22 ธ.ค. 2023 เวลา 12:00 • ข่าวรอบโลก

ข่าวร้าย! โลกไม่มีทางบรรลุุ SDGs ได้ทันปี 2030

SDGs เป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ UN ประกาศมาตั้งแต่ปี 2015 และทั่วโลกขานรับ เพื่อแก้ไขปัญหาของโลกและมวลมนุษยชาติ 17 ด้าน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ปลายทางในปี 2030 ... แต่ข่าวร้าย! ถ้าโลกไม่มีทางบรรลุุ SDGs ได้ทันล่ะ
.
ข้อมูลจากนิตยสาร SDG Highlights 2023: Thailand’s Unsustainable Development Review จัดทำโดย ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพแห่งชาติ (IHPP) ภายใต้โครงการการสื่อสารองค์ความรู้และติดตามสถานการณ์การดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประเทศไทย หรือ “SDG Watch”
ตีพิมพ์รวมบทความว่าด้วยสถานการณ์ “ความไม่ยั่งยืนของประเทศไทย” ในหลายมิติ อาทิ คุณภาพอากาศ การประมงแบบทำลายระบบนิเวศ ชีวิตและทรัพย์สินที่สูญหายไปบนท้องถนน อุปสรรคที่ไม่อาจขจัดความยากจน ค่าใช้จ่ายซื้อพลังงานที่ควรเป็นธรรม ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เป็นต้น
.
ทั้งนี้ได้สรุปรายงาน “Global Sustainable Development Report 2023” ซึ่งเป็นรายงานฉบับทางการขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า โลกไม่สามารถบรรลุ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายได้ทันภายในปี 2030 และอาจเป็นไปได้ยากอีกด้วย แม้ขยับระยะเวลาออกไปอีกจนถึงปี 2050 (ขยับไปอีก 20 ปีเลยนะ!)
.
โดยในรายงาน ตั้งความหวังว่า ‘วิทยาศาสตร์’ โดยเฉพาะงานวิจัย จะต้องเข้ามามีบทบาทสําคัญให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้จริง ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) น่าวิตกกังกลหนัก เพราะกําลังจะเลยจุดที่จัดการได้แล้ว
โดยตอนนี้โลกร้อนขึ้นประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส และคาดว่าจะร้อนขึ้นถึง 3.2 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100 ซึ่งเกินเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิไม่ให้เกินขีดจํากัดที่ 1.5 องศาเซลเซียสอย่างแน่นอน ตามข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ที่ออกมาบอกว่าในเดือนกรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมา ได้ถึงจุดที่เรียกว่า “โลกเดือด” คือเปรียบเปรยว่าโลกมาถึงจุดที่ร้อนที่สุดในประวัติการณ์แล้ว
.
ถ้าหาก UN และนานาประเทศยังไม่ทำอะไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้องสักอย่างต่อไป มนุษย์ก็ต้องเผชิญกับสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ที่ส่งผลต่อผลผลิตอาหาร ภัยธรรมชาติที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติที่จะส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย และจะเกิดการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานอย่างมากจากความแห้งแล้งอัตคัด รวมถึงภาวะสงครามและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ไม่จบสิ้น
.
ต่อไปนี้ทางเลือกทางรอดสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องขับเคลื่อน คือการแปลงโฉมในด้าน ระบบอภิบาล (Governance) เศรษฐกิจและการเงิน (Economy and Finance) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology) การดำเนินการส่วนบุคคลและส่วนรวม (Individual and Collective Action) และการเสริมสร้างศักยภาพ (Capacity Building) ให้ทันวางแผนรับมือ
.
ส่วนของประเทศไทย มี 6 ประเด็น ที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นโดยเร็ว คือ
1. ระบบผลิตอาหารที่ไม่ยั่งยืน ทั้งเรื่องสิทธิในที่ดิน การปลูกพืชไร่ (ข้าวโพด อ้อย) ที่เป็นสาเหตุสําคัญของ PM2.5 และการทําประมงทําลายระบบนิเวศทางทะเล
2. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะเรื่องขยะในทะเล
3. สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน กำหนดราคาพลังงานไฟฟ้า และค่าจ้างที่เป็นธรรมสอดคล้องกับรายจ่าย
4. การตั้งรับภัยพิบัติ อุทกภัย และความปลอดภัยในชีวิตและที่อยู่อาศัยประชาชน
5. ยุติการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ
6. เสริมสุขภาวะและการพัฒนาศักยภาพ ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ การระบาด และลดการบาดเจ็บและตายจากอุบัติเหตุ
.
โฆษณา