17 ม.ค. เวลา 02:44 • การศึกษา

"เอาใจรักของครู สู่ดวงใจของศิษย์" เรื่องที่ 3

หลังจากเปิดเทอมใหม่มาได้สักหนึ่งเดือน ครูธรรศกับครูนิพาดาพบว่าไม่มีวันใดเลยที่นักเรียนในห้องมาโรงเรียนครบทุกคน  เลยมานั่งวิเคราะห์กันว่า การขาดเรียนเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง  ส่งงานไม่ครบ และอาจขาดการทดสอบเก็บคะแนนบางวิชาในบางครั้งด้วย
ครูธรรศจึงปรึกษากับครู
นิพาดาคิดหาวิธีแก้ปัญหากันได้วิธีหนึ่ง แต่ยังไม่ทราบว่าจะได้ผลหรือไม่ คงต้องลองดู  รุ่งขึ้นตอนช่วง
โฮมรูมทั้งสองคนบอกนักเรียนในห้องไปว่า
“ถ้าใครไม่ขาดเรียนเลยตลอดภาคเรียนนี้ ครูจะมีรางวัลให้”
        ทันใดนั้นก็มีเสียงอื้ออึงขึ้นในห้อง  พร้อมคำถามรัวตามมา
        “จริงหรือ”  “จริงรึเปล่า”  “จริงนะ”   “ครูพูดเล่นมั๊ง”
ครูธรรศกับครูนิพาดาจึงยืนยันไปว่า
“จริงๆ” ทุกคนเงียบ  ครูธรรศกับครูนิพาดาสังเกตได้ว่าหลายคนมีนัยน์ตาวาว  แล้วก็มีเสียงหนึ่งต่อรองมาว่า       
       “ถ้าป่วยล่ะครู  ป่วยจริงๆนะ” 
ครูธรรศจึงบอกไปว่า        
       “ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป”  เด็กคนหนึ่งต่อรองอีก
       “แล้ววันที่ขาดไปแล้วล่ะครู”  
ครูนิพาดาก็ตอบไปว่า
       “ที่แล้วก็แล้วไป เริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันพรุ่งนี้”  ก็มีเสียงเฮพร้อมปรบมือกันลั่น
ไม่น่าเชื่อ งานวิจัยชิ้นเล็กๆที่
ครูธรรศกับครูนิพาดาร่วมกันคิดขึ้น เริ่มต้นขึ้นแล้ว  ปัญหาต่อไปเป็นปัญหาของครูธรรศกับครูนิพาดาเอง  ก็ต้องเตรียมหาของรางวัลน่ะสิ
วันหนึ่งครูธรรศกับครูนิพาดาผ่านไปตลาดในอำเภอเห็นปากกาลูกลื่นสวยๆหลากสีที่ราคาไม่แพงนัก จึงซื้อมา 4 โหล ตั้งใจจะมาให้รางวัลเด็กตอนปิดภาคเรียนที่ 1 และแลกธนบัตรใบย่อยที่ธนาคารไว้จำนวนหนึ่ง
รุ่งขึ้นทั้งสองคนเกิดใจร้อนอยากให้รางวัลเด็กก่อนกำหนด เลยบอกนักเรียนว่า
     “ครูมีข่าวดีจะบอก จำได้ไหม เมื่อตอนเปิดเทอมครูบอกพวกเราว่าจะให้รางวัลนักเรียนที่ไม่ขาดเรียนเมื่อสิ้นเทอม แต่ตอนนี้ครูใจร้อน เปลี่ยนใจแล้วอยากให้ก่อนกำหนด  ไหนใครยังไม่เคยขาดเรียนเลยตั้งแต่เปิดเทอมมา ยกมือขึ้น” เด็กๆก็ยกมือกันร่วม 30 กว่าคน และถามครูพร้อมกัน
“รางวัลอะไรคะ/ครับ” เด็กๆท่าทางอยากรู้อยากเห็น
       “บอกเสียก่อนนะ ว่าครูไม่ได้ร่ำรวยอะไร ไม่มีปัญญาให้ของแพงๆเธอหรอก แต่ครูก็ตั้งใจอยากให้นะ” ว่าแล้วครูนิพาดาก็ชูปากกาหลากสีขึ้นและบอกให้นักเรียนเรียงแถวมารับ
สิ่งที่ทั้งสองคนไม่คาดฝันคือ ปากกาเพียงด้ามละไม่กี่สตางค์ ดูช่างมีค่าต่อความรู้สึกของนักเรียนแต่ละคนเหลือเกิน ทั้งๆที่หลายๆคนมีปากกาสวยกว่าที่ครูจะให้ตั้งหลายด้าม  แต่ละคนจ้องปากกา ตาแป๋ว ปากก็ส่งเสียงจองปากกาสีนั้นสีนี้กันอื้ออึง
“หนูอยากได้สีนี้ค่ะ ...ผมอยากได้สีนี้ครับ... เร็วๆซิเธอ เดี๋ยวถึงคิวเราก็ไม่ได้สีนั้นหรอก”        
       พอทุกคนรับเสร็จ เด็กๆ อีก 7-8 คน ก็บ่นปอดแปด
      “ขาดแค่วันเดียว ป่วยจริงๆด้วย ก็ไม่ได้เหรอ?”     
      “กติกาก็ต้องเป็นกติกาสิ” ครู
ธรรศทำเสียงเข้มแต่หน้ายิ้ม
    “คุณครูครับ...คุณครูขา…ให้หัวหน้าห้อง กับรองฯ เถอะนะ เขาทำงานหนัก และขาดแค่วันเดียวเท่านั้น” เพื่อนๆในห้องช่วยต่อรอง 
     “ก็ได้”
เด็กที่เหลืออีกไม่กี่คนก็ตั้งท่าจะต่อรองอีก ครูนิพาดาจึงยกมือห้ามไว้ก่อน
     “ยังมีเวลาทำความดีอีกเยอะ เริ่มตั้งแต่พรุ่งนี้เลยนะ”  ทุกคนจึงสงบลงและกลับเข้าที่เข้าทาง  แล้วครูนิพาดาก็พูดกับพวกเขาต่ออีกว่า
     “ครูยังมีรางวัลที่จะให้พวกเธอต่อตามสัญญาที่ให้ไว้อีกเรื่องจำได้ไหม” เด็กๆตอบพร้อมกัน
      “ส่งการบ้าน งานครบ ทำด้วยตนเอง ไม่ลอกใคร ในหนึ่งเดือน”
  “ใช่แล้ว ตอนนี้ครูมีรายชื่อพวกเราที่เข้าเกณฑ์นี้แล้ว 26 คน”
เด็กๆทำตาตื่น ลุ้นว่าตัวเองจะมีรายชื่อหรือไม่  แล้วนิพาดาก็เปิดกระเป๋าสตางค์
   ครูธรรศเริ่มประกาศรายชื่อนักเรียนที่จะได้รับรางวัล ครูนิพาดาคลี่แบ๊งค์ใบละ 20 บาทใหม่เอี่ยมออกมาทีละใบ ส่งให้แต่ละคน พร้อมให้นักเรียนในห้องปรบมือแสดงความยินดีกับเพื่อน
  “รางวัลนี้ยังมีต่อเนื่องทุกเดือนนะ ยังมีเวลาได้รับรางวัลนี้กันทุกคน”
เหตุผลที่ครูธรรศกับครูนิพาดาตั้งรางวัลนี้ขึ้นมาเพราะเข้าใจดีว่า ในชีวิตของพวกเขาในห้องนี้แทบจะไม่ได้รับคำชมจากใคร ยิ่งถ้าเป็นรางวัลจากการประกวดแข่งขันทางวิชาการคงไม่มีโอกาสได้รับกับเขาแน่  ทั้งสองคนเลยคิดว่าทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่า ด้วยการให้รางวัลเล็กๆที่เขาสามารถทำได้ และเป็นการปลูกฝังนิสัยที่ดีให้แก่เขาด้วย
โดยเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นก็ได้ เช่น ขอให้เขาทำการบ้านหรือส่งงาน ตามความเข้าใจของตนเอง ไม่ต้องลอกใคร โดยมีร่องรอยการตรวจ การลงชื่อของครูกำกับ แม้จะทำผิด หรือเว้นข้อยากมากๆไปบ้างเล็กน้อยก็อนุโลมให้ เพื่อครูจะได้รู้จักเขาแต่ละคนว่าเก่งอ่อนตรงไหนจะได้หาทางช่วยเหลือเขาต่อไป
      --------------------
โฆษณา