18 ม.ค. เวลา 10:08 • ประวัติศาสตร์

• ทำไมคนไทยเรียกญี่ปุ่นว่า ‘ญี่ปุ่น’

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีมนต์เสน่ห์และประวัติศาสตร์อันยาวนาน เรารู้ดีว่าคนไทยเรียกประเทศนี้ว่า ‘ญี่ปุ่น’ แต่เคยสงสัยไหมว่า ทำไมต้องใช้คำนี้ เพราะเราเคยรู้มาว่า คนญี่ปุ่นเรียกประเทศของตนว่า ‘นิปปง’ หรือ ‘นิฮง’ รวมถึงภาษาอังกฤษก็เรียกญี่ปุ่นว่า ‘เจแปน’ (Japan) แล้วคำเหล่านี้เกี่ยวข้องอะไรกับญี่ปุ่นของคนไทยหรือเปล่า?
1
ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล ในเอกสารของจีนได้ปรากฎคำที่ใช้เรียกญี่ปุ่นว่า ‘วอ’ (倭) หรือญี่ปุ่นอ่านว่า ‘วะ’ ที่มีความหมายว่า เตี้ยแคระหรือยอมจำนน โดยใช้เรียกผู้คนบนเกาะคิวชูและภูมิภาคคันโตของเกาะฮนชู ซึ่งตรงกับยุคยาโยอิ (Yayoi Period) ของญี่ปุ่น
2
การที่จีนใช้คำว่าวอหรือวะในการเรียกญี่ปุ่น อาจดูเหมือนเป็นการเหยียดหรือใช้ในเชิงลบ แต่นักวิชาการหลายคนก็มองว่า คำว่าวออาจจะมีความเก่าแก่กว่านั้น และไม่ได้มีความหมายเชิงลบในทีแรก
2
อย่างไรก็ตามต่อมา ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนความหมายของคำว่าวอหรือวะที่ถูกจีนเรียก โดยนำคำพ้องเสียงอย่างคำว่า ‘เหอ’ (和) ที่แปลว่าสงบสุขหรือสามัคคี แต่ญี่ปุ่นอ่านออกเสียงว่าวะเหมือนกัน มารวมกับคำว่า ‘ต้า’ (大) ที่แปลว่ายิ่งใหญ่ กลายเป็น 大和 หรือญี่ปุ่นอ่านว่า ‘ยามาโตะ’ อันเป็นอีกหนึ่งชื่อเรียกของญี่ปุ่นในยุคโบราณเช่นกัน
2
จนกระทั่งช่วงศตวรรษที่ 7 ในเอกสารของจีนยุคราชวงศ์ถัง ได้ปรากฏชื่อเรียกใหม่ของญี่ปุ่นคือ ‘รื่อเปิ่น’ (日本) หรือที่ญี่ปุ่นอ่านว่า ‘นิปปง’ (Nippon) หรือ ‘นิฮง’ (Nihon) นั่นเอง คำ ๆ นี้มีความหมายว่า ถิ่นกำเนิดของดวงอาทิตย์หรือดินแดนอาทิตย์อุทัย และเป็นชื่อที่ญี่ปุ่นเรียกตัวเองจนถึงทุกวันนี้
2
เหตุผลที่ญี่ปุ่นเรียกตัวเองว่านิปปงหรือนิฮง มาจากความผูกพันระหว่างชาวญี่ปุ่นกับดวงอาทิตย์ และยังเชื่อมโยงกับความเชื่อและตำนานปรัมปราของญี่ปุ่นที่ว่า ชาวญี่ปุ่นคือลูกหลานของอะมะเตราสุ (Amaterasu) เทพีแห่งดวงอาทิตย์ นอกจากนี้อาจเกี่ยวข้องกับการที่ญี่ปุ่นตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจีนด้วย
1
แม้ว่าญี่ปุ่นจะเรียกตัวเองว่านิปปิงหรือนิฮง แต่คำว่าวะที่เคยเป็นชื่อเรียกของญี่ปุ่น ก็ยังคงปรากฏจนถึงปัจจุบัน อย่างเช่นคำว่า วาโชกุ (和食 washoku) ที่หมายถึงกรรมวิธีปรุงและรับประทานอาหารแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น หรือจะเป็นเนื้อวากิว ( 和牛 wagyu) ที่แปลว่า วัวญี่ปุ่น
4
แล้วจากนิปปงหรือนิฮง กลายเป็นญี่ปุ่นที่คนไทยเรียกได้อย่างไร เรื่องนี้ก็มีต้นตอจากรื่อเปิ่นที่คนจีนเรียก แต่เป็นการอ่านแบบจีนสำเนียงอื่นที่ไม่ใช่จีนกลาง ตัวอย่างเช่น จีนกวางตุ้งอ่านว่า ‘หยัดปุ๋น’ จีนฮกเกี้ยนอ่านว่า ‘หยิดปุ้น’ จีนแต้จิ๋วอ่านว่า ‘หยิกปุ้ง’ จีนแคะอ่านว่า ‘หงิดปุ้น’ รวมถึงจีนเซี่ยงไฮ้ที่อ่านว่า ‘เจปเปิ่น’
1
ที่นี้มีอีกข้อสงสัยหนึ่ง ก็คือที่มาของคำว่า ‘เจแปน’ (Japan) ว่ากันว่าต้นตอของคำนี้ ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 14 ในบันทึกของมาร์โค โปโล (Marco Polo) นักเดินทางชาวเวนิสที่รับใช้ราชสำนักจีนยุคราชวงศ์หยวน ได้เรียกญี่ปุ่นว่า ‘ชิปังกู’ (日本國 | Cipangu หรือ Zipangu) สัณนิษฐานว่ามาจากภาษาจีนสำเนียงอู๋หรือไม่ก็สำเนียงหมิ่นใต้ รวมกับคำว่า ‘กั๋ว’ (國) ที่แปลว่าประเทศหรืออาณาจักร
1
ต่อมาในศตวรรษที่ 16 ในบันทึกของชาวโปรตุเกส ได้ปรากฏคำอย่างเช่น Jepang, Jipang, หรือ Jepun ที่พ่อค้าชาวโปรตุเกสได้ยินมาจากชาวมลายูและชาวอินโดนีเซียอีกทอดนึง ส่วนภาษาอังกฤษปรากฏคำนี้ครั้งแรกในปลายศตวรรษที่ 16 แต่เขียนเป็นคำว่า Giapan ก่อนที่จะกลายเป็น Japan ในเวลาต่อมา
5
อ้างอิง
• กรกิจ ดิษฐาน. (2021) ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์แห่งอำนาจ จากเทพเจ้าถึงซามูไร. สำนักพิมพ์ยิปซี
• Unseen Japan. How Nihon Became Japan: the Etymology of Japan in English. https://unseen-japan.com/etymology-of-japan/
#HistofunDeluxe
โฆษณา