23 ธ.ค. 2023 เวลา 06:00 • ประวัติศาสตร์

‘สังหารหมู่เชลยสยาม’ ความโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ช่วง ‘กบฏไทรบุรี’ ที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในพงศาวดารไทย

“กบฏไทรบุรี” หนึ่งในสงครามจารีตครั้งใหญ่ตั้งแต่เมื่อครั้ง ร.3 ที่นอกจากขนาดของการรบพุ่งกันแล้ว สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือการปรากฏตัวของตัวแปรอื่น ๆ อีก เช่น การหักหลังสยามของเจ้าแขก 7 หัวเมืองที่ตามมาด้วยการกวาดล้างและทำลายเมืองปัตตานีอย่างรุนแรง ไปจนถึงการปรากฏตัวของอังกฤษในฐานะมิตรของสยาม
และเพราะด้วยการปรากฏตัวของอังกฤษนี้เองที่ทำให้บันทึกเหตุการณ์กบฏไทรบุรีได้รับการบันทึกไว้อย่างมีข้อมูลหลากหลายครบถ้วนรอบด้าน เพราะหากเทียบกับการจารึกของไทยผ่านทางพงศาวดารแล้ว แม้ข้อมูลสำคัญของเหตุการณ์จะครบถ้วน ทว่าก็อาจขาดรายละเอียดปลีกย่อยที่จะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพตามและเข้าใจได้ในทันที นั่นเพราะฝั่งไทยเราเองจดรายละเอียดเหล่านี้เพื่อเป็นบันทึกเฉพาะความสำคัญของเหตุการณ์
เพราะจุดประสงค์ของการเขียนคือใช้ในราชการหรือราชสำนัก ในขณะที่รายละเอียดที่ถูกบันทึกผ่านสายตาผู้สังเกตการณ์อย่างอังกฤษนั้น เป็นไปเพื่อมุ่งเน้นการเขียนอธิบายภาพให้ผู้อ่านที่เป็นชาวยุโรปเห็นภาพชาวตะวันออกที่พวกเขาไม่คุ้นชินว่ามีหน้าตาหรือวิถีชีวิตแตกต่างกับพวกเขาอย่างไร
และเพราะเป็นการบันทึกผ่านทางบุคคลที่สามอย่างอังกฤษ การบันทึกรายละเอียดทั้งหลายจึงเป็นไปอย่างที่ตาเห็น และหลายครั้งที่ได้ใช้เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ดังเช่นที่ Sherard Osborn ได้บันทึกเหตุการณ์การสังหารเชลยสยามครั้งสำคัญ ที่เรียกว่า ‘สังหารหมู่เชลยสยาม” ที่ Osborn อธิบายว่าเริ่มต้นจากการที่เชลยสยามเหล่านี้ถูกนำมากุมตัวไว้ที่ป้อม ณ ปากน้ำไทรบุรี เพื่อทำงานหนักด้วยการขุดดินขึ้นเป็นแนวคูเพื่อให้น้ำฝนไหลลงไปขัง
จนกระทั่งวันหนึ่งที่ Osborn สังเกตเห็นความผิดปกติของเหตุการณ์ที่ในครั้งนี้เชลยชาวสยามถูกห้อมล้อมไว้ด้วยชาวมลายูมากมายรวมถึงผู้นำมลายูหลายคนก็อยู่ที่นั่นด้วย ก่อนที่จะตามมาด้วยเสียงแผดร้องดังอย่างน่าเวทนา และทันใดนั้น ก็มีชาวจีนคนหนึ่งวิ่งหนีมาทางตำแหน่งที่ชาวอังกฤษอยู่ โดยมีการยิงไล่หลังมาจากชาวมลายู
ภายหลังเมื่อปลอดภัยแล้ว ชาวจีนผู้นั้นให้การว่า ตูกู โมฮัมหมัด ผู้นำมลายูได้สั่งให้ทหารของตนจัดการ ‘เผาพวกเชลยสยาม’ จำนวน 300 คน โดยเชลยสยามถูกบังคับให้ออกไปยืนบนขอบแนวคูที่พวกเขาขุดไว้เองกับมือก่อนหน้านี้ ทันใดนั้น ตูกู โมฮัมหมัดได้ชักกริชของเขาออกมาแล้วแทงไปยังเชลยสยามผู้หนึ่งแล้วจึงทิ้งศพเชลยผู้นั้นลงไปในก้นหลุม
ซึ่งในมุมมองของชาวตะวันตกอย่าง Osborn แล้ว ได้ให้ความเห็นต่อเหตุการณ์สังหารหมู่เชลยสยามไว้ว่า “เป็นการกระทำที่เลือดเย็นและป่าเถื่อนอย่างหาที่สุดไม่ได้” ที่แม้กระทั่งคนมลายูที่สนิทกับ Osborn เองถึงกับบอกว่านี่คือการกระทำที่ผิดมนุษย์
ติดตามรายละเอียดเหตุการณ์ “สังหารหมู่เชลยชาวสยาม” ในช่วงกบฏไทรบุรี ได้ในบทความวันนี้ https://www.luehistory.com/?p=22472
เลือกติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Lue History ได้ที่นี่
#LueHistory
#ปัตตานี #มลายู #ประวัติศาสตร์
โฆษณา