21 ธ.ค. 2023 เวลา 13:52 • ปรัชญา

แนวคิดอภิปรัชญาที่สอดคล้องกับอภิธรรมในพุทธปรัชญา

Metaphysical Concepts Aligned with Abhidharma in Buddhist Philosophy
ประเทศไทยเรามีพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาหลักการศึกษาพระพุทธศาสนา เราก็ทราบว่า พระไตรปิฎกนั้น มีอยู่ สาม ก็คือ มีพระวินัย พระสูตร แล้วก็พระอภิธรรม
 
ประเด็นนี้เราจะมุ่งสนใจในพระอภิธรรม ซึ่ง อภิธรรม ตามศัพท์แปลว่า ธรรมอันลึกซึ้ง เพราะอภิ นั้น แปลว่ายิ่งใหญ่หรือ ลึกซึ้ง ธรรมก็คือ ธรรมะ เมื่อเอา "อภิ" มาบวกกับคำว่า "ธรรมะ" อภิธรรมก็จะแปลได้ว่า "ธรรมที่ลึกซึ้ง"
ถามว่าทำไม จึงมีคำว่า อภิธรรมในพระพุทธศาสนากันล่ะ
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ อภิธรรม เป็นสาขาหนึ่งของ วิธีหาความรู้ เผยแพร่ความรู้ แบบพุทธไงครับ
แล้ววิธีการหาความรู้แบบอภิธรรม โดยหลักๆ พูดสั้นๆก็คือว่า เป็นวิธีการที่บอกว่า เวลาที่เราประสบพบเห็น สิ่งต่างๆที่เราเห็นอยู่รอบๆตัวในโลก สิ่งเหล่านี้มันก็ปรากฏอยู่ในการรับรู้ของเรา
เช่น เรานั่งดื่มกาแฟ กับ ขนมปัง ทาแยมอ่านหนังสือพิมพ์ ขนมที่อยู่ในจาน กาแฟที่อยู่ในถ้วยก็ย่อมจะมีคุณสมบัติของมัน เช่น มีรสชาติ มีกลิ่นอย่างนั้นอย่างนี้ การที่เราเห็นเวลาที่ดื่มกาแฟเข้าไปก็จะรู้ว่านี่คือรสชาติของกาแฟ สีของกาแฟ กลิ่นของกาแฟ
รสชาติของกาแฟนั้นต่างจากน้ำส้ม น้ำส้มก็มีสีแบบหนึ่ง มีกลิ่นแบบหนึ่ง มีรสแบบหนึ่ง เพราะงั้นเราพูดได้ว่ากาแฟกับน้ำส้มนั้นมีคุณสมบัติต่างกัน ไม่เหมือนกัน
ความต่างที่ว่านี้ คือความต่างที่ปรากฎต่อการรับรู้ของมนุษย์
วิชาอธิธรรม เป็นวิชาที่ตั้งข้อสงสัยว่า อาจจะเป็นไปได้ที่ เบื้องหลังของน้ำส้มและกาแฟที่ว่านี้ สิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นน้ำส้มกับกาแฟ อาจจะเป็นสิ่งเดียวกันก็ได้ ซึ่งก็แปลว่า ก่อนที่มันจะรวมตัวกันเป็นน้ำส้ม หรือ เป็นกาแฟ มันไม่ได้มีคุณสมบัติอะไร แต่พอมันมารวมกันเข้า ด้วยวิธีการ สัดส่วน และรายละเอียดบางอย่าง จึงทำให้มันกลายเป็นกาแฟ
แต่พอมันรวมตัวเข้าด้วยวิธีการด้วยสัดส่วน ด้วยรายละเอียดบางอย่างที่ต่างไปจากตอนที่มันรวมตัวกันเป็นกาแฟ มันก็ลายเป็นน้ำส้ม
เพราะงั้นความต่างระหว่ากาแฟ กับ น้ำส้ม เป็นความต่างในระดับที่ปรากฎต่อการรับรู้ของมนุษย์ แต่ในความเป็นจริงลึกๆข้างใน สองสิ่งนี้ไม่ได้ต่างกัน
วิชาอภิธรรมนั้น เป็นวิชาที่สังเกตและตั้งข้อสงสัยเรื่องนี้ เมื่อมีการตั้งข้อสังเกตุและสงสัยเรื่องนี้ ท่านที่เป็นนักคิดสายอภิธรรมนั้นก็มาเชิญชวนใครต่อใครว่า เมื่อเราเห็นสิ่งต่างๆในโลกที่หลากหลาย เป็นแบบนั้นแบบนี้ มันอาจจะเป็นไปได้ครับที่ในความหลากหลายนั้นมันมีบางสิ่งบางอย่างร่วมกันอยู่ เวลาที่เราเห็นสิ่งที่แตกต่างกัน มันเป็นธรรมดาครับ ความแตกต่างในสิ่งต่างๆที่พบ บางอย่างเราชอบ บางอย่างเราไม่ชอบ เราชอบดอกไม้ เพราะเห็นว่า มันสวย มันหอม เราไม่ชอบขยะ เราะเราคิดว่าขยะไม่มีความงาม กลิ่นก็เหม็น
จิตใจ ที่ถูกชักนำด้วยความชอบความไม่ชอบ พระพุทธศาสนาถือว่าเป็นจิตใจที่พร้อมจะเป็นทุกข์ ซึ่งวิธีการที่จะทำให้จิตใจของเรามั่นคง ไม่ถูกดึง กระชาก หรือเหนี่ยวโน้มโถมถาไป ด้วยอิทธิพลของสิ่งต่างๆที่ปรากฏแตกต่างกันในโลก นักคิดอภิธรรมมีการเสนอว่า ถ้ามีการศึกษาอภิธรรม ก็คือเข้าไปดูว่า อาจจะเป็นไปได้ที่ภายในสิ่งเหล่านี้ที่สันนิฐานว่ามันมีบางอย่างเหมือนกัน เช่น เอาเข้าจริงแล้วสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นดอกไม้ กับสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นขยะ มันก็สิ่งเดียวกัน
เราก็จะได้เข้าใจว่า อ๋อ ที่เราขอบสิ่งนี้ เราเกลียดสิ่งนี้ จริงๆแล้วมันเป็นอิทธิพลของสิ่งที่มันอยู่ชั้นนอก ที่มันปรากฏต่อการรับรู้ของเรา คือถ้าคิดได้อย่างนี้มันก็จะเป็นแรงจูงใจที่ทำให้คนที่ได้รับการฝึกฝนให้มองโลกแบบนี้อยู่เสมอๆ จะเป็นคนที่มีความยับยั้งชั่งใจ มีความหนักแน่น ไม่เป็นคนที่ถูกชักนำ ให้ไปตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งที่ตนชอบ หรือสิ่งที่ตนไม่ชอบ ได้ยากลำบาก จะเป็นคนที่มีใจหนักแน่น แล้วการที่มีจิตใจหนักแน่น ก็จะเป็นจิตใจที่มีทุกข์ได้ยากกว่า คนที่มีจิตใจไม่หนักแน่น
เพราะอย่างนี้ก็เลยเกิดแขนงหนึ่งของการศึกษาหาความรู้ขึ้นในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา นั่นก็คือ อภิธรรม
"ธรรมะ" ที่ไม่มีคำว่า "อภิ" นำหน้า ตามศัพท์ แปลว่าสิ่งที่ปรากฏต่อ อายตนะของเรา ถ้าใครเรียนวิชาพระพุทธศาสนาระดับนักธรรมชั้นตรีนั้นก็จะทราบว่า ตามการจัดของพระพุทธศาสนา มนุษย์มีอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็ใจ ซึ่งอายตนะ แต่ละอย่าง ก็จะมีคู่ของมัน ตาก็คู่กับรูป หูก็คู่กับเสียง เป็นต้น
อันสุดท้ายคือ ใจ ก็จะคู่กับธรรม หรือบางที เราเรียกว่า "ธรรมารมณ์ "
ธรรมารมณ์โดยศัพท์ ก็คือ สิ่งที่ปรากฏต่ออายตนะของเรา เช่นตอนที่เราดูดอกกุหลาบขณะนั้น ดอกกุหลาบ เป็นรูป ก็คู่กับอายตนะคือตา แต่เวลาที่เราเบือนหน้าหนีจากดอกกุหลาบ เรายังจำได้อยู่ว่าดอกกุหลาบนั้นมีลักษณะเป็นยังไง สิ่งที่บันทึกเอาไว้นั่นแหละครับ คือ "ธรรม"
และถ้าบันทึกเอาไว้แล้ว ใจของเราก็สามารถที่จะเรียกมาพิจารณาเมื่อไหร่ก็ได้ การรับรู้รูป เป็นการรับรู้ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว เกิดแล้วก็ดับ! แต่ว่า เมื่อดับไปแล้วสิ่งที่เรารับรู้ผ่านตา เป็นต้น ก็จะถูกเก็บไว้ ใน"สัญญาขันธ์" หรือว่าในความทรงจำของเรา สิ่งที่เก็บเอาไว้นั่นแหละคือ "ธรรม"
ผู้อ่านคงสังเกตเห็นกันนะครับ เพราะเนื่องจากว่า คำว่า ธรรม ก็คือ การเก็บสิ่งที่เคยเห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหูเป็นต้น เอาไว้ เพราะงั้นธรรมนั้นก็คือสิ่งที่ถูกเก็บเอาไว้ตามที่เรารับรู้มันมา
แต่ว่าอภิธรรมนั้นมันเป็น คำอีกคำหนึ่งท่านประสงค์ที่จะใช้คำนี้เพื่อที่จะบอกว่า ในเนื้อของธรรมที่ในเนื้อจิตใจ หรือว่าสัญญาขันธ์ ของมนุษย์ที่เก็บเอาไว้มันมีความจริงอะไรบ้าง นั่นแหละครับคือ "อภิธรรม"
เพราะงั้นถ้าคิดอย่างนี้เราก็จะเข้าใจว่า การที่บัญญัติศัพท์ อภิปรัชญา (Metaphysics) ให้เป็นคำไทย เพราะท่านเหล่านั้นอาจจะคงคิดว่า การบัญญัติศัพท์ใดก็แล้วแต่ ในสังคมใดก็ตาม การบัญญัติขึ้นมาลอยๆโดยตัดขาดจากความคิดทางวัฒนธรรมของสังคมนั้น มันยากที่จะ ถูกใช้และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
พอไปดูเนื้อหาของ อภิปรัชญา (Metaphysics) ก็คล้ายๆกับอภิธรรม ยกตัวอย่างเมตาฟิสิกส์ ที่เสนอโดยนักเมตาฟิสิกส์ โบราณมากๆในยุคเริ่มแรกเช่นพวกกรีกหลายคน เช่น ธาเลส (Thales) เดโมครีตัส (Democritus) เป็นต้น
คนเหล่านี้เขาคิดว่า สิ่งต่างๆตามที่ปรากฏต่อการรับรู้ของมนุษย์นั้นหลากหลาย มีสีมีกลิ่นสารพัด รูปร่างลักษณะก็มีสารพัดอย่าง รสก็เช่นเดียวกัน โลกเกิดจากใครสร้างก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆนั้นมนุษย์ไม่ได้สร้างโลก แต่ว่ามีใครหรืออะไรซักอย่างสร้างมนุษย์ และสร้างสิ่งต่างๆ ก็คือจักรวาลทั้งหมด
ความยิ่งใหญ่ของจักรวาลก็ทำให้นักปรัชญากรีกเหล่านี้ ต่างคิดว่า คนหรืออะไรบางอย่างที่สร้างสิ่งเหล่านี้มานั้น ย่อมจะต้องเป็นสิ่งที่มีสติปัญญามาก จึงได้สร้างดอกไม้มาอย่างหลากหลายชนิด สร้างกลิ่นต่างๆหลากหหลายชนิดกลิ่น สร้างปลาในมหาสมุทรมากมายหลายชนิด
สิ่งที่เราเห็น เช่น นกยูง ทำไมมีหางที่สวยงามขนาดนั้น แล้วก็ไม่ใช่สัตว์ที่ออกแบบตัวมันเอง แต่มันถูกออกแบบโดยสิ่งอื่นหรือผู้อื่น
สิ่งที่ยกตัวอย่ามานิดหน่อยนี้ พวกกรีกเชื่อว่า จะต้องมี "ผู้" หรือว่าเป็นสิ่งที่มีทรงภูมิมีปัญญาสูง เวลาที่จะสร้างสิ่งต่างๆ เขาคงไม่สร้างอย่างละชิ้น แล้วชิ้นนั้นต่างจากชิ้นอื่น เพราะถ้าทำอย่างนั้นจะเสียเวลาและเหนื่อยมาก พวกกรีกเสนอว่า ก่อนที่ท่านหรือสิ่งที่มีสติปัญญามากผู้นี้จะสร้างสิ่งต่างๆ สิ่งนี้น่าจะสร้างมาจากวัสดุเบื้องต้นที่จะประกอบกันเข้าเป็นสิ่งต่างๆในจักรวาลเอาไว้
วัสดุก็น่าจะมีไม่มาก น่าจะมีเท่าที่จำเป็น อาจจะสามสี่-ห้า-หกอย่างก็แล้วแต่ เสร็จแล้วเมื่อมีวัสดุที่จำเป็นเหล่านี้แล้ว ค่อยเอาวัสดุเหล่านี้มาประกอบกันเข้า ซึ่งกฎการประกอบกัน ก็อาจจะมีหลายชนิดหลายวิธี รายละเอียดต่างกัน พอประกอบกันเข้า เป็นแบบนี้แบบนั้น สิ่งนี้ก็กลายเป็นสีเขียว พอประกอบกันเข้าอีกอย่างก็กลายเป็นสีแดง น้ำเงิน เหลือง เป็นต้น ถ้าแยกออก เหลือ แดง น้ำเงิน ก็จะหายไป แต่มารวมกันเข้า สิ่งที่เป็นผลจากการรวมกันเข้า ก็จะมีคุณสมบัติเช่น มีสีเหลือง สีแดง ต่างกัน
ซึ่งทั้งหมดที่ว่า มีสีอย่างนั้น กลิ่นอย่างนั้น สีอย่างนี้ มันไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ในวัสดุดั้งเดิม แต่มันเป็นสิ่งที่มันปรากฏขึ้นทีหลังจากวิธีการที่นำเอาวัสดุพื้นฐานของจักรวาลเหล่านี้มารวมกัน
สำหรับผมก็คิดว่ามีเหตุผล ถ้าเราคิดว่า "ผู้"หรือ "สิ่ง"ที่สร้างจักรวาลมา เขาเป็นคนที่มีสติปัญญา ซึ่งดูจากผลงานของเขา เขาคงไม่สร้างปลาแต่ละตัว โดยใช้วัสดุพิเศษสำหรับปลาตัวนี้ตัวเดียว พอสร้างปลาตัวใหม่ก็ใช้วัสดุอื่น
เพราะถ้าทำอย่างนั้นจะเสียเวลาและเหนื่อยมาก เพราะว่าปลาในมหาสมุทรมีมหาศาล แล้วมหาสมุทรที่ว่านี้ก็เป็นมหาสมุทรที่อยู่ในโลกของเราเท่านั้น
แล้วนึกภาพรวมสิว่าในจักรวาลนี้มีโลก มีดาว มีอะไรต่อมิอะไรกี่ดวง สารพัด ถ้าค่อยๆไล่สร้าง แต่ละสิ่งแต่ละอัน โดยใช่วัสดุต่อหนึ่งชิ้น เหนื่อยตายเลยครับ
เพราะคิดอย่างนี้พวกกรีกก็เลยคิดว่า หน้าที่ในทางปรัชญาของนักปรัชญาก็คือ หาว่า อะไรคือวัสดุเบื้องต้นที่ผู้สร้างจักรวาลเขาสร้างเอาไว้ เพื่อใช้ประกอบกันเข้าเป็นสิ่งต่างๆ นี่คือวิชา อภิปรัชญา (Metaphysics) ครับ
และแน่นอนมันก็ยังมีเนื้อหาอื่นๆ ที่ถกกัน แสวงหากันในเมตาฟิสิกส์ แต่สังเกตลักษณะรวมๆนั้น คล้ายกับอภิธรรม ก็คือเห็นว่ามนุษย์เราอยู่ในโลกที่สิ่งต่างๆ ปรากฏต่ออายตนะของเรา
ปรัชญากรีก อาจจะต่างจากทางพุทธเรานิดหน่อย คือพวกนี้เขาคิดว่าความหลากหลายก็คือความหลากหลาย ไม่ได้มาวิเคราะห์ว่าความหลากหลายนั้นมีอิทธิพลที่ชักจูงจิตใจของคน ทำให้จิตใจไม่มั่นคงเพราะว่า ความหลากหลายบางอย่างเราชอบ ความหลากหลายบางอย่างเราไม่ชอบ พวกกรีกเขาไม่ได้คิดอย่างนั้น
สิ่งที่คล้ายกับปรัชญาอินเดียและพุทธศาสนา คือ การที่เราตั้งข้อสงสัยว่าเป็นไปได้ว่าในความแตกต่างหลากหลาย เอาเข้าจริงว่าสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นสิ่งเหล่านี้ อาจจะเป็นสิ่งเดียวกันก็ได้ ซึ่งมันก็เป็นความรู้ที่มีประโยชน์
ส่วนจะเป็นประโยชน์ยังไงนั้นพวกกรีกส่วนใหญ่ก็บอกว่า ประชาชนทั้งหลายก็เอาไปคิดกันต่อเอง แต่ว่าทางอินเดีย รวมทั้งพุทธความคิดค่อนข้างชัด ว่า อภิปรัชญา (Metaphysics) มีประโยชน์ ก็คือ ทำให้เรา เป็นคนที่มีแนวโน้มที่จะไม่ถูกชักนำ ให้จิตใจไข้วเขว เพราะความแตกต่างของสิ่งต่างๆ
สิ่งที่ปรากฏต่อการรับรู้ของมนุษย์ ทางพุทธ บัญญัติศัพท์รวมๆ เรียกสิ่งเหล่านี้ว่า "สมมุติธรรม" เช่น กาแฟกับน้ำส้ม ที่ยกตัวอย่างเมื่อสักครู่
กาแฟ น้ำส้ม มีสี กลิ่นรสอย่างนั้นอย่างนี้ กาแฟและน้ำสมในฐานะสิ่งที่ปากฎต่อการรับรู้ของมนุษย์ วิชาอภิธรรมนั้นบัญญัติคำๆหนึ่งสำหรับเรียก ก็คือ สมมุติธรรม กาแฟเป็นสมมุติธรรม น้ำส้มเป็นสมมุติธรรม แมว หมา นายเขียว นายขาว ต้นไม้ดวงดาว สิ่งต่างๆที่ปรากฎต่อการรับรู้ของเราล้วนแล้วแต่ปรากฎเป็นสมมุติธรรรมทั้งสิ้น
การบัญญัติคำว่า"อภิธรรม" คืออธิบายว่า เป็นวิชาที่สนใจศึกษาว่าภายในสมมุติธรรมมันมีอะไรอยู่ ซึ่งสิ่งข้างในนั่นแหละ อยู่ในฐานะเป็นสิ่งที่อยู่พ้นการรับรู้ด้วยการรับรู้ด้วยอายตนะของมนุษย์ แต่สิ่งเหล่านี้แหละคือสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นกาแฟ กับน้ำส้ม
อภิธรรมเรียกว่า "ปรมัตถธรรม" เห็นมั้ยครับ มีคำว่า "สมมุติธรรม" กับ "ปรมัตถธรรม" สองคำนี้ก็เป็นคำสำคัญ ในวิชาอภิธรรม
เมตาฟิสิกส์ (metaphysics) แปลว่า อภิปรัชญาก็ได้ เพราะที่อธิบายมาทั้งหมด เพียงเพราะต้องการจะเทียบเคียงกับอภิธรรม แต่จริงๆแล้ว คำว่า เมตาฟิสิกส์ ถ้าจะแปลว่า "ปรมัตถวิทยา" ก็น่าจะได้นะ ผมว่ากระชับและตรงไปตรงมาดีออก
-วิรุฬหก-
โฆษณา