11 ม.ค. เวลา 08:00 • อสังหาริมทรัพย์

อวสาน ‘บ้านต่ำ 3 ล้าน’ คนไทยกู้แบงก์ไม่ผ่าน รายได้น้อยหมดสิทธิ์มีบ้าน?

อสังหาฯ กลุ่มราคาต่ำ 3 ล้าน ขึ้นแท่น “โซนอันตราย” ดีมานด์ยังมีแต่ยอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้น พร้อมจับตา “หนี้เสีย” พุ่งอีก เหตุค้างค่างวด-ผ่อนไม่ไหว สวนทางต่างชาติกว้านซื้อคอนโดฯ กระหึ่ม “จีน” ยังครองแชมป์ลูกค้าอันดับ 1 คอนโดฯ ไทย
1
สถานการณ์เงินเฟ้อในไทยที่ยังร้อนแรงไม่แผ่ว จน “คณะกรรมการนโยบายการเงิน” หรือ “กนง.” มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยครั้งล่าสุดของการปรับขึ้น คือขึ้นอีก 0.25% เมื่อเดือนกันยายน 2566 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับ 2.50% ต่อปี นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 9 ปี และยังเป็นการปรับด้วยความถี่มากถึง “7 ครั้ง” นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 - กันยายน 2566 ก่อนจะมา “คงดอกเบี้ย” ในรอบการประชุมวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566
2
สาเหตุในการปรับอัตราดอกเบี้ยก็คล้ายกันกับหลายประเทศทั่วโลก คือเพื่อเป็นการสกัดภาวะ “เงินเฟ้อ” ที่หากปล่อยไว้จะส่งผลให้ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น แต่สำหรับประเทศที่กำลังเผชิญกับความเปราะบางทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจทำให้ประชาชนต้องรับบท “เดอะแบก” โดยเฉพาะ “ดอกเบี้ยบ้าน” ที่ปรับตัวสูงจนทำให้หลายคนไม่กล้าก่อ “หนี้ดี” ขณะเดียวกันก็ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น ซ้ำเติมวิกฤติหนี้ครัวเรือนให้ย่ำแย่ลงไปอีก
4
สถานการณ์ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดบ้านและคอนโดฯ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ซื้อบ้านราคา “ต่ำ 3 ล้าน” ซึ่งเป็นกลุ่มรายได้ไม่สูงนัก มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยสูงทำให้ลูกบ้านกลุ่มนี้มีปัญหาในการผ่อนชำระ ปลายทางเป็นหนี้เสีย และทำให้ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในปีที่ผ่านไม่สดใสนัก แม้โครงการบ้านราคาต่ำ 3 ล้านจะยังเป็นที่ต้องการ
3
แต่ปัญหาสำคัญ คือภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ทำให้ตลาดอสังหาฯ ในปีนี้ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานจากสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงต้นทุนที่สูงขึ้นจนกลายเป็นปัญหารุมเร้าทั้งฝั่งผู้พัฒนาโครงการ และผู้บริโภคที่แม้จะอยากมีบ้านก็ไม่อาจเอื้อมถึงได้
4
  • มาตรการ “LTV” กันกลุ่มเก็งกำไร VS สกัดคนอยากมีบ้าน?
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2564 และ 2565 ภาคอสังหาฯ คึกคักเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับปี 2566 เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “ธปท.” ผ่อนปรนมาตรการ “LTV” เป็นการชั่วคราว ทำให้ภาคอสังหาฯ เติบโตมากขึ้นจากการปลดล็อกเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการซื้อบ้านได้คล่องตัวกว่าเดิม
“LTV” หรือ “Loan to Value Ratio” คืออัตราส่วนที่ธนาคารสามารถให้สินเชื่อได้เมื่อเทียบกับมูลค่าบ้านที่เราซื้อ มาตรการ “LTV” ช่วยลดความเสี่ยงให้กับธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยกู้ หรือพูดให้เข้าใจโดยง่ายก็คือ “LTV” มีไว้เพื่อพิจารณาว่า ผู้ซื้อมีความสามารถในการผ่อนชำระหรือไม่ รวมถึงป้องกันไม่ให้มีการกู้ซื้อบ้านมากเกินไปจนทำให้เกิดเหตุการณ์ “ฟองสบู่อสังหาฯ”
1
ระหว่างปี 2564 ถึง 2565 มาตรการ “LTV” ที่ว่านี้ได้รับการผ่อนปรนลง จากเดิมที่ผู้ซื้อต้องควักกระเป๋าราว 10% ถึง 20% ในการวางเงินสดดาวน์บ้านก็สามารถขอกู้กับธนาคารได้เต็ม 100% ทันที นับเป็น “สถานการณ์พิเศษ” ที่ทำให้ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของโครงการ “บ้านต่ำ 3 ล้าน” เข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ไม่ยากจนเกินไป ซึ่งนอกจากมาตรการ “LTV” แล้วยังมีการลดค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์ และจดจำนองที่อยู่อาศัยเหลือเพียง 0.01% ของราคาประเมินอีกด้วย
1
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2566 มาตรการผ่อนปรนต่างๆ ถูกนำกลับมาใช้อย่างเข้มงวดอีกครั้ง บวกกับวิกฤติระดับโลกทั้งกรณี “รัสเซีย-ยูเครน” ที่ลากยาวมาตั้งแต่ต้นปี 2565 และมาซ้ำด้วยคู่กรณี “อิสราเอล-ฮามาส” ในเดือนตุลาคม 2566 รวมเข้ากับวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นกับประเทศยักษ์ใหญ่
1
รวมทั้งสถานการณ์ในประเทศที่ยังต้องเผชิญกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น หนี้ครัวเรือนระดับสูง กำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถพลิกฟื้นกลับมาเดินเครื่องได้เต็มกำลังเท่าก่อนโควิด-19 ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบถึงภาพรวมตลาดอสังหาฯ ทั้งหมด
2
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก “ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์” เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 ระบุว่า ภาพรวมตลาดในปี 2566 มีดีมานด์ด้านการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยชะลอตัวในเชิง “จำนวนหน่วย” ที่ -4.2% เกิดจากปัจจัยลบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากมาตรการ “LTV” หนี้ครัวเรือน และดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมีความสามารถในการซื้อลดลง ทว่า ภาพรวมมูลค่าตลาดในปี 2566 กลับยัง “เป็นบวก” แม้จำนวนหน่วยในการขายจะลดลง เนื่องจากราคาขายต่อหน่วยแพงขึ้น
3
นั่นหมายความว่า “ดีมานด์” ในตลาดไม่ได้หายไป หากแต่นโยบายของภาครัฐและสภาวะเศรษฐกิจต่างหากที่เป็นปัจจัยลบในการสกัด “เรียลดีมานด์” แม้ “ธปท.” จะออกมาให้ข้อมูลว่า การขยายเวลาผ่อนปรนมาตรการอาจทำให้เกิดการเก็งกำไรของกลุ่มผู้มีรายได้สูง และเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เกิดหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งก็ตามมาด้วยคำถามที่ว่า ภาครัฐจะหาตรงกลางอย่างไรระหว่างกลุ่มคนที่ต้องการมีบ้านต่ำ 3 ล้าน แต่ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็เข้มงวดในการพิจารณาเกณฑ์การผ่อนชำระมากขึ้นจนทำให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อในปีที่ผ่านมาสูงถึง 70%
2
  • รายได้น้อย ผ่อนต่อไม่ไหว กระทบผู้ซื้อรายใหม่ “กู้ไม่ผ่าน”
ปี 2566 นับเป็นความท้าทายของผู้พัฒนาโครงการบ้าน-คอนโดฯ อย่างยิ่ง เนื่องจากธนาคารได้มีการปรับเกณฑ์การขอสินเชื่อที่เข้มงวดกว่าเดิม แม้ผู้ประกอบการจะหาทางช่วยเหลือผู้ซื้อทุกทางแล้วก็ตาม แต่ก็ยังพบว่า มีกลุ่มลูกค้า “กู้แบงก์ไม่ผ่าน” เป็นสัดส่วน “กว่าครึ่ง”
“สุรเชษฐ กองชีพ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สำหรับบางโครงการอาจมีลูกค้าที่ติดหล่ม-กู้แบงก์ไม่ผ่าน “มากกว่า 50%” ด้วยซ้ำไป หรือบางรายก็ได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อต่ำกว่ามูลค่าบ้านหรือคอนโดฯ ที่ต้องการซื้อ
2
หากย้อนกลับไปสืบสาวถึงต้นตอที่ทำให้แบงก์ปรับเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อพบว่า ส่วนหนึ่งมาจากภาพรวมหนี้เสียและ “หนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ” หรือ “หนี้ค้างชำระระหว่าง 1 ถึง 3 เดือน” ในตลาดอสังหาฯ ที่เริ่มมีจำนวนสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“ศศิมา ทองสมัคร” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หนี้ค้างชำระเหล่านี้เป็นผลมาจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังตึงตัว นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่เป็นผล รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นจากดอกเบี้ยนโยบายที่ทำให้กลุ่มลูกค้า “บ้านต่ำ 3 ล้าน” กระทบหนัก เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีรายได้ไม่สูง อ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจได้ง่าย
2
ความอ่อนไหวที่ทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้บ่อยครั้ง ส่งผลให้ธนาคารเริ่มมีการปรับเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อ ทั้งยังเข้มงวดต่อการพิจารณาภาระหนี้ของผู้กู้มากขึ้น แนวโน้มการปฏิเสธการอนุมัติสินเชื่อ หรือการขอกู้แบงก์เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยหลังจากนี้อาจ “โหดหิน” มากขึ้นอีกเรื่อยๆ
สอดคล้องกับความเห็นของผู้พัฒนาโครงการบางแห่งที่ระบุว่า การปรับตัวของบรรดา “ดีเวลลอปเปอร์” หลังจากนี้ คือการลดการเปิดโครงการใหม่ๆ ให้น้อยลง โดยเฉพาะโครงการ “บ้านต่ำ 3 ล้าน” หรือโครงการบ้านทาวน์เฮ้าส์ ที่แม้ตลาดจะยังมีความต้องการซื้อ แต่เนื่องจากปัญหา “กู้แบงก์ไม่ผ่าน” ทำให้เซกเมนต์นี้มีแนวโน้มกลายเป็น “บ้านค้างสต๊อก” มากที่สุด เมื่อเทียบกับบ้านราคามากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป
ตัวอย่าง “คอนโดฯ หรู” ใจกลางเมือง ราคาเริ่มต้น 5.9 ล้านบาท
  • ไทยจะมีแต่ “บ้านหรู” เพราะซื้อง่าย-ขายคล่อง ส่วนใหญ่ “จ่ายสดงดเชื่อ”
แม้ว่าเซกเมนต์ใหญ่ของบ้านแนวราบ คือ “บ้านทาวน์เฮ้าส์” แต่จากยอดปฏิเสธสินเชื่อที่มากขึ้นทำให้หลังจากนี้เราอาจได้เห็นบรรดาผู้พัฒนาโครงการบ้านและคอนโดฯ หันไปจับตลาด “บ้านหรู” แทน
“แสนผิน สุขี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด เคยให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า โครงการ “บ้านเดี่ยว” มีสัดส่วนยอดปฏิเสธสินเชื่อโดยเฉลี่ยราว 20% ถึง 30% เท่านั้น ที่สำคัญ ลูกค้ากลุ่มนี้มักซื้อบ้านด้วย “เงินสด” มากถึง 67% โดยมักเป็นบ้านเดี่ยวราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป หลังจากนี้บริษัทเตรียมเปิดโครงการบ้านมูลค่าตั้งแต่ 15 ล้านบาท ไปจนถึงหลัก “ร้อยล้านบาท”
สอดคล้องกับความเห็นของ “วัชริน กสิณฤกษ์” กรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ โครงการบ้านจัดสรร บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่า เซกเมนต์ที่จะลดลงคือ “บ้านทาวน์เฮ้าส์” เพราะเป็นตลาดที่มีความอ่อนไหวง่าย ขณะที่ “บ้านหรู” มีดีมานด์ในตลาดอยู่จริง ทำให้ผู้พัฒนาโครงการหันมาเจาะกลุ่มบ้านเดี่ยวมากขึ้น
1
นอกจากนี้ “บ้านต่ำ 3 ล้าน” ยังเสี่ยงเผชิญปัจจัยลบเรื่อง “ต้นทุน” ที่สูงขึ้นจากค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ราคาที่ดิน ค่าแรง ค่าวัสดุก่อสร้าง ฯลฯ ที่จะสูงขึ้นกว่าปี 2566 อย่างแน่นอน แม้ว่าปี 2566 จะถูกดีมานด์จากสองปีก่อนหน้า (ปี 2564 และปี 2565) ที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการผ่อนปรนต่างๆ ดูด “เรียลดีมานด์” ไปมากแล้ว
แต่เมื่อเทียบกับปี 2567 ก็ยังนับว่า มีแนวโน้มการเติบโตสูงกว่าด้วยซ้ำไป ตลาดอสังหาฯ ในปีนี้จึงค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่ม “บ้านต่ำ 3 ล้าน” ที่ข้อมูลจาก “ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์” ระบุว่า ต่อไปราคาบ้านเหล่านี้ยังมีโอกาสจะปรับตัวสูงขึ้นอีกราว 5% ถึง 10%
1
ทำเล “CBD” ใจกลางกรุงเทพมหานคร
ขณะที่โครงการหรูบนทำเลใจกลางกรุงเทพย่าน “CBD” กลับได้รับความนิยม มี “ดีมานด์” มากกว่า “ซัพพลาย” ในตลาด เนื่องจากปัจจัยเรื่องที่ดินและความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโครงการ ยกตัวอย่างเช่น คอนโดระดับ “ไพรม์” ย่านสุขุมวิทที่ในปี 2566 มียอดขายเฉลี่ยสูงถึง 80% เนื่องจากทำเลทองในการนำมาพัฒนาโครงการเหลือน้อยลงเต็มที แต่ความต้องการในทำเลและรูปแบบที่อยู่อาศัยดังกล่าวกลับยังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
1
โดยกลุ่มลูกค้าหลักมีทั้งชาวไทยฐานะมั่นคงที่เป็นผู้อยู่อาศัยจริง รวมถึง “ต่างชาติ” โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่ตลอดปี 2566 ยังคงครองแชมป์ซื้อคอนโดฯ ไทยอันดับ 1 และเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทั้งผู้พัฒนาโครงการและรัฐบาล “หวังพึ่ง” เป็นกำลังซื้อหลัก ในช่วงเวลาที่ “คนไทย” ยังติดหล่มในภาวะเศรษฐกิจซบเซาเช่นนี้
  • “จีน” ครองแชมป์ แต่ “คนไทย” ยังเอื้อมไม่ถึง
รายงานสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 พบว่า มีจำนวนหน่วยรวมทั้งสิ้น 3,365 หน่วย รวมมูลค่า 17,048 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในแง่ “จำนวนหน่วย” แต่ลดลงในแง่ของ “มูลค่าต่อหน่วย” และหากเทียบกับปี 2565 ในช่วงเวลาเดียวกันแล้วพบว่า มีมูลค่าซื้อขายเพิ่มขึ้นกว่า 31.6%
1
ที่น่าสนใจก็คือ รายงานฉบับดังกล่าวของ “ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์” ระบุว่า ห้องชุดคอนโดมิเนียมที่เป็นที่นิยมในกลุ่มชาวต่างชาติมากที่สุด คือกลุ่มราคา “ไม่เกิน 3 ล้านบาท” มีการโอนจำนวนหน่วยทั้งสิ้น 1,490 หน่วย โดยเป็นสัดส่วนที่ชาวต่างชาติซื้อมากที่สุดตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน รองลงมา คือระดับราคา “3 ล้านบาท ถึง 5 ล้านบาท” และระดับราคาที่มีการซื้อน้อยที่สุด คือห้องชุดราคา “7 ล้านบาท ถึง 10 ล้านบาท” มีการโอนกรรมสิทธิ์เพียง 179 หน่วยเท่านั้น
นอกจากบรรดาคอนโดฯ มือหนึ่งแล้ว คอนโดฯ มือสองทำเลทองบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นในก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 สะท้อนให้เห็นว่า “ดีมานด์” ที่อยู่อาศัยทำเลย่าน “CBD” มีมากกว่า “ซัพพลาย” ในตลาดจริงๆ ซึ่งหากพิจารณาจากกฎหมายการถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์และที่ดินของชาวต่างชาติที่มีการระบุไว้ว่า ต้องไม่เกิน “49%” ของพื้นที่ทั้งโครงการก็นับว่า ยังมีชาวต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของไม่มากนัก
ประเทศที่เป็นเจ้าของห้องชุดในไทยมากสุดตกเป็นของ “จีน” ที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ตลอด 9 เดือน (มกราคม - กันยายน 2566) จำนวน 4,991 หน่วย ตามมาด้วย “รัสเซีย” 962 หน่วย “สหรัฐ” 422 หน่วย “ไต้หวัน” 378 หน่วย และ “สหราชอาณาจักร” 372 หน่วย
หากเรานำทุกองค์ประกอบมาปะติดปะต่อกันจะพบว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้เกิดจากแบงก์ที่ไม่ปล่อยกู้ ไม่ได้เกิดจากคนรายได้น้อย-หนี้ท่วม ไร้วินัยการจับจ่ายจนไม่ผ่านเกณฑ์ “เครดิตสกอร์” ไม่ได้เกิดจากกฎหมายที่เอื้อให้ต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของ แต่ใจกลางของเรื่องนี้ คือเศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่จนทำให้วิธีการแก้ไข ณ ตอนนี้เป็นการ “ลูบหน้าปะจมูก” มากกว่าขุดลึกไปที่รากของปัญหา
1
ในขณะที่ราคาสินค้าแพงขึ้นแต่รายได้คนทำงานกลับเท่าเดิม ทำให้การก่อหนี้ ทั้ง “หนี้ดี” และ “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” มากขึ้น จนทำให้หลายคน “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” มีบ้านก็ผ่อนไม่ไหว มีรถก็ต้องปล่อยให้แบงก์ยึด สถาบันทางการเงินที่เป็นผู้อนุมัติสินเชื่อต้องรัดกุมในการรักษาระดับ “หนี้เสีย” ด้วยนโนบายที่เข้มงวดมากขึ้น ผู้ประกอบการบ้าน-คอนโดฯ ขายไม่ออกเพราะคนไทยถูกปฏิเสธสินเชื่อจึงต้องการกำลังซื้อจากต่างชาติในการ “ประคองตัว” กลายเป็นวงกลมที่ไม่มีจุดสิ้นสุด
3
ปี 2567 ที่ถูกประมาณการว่า เป็นปีแห่งการ “เผาจริง” จากสารพัดปัจจัยรุมเร้าทั่วโลกที่ดำเนินเรื่อยมา อาจเป็นอีกปีที่วงการอสังหาฯ ต้องเผชิญกับความท้าทายว่า จะตีโจทย์ที่สลับซับซ้อนเหล่านี้อย่างไร ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจไม่สามารถแก้ไขที่นโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวได้ การเข้าถึงอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบอื่นๆ นอกจากการ “กู้ซื้อ” อย่างการเช่า หรือนโยบาย “Public Housing” ที่อุดหนุนโดยรัฐจะช่วยให้ปมปัญหาเหล่านี้คลี่คลายได้มากน้อยเพียงใด คงเป็นเรื่องที่ผู้พัฒนาโครงการและภาครัฐต้องหาทางออกกันต่อไป
2
โฆษณา