26 ธ.ค. 2023 เวลา 13:20 • หนังสือ

หนังสือ "บทเริ่มต้นสู่ตันตระ ทรรศนะแห่งความบริบูรณ์"

โดย ลามะ เยเช่
ทาคินี แปล
ตามหลักสูตรยาน ทางบรรลุคือกระบวนการค่อยๆชำระล้างจิตใจจากความผิดและข้อจำกัด แล้วจึงพัฒนาไปสู่คุณสมบัติอันเป็นคุณประโยชน์ เช่น ความรักและปัญญา ทางบรรลุนี้ประกอบไปด้วยการสร้างเหตุเฉพาะ คือ ปฏิบัติตามหลักจริยธรรม พัฒนาพลังการสำรวม ฝึกวิปัสสนาภายใน และอื่นๆ เพื่อการตรัสรู้ในอนาคต การเน้นหนักไปในการสร้างเหตุ เพื่อผลในอนาคต ทำให้วิธีการของสูตระ บางครั้งถูกเรียกว่า พาหนะ 'เรื่อยๆ' (casual) สู่การตรัสรู้ เทียบกับวิธีการค่อยเป็นค่อยไปของสูตระ
ตันตรยานเป็นทางตรัสรู้ที่รวดเร็วกว่ามาก ถึงแม้ผู้ฝึกตันตระจะไม่ได้ละเลยการสร้างเหตุเช่นเดียวกับผู้ฝึกแบบสูตระ ผู้ฝึกตันตระใช้ผลในอนาคตของวิวัฒนาการจิตใจอย่างเต็มที่ ตั้งแต่แรกเริ่มเลยทีเดียว ... วิถีอันทรงพลานุภาพนี้นำเอาผลลัพธ์ในอนาคตของการตื่นเต็มที่มาสู่สภาวะปัจจุบัน ในการฝึกจิตตันตระ บางครั้งจึงถูกเรียกว่า พาหนะ 'ผลลัพธ์' (resultant) สู่การตรัสรู้ (หน้า ๔)
... เหตุของปัญหาและความไม่พอใจทั้งปวงของเราก็คือ ความหลงที่ก่อให้เกิดความอยากขึ้นมานั่นเอง อิสรภาพหรือนิพพาน จะสำเร็จได้ ด้วยการถอนรากความอยากทั้งปวงออกจากใจเรา (หน้า ๙)
... แทนที่จะมองความพอใจและความปรารถนาเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงในทุกด้าน ตันตระนำเอาพลานุภาพที่ถูกกระตุ้นจากความอยากมาเป็นแหล่งพลังที่จำเป็นทางใจ (หน้า ๑๐)
... เราต้องมีความอดทน และมีวินัยในตนเอง ที่จะฝึกอย่างมีแบบแผน อย่าคิดอย่างคนส่วนมาก ซึ่งทั้งโง่และหยิ่งว่า "ตันตระเป็นทางสูงสุด ก็เลยไม่จำเป็นต้องสนใจการฝึกขั้นต้น" จึงข้ามไปยังคำสอนขั้นสูง ซึ่งอันตรายมาก คนที่ไม่มีความอดทนและมีทัศนคติที่ไร้เหตุผลนั้น ไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการสอนแบบตันตระเลย (หน้า ๑๕-๑๖)
สิ่งที่เรายังไม่รู้ก็คือเราแต่ละคนคือแหล่งพลังงานอันไร้ขีดจำกัดของชายหญิง ปัญหาทั้งหลายของเราเกิดจากความไม่รู้หรือไม่ก็ซ่อนสิ่งที่มีในตัวเรา ชายพยายามซ่อนส่วนที่เป็นหญิง และหญิงก็กลัวที่จะเผยพลังชายในตัว ผลก็คือเรารู้สึกไม่สมบูรณ์ จึงหันไปคาดหวังจากผู้อื่น เพื่อแสวงหาคุณสมบัติที่ขาดหายในตัวเรา โดยหวังจะได้รู้สึกว่าสมบูรณ์ ผลลัพธ์ก็คือนิสัยของเรา ก็เต็มไปด้วยความไม่มั่นคงและการแสดงตัวเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ
... ถ้าจำเป็นโยคีหรือโยคินีที่ยิ่งใหญ่สามารถใช้เวลาเป็นปีอย่างสันโดษโดยไม่รู้สึกโดดเดี่ยว แต่เราอาจรู้สึกโดดเดี่ยวแทบทนไม่ได้ถ้าเราต้องแยกจากเพื่อนชายหญิงแม้เพียงวันเดียว ทำไมถึงมีความแตกต่างกันมากระหว่างเรากับพวกโยคี นี่เกี่ยวกับพลังชายหญิงในตัวเรานั่นเอง ตราบใดที่มันยังแตกแยกและไม่สมดุล เราก็ยังคงถวิลหาการมีคนมาอยู่ด้วยและไม่มีความพอใจ
ถ้ามัณฑละแห่งความเป็นชายหญิงภายในตัวเราสมบูรณ์ เราก็จะไม่ประสบกับความเจ็บปวดกับความโดดเดี่ยวอีกเลย ตันตระหาวิธีการอันทรงพลานุภาพเพื่อเข้าถึงความสมบูรณ์ที่สำคัญ ศิลปะตันตระเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของลักษณะอันเป็นเอกภาพและความสมบูรณ์แห่งการรู้ซึ้งถึงศักยภาพอันเต็มเปี่ยม
ภาพของเทวดาชายหญิงร่วมประเวณีที่ถูกมองโดยชาวตะวันตก ผู้ตีความพุทธศาสนาแบบทิเบตว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเสื่อม แท้จริงแล้ว เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงการอยู่ร่วมกันของพลังชายหญิงในตัวเรา ในขั้นสูงขึ้นไป การโอบกอดเป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงการฝึกตันตระขั้นสูงสุด เป็นต้นกำเนิดของความสุขทางใจที่ละเอียดอ่อนที่สุด ซึ่งโดยธรรมชาติของมันแล้วเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะทะลวงถึงความเป็นจริงสูงสุด และปลดปล่อยเราจากสิ่งหลอกลวงและความทุกข์
ในระดับนี้ ร่างชายแสดงถึงประสบการณ์ความสุขอันยิ่งใหญ่ ในขณะที่ร่างหญิงคือสัญลักษณ์ของปัญญาอันไม่เป็นสอง การรวมกันของทั้งสองไม่เกี่ยวอะไรกับความอิ่มเอมของประสาทสัมผัส แต่บ่งถึงความบริบูรณ์ในการรวมสถานะความสุขทางปัญญาที่เหนือความอยากธรรมดาทางประสาทสัมผัส (หน้า ๑๙-๒๐)
ตันตระสี่ขั้น พุทธตันตระมีสี่ขั้นหรือชั้นเป็นที่รู้จักกันในนาม
การกระทำ (กรณียะ)
การแสดง (จริยะ)
โยคะ และ
ตันตระโยคะขั้นสูง (อนุตรโยคะ)
แต่ละขั้นถูกออกแบบมาเพื่อฝึกผู้ฝึกแต่ละแบบ แต่ละขั้นต่างกันตามความชำนาญของผู้ฝึก ในการนำความรุนแรงแห่งพลังความอยากสู่เส้นทางจิตใจ (หน้า ๒๑)
... เราคะเนความงามหรือคุณค่าเกินจริง หากเราหลงใหลในสิ่งนั้น และทำให้มองไม่เห็นคุณสมบัติที่แท้จริงของมัน (หน้า ๒๓)
ตามที่ตันตระทิเบตสืบทอดมานั้น การเปลี่ยนพลังความอยาก แสดงให้เห็นภาพโดยการเปรียบเทียบว่า มีแมลงบางชนิดที่เกิดจากไม้ วัฏจักรชีวิตมันเริ่มจาก ฟักไข่ในลำต้นไม้ เลี้ยงดูบนต้นไม้ และกินไม้ที่มันเกิดมานั่นเอง เช่นเดียวกับ การฝึกการเปลี่ยนแปลงทางตันตระ คือการเปลี่ยนความอยากให้บังเกิดเป็นปัญญาอันหลักแหลม ที่กลับมาทำลายความเลวร้ายที่ทำให้ใจมืดมัว รวมทั้งทำลายความอยากที่ก่อกำเนิดความเลวร้ายนั้นขึ้นมา (หน้า ๒๖)
... เพียงเปิดโทรทัศน์ไม่กี่นาที ก็จะชัดเจนว่า วัฒนธรรมของเราใช้พลังงานมากเท่าใดเพื่อทุ่มเทรับใช้ร่างกาย และน้อยเท่าใดที่ใช้บ่มเพาะจิตใจ ไม่น่าสงสัยเลยว่าทำไมสิ่งทั้งหลายจึงสับสนเช่นนี้ (หน้า ๓๓)
... ถ้าเราพยายามที่จะใช้พลังงานการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลานุภาพของตันตระ โดยไม่ได้ฝึกสิ่งจำเป็นหรือพื้นฐานก่อน ไม่มีทางที่การฝึกของเราจะสำเร็จ กลับทำให้เรายิ่งทำร้ายตัวเอง ประหนึ่งเครื่องบินไอพ่นอันทรงพลังอาจเป็นวิธีที่เร็วที่สุดที่จะเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง แต่ถ้าผู้ที่ไม่ได้ฝึกถูกจับให้อยู่ในตำแหน่งนักบิน ผลที่ได้ก็ไม่มีอะไรนอกจากความหายนะ
เช่นเดียวกัน ถึงแม้ตันตระจะเป็นยานที่เร็วที่สุดในการบรรลุความสมบูรณ์ การฝึกวิธีนี้โดยไม่ได้เตรียมร่างกายและจิตใจก็จะเป็นการประมาทอย่างยิ่ง ซึ่งแสดงถึงความเขลามากต่อจุดประสงค์ทั้งหมดของตันตระ (หน้า ๓๙)
สิ่งที่ต้องทำก่อนฝึกตันตระ ซึ่งตามธรรมดาเรียกว่า หลักสามประการของสูตรยานสู่การตรัสรู้ คือ
(๑) การละ
(๒) จิตใจมั่นคงของพระโพธิสัตว์และ
(๓) มุมมองที่ถูกต้องต่อความว่างเปล่า ... การละคือ การนำจิตใจออกจากสิ่งครอบงำธรรมดาและจำกัด และใช้ให้เป็นประโยชน์แทน เพื่อให้รู้ถึงความกว้างขวางและศักยภาพอันเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ (หน้า ๔๐)
... การละก็คือความรู้สึกอิ่มกับปัญหาซ้ำซาก ทำให้เราพร้อมจะหันหนีจากการติดยึดกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ และเริ่มหาทางที่จะทำให้ชีวิตเราพอใจและมีความหมาย (หน้า ๔๒)
... วิธีที่สมควรคือ ฝึกตนให้สังเกตความคิดตัวเองโดยไม่ทำตามมัน ถอนมันจากพลังงานบีบบังคับ เช่นเดียวกับยกหม้อน้ำเดือดออกจากเตา ท้ายที่สุดความสงบและกระจ่างก็จะได้ชัย (หน้า ๘๐)
... ผู้ใดที่เคยทำสมาธิย่อมรู้ว่า สิ่งขัดขวางใหญ่หลวงของการเพ่งสมาธิ คือความคิดอันล่องลอย ที่สวนกับความตั้งใจของเรา ... สาเหตุที่ทำให้จิตใจล่องลอยคืออะไร คือความรู้สึกไม่พอใจอย่างท่วมท้นของเรานั่นเอง เรายังคงค้นหาสิ่งที่จะทำให้ความปรารถนาอันคลุมเครือภายในพอใจ แต่การค้นหาไม่เคยประสบความสำเร็จ แม้เมื่อเราพบสิ่งที่น่าพอใจ เรากลับพอใจเพียงชั่วขณะ และในไม่ช้าเราก็จะมองหาสิ่งใหม่
ความกระวนกระวายเป็นคุณสมบัติของจิตใจที่เป็นสอง และเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อเรานั่งลงพยายามที่จะรวบรวมสมาธิ ความสุขที่เกิดขณะเพ่งไปที่ความกระจ่างของสติสัมปชัญญะ คือยาถอนพิษที่ทรงพลานุภาพต่อความกระวนกระวายนี้ มันมีความสามารถที่จะให้ความสงบและความพอใจลึกซึ้ง ที่ต่างจากความพอใจธรรมดา เพราะเมื่อท่านรู้สึกเต็มไปด้วยความสุขนี้ จิตใจของท่านจะไม่ถูกลวงให้ล่องลอยไปที่อื่น และสมาธิของท่านก็เพิ่มพูนอย่างไม่ต้องพยายาม (หน้า ๘๕-๘๖)
... การฝึกคุรุโยคะเป็นวิธีการเบื้องต้นเพื่อเรียนรู้วิธีฟังคุรุภายใน (หน้า ๙๐)
... เราต้องมีผู้นำทางที่มีประสบการณ์ที่จะแสดงให้เราเห็นชัดถึงวิธีที่จะนำคำสอนที่ได้รับไปปฏิบัติ เราจะไม่ไปถึงไหน หากเราพยายามที่จะเรียนรู้จากหนังสือ โดยหวังว่าจะคิดออกเอง ข้อมูลทั้งหมดอาจอยู่ในนั้น แต่ตำราตันตระเกือบทั้งหมดรวบรัด จะแสดงความหมายเพียงเมื่อศึกษากับคำอธิบายของผู้ที่ฝึกมาแล้วอย่างเชี่ยวชาญ และไม่ง่ายเลยที่จะรู้เพียงวิธีที่จะนำข้อมูลไปใช้ เราต้องการคนที่จะแสดงให้เราเห็น แสดงตัวอย่างที่จะนำไปปฏิบัติได้จริง
ผู้นี้ก็คือคุรุ ความต้องการผู้นำทางที่มีประสบการณ์นี้สำคัญยิ่งในทางตันตระ เพราะว่าตันตระเป็นระบบการพัฒนาภายในที่เฉพาะด้านมาก ... เหตุผลหลักที่ศาสนาทั้งทางตะวันออกและตะวันตกเสื่อมถอยไปมากในปัจจุบันก็คือการหาได้ยากที่จะพบตัวอย่างที่ดีทางด้านจิตใจ หากคนไม่เคยได้พบผู้ที่บรรลุธรรมขั้นสูง เขาไม่มีทางจะรู้ถึงความเป็นไปได้ที่ไร้ขีดจำกัดของสติสัมปชัญญะแห่งความเป็นมนุษย์ของตนเอง ตำราที่บันทึกการกระทำและความสำเร็จของผู้เชี่ยวชาญในอดีตอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะบันดาลใจให้พวกเราได้มากนัก (หน้า ๙๒-๙๓)
... จุดแข็งของตันตระที่มีความหมายทางภาษาว่า "ที่ต่อเนื่อง" หรือ "ความต่อเนื่อง" อยู่ที่การรักษาและการสืบทอดประสบการณ์ตรัสรู้ ผ่านสายสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน ของผู้ฝึก ดังนั้น จึงจำเป็นที่เราต้องติดต่อกับสายสัมพันธ์ที่สำคัญของการสืบทอดนี้ หากเราหวังที่จะเปลี่ยนตัวเอง และวิธีการสร้างความสัมพันธ์นี้ทำได้โดยผ่านทาง 'การรับเข้า' หรือ 'การอนุญาต' (หน้า ๙๕)
เราโชคดีที่มีร่างกายเช่นนี้ และไม่ควรเสียโอกาสอันล้ำค่าที่ทำให้เราตระหนักถึงศักยภาพอันเต็มเปี่ยม เราไม่ควรเป็นเหมือนคนที่ไม่รู้วิธีใช้แหล่งธรรมชาติอย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น
ข้าพเจ้ารู้จักชาวไร่เนปาลบางคนที่ตัดต้นมะม่วงมาทำฟืน เขาใช้เวลาหลายปีเพื่อปลูกต้นมะม่วง และผลของมันก็มีค่ายิ่ง แต่คนเหล่านี้ดูเหมือนไม่ชื่นชมมัน แทนที่จะใช้ประโยชน์ที่ดีกับสิ่งที่มี พวกเขาทำลายต้นไม้ที่มีค่า ที่ดินผุพังสูญเสียและไม่เหลืออะไรเลย หากเราละเลยที่จะใช้พลังงานอันมีค่าของร่างกายเพื่อบรรลุการตรัสรู้ และใช้มันอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อติดตามสิ่งไร้ความหมายในชีวิต แสดงว่าเรายิ่งโง่เขลากว่าชาวไร่พวกนั้น
ในทางตรงกันข้าม เราควรเป็นเหมือนนักวิทยาศาสตร์ผู้เฉลียวฉลาด ที่รู้วิธีดึงพลังงานจากทุกสิ่ง จากแสงอาทิตย์ น้ำขึ้นน้ำลง ลม ฯลฯ และรู้วิธีนำพลังงานนี้ไปใช้อย่างสร้างสรรค์ อีกนัยหนึ่ง เราควรมีความชำนาญและ ความเชี่ยวชาญที่สุด เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงร่างกายปัจจุบันของเรา จากแหล่งความเจ็บปวดและความไม่พอใจไปสู่ทางแห่งความสุข เพื่อความสุขสูงสุดแก่ตนเองและผู้อื่น นี่เป็นเป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติตันตระทั้งหมด (หน้า ๑๑๔)
... สิ่งจำเป็นคือสัมผัสกับประสบการณ์นั้นเอง แล้วไปให้ไกลกว่าคำพูดที่ใช้อธิบาย นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมตันตระจึงได้เน้นการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี (หน้า ๑๒๐)
ความคาดหวังมากเกินไปก็เป็นอุปสรรคยิ่งใหญ่อีกสิ่งหนึ่งในการทำสมาธิให้สำเร็จ ... วิธีแก้ปัญหาเดียวคือปล่อยวาง รู้ว่า ความคาดหวังคืออุปสรรค และปล่อยวางมันทันทีที่เกิดขึ้น อีกนัยหนึ่ง เราควรทำให้วิธีการเหล่านี้หลวมลงเล็กน้อย บางทีเราใช้พลังงานมากเกินไปในการปฏิบัติ หรือเราสร้างวินัยแก่ตัวเองอย่างรุนแรง คิดว่าที่จะนำเราสู่การตระหนักรู้ที่ปรารถนาได้เร็วขึ้น แต่ความพยายามมากเกินไปมักให้ผลตรงกันข้าม มันขัดขวางความก้าวหน้าของเราแทนที่จะเป็นการช่วย (หน้า ๑๓๔)
คุณสมบัติที่นำไปสู่ความสำเร็จ หากท่านต้องการจะบรรลุระดับใดก็ตามแห่งการตระหนักรู้ผ่านการปฏิบัติตันตระ อย่างไรก็ดี มีคุณสมบัติสี่ประการที่เราจำต้องมี
(๑) สิ่งแรกคือ 'การอุทิศที่ไม่อาจทำลายได้' นี่หมายถึงการมีความเข้าใจชัดว่า หนทางที่เราทำ ตั้งแต่การถือเอาเป็นสรณะในตอนต้นถึงการทำวิธีการทางตันตระที่สูงที่สุดให้เป็นจริงในตอนท้ายนั้น น่าเชื่อถือและคุ้มค่า ... อีกนัยหนึ่งเราต้องมีการมั่นใจในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เป็นเรื่องง่ายถ้าเราอยู่ในหมู่ผู้ทำสมาธิและปฏิบัติธรรม หรือใกล้ครูในสภาพแวดล้อมที่ได้รับการคุ้มครอง การปฏิบัติทางจิตใจก็เป็นเหมือนวัฒนธรรมแบ่งปัน เป็นสิ่งที่เราสามารถจัดการและปฏิบัติตามโดยปราศจากความรู้สึกแปลกแยกหรือผิดที่ผิดทาง
แต่เมื่อเราออกจากสถานการณ์โดดเดี่ยวที่สร้างขึ้นนี้ และกลับสู่โลก "ที่แท้จริง" เราสามารถสูญเสียความมั่นใจในการปฏิบัติไปอย่างรวดเร็ว เรารู้สึกถึงความกดดันของความคาดหวังและค่านิยมของผู้อื่น "อะไรคือประเด็นในการทำสมาธิ ทำไมต้องนั่งพิจารณาสะดือ ในเมื่อมีสิ่งอื่นที่น่าตื่นเต้นมากมายที่ต้องทำกับชีวิตของคุณ" และเราสามารถตกอยู่ภายใต้อิทธิพลเหล่านั้นได้อย่างง่ายดาย
ในไม่ช้าเราก็พบว่าตัวเองจมลงสู่ขยะนิสัยของชีวิตประจำวันอีกครั้ง โดยไม่มีทางที่จะเปลี่ยนไปสู่อะไรที่มีคุณค่าได้ แต่หากความมั่นใจของเราไม่อาจสั่นคลอน การอุทิศตนเพื่อการปฏิบัติของเราก็ไม่อาจสั่นคลอนไปได้ด้วยและแทนที่จะถูกกวาดล้างด้วยสถานการณ์ภายนอก เราจะสามารถแปรเปลี่ยนมันสู่เส้นทางตันตระได้
(๒) คุณสมบัติข้อที่สองที่เราต้องมีคือ 'การเป็นอิสระจากความสงสัย' หรือการไม่อาจตัดสินใจอันมีผลมาจากการมีจิตใจที่ไม่กระจ่าง เมื่อเราพัฒนาปัญญากระจ่างที่เข้าใจส่วนประกอบต่างๆของการปฏิบัติ ลำดับของการปฏิบัติจุดประสงค์ของการปฏิบัติความสงสัยอันไร้สามารถที่ขัดขวางเราจากการปฏิบัติตามเส้นทางด้วยการตัดสินใจแน่วแน่จะหายไปโดยอัตโนมัติ สิ่งสำคัญสำหรับเราคือการตระหนักรู้ให้มากที่สุด ถึงโครงสร้างอันมั่นคงที่ยึดการปฏิบัติของเราไว้
มีหลายคนที่ได้ยินคำสอนธรรมะมามากเป็นเวลานานหลายปี และบางครั้งข้าพเจ้าได้ยินเขาบ่นว่า "ฉันสับสนมาก ฉันไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ฉันฟังคำสอนจากลามะหลายท่านจนไม่รู้ว่าองค์ใดคือครูหลักของฉัน ฉันไม่รู้แม้แต่ว่าจะทำสมาธิไหนเป็นอย่างแรก" หากเราศึกษาหลายวิชาต่างกัน เรารับการรับเข้าหลายอย่างต่างกัน รับการแนะนำการทำสมาธิหลากหลายวิธี และ'ยังคง'ไม่รู้วิธีปฏิบัติ นี่แสดงว่าเราสูญเสียภาพของโครงสร้างมูลฐานของการปฏิบัติ
... ดังนั้นหากท่านรู้สึกหลงทาง จงตรวจสอบด้วยตัวเอง ด้วยความช่วยเหลือของผู้นำทางที่มีประสบการณ์ ว่านี่คือโครงสร้างอะไรและทำตามให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง
(๓) อย่างที่สาม สิ่งสำคัญคือพัฒนาการจดจ่อไปยังจุดเดียว เป็นไปไม่ได้ที่จะทะลุสู่ความลึกแห่งการปฏิบัติ และลิ้มรสสิ่งสำคัญหากสมาธิของเราไม่มั่นคงและไม่มีศูนย์รวม ... ในแง่นี้ตันตระไม่แตกต่างจากสาขาอื่น ผู้ที่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทางวิชาการ กีฬา หรืออะไรก็ตาม ทั้งหมดมีสิ่งเดียวที่เหมือนกันคือ การจดจ่อที่พัฒนาอย่างดี หากปราศจากสิ่งนี้ก็จะไปไม่ได้ไกล ...
(๔) สุดท้ายหากเราปรารถนาที่จะบรรลุการตระหนักรู้สูงสุด เราควร'ปกปิดการปฏิบัติ' นี่อาจฟังดูแปลก แต่ที่จริงแล้วเป็นข้อที่สำคัญมาก ที่จริง ศัพท์ที่ถูกสำหรับการปฏิบัติตันตระคือ "มนต์ลับ" ในที่นี้ "มนต์" หมายถึงการพิทักษ์จิตใจ และ "ลับ" คือข้อเตือนว่าวิธีการที่ทรงพลานุภาพเหล่านี้ควรเก็บไว้กับตัวเอง เช่นสมบัติล้ำค่า
ทุกวันนี้การปฏิบัติตันตระเสื่อมถอยลงมาก บางคนปฏิบัติอย่างหนึ่ง แล้วเอามาโอ้อวดอย่างเปิดเผยว่า "ฉันเป็นผู้ปฏิบัติตันตระ มาฟังสิว่าฉันทำอะไรได้บ้าง" ความภูมิใจตามพฤติกรรมสาธารณะเช่นนี้ไม่ฉลาดเลย ซ้ำยังเป็นอุปสรรคแก่การปฏิบัติ เป็นการดีกว่ามากที่จะลดรูปลักษณ์ภายนอกและเป็นโยคีที่ยิ่งใหญ่อย่างลับๆ แทน ที่จะแสดงตัวใหญ่โตภายนอก แต่ไม่มีการตระหนักรู้ภายใน (หน้า ๑๕๒-๑๕๕)
โฆษณา