ามา จากผู้ชาย 1 คันรถ ผู้หญิง 1 คันรถ เริ่มมีผู้ชาย 1 คัน ผู้หญิง 2 คัน มันกลายเป็นว่าผู้หญิงเริ่มมีบทบาทในการปกป้องผู้ชายในพื้นที่มากขึ้น” รอมือละห์กล่าว
เหตุการณ์ตากใบจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนบทบาทของผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่บทบาทผู้ดูแลสามีที่บาดเจ็บ พิการ ไปจนถึงการขยับที่ทางจากแม่บ้านที่อยู่แต่บ้าน มาหัดขับรถ และออกไปทำงานนอกบ้านแทนสามี
“จำได้ว่ามีเคสหนึ่ง เขาเป็นแม่บ้าน เขาบอกว่าชีวิตนี้ไม่เคยคิดจะหัดขับมอเตอร์ไซค์ เพราะรู้สึกว่ามันมีคนช่วยเขาอยู่แล้ว จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาสูญเสียลูกชาย แล้วสามีไม่กล้าออกจากบ้าน เพราะมีความรู้สึกว่าตัวเองโดนคุกคาม ไม่สามารถจะขับรถให้เขา จากที่ขี่มอเตอร์ไซค์ไม่เป็น เขาหัดขี่เป็น ขับรถยนต์ไม่เป็น หัด เพราะต้องซื้อของ ขายของ ท้ายที่สุด จากที่กลัวขึ้นโรงขึ้นศาล ขึ้นอำเภอ ทำเป็นหมดเลย” รอมือละห์เล่า
“บางคนแม่บ้านแม่เรือนมากเลยนะ เขาเคยมีสามีทำให้ทุกอย่าง แต่ในวันที่ไม่มีสามีอยู่ เขาจะลุกขึ้นทำได้ทุกอย่างเลย ไข่เจียวที่เคยทำแค่ในบ้าน วันหนึ่งเขาจะทำให้อร่อยแล้วเอาออกมาขาย ขับรถไม่เป็นก็จะหัดให้เป็น ทุกอย่าง ในบ้านของเขาสามารถทำมาค้าขายได้หมดเลย เพื่อเลี้ยงลูก เพื่อดูแลคนในครอบครัว เขาจะกล้าที่จะฝึก นิดเดียวเอง แค่เลือกที่จะอยู่เท่านั้นเอง ก็เลยต้องสู้เพื่อรอด”
อาจเรียกได้ว่า การลุกขึ้นใช้ชีวิตต่อของผู้หญิงมุสลิมในตากใบมาจาก “พลังแห่งการปกป้อง” ที่ผู้หญิงเหล่านี้ต้องการปกป้องคนที่ตัวเองรัก ไม่ว่าจะเป็นลูกหรือสามี โดยรอมือละห์ขยายความว่า ผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนมักจะไม่อยู่นิ่ง ทำสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา ช่างพูด ชอบเล่าเรื่อง ในขณะที่ผู้ชายจะเก็บกดความทุกข์มากกว่าจะระบายออกมา
“เราจะเห็นข้อแตกต่างของผู้หญิงผู้ชายแบบนี้แหละ ผู้ชายส่วนใหญ่จะบอกว่าฉันอพยพตัวเองก่อนดีกว่า ตั้งหลักได้แล้วฉันค่อยว่ากัน ในขณะที่ผู้หญิงคิดว่า ถ้าฉันไม่ผิด ฉันจะอยู่ แล้วผู้หญิงก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย ฉันมีลูก แล้วลูกต้องไปโรงเรียน มันมีอะไรผูกพันไปหมด แล้วผู้หญิงก็จะไม่ไป ฉันจะสู้อยู่ตรงนี้แหละ ฉันจะตายกับลูกอยู่ตรงนี้แหละ จะตายกับสิ่งที่ฉันรักอยู่ที่นี่แหละ จะมีการตัดสินใจที่เด็ดขาดต่างกับผู้ชาย มันก็เลยเห็นพลังผู้หญิงเยอะแยะ”
“มันมีหลายเรื่องที่ผู้หญิงรู้สึกไม่ยอมน่ะ เรื่องนี้ผู้หญิงสู้ตาย แล้วเขารู้สึกว่า ท้ายที่สุดยังไง คนที่ทำร้ายเขา หรือคนที่เป็นคู่ต่อสู้เขา คงไม่ทำร้ายผู้หญิงเท่าที่ทำร้ายผู้ชาย เลยกล้าที่จะสู้กลับ มีปากเป็นอาวุธด้วย ไม่ยอม คือมันจะต่างจากกรณีผู้ชาย ที่ส่วนใหญ่จะเงียบ แล้วค่อนข้างที่จะหาทางออกด้วยการที่ถ้าไม่สู้ก็หนีเลย ในขณะที่ผู้หญิงรู้สึกว่าฉันไปไม่ได้ ฉันมีแม่ ฉันมีคนนั้นคนนี้เต็มไปหมด แล้วฉันก็เลยไปไม่ได้ ผู้หญิงก็เลยเลือกที่จะอยู่และสู้ ยังไงก็ได้ แต่ไม่ทิ้งบ้าน” รอมือละห์เล่า
ขณะที่ผู้หญิงประคับประคองครอบครัวให้อยู่รอด พวกเธอยังประคับประคองกันและกันไปด้วย โดยบุคคลแรกๆ ที่เข้ามาสร้างเครือข่ายพลังของผู้หญิง คืออาจารย์โซรยา จามจุรี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และนางแยนะ สะละแม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ก๊ะแยนะ” ที่เป็นผู้ฉุดมือให้ผู้หญิงผู้สูญเสียได้ลุกขึ้น และเดินหน้าต่อเพื่อครอบครัวและเพื่อตัวเอง
“ผู้ชายรวมตัวกันอยู่ดีๆ พอโดนรัฐคุกคามก็จะกระจาย จะหาย และจะน้อยลง ในขณะที่ผู้หญิง ยิ่งโดนคุกคาม จะยิ่งรวมตัว และการรวมตัวตรงนั้นแหละ ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีพลัง มันมีกลุ่มนี้ๆๆ เต็มไปหมดเลย พอเวลาไปไหนเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ ฉันรู้สึกว่าฉันมั่นคงแล้ว ฉันสู้ใครได้ แล้วก็เกิดปรากฏการณ์ที่ว่า ไม่ว่าใครหน้าไหนมา ฉันไม่กลัว ยิ่งถ้ารู้สึกว่าฉันไม่ผิด ฉันไม่กลัว”
“จริงๆ อย่างเดียวเลย เขาแค่ต้องรอด เขารู้สึกว่าเขาต้องรอด คนที่เขารักก็ต้องรอดด้วย เขามีคนเท่านี้ เขาก็รู้สึกว่าต้องฝ่าด่านทุกอย่างไป” รอมือละห์กล่าว
จดจำผู้จากไปในรูปแบบ “วัตถุทรงจำ”
นอกเหนือจากมุมมองของผู้สูญเสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบแล้ว กรณีตากใบยังถูกถ่ายทอดสู่ความรับรู้ของคนรุ่นใหม่นอกพื้นที่ด้วย หนึ่งในนั้นคือคณะทำงานของ “โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุจังหวัดชายแดนใต้” ที่ในระยะแรกของการเก็บข้อมูล ก็ได้พบว่า ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ต้องการให้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์นี้ เพราะไม่ต้องการเปิดแผลให้ภาพความรุนแรงเข้ามาทิ่มแทงจิตใจของพวกเขาซ้ำ
“Output ของโครงการตอนแรกคืออยากให้เป็นหนังสือ ในบทสัมภาษณ์ก็สะท้อนความทรงจำของเขาออกมา เราก็เลยตั้งใจว่า ในระหว่างที่จะเปิดตัวหนังสือ เราก็อยากจัดนิทรรศการพูดถึงเรื่องความทรงจำ แล้วที่บอกว่าทำไมเป็นเสียงเงียบ"
"พราะว่าเสียงของความรุนแรงในสามจังหวัด ที่ได้ยินมากที่สุดอาจจะเป็นจำนวน เป็นระเบิด เป็นอะไรที่ดังกว่าเสียงครอบครัว อาจจะมีคนทำ แต่ไม่ค่อยได้ยินในส่วนกลาง มันคือ Heard the unheard มาฟังเสียงที่ไม่ถูกได้ยิน” วลัย บุปผา ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการสัญจร “สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547” เล่าให้ฟังถึงที่มาของนิทรรศการที่หยิบเอาความทรงจำเกี่ยวกับคนตากใบมาเล่าเรื่อง
“ในชุดรวบรวมข้อมูลนี้มันก็เกิดกระบวนการที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการที่ครอบครัวเล่าถึงผู้ที่จากไป พอมองในมิตินั้น สิ่งที่พบหลักๆ ก็คือว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นผู้ชาย ฉะนั้น คนที่ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ก็อาจจะเป็นแม่ ภรรยา น้องสาว พี่สาว หรือพี่ชาย หรือญาติที่เป็นฝั่งผู้ชาย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นมุมมองจากฝั่งผู้หญิง"
"มันสะท้อนว่าคนที่จากไปทั้งหมดเป็นเพศชาย เมื่อมุมมองของการที่พูดถึงเขาคนนั้น ซึ่งเป็นกำลังหลักของบ้าน มันก็สะท้อนมิติของวัฒนธรรมชีวิตครอบครัว ปริมณฑลของบ้านมันจึงปรากฏเป็นความทรงจำที่พูดถึงคนนั้นคนนี้ด้วยมุมแบบนั้น”
ด้วยเหตุนี้ นิทรรศการ “สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547” จึงเลือกหยิบเอาวัตถุสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้ที่จากไปมาจัดแสดง พร้อมเรื่องเล่าประกอบ จากปากคำของครอบครัวของบุคคลนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นแก้วใส่ “แตออ” หรือน้ำชา ที่พ่อผู้จากไปเคยใช้ชงชาดื่มทุกเช้า, โสร่งของลูกชายที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ ที่แม่ของเขาเล่าว่า ลูกชายจะนุ่งโสร่งนี้ไปละหมาดทุกครั้งที่กลับจากทำงาน, สูตรซุปเป็ดของแบมะ อดีตคนขานอาซานและพ่อครัวประจำหมู่บ้าน ที่มักจะลงมือทำซุปเป็ดเลี้ยงชาวบ้านในโอกาสสำคัญ
กรือโป๊ะ หรือข้าวเกรียบปลา ขนมขบเคี้ยวที่ทำให้ภรรยาผู้สูญเสียสามีในเหตุการณ์ตากใบ สามารถลุกขึ้นและใช้ชีวิตต่อได้ ด้วยการทำข้าวเกรียบปลาขาย หรือแม้กระทั่งธนบัตรเปื้อนเลือดของเด็กหนุ่มวัย 16 ปี ที่ขอเงินจากพี่ชายและแม่มาซื้อเสื้อเพื่อใส่ในวันรายอ ก่อนจะถูกยิงเสียชีวิตในชุดนักเรียน
นอกจากนี้ในนิทรรศการยังจัดแสดงพื้นที่สุสานตะโละมาเนาะ ซึ่งเป็นพื้นที่ฝังศพส่วนหนึ่งที่เสียชีวิตจากการลำเลียงไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยจากคำบอกเล่าของบาบอ ผู้ละหมาดศพ ระบุว่า พื้นที่ตรงนี้อยู่ตรงกลางระหว่าง จ.นราธิวาส กับ จ.ปัตตานี เป็นประตูของปัตตานีกับนราธิวาส และยังใช้เวลาไม่มากในการลำเลียงศพเพื่อทำพิธีฝังตามหลักศาสนาอิสลาม
“ในคำให้สัมภาษณ์ของบาบอ บาบอบอกว่า ตอนที่แกพบร่างน่ะ แกเป็นผู้นำศาสนา แต่แกก็น้ำตาไหล เพราะว่าร่างของผู้เสียชีวิตวางไว้กลางสนาม ท่ามกลางแดดร้อนและลมฝน บาบอบอกว่า ‘ทำกับเขาราวกับเขาไม่เคยเป็นมนุษย์’ แต่ประเด็นก็คือ ‘ทำกับเขาราวกับว่าไม่ได้เป็นมนุษย์’ เนี่ย ใครไม่เป็นมนุษย์ คนทำหรือเปล่า” วลัยกล่าว
ด้วยความตั้งใจที่จะไม่ตอกย้ำความเจ็บปวดของชาวบ้าน วลัยและทีมงานขออนุญาตใช้สิ่งของและเรื่องราวของผู้สูญเสียทุกคน ซึ่งบางคนก็ไม่อนุญาต ด้วยไม่ต้องการเปิดแผลซ้ำ ขณะที่บางคนยินดีให้นำสิ่งของมาจัดแสดง แม้ยังไม่เข้าใจนักว่านิทรรศการนี้คืออะไร
“ตอนขอสิ่งของจากชาวบ้านในช่วงแรก ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจ นิทรรศการจึงไม่ได้มาจัดที่นราธิวาสตั้งแต่แรก แต่จัดที่กรุงเทพฯ ก่อน ทีนี้เรามีโอกาสได้เชิญก๊ะไป 4 ท่าน เขาได้เห็นวัตถุทรงจำ และเขาเข้าใจแล้วว่าเราเอามาทำอะไร เขาบอกว่า ‘อันนี้โอเค อยากให้มาจัดที่บ้านเรา’ เขาใช้คำว่า ‘บ้าน’ ‘อยากให้คนบ้านเราได้เห็น’ ทีมงานก็ใจฟูแล้ว"
"แล้วหอศิลป์มันมีความเป็นกลางมากที่สุดทั้งในแง่สถานการณ์ทางการเมืองหรือใดๆ และผู้คนที่เป็นเจ้าของความทรงจำก็จะรู้สึกปลอดภัยที่สุด ดีกว่าไปจัดที่ อบต. หรือสถานที่ของทางราชการ” วลัยกล่าว
ในที่สุด นิทรรศการ “สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547” ก็ได้เดินทางมาถึง ณ หอศิลป์ De’ Lapae อ.เมือง จังหวัดนราธิวาส ในเดือนตุลาคม 2566 โดยมีชาวบ้านเจ้าของวัตถุทรงจำมาเข้าชมนิทรรศการในจังหวัดที่เป็นเหมือน “บ้าน” ของพวกเขา ก๊ะคนหนึ่งจับเสื้อของลูกชายด้วยความคิดถึง ซึ่งนั่นเป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งของวลัย ในฐานะคนจัดงาน
“ตอนที่เสวนาที่ธรรมศาสตร์ มีคนถามว่า พี่กลัวผีไหม ไม่ค่ะ สิ่งที่พี่กลัวคือพี่กลัวเปื่อย พี่กลัวกระดุมหลุดค่ะ เราไม่กลัว เราไม่ร้องอะไรเลย วันนี้เห็นคุณแม่จับเสื้อ… มันคอนเฟิร์มว่าเราไม่ได้ทำร้ายเขา” วลัยกล่าวทั้งน้ำตาแห่งความปลื้มใจ
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้: กลับตัวไม่ได้ เดินต่อไปไม่ถึง
เมื่อเทียบกับใน พ.ศ. 2547 – 2554 สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้ดูเหมือนจะไม่รุนแรงนัก ด้วยข่าวคราวที่ไม่ได้ปรากฏในสื่อมากนัก ประกอบกับภาพของคนรุ่นใหม่ที่พลิกฟื้นภาพลักษณ์ของบ้านเกิดให้มีความเป็นมิตรมากกว่าในอดีต อย่างไรก็ตาม ในสายตาของคนพื้นที่อย่างรอมือละห์ สถานการณ์ในดินแดนปลายด้ามขวานนั้น “ดีขึ้นเฉพาะพื้นที่ ไม่ได้ดีทุกที่”
“ต้องใช้คำว่ามันดีขึ้นเฉพาะพื้นที่ มันไม่ได้ดีทุกที่ มันมีการปรับตัวในบางที่ แต่ยังแย่และคงที่ในบางที่ ไม่งั้นเราจะไม่ได้ยินเลยว่าปี 66 แล้ว ไม่มีวิสามัญ ยังมีค่ะ ไม่ควรมีปรากฏการณ์นี้แล้ว พอแล้ว แต่ก็ยังมีทหารตำรวจมาเป็นร้อย จับคนคนเดียวในกระท่อม คุณจับเสือ จับจระเข้ ที่เป็นสัตว์เดรัจฉาน คุณยังยิงยาสลบให้มันสลบได้ คุณไม่ได้อยากรักษาชีวิตคนที่นี่ แล้วทุกอย่างมันก็จบด้วยการตาย” รอมือละห์กล่าว
ขณะเดียวกัน หญิงชาวบ้านหลายคนก็เปิดเผยว่า พวกเธอไม่กลัวเจ้าหน้าที่อีกต่อไปแล้ว
“เขาบอกว่า เราไม่กลัวเพราะเราไม่ผิด เคยกลัวก็จริง แต่เรารู้สึกว่าเราผ่านมาแล้ว ที่เราไม่รู้สึกกลัวเพราะว่าเขาเป็นคนฆ่าน้องเรา เราจะกลัวเขาไม่ได้ เขาต่างหากที่ต้องกลัวเรา ความจริงเขาต้องกลัวเรา ไม่ใช่เราต้องกลัวเขา” รอมือละห์แปลความจากก๊ะคนหนึ่ง
“ภาพรวมเหมือนดีขึ้นเพราะชาวบ้านปรับตัว ชาวบ้านปรับตัวนะ ไม่ใช่รัฐปรับตัว เดี๋ยวนี้ชาวบ้านตั้งคำถามกลับ แล้วเจ้าหน้าที่ตอบไม่ได้ ก็ต้องเรียกหานายใหญ่ นายใหญ่ก็ต้องมาตอบคำถามให้ อันนี้มากกว่าที่ทำให้เขารู้สึกว่าไปเล่นไม่ได้แล้ว”
“พอเริ่มรู้สึกว่าชาวบ้านสู้ จะมาคุกคามแบบไม่มีความรู้ไม่ได้แล้ว” รอมือละห์กล่าว
ด้านพรเพ็ญมองว่า ทุกวันนี้สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่ยังไม่สามารถนำไปสู่สันติภาพได้ เพราะเจ้าหน้าที่เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการในการควบคุมประชาชน ไม่ได้ถือปืนมาวนเวียนตรงๆ อย่างเมื่อก่อน
“จะบอกว่าเขาปรับตัว เราก็เชื่อว่าเขาปรับตัวได้ดีมาก แต่มันจะนำพาไปสู่ความเข้าใจมากขึ้นไหม ยาก ลองดูชาวบ้านสิ น้ำตารื้นตลอดเวลา ก็ยังกลัวอยู่ ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย สถานการณ์มันไม่ได้คลี่คลาย เพียงแต่ทุกคนก็ปรับตัว ก็อยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้ เจ้าหน้าที่ก็ปรับตัวกับ NGO ปรับตัวกับชาวบ้าน” พรเพ็ญกล่าว
“สิ่งที่เขาทำมาตลอด มันทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม แล้วความพยายามที่มีมันก็ไม่นำพาไปสู่ความยุติธรรม ที่ผ่านมาไปร้องไต่สวนการตาย คดีความที่เราไปร้องเรียนองค์กรสิทธิมนุษยชน หรือกรณีที่ชาวบ้านถูกจับ ตัดสินคดีลงโทษ สลับวนเวียนกันไป มันไม่ใช่ความยุติธรรมที่จะเอื้อให้เกิดสันติภาพน่ะ ความยุติธรรมที่เป็นเครื่องมือของรัฐน่ะ”
“ถ้าจะเทียบก็คือว่า เราไม่รู้รัฐต้องการอะไรกับสามจังหวัด แต่ถ้าเทียบกับเรื่องของมาตรา 112 กฎหมายเป็นเครื่องมือมากเลย สำหรับการควบคุมประชากร ควบคุมคนที่เห็นต่าง ควบคุมคนมลายูกลุ่มนี้ ควบคุม NGO แบบนี้ ฟ้องปิดปาก กฎหมายใช้ได้ผลมาก เพราะองคาพยพเขาไปหมดน่ะ ตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการ ศาลอุทธรณ์ ไม่ให้ประกันตัว เครื่องมือเหล่านี้มันเอื้อให้รัฐใช้ในการควบคุมประชากร แต่ไม่ได้เอื้อให้เกิดสันติภาพ ความเข้าใจกันในกลุ่มประชากรที่เห็นต่าง” พรเพ็ญชี้
ความทรงจำกับความยุติธรรมของชาวตากใบ
ในฐานะที่คดีตากใบกำลังจะหมดอายุความในอีก 1 ปี ซึ่งดูจะเป็นระยะเวลาที่แสนสั้น และอาจทำอะไรไม่ได้แล้ว ด้วยกระบวนการทางราชการอันล่าช้า แต่พรเพ็ญกลับมองว่า “อายุความในทางอาญาอาจจะหมด แต่การเยียวยาช่วยเหลือนั้นไม่มีอายุความ”
“ในระยะเวลา 1 ปี ถ้าสมมติเรามองว่า ตอนนี้มันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารมาเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย อัยการซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายแผ่นดินให้กับรัฐบาลใหม่ ก็มีหน้าที่เหมือนกัน ก็คือฟื้นคดีขึ้นมาได้ ภายใน 1 ปี คุณสามารถจะรวบรวมพยานหลักฐาน ตั้งคณะทำงานใหม่ขึ้นมาได้ ยิ่งมีกฎหมายใหม่ พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหายใหม่ คุณสามารถเอาคดีกลับขึ้นมาก็ได้นะ”
“แม้ในทางกฎหมายอาญาจะไม่สามารถดำเนินคดีได้ เมื่อมันหมดอายุความ แต่การเยียวยาและการช่วยเหลือทางด้านการค้นหาความจริง การ tribunal ระบบการไต่สวนที่มันไม่ใช่คดีอาญาสามารถทำได้ คณะกรรมการค้นหาความจริงชุดใหม่ก็ตั้งได้โดยรัฐบาล อัยการจะหยิบจับสำนวนเดิมขึ้นมาปัดฝุ่น 1 ปี อัยการยังทำหน้าที่ของตัวเองได้อยู่ ไม่ต้องรอให้ชาวบ้านไปฟ้องเอง เพราะชาวบ้านบอบช้ำมามากแล้ว” พรเพ็ญกล่าว
นอกจากนี้ แนวทางที่สามารถทำได้ คือการจัดพิพิธภัณฑ์เพื่อรำลึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยต้องผ่านการพูดคุยปรึกษาหารือกับหลายฝ่าย และที่สำคัญคือ “ไม่ลืม”
“ไม่ลืม แล้วก็จดบันทึกมันในทุกขณะที่มันเปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน ของนักสิทธิฯ ของกระบวนการยุติธรรม มันก็ทำหน้าที่คล้ายๆ กัน”
เช่นเดียวกับวลัย ที่มองว่าการเยียวยาที่ง่ายที่สุด คือการจดจำว่าเหตุการณ์นั้นเคยเกิดขึ้นจริง และมีผู้สูญเสียจริง
“สำหรับประเทศไทย ความทรงจำกับเรื่องของความรุนแรง ไม่ว่าจะที่ตากใบ หรือว่าที่… ใดๆ ก็ตาม ความทรงจำของการถูกบังคับสูญหายใดๆ ก็ตาม ผู้ที่จดจำคือผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่เอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง ผู้ที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองจะเข้าไปเกี่ยวข้อง ความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆ มันก็พร่าเลือนมาก”
“ฉะนั้น ในประเทศนี้ สำหรับเรา ความทรงจำกับเหตุการณ์แบบนี้ หนึ่งคือมันเตือนแค่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ทันกับเหตุการณ์นั้น สอง มันอาจจะเป็นผีสำหรับผู้ที่เป็นผู้กระทำ ซึ่งเขาจะทำให้มันจางหรือไม่จางแค่ไหน เราว่าประวัติศาสตร์มันก็บันทึกและปรากฏอยู่แล้วว่าแต่ละเรื่องมันถูกทำให้จางอย่างไรในประเทศนี้”
“ฉะนั้นก็คือแต่ละคนจะจำเรื่องนั้นได้แค่ไหน ได้แค่ไหนน่ะไม่เท่าไร แต่อย่างไร จำแล้วอยู่ฝั่งไหน แต่จำอย่างไร จำจำนวนเลข หรือจำว่ายังมีคนที่ใช้ชีวิตอยู่แล้วก็มีรสชาติของชีวิตเหมือนกัน มันเป็นความทรงจำที่เรารู้สึกว่า ทุกคนมีส่วนร่วม” วลัยทิ้งท้าย ก่อนพาเราไปลิ้มรสความทรงจำของตากใบ ผ่านกรือโป๊ะ ซุปเป็ด และแตออร้อนๆ
เรื่อง : ณัฐธยาน์ ลิขิตเดชาโรจน์
ภาพ : กานต์ ราชวรรณดี
ภาพประกอบ : แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
โฆษณา