17 ม.ค. เวลา 04:44 • ธุรกิจ

ทำไม HR ถูกมองเป็น ‘มารร้าย’ ในความคิดของใครหลายคน

บทความโดย ‘โน้ต-ศรัณย์ คุ้งบรรพต’
เมื่อพูดถึงบทบาทของ HR (Human Resources) หรือ ฝ่าย บุคคล หรือ ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ใครหลายคนก็จะมีภาพที่แตกต่างกันไป และตีความบทบาทของ HR กันไปหลากหลายมาก แทบจะมากกว่างานแบบอื่นๆ เลยก็ว่าได้
เพราะถ้าพูดถึง ‘ฝ่ายขาย’ คนจะเข้าใจทันที พอพูดถึง’ การตลาด’ คนก็จะมีภาพที่ใกล้เคียงกันทันที หรือแม้แต่ ‘ฝ่ายกฎหมาย’ ก็จะพอนึกออกว่าไม่พ้นเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล
แต่พอมาถึงงาน HR เอ๊ะ ทำไม มันถึงเข้าใจยากจัง
พอลองมองเข้าไปที่ตัวคำ Human + Resource หลายคนก็คงจะพอเดาได้ว่า มันหนีไม่พ้นเรื่อง “คน...ในฐานะที่เป็น ทรัพยากรขององค์กร”
แต่การแปลความว่า เกี่ยวกับ ‘คน’ นี่แหละ มันเลยยากมาก เพราะ ‘คน’ มีหลากหลายเรื่องราวที่สุด และน่าปวดหัวที่สุดในบรรดาทุกเรื่องขององค์กร
ถ้าจะให้เล่าบทบาทของ HR ในบทความเดียวนี้ คงเล่าได้ไม่หมด เพราะในบางมหาวิทยาลัย เขาเรียนเรื่อง HR กันได้เป็นเดือนๆ ปีๆ
แต่วันนี้ ขอเล่าถึงบางเรื่องเพียงว่า เหตุที่คนอาจจะมีมุมมองที่ไม่ตรงนักกับความเป็น HR
ซึ่งก็คือ ‘มารร้าย’ ในองค์กร...เอ๊ะ นั่นน่ะสิ ทำไมนะ มาฟังที่มากัน
บทบาทของ HR เราดีลกับคน จัดการเรื่องคนแทนองค์กร ตั้งแต่การจ้างคน การดูแลและพัฒนาคน รวมไปถึง การบอกลากัน
ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใด ทั้งหมดผ่านการดูแลและสนับสนุนของ HR และทั้งหมดเป็นเรื่องยาก ต้องอาศัยศิลปะ และอีกหลายฝ่ายในองค์กรไม่อยากทำ
เพราะอย่างที่บอก เรื่องคน คือเรื่องน่าปวดหัว และเมื่อ HR ต้องมาจัดการเรื่องเหล่านี้ แน่นอน มันคือการเอาหน้าไปแปะเอาไว้ว่า” ฉันนี่แหละ ยัยตัวร้าย “ที่จัดการเรื่องเหล่านี้
แต่ต้องไม่ลืมว่า ไม่ใช่ทั้งหมดของกระบวนการ ที่ HR สามารถตัดสินใจได้เอง แทบทุกการตัดสินใจสำคัญๆ เรื่องคน ‘ควร’ และ ‘ต้อง’ มาจาก ผู้บริหาร และ หรือ หัวหน้างาน ของพนักงาน
แต่ก็อีกนั่นแหละ ในหลายครั้ง ที่เราก็ไม่ได้โชคดี ที่จะมีผู้นำที่กล้าตัดสินใจ กล้ายืดอกรับกระสุน หรือออกมาบอกกับทุกคนว่า “ฉันนี่แหละ คือ invisible hand"
เพราะส่วนใหญ่ หัวหน้างานก็อยากเป็นพระเอก นางเอก ในหัวใจลูกน้องเท่านั้น เรื่องไม่ดีทั้งหลาย จึงถูกมองว่า มาจาก “นัง HR" ตัวดี ที่มันมาทำร้ายพนักงาน
บางบทบาทใหญ่ๆ ของ HR ที่เฉพาะเจาะจงมากๆ ที่เกี่ยวกับมาตรการการจัดการคน ในด้านที่คนไม่ชอบนัก เช่น งานวินัย งานแรงงานสัมพันธ์ และงานที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ซึ่งเป็นปากท้องของคน ทั้งหมด ทำผ่าน HR ภาพของครูระเบียบ ป้าเป๊ะ หรือ ผู้คุ้มกฎ จึงพ่วงมากับความเป็น HR อย่างไม่ต้องสงสัย
คนที่ไม่เข้าใจบทบาท อย่างที่กล่าวไปในข้อแรก ก็จะเกิดอาการ” ตีขลุม “ว่า HR คือ คนที่รับบทคนจับผิด คนตรวจเวลาเข้าออก หรือ ร้ายที่สุด นังคนคอยหักเงินเดือน นังคนกดโบนัส
ซึ่งทั้งหมด ถ้าลองคิดดีๆ จะพบว่า HR ตัดสินใจทั้งหมด และลงมือทำเองแบบตามใจชอบไม่ได้ เช่น โบนัสน้อย แต่ HR โดนวีน ขึ้นเงินเดือนน้อย HR โดนโจมตีก่อนใคร ลงโทษคนเด็ดขาด HR ก็จะโดนมองว่า ทำเกินไปเสมอ ทั้งนี้ทั้งนั้น ย้อนกลับไปอ่านข้อแรก แล้วจะพบความจริงบางอย่าง ก่อนชี้นิ้ววีน HR ในบริษัทตนเอง
ท้ายที่สุด มันคือความเป็นผู้คุม และ การให้แนวทางในการปฏิบัติในหลายเรื่อง ที่คนในองค์กรต้องการความเป็นอิสระ เช่น การใช้เงินจ้างคน การใช้เงินไป Outing การจ้างคนได้มากน้อยและการควบคุมอัตรากำลังคน
บทบาทนี้ ในหลายๆ องค์กร HR คุม ซึ่งมันขัดแย้งกับ “ความอยาก และ ปากท้อง” ของคน ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ การคุมกำลังคน ที่พนักงาน และหัวหน้าทีมก็อยากมีทีมเยอะๆ เพราะอยากกระจายงาน ไม่ให้ Load เกินไป
แต่ยัย HR นี่แหละ ที่ต้องคอยไปขัดแข้งขัดขา ไปบอกเขาว่า “ไม่ได้นะครับ คนพี่เต็มแล้ว” หรือ “ขอโทษนะครับ อัตรากำลังของพี่โดนตัดครับ เพราะตอนนี้องค์กรเราโดนลดหรือกำลังคุมจำนวนพนักงานอยู่”
ใครจะถูกมองว่าเป็นคนร้ายคนแรก??? แน่นอน หนีไม่พ้น HR
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น HR ที่ดี ต้องไม่ฉวยโอกาสแสดงความร้ายกาจ หรือทำตามใจตนเอง หรือ กลายเป็นพวกบ้าอำนาจ
ตรงกันข้ามก็ต้องสื่อสาร มีความยืดหยุ่น และหาความสมดุลให้ได้ แม้บทบาทที่ถืออยู่ อาจจะท้าทาย และ มีความเสี่ยงที่จะให้คนเข้าใจผิด ก็ยิ่งต้องสร้างความเข้าใจในเชิงบวก และ ถูกต้องให้พนักงานกระจ่าง และก็ต้องไม่เหลิงลอยไปกับ ภาพลักษณ์ว่าฉันมีอำนาจ ใหญ่โต และ คุมเกมส์
เพราะจริงๆ แล้ว หน้าที่ของ HR ถ้าจะสรุปได้ในประโยคเดียวคือ
”สนับสนุนให้องค์กรและพนักงาน สำเร็จ ก้าวหน้า เติบโต ในบทบาทงานขององค์กรอย่าง เป็นสุข และ เป็นธรรม“
#TODAYBizview
#MakeTomorrowTODAY
โฆษณา