30 ธ.ค. 2023 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์

พระแสงราวเทียน ไอเท็มลับวัดมหาธาตุฯ

อย่างที่เราทราบกันดีว่า วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็ดวัดพระอารามหลวงสำคัญที่มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ของกรุงศรีอยุธยา จวบจนสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหาอุปราชและสยามมกุฎราชกุมารทุกพระองค์ทรงทำนุบำรุงมาอย่างดี และอีกทั้งยังเป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งใหญ่เมื่อต้นรัชกาลที่ 1 อีกด้วย
ไฮไลต์สำคัญที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุดในงานสมโภชวัดมหาธาตุฯ นั่นก็คือ "พระแสงราวเทียน" ซึ่งเดิมเป็นพระแสงดาบประจำพระองค์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ที่ทรงใช้ปราบเหล่าข้าศึกมาโดยตลอด ต่อมาเมื่อพระองค์ทรงพระประชวรหนัก ก่อนจะสวรรคต ได้นำพระแสงดาบของพระองค์มาแปลงเป็นราวเทียน ถวายเป็นพุทธบูชา ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
พระแสงราวเทียน หายไปอย่างลึกลับประมาณกว่า 60 ปี จนกระทั่ง อ.ปริญญา สัญญะเดช ลูกศิษย์ของวัดมหาธาตุฯ อัญเชิญพระแสงราวเทียนกลับคืนสู่วัดฯ และได้นำมาจัดแสดงเป็นไฮไลต์ในงานสมโภชวัดมหาธาตุฯ ครบรอบ 338 ปี ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2566 - 2 มกราคม พ.ศ. 2567 และหลังจบงานก็จะเก็บรักษาไว้อย่างถาวร
ราวเทียน คือเครื่องประกอบการบูชาเนื่องในพุทธศาสนา ปกติจะเป็นคานโลหะแบนทอดขวาง มีเสาคู่หนึ่งตั้งขึ้นรับหัวและท้ายคาน บนหลังคานติดบัวจงกลหรือลูกถ้วยสำหรับปักเทียน แต่ความโดดเด่นของพระแสงราวเทียนคือ เป็นราวเทียนที่ทำจาก “พระแสงดาบ”
พระแสงราวเทียนนี้เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยคือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือพระมหาอุปราชพระองค์แรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์เป็นที่รู้จักกันในอีกพระนามหนึ่งคือ “วังหน้าพระยาเสือ” ทรงเป็นพระอนุชาธิราชใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ ทรงร่วมกับรัชกาลที่ 1 กอบกู้ชาติบ้านเมืองจนเป็นปึกแผ่นมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยิ่งไปกว่านั้น ทรงศรัทธาต่อวัดมหาธาตุฯ เป็นอย่างยิ่ง เพราะเคยเป็นที่หลบภัยและเคยบรรพชาที่วัดแห่งนี้ จึงทรงสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ และให้การอุปถัมภ์ดูแลวัดตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์
เมื่อคราวทรงประชวรหนักก่อนเสด็จสวรรคต พระองค์ได้ถวาย “พระแสงดาบ” ศาสตราวุธคู่พระทัยในการออกรบทุกครั้งตลอดพระชนม์ชีพ รวมถึงในคราวสงครามเก้าทัพ ถวายประจำไว้เพื่อเป็น “ราวเทียน” จุดบูชาพระศรีสรรเพ็ชร พระพุทธรูปองค์ประธานในอุโบสถวัดมหาธาตุฯ เป็นที่มาของ “พระแสงราวเทียน” หรือราวเทียนที่ทำจากพระแสงดาบคู่พระทัยในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท หรือวังหน้าพระยาเสือนั่นเอง
หลังจากกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้เสด็จพระราชดำเนินจากวังหน้ามากราบลาสักการะพระประธานในพระอุโบสถใหญ่ และน้อมถวายพระแสงดาบให้ทำเป็นราวเทียนเพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว ไม่นานหลังจากนั้น พระองค์ก็เสด็จสวรรคต…
พระแสงราวเทียนอยู่คู่วัดมหาธาตุฯ มาอย่างยาวนานนับแต่นั้น กระทั่งสูญหายไปช่วงการบูรณะหลังคาพระอุโบสถ เมื่อราว พ.ศ. 2500
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้เรียบเรียง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจชำระและทรงพระนิพนธ์อธิบายในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในช่วงนี้ความว่า
“ให้เชิญเสด็จขึ้นพระเสลี่ยง เสด็จออกมาวัดมหาธาตุ รับสั่งว่าจะนมัสการลาพระพุทธรูป ครั้นเสด็จมาถึงหน้าพระประธานในพระอุโบสถมีพระราชบัณฑูรดำรัสเรียกพระแสง ว่าจะทรงจบพระหัตถ์อุทิศ ถวายให้ทำเป็นราวเทียน ครั้นเจ้าพนักงานถวายพระแสงเข้าไป ทรงเรียกเทียนมาจุดเรียบเรียงติดเข้าที่พระแสงทำเป็นพุทธบูชาอยู่ครู่หนึ่ง แล้วทรงปรารถจะเอาพระแสงแทงพระองค์ถวายพระ
ครั้นนั้นพระองค์เจ้าลำดวนเข้าปล้ำปลุกแย่งชิงพระแสงไปเสียจากพระหัตถ์ ทรงพระโทมนัสทอดพระองค์ลง ทรงพระกันแสงด่าแช่งพระองค์เจ้าลำดวนต่างๆ เจ้านายเหล่านั้นก็พากันปล้ำปลุกเชิญเสด็จขึ้นทรงพระเสลี่ยงแล้ว เชิญเสด็จกลับเข้าพระราชวังบวรฯ“
อ.ปริญญา สัญญะเดช ผู้ค้นพบพระแสงราวเทียน ได้กล่าวถึงเบื้องหลังการค้นพบ และการถวายคืนสู่วัด ความตอนหนึ่งว่า
" …จนกระทั่งเมื่อครู่นี่นี้เอง ผมเพิ่งได้ครอบครองของขิ้นนี้…ดีใจเหลือเกินกับภาระหนักนี้ ที่มิใช่การหาทรัพย์ แต่เป็นหน้าที่ ที่ต่อแต่นี้ต้องทำตัวให้ดีเป็นที่ศรัทธาในทางวิชาการ และสร้างหมู่มิตรที่มีพลัง… เพื่อจะบอกกล่าวเรื่องราวฯและมอบคืน ”พระแสงราวเทียน“ องค์นี้กลับสู่ที่เดิมอย่างไม่คลางแคลงใจ ตามเจตนารมณ์ของพระองค์ฯท่านเจ้าของเดิม… เมื่อถึงเวลาอันควร …จะรักษ์ราวเทียนองค์นี้ เพื่อส่งต่อให้ลูกหลานไทยสืบต่อไป… กว่าสามสิบปีที่ตามหาสุขใจเหลือเกิน สุขใจเหลือเกินๆ”
“ หลังจากนั้นก็ทำการเก็บรักษา ก็ทำการศึกษาต่อไปเรื่อย โดยในเมื่อพระแสงราวเทียนอยู่ในมือแล้ว แล้วเราก็มั่นใจ แต่การที่ทำสิ่งเหล่านี้เนี่ย แน่นอนครับมันเป็นเรื่องตำนาน เป็นเรื่องที่อยู่ในใจของคนไทยทั้งหลาย ความคลางใจในเรื่องของความจริง ความใช่ไม่ใช่เนี่ย เกิดขึ้นมากมาย
ผมรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ก็ไม่ใช่จะทำให้สิ่งมงคลนี้แปดเปื้อนไป เพราะเรื่องของโซเชียล หรือ การที่เรามาวิจารณ์แสดงความเห็นว่ามันเป็นแบบนั้น แบบนี้ผมก็พยายามเดินทางในเส้นทางการสืบต่อไป จนกระทั่งเรียกว่ามันสุดทาง ก็ได้ข้อมูลอื่นๆเพิ่มนะครับ บางเรื่องนี่ก็จะคุยได้แบบนี้ บางเรื่องอาจจะต้องคุยกันอีกแบบหนึ่ง
ทีนี้พระแสงราวเทียนนี้ เป็นพระแสงดาบญี่ปุ่น โดยจารีตการถวายเครื่องศาสตราวุธเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เป็นหนึ่งในบาป ดังนั้นท่านคงไม่ถวายดาบเป็นดาบหรอก ท่านคงต้องแปลงสภาพสิ่งนี้ให้หมดจากความเป็นศาสตราวุธ
สิ่งนี้จะไปเกิดใหม่ในโลกของพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องศรัทธาบูชา ทีละประเด็นๆ และก็สืบทางนิติวิทยา คือดูร่องรอยการใช้ ดูเทคนิก ดูสกุลช่าง เข้าถึงผู้เชี่ยวชาญด้านดาบญี่ปุ่น เพื่อวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ ก็ได้เก็บหลักฐานเหล่านี้เป็นฐานของข้อมูล แทบจะเป็นงานวิจัยส่วนตัว
หลังจากนั้นก็พยายามเหลือเกินที่จะหามุมเพื่อจะกลับมาที่วัดมหาธาตุฯ ว่าผมจะเข้ามาถวายวัดมหาธาตุฯด้วยมุมไหนดี มีผู้หลักผู้ใหญ่หรือใครที่ติดต่อที่นี่บ้าง และขอว่า หนึ่ง การถวายครั้งนี้ขอถวายแบบเงียบๆที่สุด เหมือนตื่นเช้ามาสิ่งนี้ก็อยู่ในพระอุโบสถ ไม่เคยถูกเคลื่อนย้ายไปไหน ไม่มีคำว่าถูกขโมย ไม่มีคำว่าหาย ไม่เรื่องอะไรที่เป็นเรื่องหม่นหมองกับสถานที่แห่งนี้
ก็ได้พยายามและก็หาไม่ได้เลยจริงๆ มาในช่วงที่วัดยังเฉยๆที่ไม่ใช่วาระก็ไม่เหมาะ ก็ยังหามุมที่เข้ามาไม่ได้ แต่ผมก็ได้บอกไปหลายๆคนว่าผมจะพยายามถวายให้จบภายในปีนี้
จนกระทั่งทางทีมงานจัดงานสมโภชวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ได้ประสานโทรมาบอกว่าถึงเวลาที่จะถวายพระแสงราวเทียน ผมรู้สึกหมดทุกข์ในใจ เพราะการที่พระแสงราวเทียนอยู่กับเราเนี่ย ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีความสุข ไม่ได้เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจ เพราะสิ่งๆนี้มันเกินผม เกินคนๆหนึ่ง คิดตลอดเวลาว่าจะทำยังไงเนี่ย ให้กลับคืนมาสู่พระอุโบสถนะครับ ดังปณิธานของพระองค์ท่าน เรื่องราวก็เป็นแบบนี้นะครับ
ผมในฐานะคนที่ศึกษาเรื่องอาวุธ ผมรู้ว่ากษัตริย์นักรบ หรือคนที่ผ่านเหตุการณ์บ้านเมืองมันล่มสลาย ความผูกพันกับอาวุธเนี่ย เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ศาสตราวุธเป็นเครื่องป้องขวัญ ป้องกันความหวาดผวา เป็นเพื่อน เป็นหลายสิ่งหลายอย่าง เป็นของที่คู่พระวรกายท่าน
ในพระราชนิพนธ์ที่พระองค์ท่านทรงเขียนกลอนที่ยกทัพไปที่นครศรีธรรมราช ก็ระบุว่าพระองค์ท่านทรงพระแสงดาบคู่มังกร บางครั้งก็ใช้คำว่าพระแสงกระบี่ คือคำว่าพระแสงดาบมังกร คือใบพระแสงดาบญี่ปุ่น ประดับตกแต่งด้วยมังกรซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของพิชัยสงคราม ซึ่งเป็นนามมงคลในชัยภูมิของพระองค์ท่านซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำเช่นกัน
จะรู้สึกถึงความผูกพันของพระองค์ท่านกับศาตราวุธ แล้ววันหนึ่งที่ทุกท่านมาที่นี่มาถวายสิ่งนี้สู่บวรพระพุทธศาสนา มันคือการกระทำที่ยิ่งใหญ่ เป็นสิ่งที่มีสัญญลักษณ์มากมายในการตีความ พระองค์ท่านสามารถถวายสิ่งต่างๆมากมายด้วยความมั่งคั่งในขณะนั้น ถวายทั้งวัตถุสิ่งของ ถวายข้าทาสบริวาร ถวายอะไรก็ได้ แต่สิ่งที่พระองค์ท่านทำอย่างเรียบง่ายกับการขาดจากสิ่งของของพระองค์ท่าน
ในวันที่บ้านเมืองแตกสาแหรกขาด ในวันที่บ้านเมืองลุกเป็นไฟ พระองค์ท่านเกาะกุมสิ่งนี้ ฟาดฟันและบัญชาการ มันเป็นบันทึกทั้งหมดของพระองค์ท่านในช่วงที่ตรากตรำ ไม่ได้สร้างความสุขแต่เป็นภาระอันหนัก ผมมองพระองค์ท่านเหมือนพระโพธิสัตว์ พระองค์ท่านต้องเจ็บปวดและทุกแทนเรา ลูกไทย หลานไทย จนกระทั่งวันหนึ่ง พระองค์ท่านวางสิ่งนี้แล้ว มันเปลี่ยนสถานะของการฆ่าฟัน และจุดเป็นแสงสว่างของความศรัทธา
ผมเชื่อเรื่องการเดินทางของพระแสงราวเทียนที่หายไป ที่ชำรุด เทียนก็ดับ ทุกคนจุดเทียนแล้วก็ดับ แต่ถ้าเกิดเทียนของจิตวิญญาณที่เราส่งต่อไปๆ ตั้งแต่วันที่ท่านจุดเทียนตรงนี้เมื่อกว่า 230 ปีที่แล้ว มันก็เป็นเทียนในจิตวิญญาณคนไทย ... "
แหล่งที่มาและเรียบเรียง https://www.silpa-mag.com/history/article_124526 https://mgronline.com/onlinesection/detail/9660000116363
โฆษณา