9 ม.ค. เวลา 09:17 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

เตรียมดอง ออร์ฟิช สำหรับศึกษาทางวิทยาศาสตร์

การพบปลาออร์ฟิช (Oarfish) ซึ่งเป็นปลาทะเลน้ำลึกครั้งแรกในไทย ทำให้ล่าสุด ต้องมีการเก็บรักษาไว้ในฐานะสมบัติแห่งชาติเพื่อเตรียมใช้ในการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ โดยคาดว่า จะเก็บรักษาแบบดอง
นักวิชาการประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า ในมุมนักอนุกรมวิธาน ถือว่าการเจอ "ออร์ฟิช" ครั้งแรกในทะเลสตูล "น่าตื่นเต้น"
และถือเป็นโอกาสดีที่มีการสื่อสารให้ประชาชนรับทราบถึงการค้นพบ ตอนนี้ผู้เกี่ยวข้อง พยายามช่วยกันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โดยไม่ให้เกิดความเสียหาย เบื้องต้นคาดว่าการเก็บรักษาจะเลือกใช้วิธีการดอง มากกว่าการสตัฟฟ์
หากออร์ฟิช ถูกส่งมาถึง อพวช. แล้ว จะถูกบันทึก และขึ้นทะเบียนหมายเลขนำเข้าพิพิธภัณฑ์ จากนั้นต้องทาด้วยฟอร์มาลีนบริเวณผิวภายนอก เพื่อทำให้เนื้อเยื่อภายนอกแข็งตัว ส่วนครีบหงอนสีแดงแถวหัว หรือครีบฝอยที่มีรายละเอียด ต้องคลี่ออก และทาฟอร์มาลีน 10-20 นาที
ส่วนเนื้อที่อาจจะเริ่มเน่า ก็จะฉีดฟอร์มาลีนเข้าไปที่กล้ามเนื้อ ขั้นตอนนี้จะใช้เวลา 1-2 สัปดาห์เพราะออร์ฟิชมีความยาว และตัวมีขนาดใหญ่
ถ้าผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้วก็ต้องนำไปแช่น้ำ เพื่อให้ฟอร์มาลีนระเหยออกจากตัวปลาให้มากที่สุด พอกลิ่นในน้ำ และในตัวปลาเริ่มเจือจางลง จึงเปลี่ยนแช่ในเอทิลแอลกอฮอล์ 75% และใส่แทงก์ดองต่อไป
แม้ตอนนี้จะยังเป็นปริศนาว่า ออร์ฟิช ความยาวกว่า 2 เมตร พลัดหลงเข้ามาในทะเลอันดามันของไทย ด้วยเหตุผลทางธรรมชาติหรือไม่
แต่ในมุมของนักวิชาการทางทะเล และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ให้ข้อมูลตรงกันว่า อาจมาจากอิทธิพลของปรากฏการณ์ IOD ทำให้มีสัตว์น้ำประเภทที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหารตามเข้ามา รวมถึงอาจล่อให้สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในบริเวณทะเลลึก ตามเข้ามาได้เช่นกัน
🎬 ชม วันใหม่ไทยพีบีเอส ที่ www.thaipbs.or.th/program/WanmaiThaiPBS/episodes/99415
โฆษณา