3 ม.ค. เวลา 02:00 • สุขภาพ

ถึงหน้าหนาวต้องระวัง ตัวเย็นเกินไปอาจส่งผลร้ายถึงชีวิต

เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี อากาศก็เริ่มเย็นลงโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ความหนาวปกคลุมอย่างเห็นได้ชัดในทุก ๆ ปี …แต่นอกเหนือจากความเย็นสบายที่ใครหลายคนชื่นชอบ ความหนาวก็มาพร้อมกับภาวะเสี่ยงที่ส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเราเรียกอาการนี้ว่า ‘ภาวะตัวเย็นเกิน’ หรือ ‘ไฮโปเธอร์เมีย (Hypothermia)’
🥶 ภาวะตัวเย็นเกิน คืออะไร ?
ภาวะตัวเย็นเกิน หรือ ไฮโปเธอร์เมีย เป็นภาวะที่ร่างกายของเรามีอุณหภูมิลดต่ำลงเกินไป ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ร่างกายสัมผัสความหนาวเย็นหรืออุณหภูมิต่ำเป็นระยะเวลานาน เช่น การที่อยู่ในพื้นที่อากาศหนาวแบบไม่มีสิ่งของให้ความอบอุ่น หรือการแช่ในน้ำที่เย็นจัด ทำให้ร่างกายสูญเสียกลไกการปรับอุณหภูมิ ไม่สามารถสร้างหรือเก็บความร้อนในร่างกายได้ ส่งผลให้ร่างกายจากปกติมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 36.5-37.5 องศาเซลเซียส ลดลงต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส
เมื่อเกิดภาวะที่ร่างกายอุณหภูมิต่ำลง จึงมีผลกระทบกับอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะหัวใจและสมอง ทำให้ทำงานผิดปกติ ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ภาวะตัวเย็นเกินยังสามารถแบ่งระดับความรุนแรงออกได้อีกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
🔘 ไม่รุนแรงนัก - อุณหภูมิร่างกายประมาณ 32-35 องศาเซลเซียส มีอาการสั่น อ่อนล้า หอบถี่ มีปัญหาการสื่อสาร
🔘 รุนแรงปานกลาง - อุณหภูมิร่างกายประมาณ 28-32 องศาเซลเซียส จะมีปัญหาในการพูดหรือสื่อสารที่รุนแรงขึ้น รวมถึงไม่สามารถทำงานง่าย ๆ ได้
🔘 รุนแรงมาก - อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 28 องศาเซลเซียส ความรู้สึกตัวค่อย ๆ ลดลง อ่อนล้ามาก ชีพจรไม่สม่ำเสมอ และหายใจช้า ซึ่งอาจมีผลไปสู่การเสียชีวิต
🥶 การป้องกันการเจ็บป่วยจากภาวะอากาศเย็น
การป้องกันเพื่อไม่ให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะตัวเย็นเกินทำได้หลากหลายวิธี โดยเบื้องต้นตามคำแนะนำจากกรมควบคุมโรคสามารถทำได้ดังนี้
1. สวมเสื้อผ้าที่มีความหนาหรือห่มผ้า เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายอย่างเพียงพอ หรือผิงไฟเพื่อปรับอุณหภูมิของร่ายกายไม่ให้เย็นจนเกินไป
2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในน้ำเย็นหรือไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้นเป็นเวลานาน
3. หากเป็นไปได้ ให้หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านไปสัมผัสลมหนาว หรือหากมีเหตุจำเป็นให้เตรียมเสื้อผ้าที่เพิ่มความอบอุ่น รวมไปถึงการตระเตรียมผ้าคลุมหน้า คลุมศีรษะ และถุงมือถุงเท้า
4. ห้ามดื่มแอลกอฮอล์เพื่อแก้หนาว เพราะการเพิ่มแอลกอฮอล์เข้าร่างกายจะทำให้หลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ส่งผลให้ความร้อนในตัวถูกระบายออก จนอุณหภูมิร่างกายลดลงอีก ซึ่งหากยิ่งดื่มมากเท่าไร ก็จะทำให้ร่างกายเย็นมากขึ้นตามไปด้วย
5. กรณีที่ในครอบครัวมีเด็กเล็ก ผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง ควรดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นกลุ่มบุคคลที่อาจจะไม่สามารถดูแลตนเองได้ดีนัก หากประสบภัยความหนาว
🥶 คำแนะนำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากพบผู้ป่วยไฮโปเธอร์เมีย
1. พาผู้ป่วยไปอยู่ในที่ที่ไม่ปะทะกับความเย็น เช่น พาเข้าไปยังห้องที่มีความอบอุ่น ไม่มีลมพัดเข้า หรือกรณีที่อยู่ในน้ำ ให้รีบนำตัวขึ้นจากน้ำเย็นเสียก่อน
2. กรณีที่ผู้ป่วยสวมเสื้อที่เปียกน้ำอยู่ให้ถอดออกและเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าที่แห้ง เพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่น
3. ให้เพิ่มอุณหภูมิร่างกายด้วยการใช้ผ้านวมหรือผ้าห่มห่อตัว หากอยู่ในพื้นที่กลางแจ้ง ควรสวมเสื้อผ้าคลุมถึงหน้าและศีรษะ เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อน นอกจากนั้นอาจจะให้ความอบอุ่นผ่านการนอนกอดแนบชิดผู้ป่วย ความร้อนจะได้เกิดการถ่ายเท
4. ให้ผู้ป่วยนอนนิ่ง ๆ ในท่านอนหงายบนพื้นที่อบอุ่น พยายามเลี่ยงการเคลื่อนไหวของร่างกายถ้าไม่จำเป็น และห้ามนวดหรือแตะต้องผู้ป่วยแรง ๆ เพราะอาจกระเทือนถึงหัวใจทำให้หยุดเต้น
5. กรณีที่ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัว ให้ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มอุ่น ๆ ห้ามให้ดื่มแอลกอฮอล ์โดยเด็ดขาด
6. หากผู้ป่วยหยุดหายใจหรือหายใจบาง ให้ทำการกู้ชีพหรือโทรขอความช่วยเหลือจาก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร. 1669 ทันที
เมื่ออากาศหนาวเข้ามา บางครั้งก็ไม่ได้พัดพามาแต่ความสบาย แต่ยังรวมถึงอันตรายมากมายอย่างภาวะตัวเย็นเกินด้วย ดังนั้นการศึกษาข้อมูลและเข้าใจถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น ก็จะทำให้เราใช้ชีวิตโดยลดความเสี่ยงลงนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ติดตาม Community AIA Thailand ได้ที่ https://www.blockdit.com/aiathailand
โฆษณา