21 ธ.ค. 2023 เวลา 02:01 • ไลฟ์สไตล์

Nice light, Night life กรุงเทพฯ ราตรี ตอนนี้มีอะไร “น่าเดิน”

15 ธันวาคม 2566 ; กรุงเทพฯ
แสงอาทิตย์สีส้มลอดผ่านหมู่เมฆ ตัดกับสีฟ้าสดของท้องฟ้าหน้าหนาว เป็นสัญญาณบอกว่าดวงอาทิตย์กำลังใกล้จะเลิกงาน เช่นเดียวกับมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย หรือเด็กนักเรียนผู้ต้องการผ่อนคลายจากวันที่เหนื่อยล้า สถานที่ที่เรามักจะนึกถึงเพื่อฮีลใจคงเป็นที่นอนนุ่ม ๆ ที่บ้าน หรือร้านอาหารดี ๆ สักแห่ง แม้กระทั่งพื้นที่สาธารณะที่ดีต่อใจ
แดดร่มลมตกแบบนี้ เราออกปากชวนกองบรรณาธิการมาเดินเล่นในย่านเมืองเก่า เพราะเห็นว่าพื้นที่นี้กำลังมีกิจกรรมสนุก ๆ มากมาย ที่ยวนตายวนใจ ชวนให้เราใช้เวลาทอดสายตามอง ใช้หูฟัง และสัมผัสประสบการณ์นาน ๆ
เราเริ่มต้นจากงาน “Night at the Museum” ปีที่ 13 ในสถานที่จัดงานหลักอย่าง “มิวเซียมสยาม” ซึ่งงานชมพิพิธภัณฑ์ยามกลางคืนคราวนี้มาในตอน “Elephantastic Night at the Museum: Tales from the Trunk เล่าเรื่องราว เจ้าสี่ขา งางอน จากธรรมชาติสู่อำนาจทางวัฒนธรรม” ซึ่งจะพาคุณเรียนรู้เรื่องราวของช้างในบริบททั้งธรรมชาติ และสังคมวัฒนธรรมไทยด้วย
น่าสังเกตว่าพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ใน “กรุงเทพฯ” ที่เข้าร่วมงานนี้มุ่งเล่าเรื่องในธีม “ช้าง” เป็นหลัก เพราะประเทศไทยมีช้างอยู่ในแทบทุกโมเมนต์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มมึนเมา ปูนก่อสร้าง หรือกาว บทบาทของช้างที่เป็นสัตว์ออกศึก นำพาเอกราชมาสู่ดินแดนไทย หรือแม้กระทั่งการเป็นสัตว์ใช้งานและพาหนะในหลายพื้นที่ แถมยังเคยเป็นสัญลักษณ์บนธงชาติก่อนที่จะมาเป็นธงสามสีอย่างทุกวันนี้
นอกจากนี้ การเล่าเรื่อง “ช้าง”​ ในฐานะอำนาจทางวัฒนธรรมก็ขานรับกับนโยบาย “Soft Power” ที่รัฐบาลสนับสนุนอย่างแข็งขัน ซึ่งประเด็นล่าสุดอย่าง “กางเกงช้าง” ก็กลายเป็น Soft Power ไปเช่นกัน จนเกิดกางเกงแมวที่จังหวัดนครราชสีมา รวมไปถึงเกิดดีไซน์อื่น ๆ จนเป็นไวรัล หากเราจะนึกถึงสัตว์คาแรกเตอร์ของชาติ ยังไงช้างก็ต้องมาเป็นอันดับ 1 แน่ ๆ สมกับความเป็น “สัตว์คู่บ้านคู่เมือง”
สิ่งที่น่าสนใจของนิทรรศการในมิวเซียมสยามคราวนี้คือ การนำเสนอ “ธรรมชาติ” ผ่านวิวัฒนาการของช้างที่กว่าจะเป็นสัตว์ใช้แรงงานสำหรับมนุษย์ได้ ก็ผ่านการปรับตัวต่อภาวะต่าง ๆ ในธรรมชาติมามากมาย ตั้งแต่ช้างยังตััวเท่าหมู จนถึงปัจจุบันที่ช้างมีสถานะเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ทั่วโลก ขณะเดียวกัน เรื่องของช้างในสังคมไทยก็ผสมผสานกับ “pop culture” อย่างการ “มูเตลู” ได้เป็นอย่างดี เพราะโดยหลักแล้ว ที่เรียกพระพิฆเณศ เทพผู้มีเศียรเป็นช้างว่า “คณปติ” ก็มาจากการจะบูชาสิ่งใดก็จะเริ่มที่พระพิฆเณศก่อนเป็นองค์แรก
หรือแม้กระทั่ง I told Musika about you ที่เล่นล้อกับการขอความรักจากพระแม่ลักษมี (แบบในบทความนี้) ด้วยขนบการบูชาพระพิฆเณศอย่างการบอกคำอธิษฐานกับหนูมูสิกะ บริวารของเทพองค์นี้ หากใครจะ told มูสิกะว่าอยากได้ความรักที่ดี ก็มาบอกผลลัพธ์กับเราทีนะ
อีกโซนที่เราประทับใจมาก ๆ คือเซสชัน “Exclusive Story” ทอล์กประวัติศาสตร์ว่าด้วยเรื่อง “ช้างศึกส่งออก” ที่สมมติว่าทูตการค้าของอาณาจักร “กอลกอนดะห์” มาเล่าว่า กว่าไทยจะเอาช้างไป “ขาย” (ขายจริง ๆ ไม่ใช่ขายแบบ Soft Power) สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับชาวเปอร์เซียอย่างไรบ้าง แล้วเกี่ยวอะไรกับ “ผ้าลายอย่าง” ในราชสำนักไทย รวมถึงโซนด้านหน้าของมิวเซียมสยามที่ให้เรา “ฟัง” เสียงช้าง แล้วลองสมมติสถานการณ์ว่าถ้าช้างส่งเสียงถึงเรา ช้างจะส่งเสียงถึงเราแบบไหน
งาน Night at the Museum ยังจัดในหลาย ๆ พิพิธภัณฑ์ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และส่วนภูมิภาคในวันที่ 22-24 ธันวาคมนี้ ยังมีเรื่องราวที่สนุก ๆ มากมายรอให้เราไปค้นหาและเรียนรู้ด้วยกัน ลองติดตามดูรายชื่อพิพิธภัณฑ์ที่จัดงานได้ทาง facebook Museum Thailand
จากมิวเซียมสยาม เราลัดเลาะต่อไปตามถนนสนามไชยจนถึงหน้าวัดพระเชตุพน เลยไปจนถึงถนนราชดำเนิน เพราะภาครัฐอย่างกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวงจัดการประดับไฟรับเทศกาลปีใหม่ตามถนนและสถานที่สำคัญ ๆ อย่างวัดพระแก้ว อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำให้เรานึกถึงบรรยากาศการดูไฟในช่วงสิ้นปีในสมัยเด็ก ๆ ไปด้วย
รวมถึงในบริเวณใกล้เคียงกันอย่างวัดอรุณราชวราราม และสถานที่สำคัญอื่น ๆ ตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีงานแสดง Light and Sound “วิจิตรเจ้าพระยา 2023” ซึ่งจะจัดไปจนถึงสิ้นปีนี้ และยังมีอีกหลายงานที่กำลังจะจัดขึ้นในช่วงศุกร์ เสาร์ อาทิตย์นี้ให้เราคอยติดตามอีกเรื่อย ๆ
สำหรับใครหลาย ๆ คน ยามราตรีมาคู่กับการพักผ่อน ที่อาจจะหมายถึงการได้พบเพื่อนฝูง กินอาหาร แลกเปลี่ยนสารทุกข์สุกดิบด้วยกัน การเดินเล่นในช่วงเวลากลางคืนก็เป็นอีกกิจกรรมที่น่าสนใจ และได้ใช้เวลาคิดถึงสิ่งที่เราพบเจอ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งกับเรื่องราวที่เจอ และกับคนที่มาด้วยกัน ถึงเราจะอยู่ เรียน จนกระทั่งชินแสงสี “กรุงเทพฯ” แต่การได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับคนรอบตัวก็ทำให้เรามองสิ่งต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไป
เราจบทริปด้วยการแยกย้ายกันเดินทางกลับบ้าน แง่หนึ่ง ความสวยงามของเมืองในยามกลางคืนถูกขับเน้นออกมาผ่านแสงสีจากทั้งสองงาน ทำให้เห็นว่าราตรีมิได้น่ากลัว แต่สนุกสนานหากลองออกมาสัมผัสแสงสีด้วยกัน
และเราเชื่อว่า นี่คงเป็นโมเมนต์ท้าย ๆ ของปีที่น่าประทับใจ
เรื่อง : เกวลิน ถนอมทอง
ภาพ : เกวลิน ถนอมทอง, ณธาทัช กาญจนกุล
กราฟิก : นภัสชล บุญธรรม
โฆษณา